Concert ReviewREVIEW

ฟังเพลงของเบโธเฟน ที่มหิดลสิทธาคาร

โดยปกติแล้ว ที่มหิดลสิทธาคารบ้านของวงไทยแลนด์ ฟิลฮาร์โมนิค ออร์เคสตรา ซึ่งตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ทุกวันศุกร์และเสาร์นั้นจะมีการจัดแสดงคอนเสิร์ตของดนตรีคลาสสิคัลให้ได้ชมกันเป็นประจำ และเมื่อวันที 6-7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น ถือได้ว่าเป็นโอกาสพิเศษอีกโอกาสหนึ่ง เพราะนอกจากการแสดงออร์เคสตรา ยังมีมือเปียโนชาวอิตาเลียน มาร์โค สเคียโว มาร่วมแสดงในเพลง Piano Concert No.5 in E-Flat Major, Op.73 ซึ่งเป็นงานประพันธ์ของลุดวิก ฟอน เบโธเฟน คีตกวี เจ้าของงานเพลงคลาสสิคัลที่น่าจะป็อปปูลาร์ที่สุด สำหรับคนฟังเพลงโดยทั่วไป นั่นก็คือ Sumphony No. 5

โดยสเคียโวจะมาเล่นเดี่ยวเปียโนร่วมกับวงไทยแลนด์ ฟิลฮาร์โมนิคฯ ในช่วงแรก และครึ่งหลังจะเป็นการแสดงของวงออร์เคสตรา ที่หยิบเอา Coriolan Overture, Op.62 และ Symphony No.2 in D Major, Op.36 ของเบโธเฟนเช่นกัน มาเล่น ซึ่งน่าจะทำให้คอเพลงที่ชื่นชอบบีโธเฟน อิ่มเอมใจเป็นพิเศษ แล้วที่ยิ่งไปกว่านั้นในสัปดาห์ต่อมา ที่ตรงกับวันวาเลนไทน์พอดี ก็มีการนำเอาเพลง Symphony No.5 in C Minor Op.67 มาเล่นให้ฟังอีก จนกลายเป็น 2 สัปดาห์แห่งความสุขของเบโธเฟนเลยก็ว่าได้ โดยการแสดงในทั้ง 2 สัปดาห์ที่ว่านี้ มีคล็อด วิลลาเรท์ วาทยากรชาวสวิสเป็นผู้ควบคุมวงในทุกรอบของการแสดง

สำหรับมาร์โค สเคียโว เป็นนักเปียโนชาวอิตาเลียน ที่เริ่มเปิดตัวเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติตั้งแต่ปี 1992 และนับจากนั้นก็มีผลงานออกแสดงร่วมกับวงออร์เคสตร้าระดับหัวแถวมากมาย อาทิ เบอร์ลิน ซิมโฟนิเกอร์, นิว ยอร์ค ซิมโฟนิค ออร์เคสตรา

สำหรับคนที่ไม่ใช่คอเพลงคลาสสิคัล การได้ชมการแสดงเพลงของเบโธเฟนแบบเต็มๆ ถือว่าเป็นการเปิดโลกให้ได้รู้จักงานของคีตกวีเอกของโลกรายนี้มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่สัมผัสแค่ท่อนฮิตของ Symphony No.5 ที่ถูกนำมาใช้อยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นประกอบโฆษณา หรือว่าภาพยนตร์ แต่ได้รับรู้ลึกลงไปถึงเนื้อในของงาน ที่ไม่ได้มีแต่ความโอ่อ่า หรือให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่ อย่างในท่อนสั้นๆ เพราะเนื้อในยังเต็มไปด้วยความเข้มแข็ง หนักแน่น จริงจัง ขณะที่ช่วงของความสุขนั้น ก็ดูยิ่งใหญ่ ราวกับเป็นการระเบิดของอารมณ์ ยิ่งได้รับรู้ถึงเรื่องราวความเป็นมาของเพลงนี้ ที่ตัวเบโธเฟนต้องประพันธ์ไป และต่อสู้กับอาการหูหนวกไป จนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ ก็จะอินไปกับเรื่องราวของดนตรี ที่ในแต่ละท่อน จะมีอารมณ์ มีโทนที่แตกต่างกันไป

ซึ่งการแสดงในวันที่ 14 กุมภาพันธ์กับเพลง Symphony No.5 in C Minor Op.67 นั้นดูจะเก็บอารมณ์และโทนดนตรีดังกล่าวเอาไว้ได้อยู่หมัด และในขณะเดียวกัน วิลลาเรทก็นำเสนอความเด็ดเดี่ยว ดุดันเข้ามาในงาน ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึงการเป็นคนที่มุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาของเบโธเฟนมากขึ้น ขณะที่ Symphony No.2 in D Major, Op.36 ซึ่งถูกนำมาเล่นในวันที่ 7 นั้น ดนตรีดูจะคลี่คลาย โอ่อ่า มีอารมณ์ขันมากกว่า

แล้วกับ Piano Concert No.5 in E-Flat Major, Op.73 ที่มีสเคียโวเป็นมือเดี่ยวเปียโนนั้น ความเด็ดเดียว เข้มแข็งของเบโธเฟนก็ถูกนำเสนอออกมาได้อย่างแยบยล ผ่านการเล่นเปียโน ที่ดูจะเป็นการถ่ายทอดอารมณ์ออกมาในรูปแบบที่เฉพาะตัวมากกว่า รวมไปถึงมีการเล่นหยอกล้อ รับ-ส่งระหว่างเปียโนกับวงออร์เคสตรา ที่บางครั้งก็เป็นความลงตัวกลมกลืน บางช่วงก็ราวกับมีความขัดแย้งให้รู้สึกสัมผัสอยู่ในที

โดย Piano Concert No.5 in E-Flat Major, Op.73 ยังได้รับฉายาว่า Emperor โดยมีการเล่าขานถึงที่มา ที่แตกต่างกันไป แต่จากที่บันทึกไว้ในหนังสือโปรแกรมโน้ตนั้น ผู้เขียนระบุว่า ไม่ว่าจะเป็นเพราะสาเหตุใดก็ตามที่เรียกเพลงนี้ว่า Emperor แต่ที่ “ชัดเจนแน่นอนคือบทบาทอันโดดเด่น ลักษณะของความเป็นวีรบุรุษ และความเป็นผู้ชนะที่เบโธเฟนมอบให้กับนักแสดงเดี่ยว”

ที่เป็นงานซึ่งแสดงให้เห็นถึงความองอาจ กล้าหาญ และไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาของเจ้าตัวอย่างชัดเจน

จากเรื่อง ฟังเพลงของเบโธเฟน ที่มหิดลสิทธาคาร คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558

สามารถกดไลค์ Like เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

Comments are closed.