Music ReviewREVIEW

ฟังไปแล้ว C’MON YOU KNOW อัลบัมที่ต้องฟัง ไม่ใช่งานแบบฟังเถอะ เอาน่า… นายก็รู้นี่ จากเลียม กัลลาเกอร์

C’MON YOU KNOW/ Liam Gallagher
(Warner Music Records)

อัลบัมเดี่ยวชุดที่สามแล้วของเลียม กัลลาเกอร์ – เสียงร้องและแกนนำของโอเอซิส หนึ่งในวงดนตรีจากฝั่งอังกฤษไม่กี่รายที่บุกสหรัฐอเมริกาสำเร็จ ในช่วงเวลาของสรรพเสียงแห่งโมเดิร์น ร็อก, บริต-พ็อป และอัลเทอร์เนถีฟ

อย่างที่รู้กัน หลังโอเอซิสแยกทาง พี่ชาย – โนลไปมีงานเดี่ยว เลียมทำวงบีดีอายกับสมาชิกโอเอซิสบางราย มีอัลบัม 2 ชุด แล้วก็ไปกันคนละทิศคนละทาง ก่อนจะมาทำอัลบัมเดี่ยว ‘As You Were’ (2017), ‘Why Me?, Why Not.’ (2019) แล้วก็มาเป็นงานชุดนี้​ ‘C’Mon You Know’ ที่ชื่ออัลบัมรับต่อกันเป็นคอนเซ็ปต์ดีเหลือเกิน

ตัวงานเอง… ขณะที่พี่ชายซึ่งทำวงชื่อยาว โนล กัลลาเกอร์ส ไฮ ฟลายอิง เบิร์ดส์ มีอัลบัมชุดที่สามมาตั้งแต่ปี 2017 ทำเพลงที่แตกต่าง และดูจะพยายามห่าง ๆ สิ่งที่เป็นโอเอซิสให้มากที่สุด งานทั้งสามชุดของเลียมยังคงสัมผัสของวงดนตรีที่สร้างชื่อชัดเจน ทางของเมโลดี, ซาวนด์ โดยที่ไม่ต้องไปนับเรื่องเสียงร้อง ที่เขาคือ “เสียง” ของวงเช่นเดียวกับซาวนด์กีตาร์ของพี่ชาย ที่ฝ่ายหลังไม่ค่อยจะทำให้ฟังเป็นโอเอซิสสักเท่าไหร่ในงานของตัวเอง ฟังแล้วถึงบอกว่าเหมือนพยายามห่าง ๆ สิ่งที่เป็นโอเอซิส

เพราะฉะนั้น หากไม่นับเรื่องความไม่ชอบขี้หน้าขี้ตากันแล้ว ด้วยเนื้องานที่สองพี่น้องต่างทำกันออกมา ไม่น่าแปลกใจที่โนลจะไม่กลับไปรียูเนียนกับน้อง ตามที่เลียมแสดงออก (แต่ไม่รู้ว่าจริงใจไหม?) ว่าอยากให้มาร่วมงานกันอีก เมื่อดนตรีแตกต่าง คนละทางกันขนาดนี้

แต่กับการเดินบนเส้นทางที่โอเอซิสเคยเดินหรือเป็นของเลียม มันก็เป็นการเดินไปข้างหน้า มากกว่าจะย่ำอยู่กับที่ หรือมีลักษณะของการเก็บของเก่ากินอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แล้วก็ไม่ใช่การรีไซเคิล ที่หากจะบอกว่า หลับตาฟังโดยตัดเสียงกีตาร์ของโนลไปแล้วบอกว่า ถ้าโอเอซิสยังไม่ไปไหน ทางดนตรีของพวกเขาก็น่าจะขยับขยายมาเป็นอย่างที่ได้ยินในอัลบั้มของเลียมนี่ละ ก็น่าจะพอได้

เอาง่าย ๆ จาก ‘As You Were’ ที่ดูโอเอซิสมากมาย ‘Why Me? Why Not.’ นอกจากดนตรีจะฟังละมุนหูมากขึ้น กีตาร์ไม่ได้สาดกระหน่ำอย่างที่เคยเป็นแล้ว มุมมองที่เลียมแสดงออกมาในเพลง ก็เติบโตไปด้วย

และหากรู้สึกว่า ที่ได้ฟังใน ‘Why Me? Why Not.’ มันคลี่คลาย ให้ความรู้สึกเป็นเลียมที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ใน ‘C’mon You Know’ เลียมขยับไปไกลขึ้น ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ แต่ยังทำงานในแบบรุ่นใหญ่ ที่หากมองว่าก่อนหน้านั้นก็ใหญ่แล้วนะ นั่นหมายความว่าหนนี้ดูใหญ่กว่าที่เคยโต

จนรู้สึกเหมือนเจ้าตัวกำลังเดินไปในทิศทางใหม่ แม้จะอยู่บนถนนสายเดิมก็ตามที

หลาย ๆ เพลงมีกลิ่นอายของงานไซคีดีลิกเข้มข้นมากขึ้น บางเพลงก็ชวนรำลึกถึงซาวนด์แบบวอลล์ออฟซาวนด์ส การเรียบเรียงดนตรีซับซ้อนกว่าที่เคยได้ยินในงานสองชุดแรก

