Music ReviewREVIEW

ฟังไปแล้ว ‘รักสนิยม’ งานคมๆ ของ อพาร์ตเมนต์คุณป้า

รักสนิยม / อพาร์ตเมนต์คุณป้า
(สนามหลวง)

มองย้อนกลับไปถึงผลงานของอพาร์ตเมนต์คุณป้า ตั้งต้นจากอัลบั้มชุดนี้ ‘รักสนิยม’ ถอยไปจนถึงงานชุดแรก ‘บางกอกเลิฟสตอรี’ เมื่อปี 2546 กับเวลาที่เกินรอบปีนักษัตรไปแล้ว ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่า วงดนตรีร็อคที่ได้ชื่อว่าเป็นเพลงร็อคเพื่อชีวิต ที่การเขียนเนื้อหาโดดเด่นเกินหน้าเกินตาศิลปินรุ่นเดียวกันวงนี้ จะออกอัลบั้มมาแค่ 4 ชุด เพราะหากนับถึงการได้พบตามงานคอนเสิร์ตต่างๆ การมีเพลงใหม่ๆ ให้ได้ยินเป็นระยะๆ ทั้งของตัวเอง และที่ไปร่วมงานกับศิลปินคนอื่นๆ ทำให้รู้สึกราวกับว่า อพาร์ตเมนต์คุณป้า มีอัลบั้มใหม่ๆ ให้ได้ยินกันอย่างต่อเนื่อง

แต่ตัวเลขอัลบั้มก็ไม่ได้บ่งบอกอะไรมากกว่าจำนวนชุด ที่น่าสนใจมากกว่าก็คือ เวลาที่ผ่านไปของอพาร์ตเมนต์คุณป้า พวกเขาทำอะไรในงานของตัวเองบ้าง พอมาถึงตรงนี้ สิ่งที่อยู่ในอัลบั้มก็คือการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรม ถึงผลลัพธ์จากการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการทำงานแต่ละปี แต่ละเพลง แต่ละโชว์ ของพวกเขา ซึ่งบ่งบอกให้ได้รับรู้ว่า การเดินทางแต่ละก้าวของ อพาร์ตเมนต์คุณป้า หนักแน่น มั่นคงมากขึ้น ไปตามระยะทาง, เวลา และจำนวนชุดที่ผ่านไป ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความนิยม-ความสนใจของแฟนเพลงที่มีต่อผลงานแต่ละอัลบั้ม ที่พวกเขาดูจะเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น ตัวเนื้องานเองก็เต็มไปด้วยพัฒนาการ เป็นการเติบโตที่แข็งแรง ทั้งในเรื่องของดนตรี มุมมองของเนื้อหา ภาษาในเพลงที่ถูกยกย่องว่าราวกับบทกวีทางดนตรียุคใหม่ รวมไปถึงศักยภาพของสมาชิกแต่ละคน

ถ้าคิดว่า อพาร์ตเมนต์คุณป้า มาไกลจากจุดเริ่มต้นเหลือเกินใน ‘สมรสและภาระ’ กับ ‘รักสนิยม’ พวกเขายังมีแรงเดินออกไปไกลเรื่อยๆ จากจุดเริ่มต้น และงานชุดก่อนหน้า

ตัวงานโดยรวม เพลงร็อคของพวกเขาวันนี้ ฟังนิ่งขึ้น ดนตรีไม่ได้พลุ่งพล่าน หากก็ไม่ได้เรียบร้อยเป็นผ้าพับไว้ ยังมีความดิบ, สด ให้สัมผัส แต่ฟังสะอาด ถูกจัดวางเป็นระเบียบกว่าที่เคยได้ยิน

เสียงร้องของตุล ไวฑูรเกียรติ ถึงไม่เนี้ยบเนียน แต่ก็แข็งแรง มีพลัง กว่าเดิม สอดคล้องกับดนตรีของวง และถึงจะมีความหลากหลายข้างในจากดนตรีรูปแบบต่างๆ ที่ถูกใส่ผสมผสานลงมา ไม่ว่าจะเป็นฮิพ-ฮ็อพ, ฮาร์ดร็อค, ป็อป-ร็อค, โฟล์ค-ร็อค, เร็กเก้ ในแง่ของดนตรี ทุกอย่างกลมกลืนลงตัว และเสียงร้องของตุลก็อยู่ได้ในทุกรูปแบบของดนตรีที่อัลบั้มนี้มี ไม่ว่าจะร้องหรือจะร่าย จะเน้นอารมณ์หรือว่ากันที่ความสนุก

เนื้อร้อง ถ้อยคำ ภาษายังคงลายเซ็น เป็นลายมือของเขาเหมือนอย่างเคย ที่ต่างออกไปก็คือ วันนี้ตุลดูจะช่างเสียดสี ประชดประชันกว่าที่เคยได้ยิน ตั้งแต่เพลงแรก ‘โลกระยำ’ ที่แสดงถึงความไม่ย่นระย่อต่อโลกเหียกๆ ที่ไม่ว่าชีวิตจะเป็นยังไง โลกก็ยังระยำไม่ต่างไปจากเดิม ทุกอย่างอยู่ที่ใจเรา จะไปสนอะไร

