Music ReviewREVIEW

ฟังไปแล้ว – งานใหม่ของสองพี่น้องกัลลาเกอร์ WHY ME? WHY NOT. อัลบัมใหม่ของเลียม และ THIS IS THE PLACE อีพีของโนล

WHY ME? WHY NOT. / Liam Gallagher
[Warner Music]
THIS IS THE PLACE – EP / Noel Gallagher’s High Flying Birds
[Sour Mash Records/ Universal]

ไม่รู้ว่าบังเอิญหรือจงใจ ที่สองพี่น้องคู่แค้นสายโลหิตแห่ง Oasis โนลและเลียม กัลลาเกอร์ ต่างมีผลงานใหม่ออกมาไล่ๆ กัน โดยพี่ชาย-โนลเป็นอีพีห้าเพลงในนาม Noel Gallagher’s High Flying Birds ชุด This Is the Place ขณะที่น้องชาย-เลียม จัดเต็มด้วยอัลบัมชุดที่สอง Why Me? Why Not.

แต่ที่น่าจะจงใจก็คงไม่พ้นการที่อัลบัมของกัลลาเกอร์คนน้อง ปล่อยมาในเวลาไม่ห่างกันนักกับหนังสารคดีว่าด้วยชีวิตของเขา As It Was ออกฉาย ซึ่งเป็นไปตามสูตรหนังขายเพลง-เพลงขายหนัง ที่ใช้กันมาตั้งแต่นานนม โดยตัวหนังแม้จะเป็นงานสารคดีแบบเดียวกับ Supersonic ที่ว่าด้วยความเป็นมาของวงโอเอซิส ตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนถึงจุดพีคของวง ที่เป็นการแสดงต่อหน้าคนนับแสนในงานที่เน็บเวิร์ธ แต่ก็มีความแตกต่างกันไม่น้อย

อย่างแรกที่แค่เห็นก็น่าจะมองออกคือ ขณะที่ Supersonic เป็นเรื่องของ ‘วง’ As It Was จะเป็นเรื่องของคน คนที่เป็น องค์ประกอบสำคัญส่วนหนึ่งของโอเอซิส โดยจับความกันตั้งแต่เหตุการณ์ทะเลาะกันของสองพี่น้องในคอนเสิร์ทที่ฝรั่งเศส ที่ถึงขั้นลงไม้ลงมือกัน ต่อจากนั้นโนลก็ประกาศออกจากวงแล้วทำงานต่อในนามโนล กัลลาเกอร์’ส ไฮ ฟลายอิง เบิร์ดส์ ส่วนเลียมก็เข็นวง Beady Eye ออกมา

ขณะที่โนลเดินหน้าไปได้เรื่อยๆ จากงานชุดแรกชื่อเดียวกับวงในปี 2011, Chasing Yesterday ปี 2015 และ Who Built the Moon? ปี 2017 แต่เลียมกับบีดี อายกลับไปได้แค่ 2 อัลบัม งานชุดแรก Different Gear, Still Speeding (2011) และ BE (2013) แล้วไม่ใช่เผชิญแค่ปัญหาในการทำงาน แต่ยังประสบกับปัญหาครอบครัว เมื่อต้องแยกทางกับภรรยานิโคล แอปเปิลตัน จนหากจะบอกว่าชีวิตของเลียมอยู่ในสภาพร่อแร่ก็คงได้

ใน As It Was หนังแสดงถึงความพยายามของเลียมที่จะกลับมาอีกครั้ง ทั้งเพื่อชีวิตของตัวเอง ที่เจ้าตัวบอกว่า งานที่รักที่สุดก็คือการอยู่หลังไมโครโฟนบนเวที ไม่ใช่การเปิดร้านเสื้อผ้าหรือว่าทำธุรกิจต่างๆ กับเพื่อลบคำสบประมาทจากสื่อต่างๆ และแน่นอน… พี่ชายของตัวเอง