ที่สำคัญ… เลียมกล้าคิด กล้าทำมากขึ้น

ทำให้ได้เพลงที่ฟัง “แปลก” หู ตั้งแต่ “More Power” ที่ใช้กลุ่มนักร้องประสานเสียงเด็ก ๆ ให้ความรู้สึกแบบงานกอสเพล, งานฟังก์-ร็อกเท่ ๆ กับซาวนด์กีตาร์เก๋ ๆ “Diamond in the Dark”, ขณะที่เพลงซึ่งมีบรรยากาศแบบโอเอซิสชัด ก็มีทริกที่ทำให้แตกต่างหรือเตะหู อย่าง “Don’t Go Halfway” ที่การเรียบเรียงในช่วงส่งของแต่ละท่อนผิดไปจากที่คุ้นเคย หรือ “C’Mon You Know” เพลงไทเทิลแทร็ก ที่ถึงจะฟังโอเอซิสจ่า หากก็เก๋า ซาวนด์สะอาด เด่นด้วยลูกเล่นในช่วงท้ายเพลง ที่ฟังหลอน ๆ ลอย ๆ แบบไซคีดีลิกเป็นพิเศษ ส่วน “Too Good For Giving Up” ในทางดนตรี อาจจะบอกว่าเป็น “Don’t Look Back in Anger” ในแบบของเลียม กัลลาเกอร์ ที่เสียงกีตาร์มาดีเหลือเกินก็ไม่ผิดอะไร

“It Was Not Meant to Be” อิทธิพลของเดอะ บีเทิลส์ให้มาเต็ม แต่ปรับแต่งจนกลายเป็นงานร่วมสมัย โดยเฉพาะช่วงท่อนแยก ที่เลียมเหมือนพาคนฟังไปในโลกอีกใบ

กับ “World’s In Need” ก็จำเพาะเจาะจงลงไปได้เลยว่า สมาชิกคนไหนที่เลียมได้อิทธิพลมา อย่างน้อยก็ในเพลงนี้

“Everything’s Electric” การพบกันของโอเอซิสและฟู ไฟเทอร์ส เมื่อที่เดฟ โกรห์ลทั้งร่วมแต่งเพลง ทั้งเล่นกลอง ที่เจือใส่ความเป็นพ็อปเข้ามาเต็มที่, “Moscow’s Rule” ซึ่งอารมณ์ดนตรีมีหลากหลายมูฟเมนต์ ก็มีบางส่วน บางช่วง ที่ให้ความรู้สึกเหมือนที่ได้รับจากงานของเอลตัน จอห์นในยุค “Goodbye the Yellow Brick Road”, “I’m Free” อีกเพลงที่เลียมโชว์ของ เมื่อผสมผสานงานดับ, พังก์ และเร็กเก้ เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน, “The Joker” ก็จับโซลมาผสมผสานได้อย่างเนียนสนิท ทั้งการใช้เสียงคอรัสหนาๆ ทั้งลูกกีตาร์เท่ ๆ

ส่วนบีทแดนซ์ ที่ใส่เข้ามาในหลาย ๆ เพลง ก็ทำให้ภาพของวงรุ่นพี่จากบ้านเดียวกัน อย่าง สโตนโรเซส ลอยมาผสมปนเป

เสียงร้องของเลียมเองก็โตขึ้นแบบรู้สึกชัด ไม่กร้าว ห้าวหรือฟังแข็ง ที่พอผสมกับเนื้อดนตรีที่เรียบเรียงไว้สวย เมโลดีของเพลงที่งาม ก็รู้สึกว่า เลียมไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ แต่ยังทำงานแบบรุ่นใหญ่จริง ๆ เนื้อหาของเพลงก็เช่นกัน มีมุมมองของคนมากประสบการณ์ มองโลกผิดจากที่เคยมองเมื่อหลายสิบปีก่อน ไม่ได้ดูห้าวเป้งเช่นที่แสดงออกด้วยซ้ำ

แถมยังได้ความกล้าคิด กล้าทำ ที่ส่งให้ ‘C’Mon You Know’ ไม่ใช่แค่ฟังแล้วรับรู้ได้ถึงความหลากหลายในรายละเอียด หากยังหนีจากภาพเดิม ๆ ที่ติดอยู่กับโอเอซิส หรือกระทั่งศิลปินขึ้นหิ้งอย่าง เดอะ บีเทิลส์มาตลอดไปได้ไกลกว่าเดิม พลอยให้เจ้าตัวเองดูเป็นคนที่เปิดกว้างทางดนตรี หรืออย่างน้อยไม่ได้ติดอยู่กับดนตรีในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

และช่วยให้งานชุดนี้ เป็นงานที่ฟังสนุกตั้งแต่เพลงแรกจนถึงเพลงสุดท้าย เพราะมากไปด้วยความจัดจ้าน สารพัดลูกเล่นสะกิดใจโดนหู ที่โดยรสนิยมส่วนตัว กับสิ่งที่ ‘C’Mon You Know’ มอบให้ นี่คืองานที่ดีที่สุดของเลียม กัลลาเกอร์ ว่ากันเฉพาะงานเดี่ยวสามชุดของผู้ชายคนนี้

และกับการออกมาในช่วงเวลาที่เพลงร็อกดูจะหายไปจากตลาดแบบนี้ ‘C’Mon You Know’ ไม่ใช่แค่งานขัดตาทัพ หรือแค่ให้คอเพลงสายร็อกได้ฟัง พอให้รู้ว่าดนตรีแนวนี้ยังมีคนทำ

เพราะด้วยความที่ของเขาดีขนาดนี้

นี่คืองานที่ต้องฟัง ไม่ใช่ฟังเถอะ คุณก็รู้นี่….

โดย นพปฎล พลศิลป์ จากคอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 33 ฉบับที่ 6 – มิถุนายน 2565

ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.