ใน ‘เปลือก’ บางท่อน บางส่วนของเพลง ก็เหมือนจะตอบโต้ผู้คนที่ติติงการร้องเพลงของตัวเขาไปในคราวเดียวกัน “ไม่ว่าจะร้ายหรือดี เรายังมีเสียงดนตรีที่ไม่แคร์ แม้จะร้องผิดคีย์” แต่ที่กระชากความคิดที่สุดก็คงเป็นการเปรียบเทียบ เปรียบเปรยที่ว่า “ดนตรีคือชีวิต ชีวิตคือภาพมายา เมากว่ายาเสพติด ศักดิ์สิทธิ์กว่าศาสนา” ซึ่งจัดมาทั้งความคมคายของมุมมองและภาษา ในเพลงที่บอกว่า เปลือกจะเปลี่ยนแปลงไปยังไง แต่ตัวตนข้างในก็ถูกเลือกไปแล้วจากเมล็ดพันธุ์ตั้งต้น หนังสือเองก็ไม่ได้มีดีแค่ที่หน้าปก มันยังมีเนื้อในให้สัมผัส

ที่มันส์ๆ ก็ ‘บวรวิทย์’ งานฟังคึกคัก จับต้องได้ถึงอารมณ์ขัน ที่หยอกล้อกับความคิดมนุษย์ ที่อยากรู้นั่น อยากทำนี่ แต่ก็กลัวโน่น กลัวนี่ ขี้เกียจ ย้อนแย้งในตัวเองไปพร้อมๆ กัน

กระทั่งเพลงรัก ดนตรีเก๋ๆ ‘สถานีต่อไป’ กับความรักที่ต่างคนต่างมีจุดหมายที่แตกต่าง ก็ยังเหน็บการใช้ชีวิตแบบร็อคแอนด์โรลล์ ที่ยากจะใช้ชีวิตกับกับคนอื่นไปด้วย ก่อนที่ตุลจะเอาร็อคแอนด์โรลล์มาเล่นอีกครั้งในเพลง ‘ระเบิดเวลา’

หากที่ถือได้ว่าเป็นไฮไลท์ โดดเด่น โดนเต็ม ก็คงเป็นสิ่งที่ว่าเอาไว้ใน ‘ดื่ม’ ที่ตุลหยิบจับเรื่องการเมือง การตลาด เหตุการณ์ในแวดวงดนตรีมาหยิกแบบไม่ใช่แค่หยอก ได้อย่างสนุก ฟังแล้วก็แสบๆ คันๆ กันตั้งแต่เริ่มต้น “ดื่มให้กับความแตกแยกในประเทศของเรา ทั้งสงครามกีฬาสี และสงครามน้ำเมา…” ก่อนจะจิกกัดวิธีคิดแบบทุนนิยม ที่ดูเหมือนมีอิสรภาพและทางเลือกมากขึ้น แต่เอาเข้าจริงๆ กลับทำให้น้อยลงไปเรื่อยๆ กว่าที่เคยเป็นด้วยซ้ำ

ขณะที่ ‘นาฬิกาทราย’ ก็มีแง่มุมทางปรัชญา ให้ขบคิดตีความ กับการเป็นนาฬิกาที่ไม่ได้บอกวันเวลา แต่ทำหน้าที่บอกถึงเวลาที่มี ซึ่งทั้งดนตรีและเนื้อหาช่างพอเหมาะพอเจาะกับการเป็นเพลงปิดท้ายอัลบั้ม (?) เปรียบได้กับเพลงลา แต่เอาเข้าจริงๆ ใน ‘รักสนิยม’ ยังมีเพลงซ่อนเอาไว้อีกเพลง ที่เป็นเพลงรักกวนๆ ที่เล่นกันแบบสบายๆ อารมณ์เพลงแคมป์ไฟ ที่ไม่ได้เน้นความเนี้ยบนัก เป็นงานฟังสนุกๆ แบบไม่ต้องคิดมาก แต่ถ้าหากจะคิด ก็มีแง่มุมให้หยิบเช่นกัน ก็อยู่ที่ว่าจะฟังเป็นเพลงรักกวนๆ หรือเป็นเพลงที่บ่งบอกถึงความต่างของคน ที่มีผลต่อการคบหา

บทเพลงทั้งหมดอยู่ในคราบไคลแบบป็อป ทำให้การเข้าถึงเรื่องราวต่างๆ ไม่ได้ยากมากมาย ถ้อยคำภาษา ความหมายในเพลงก็ไม่ใช่อะไรที่เข้าใจยากเช่นกัน หลายๆ เพลงเป็นงานที่ฟังป็อป ติดหูและโดนกันตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยินด้วยซ้ำไป

กับเวลาที่ผ่าน ตัวเลขอัลบั้มที่เพิ่มขึ้น ศิลปินบางคน วงบางวง อาจจะมาถึงจุดอิ่มตัวทั้งความคิดและดนตรี ที่ทำให้ตัวงานแม้จะยังคงมีคุณภาพ อยู่ในมาตรฐาน หากก็ขาดความเคลื่อนไหว แต่อพาร์ตเมนต์คุณป้า ที่เหมือนจะเดินทางมาถึงจุดนั้นแล้วจาก ‘สมรสและภาระ’ กลับไม่ใช่ พวกเขายังขยับมาตรฐาน เขยิบมุมมองในการทำงานออกไปได้อีก

ส่งให้ ‘รักสนิยม’ กลายเป็นงานที่มี ‘รสนิยม’ ตั้งแต่เพลงแรกถึงเพลงสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นในเสียงดนตรี หรือเนื้อหา ที่ยังเป็นการบอกกับวงการเพลงไทย และคนฟังไทยด้วยว่า แม้จะอยู่ในภาวะหงอยๆ อพาร์ตเมนต์คุณป้า นอกจากจะยังคึกคัก ซู่ซ่า ก็ยังมาพร้อมไฟจ้าๆ กว่าที่เคย

โดย นพปฎล พลศิลป์ จากคอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.