แม้จะเป็นหนังสารคดี แต่ As It Was ก็อาจเป็นความจริงเพียงด้านเดียว หรือเป็นความจริงที่เลียม กัลลาเกอร์อยากบอก (หากเหตุการณ์ในหนังเป็นความจริง) เมื่อหนังบอกเล่าเรื่องราวเพียงมุมมองของเลียมและคนใกล้ชิดกับเขา ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องผิด หากสิ่งที่ปรากฏบนจอ มันจะไม่ดูราวกับเป็นงานโปรเลียม กัลลาเกอร์อย่างที่เห็น แล้วหลายๆ อย่างยังแตกต่างจากข่าวคราวที่ได้อ่าน-รับรู้มา เมื่อเลียมในหนังกลายเป็นร็อคเกอร์เข้าใจโลก, ยอมรับชีวิตที่เปลี่ยนแปลง, เป็นแฟมิลี แมน, เป็นศิลปินที่รับผิดชอบต่อผลงาน, รักครอบครัว, รักพี่ (ที่ไม่ใช่โนล), รักเพื่อน, เป็นมิสเตอร์คลีน ที่ไม่เล่นยา ดื่มเหล้า แต่เลือกจะจ็อกกิงตามสวนสาธารณะเมื่อมีเวลา

ไม่แปลกที่จะรู้สึกว่านี่คือหนังโฆษณาชวนเชื่อของเลียม กัลลาเกอร์ ส่วนโนล ถ้ากำลังคิดอยู่… คุณเดาไม่ผิด หนังโจมตีเขา ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทั้งเรื่องจุดจบของโอเอซิส ที่เลียมพูดทำนองว่าโนลนั้นรู้อยู่แล้ว แถมโทรคุยกับนักข่าวของเดอะ ซันอยู่ตลอดก่อนเกิดเหตุ แล้วไม่ยอมรับสายหรือติดต่อกับน้องชายเลย กระทั่งในช่วงเวลาที่เลียมต้องหาเงินมาจ่ายให้อดีตภรรยา เขาก็ไม่ใส่ใจให้ความช่วยเหลือ

ไปๆ มาๆ As It Was ทำให้ฉงนเหมือนกันว่า ตกลงข่าวคราวที่มี กับสิ่งที่หนังเรื่องนี้นำเสนอ ควรจะเชื่อใคร? อะไรที่ให้ความจริงได้มากที่สุด? ถึงจะเป็นเช่นนั้น อย่างน้อยหนังก็แสดงให้เห็นความตั้งใจจริงของเลียม ในการกลับมาในฐานะศิลปินเดี่ยวจากอัลบัม As You Were โดยเฉพาะการได้แรงผลักดันชั้นดีจากคนรักใหม่ ที่ทำให้เขา (น่าจะกลับมา) เป็นผู้เป็นคนอีกครั้ง ทั้งการใช้ชีวิตและการทำงาน ที่ลงมือแต่งเพลง ทำงานด้วยตัวเอง ผิดกับชีวิตในโอเอซิสที่มีโนลเป็นหัวเรือใหญ่

นั่นคือสิ่งที่ได้เห็นในหนังสารคดีที่ว่าด้วยด้านหนึ่งของเลียม กัลลาเกอร์ ที่พอออกฉายไล่ๆ กับอัลบัม Why Me? Why Not. งานชุดที่สองของเขา ก็คือฟันเฟืองที่เอื้อในการทำงานทางการตลาดเป็นอย่างดี

ขณะที่ตัวอัลบัม หาก As You Were คือการที่เลียมกลับมาและบอกว่า เขาก็เป็นนักร้อง/ นักแต่งเพลงได้เหมือนกัน ด้วยซาวนด์ดนตรีกับโครงสร้างของงานที่อวลด้วยช่วงเวลาสดๆ ของโอเอซิส Why Me? Why Not. ก็คืองานที่นอกจากจะทำให้แฟนๆ ของวงเก่าชุ่มชื่นหัวใจ ยังตอกย้ำด้วยว่า แม้พี่ชายจะเป็นแกนหลักในการทำงาน จนคนอาจจะคิดว่าโนลคือโอเอซิส เขาก็มีศักยภาพในระดับที่ถ้าไม่ใช่ก็ใกล้เคียง แล้วอย่าลืมว่าสำเนียงเพลงของโอเอซิส ถ้าไม่นับเสียงกีตาร์ของโนล เสียงร้องของเขานี่แหละก็คือสิ่งที่ผู้คนจดจำได้ (และอาจจะมากที่สุดด้วยซ้ำไป)

จากงานชุดแรกที่ฟังพลุ่งพล่าน เต็มไปด้วยพลัง Why Me? Why Not. แม้จะมีสำเนียงดนตรีไม่ต่าง แต่ก็คล้ายๆ กับหนัง As It Was เมื่อทำให้ได้เห็นด้านที่นุ่มนวลมากขึ้นของเลียมผ่านเสียงดนตรี เป็นภาคขยายของของผู้ชายคนนี้ในเรื่องของการทำงานและมุมมองที่มีต่อชีวิต หลายๆ เพลงมีความอบอุ่นให้สัมผัส ซาวนด์กีตาร์ฟังสงบมากกว่า และแน่นอนเนื้อร้องก็เช่นเดียวกัน โดยรับรู้ได้อย่างชัดเจนจาก “Once” เพลงที่เป็นการรำลึกถึงวันเก่าๆ ที่ผ่านไป (อีกเพลงหนึ่ง) ของอัลบัม

“It was easier to have fun back when we had nothing. Nothing much to manage. Back when we were damaged. Sometimes the freedom we wanted feels so uncool. Just clean the pool. And send the kids to school.”

เลียมเริ่มต้นเพลงนี้ (ที่เขาแต่งกับแอนดรูว์ วายแอ็ทท์) ด้วยเนื้อร้องที่เรียบง่าย แต่กินความหมายทั้งซาบซึ้งและเจ็บปวด รู้สึกถึงมุมมองชีวิตแบบคนผ่านโลกอย่างชัดเจน ส่วนภาคดนตรี หากจะนิยามให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ถ้าสมาชิกของ The Beatles เกิดในยุคนี้ บางทีคงแต่งเพลงที่ให้ความรู้สึกที่ผิดแผกจากที่ได้ยินในเพลงนี้ไม่มากเท่าไหร่ โดยไม่ต้องไปนึกถึงที่มาของชื่ออัลบัม ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่าเป็นคำบ่นแบบเซ็งๆ ของเลียม “ทำไมต้องเป็นฉัน, ทำไมไม่ใช่ฉัน” ต่อให้คิดแบบนั้นก็ไม่ใช่เรื่องผิด หากมองถึงชีวิตของเขาและเรื่องราวในอัลบัมทั้งสองชุด แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วมาจากชื่อภาพวาดของจอห์น เล็นน็อนสองภาพที่เลียมเป็นเจ้าของ ภาพหนึ่งชื่อ Why Me? ที่เขาซื้อจากงานแสดงภาพของเล็นน็อนในมิวนิคเมื่อปี 1997 ส่วนอีกภาพชื่อ Why Not ที่ได้รับมาจากโยโกะ โอโนะ

ขณะที่ “Halo” ก็มาพร้อมกับงานริฟฟ์เปียโนที่ฟังสนุก ด้วยลีลาที่แทบจะไม่ค่อยได้ยินกันนักจากงานของโอเอซิส, “Be Stills” ก็ทำให้นึกถึงงานของสี่เต่าทองในยุคแรกๆ ที่อัพเกรดและอัพเดทดนตรี เรียบร้อย

เสียงร้องของเลียมก็นิ่ง คม และปรับอารมณ์, เทคนิคไปกับดนตรีที่แตกต่างกันไปในแต่ละเพลงได้อย่างกลมกลืน

กลับมาที่เรื่องราวของเพลง ไม่รู้ว่าเพราะมี As It Was ชี้นำหรือเปล่า เมื่อรู้สึกว่าหลายๆ เพลงใน Why Me? Why Not. ก็มีเป้าอยู่ที่โนล ตั้งแต่เพลงแรก “Shockwave” ซึ่งเริ่มด้วย “You sold me right up the river. You had to hold me back. You coulda looked for the sunshine, yeah. But you had to paint the whole thing black. Now I’m back in the city. The lights are up on me. They try to keep me locked away. But, hallelujah, I feel free.”

ซึ่ง ‘คุณ’ ในเพลงนี้ แม้จะตีความกันได้หลากหลาย แต่หนึ่งในนั้นที่กินความที่ใช่และตรงก็คือ โนล รวมไปถึง “Once” ก็ไม่ต่างกัน หากที่ชัดเจนที่สุดก็คงเป็น “One of Us” กับ “Hey kid, did you know?. Today 16 years ago. It was you and I for the last time. You angrily said. With a smoke ring ’round your head. You would see me on the other side.” ซึ่ง 16 ปีแห่งความหลัง ที่แกกับฉันอยู่ร่วมกัน จะตีความไปไหนไม่ได้เลยนอกจากชีวิตของเขากับพี่ชายในโอเอซิส ที่จบลงเมื่อปี 2009 นับตั้งแต่เซ็นสัญญากับครีเอชันส์ เรคอร์ดส์เมื่อปี 1993

ส่วน “Why Me? Why Not.” เพลงที่เป็นชื่อชุด ก็สอดรับกับเนื้อหาในหนัง เมื่อตอกย้ำถึงตัวตนที่ยังมีลมหายใจ และกลับมาแล้วพร้อมกับความเยี่ยมยอดระดับอัศวินเจไดของตัวเอง “Why me? Why not. This time I’m coming ready or not. I’m so low, I’m so high. I’m tight-lipped, I’m jedi.”

ถ้า Why me? Why Not. เป็นภาคขยายของเลียม เป็นเส้นทางที่แตกแขนงต่อตรงจากโอเอซิส ที่แฟนๆ บริท-ป็อปสมควรต้อนรับความคุ้นเคยเก่าๆ ที่โมเข้ายุคได้กลมกลืนอย่างมีความสุข This Is the Place ของโนลก็อาจจะเป็นอะไรก็ไม่รู้เมื่อเปรียบเทียบกัน เขาเลือกทำงานที่ ‘ฉีก’ ไปจากที่เคยเป็นทั้งในนามของโอเอซิสและโนล กัลลาเกอร์’ส ไฮ ฟลายอิง เบิร์ดส์ แบบสุดขั้ว แม้จะมีสัญญาณแสดงว่า เขากำลังไปไกลและเปลี่ยนจากเส้นทางที่โอเอซิส และงานชุดแรกๆ ของตัวเองเป็นออกมาเรื่อยๆ

แต่เชื่อว่าคงไม่มีใครคิดว่า จะพลิกผันกันไปได้ถึงขนาดนี้

แม้จะเป็นอีพี 5 เพลง แต่มีเพลงใหม่จริงๆ ก็แค่สาม “This Is the Place”, “A Dream Is All I Need to Get By” และ “Evil Flower” อีกสองเพลงที่เหลือก็คือ “This Is the Place” และ “Evil Flower” ฉบับรีมิกซ์ ที่ไม่ต่างไปจากการนำพาคนฟังหรือแฟนเพลงไปสู่ทิศทางใหม่ที่โนลอยากให้ได้ลิ้มลองซ้ำ

เมื่อทุกเพลงมาพร้อมบีทเต้นรำ ที่อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ โดยไม่ต้องพูดเยอะได้ว่า แสดงอิทธิพลของวงดนตรีจากแมนเชสเตอร์รุ่นพี่ อย่าง The Stone Roses หรือ New Order ชัด มีบรรยากาศของดนตรีเต้นรำโอบอุ้มเนื้องานเอาไว้ โดยเฉพาะ “This Is the Place” ที่ปิดจนแทบมิด หากก็ต้องให้เครดิทกับโนลเหมือนกัน เพราะถึงจะฟังตื้ดแค่ไหนก็ยังมีสัมผัสของร็อคให้รู้สึก ขณะที่ “A Dream Is All I Need to Get By” ก็ฟังล่องลอย ชวนเคลิ้บเคลิ้ม ไม่ต่างจาก “Evil Flower” ที่ต่างก็มาแบบงานอิเล็กทรอนิกส์-ร็อค ผิดกันตรงเพลงแรกฟังน่ารัก รื่นรมย์ ส่วนเพลงหลังรู้สึกถึงความจริงจังมากกว่า

หากดนตรีว่าหนีไปไกลจากโอเอซิส เรื่องราวในเพลงของโนลก็ดูจะไม่มีอะไรที่ต้องผูกพันกัน และหากจะมองให้เกี่ยว โนลก็ทำราวกับโอเอซิส (และน้องชาย) คืออดีต ชีวิตมีแค่พรุ่งนี้กับวันนี้ จากที่นี่คือที่พักพิงของผู้คนที่ต้องการความรัก, ความศรัทธา ท่อนหนึ่งของ “This Is the Place” ว่าเอาไว้ ราวกับบอกว่า “ฉันมีทุกอย่างแล้ว”

ใน “A Dream Is All I Need to Get By.” เพลงต่อมา โนลเสริมด้วย “Some of us need it sometimes. A  dream is all I need to get by. Some  of us need it sometimes. A dream is all I need to get by. Some  of us need it” ที่หาก ‘เรา’ คือเขากับเลียม โนลก็มีคำตอบกับเรื่องนี้ชัดเจน “You were talking ’bout the past. The days you said would never last. And now, the future’s well behind. But  I don’t pay it any mind.”

ก่อนจะปิดท้ายด้วย “They say you want love. You’re  like an evil flower. That  the cattle will crush. As you walk on by. They say you don’t bleed. You’re  like an evil flower. That  the cattle will crush. As you walk on by.” ใน “Evil Flower” ที่ดอกไม้ปีศาจนี้มีแค่ดอกเดียว

ถ้ามองว่าเป็นการโต้ตอบน้องชาย มันก็คือการบอกตัดขาดกันในที แต่ถ้าไม่คิดเยอะไปไกลขนาดนั้น แต่ละเพลงก็มีความหมาย มีเรื่องราวในตัวเองเช่นเดียวกัน

ขณะที่เพลงของเลียมประสานกันได้กลมกลืนกับหนัง และทำมาเพื่อแฟนเพลงของโอเอซิสที่อยากสัมผัสกับสิ่งที่พวกเขาเคยมีความสุข แล้วก็เปิดโลกให้คนฟังเพลงรุ่นใหม่ๆ ได้รู้จักซาวนด์ดนตรีที่เคยครองโลกดนตรีใบนี้ อีพีของพี่ชายกลับเลือกที่เดินหน้าต่อไปสู่อีกโลกหนึ่งที่เขาค้นพบและสนุกกับมัน โดยไม่สนทั้งแฟนเก่าและไม่รับรู้ว่าแฟนใหม่จะเข้าใจกับสิ่งที่เขานำเสนอหรือเปล่า

จะว่าไปแล้วมันก็ตลกดี เพราะด้วยภาพลักษณ์ เลียมดูพลุ่งพล่าน ดิ้นรน ค้นหาอยู่ตลอดเวลา แต่พอมาเป็นเรื่องของงานกลับนิ่งและดูสงบกว่าสิ่งที่เรารับรู้ ส่วนโนลที่ดูนิ่งและโตกว่า มีพร้อมทุกอย่าง กลับพยายามทำสิ่งที่แปลกหูแปลกตา ค้นหาไปเรื่อยๆ

คงบอกไม่ได้ว่าใครดีกว่า-เหนือกว่า แต่สรุปได้แค่ว่า Why Me? Why Not. คืองานที่อยู่ตัว ส่วน This Is The Place ฟังเหมือนงานทดลองอะไรบางอย่าง

ถ้าชอบของตายก็คงรู้ว่าจะคลิกอะไร? ถ้าชอบลองอะไรใหม่ๆ ก็คงคิดออกว่าควรกดปุ่มไหน? ตอบใจตัวเองเอาเองละกัน

โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 31 ฉบับที่ 2 (2562)

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.