Music ReviewREVIEW

ฟังไปแล้ว – IN THE END / The Cranberries อัลบัมชุดสุดท้ายของวงร็อคไอริชจากยุค 90 เจ้าของเพลง Zombie ที่ดังไปทั้งโลก

IN THE END / The Cranberries
[Curtain Call Limited/ Juztol Limited/ BMG]

“Do you remember, remember the night? / At a hotel in London, they started to fight/ She told her man that she fell on the ground/ She was afraid that the truth would be found…
“Do you remember? Do you recall? Do you remember? I remember it all.
“And it’s all over now. It’s all over now. It’s all over now. It’s all over now.”

แม้จะเป็นเรื่องราวความรักที่จบลงด้วยการทะเลาะเบาะแว้ง ที่ทำให้ความรุนแรงที่อยู่ในตัวของใครบางคนแสดงตนออกมา และอีกคนยังฝังใจจำ ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรเลยกับความเป็นมาและเป็นไปของวงดนตรีไอริชวงนี้ ที่ตั้งวงกันตั้งแต่ปี 1989 แต่กว่าจะประสบความสำเร็จก็ปี 1993 หลังอัลบัมชุดแรก Everybody Else Is Doing It, So Why Can’t We? ประสบความสำเร็จ 

ก่อนที่จะไปไกลกว่านั้นในงานชุดที่สอง No Need to Argue ที่มีเพลงดังระดับเพลงชาติของคลับ-ผับ-บาร์ ในบางประเทศอย่าง “Zombie” และเพลงความหมายดีๆ แสนเศร้า อย่าง “Ode to My Family” 

แต่ด้วยคำร้องในท่อนสุดท้ายและชื่อเพลง ก็เข้ากันได้อย่างเหมาะเจาะลงตัวกับสิ่งที่อัลบัมชุดนี้ งานชุดที่ 8 ของ เดอะ แครนเบอร์รีส์ เป็น 

เมื่อนี่คืองานที่ถูกประกาศอย่างเป็นทางการว่า เป็นอัลบัมชุดสุดท้ายของวง ที่หมายถึงการเดินทางของพวกเขาและเธอจบลงแล้ว อย่างที่ท่อนสุดท้ายเพลงว่าเอาไว้ หลังการจากไปอย่างกระทันหันของโดโลเรส โอริเออร์แดน นักร้องนำหญิงและนักแต่งเพลงของวง ที่ทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากการเป็นวงดนตรีบ้านๆ มาเป็นวงดนตรีระดับโลกอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ 

ซึ่งหากยังไม่แน่ใจ หรือลังเลสงสัย ชื่ออัลบัม In the End ก็ย่อมบ่งบอกความหมายที่ชัดเจนในแบบที่ไม่ต้องตีความใดๆ ซ้ำ 

ถ้ายังอยากแย้งในใจ… ปกอัลบัมที่ราวกับเป็นภาพจำลองของสมาชิกวงในวัยเด็กๆ ที่มีนักร้องนำเป็นเด็กหญิงหน้าตาน่ารักก็พร้อมจะเถียงโต้กลับ 

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ระหว่างการทำอัลบัมชุดนี้ แต่จากผลลัพธ์ที่ปรากฏ รัศมีของการเป็นงานอำลา ช่างแข็งแรงเหลือเกิน ตั้งแต่เรื่องราวของวง – ปกอัลบัม โดยเฉพาะตัวเพลง 

In the End ทำให้คนฟังที่อยู่กับพวกเขาตั้งแต่ต้น มีความสุขกับเพลง อย่าง “Dreams” หรือ “Linger” จากอัลบัมแรก บรรดาเพลงฮิตจากงานชุดสอง รวมไปถึงอีกหลายๆ เพลงจากงานชุดต่อๆ มา ได้รำลึกถึงว่า อะไรกันที่ทำให้พวกเขา ‘รัก’ และ ‘หลงใหล’ ในวงดนตรีวงนี้ 

เสียงกลองที่ฟังหนักแน่น ก้องกังวานของ เฟอร์กัล ลอว์เลอร์, เสียงกีตาร์ที่เสียงแตกพร่าของกีตาร์ไฟฟ้า เสียงใสๆ ของกีตาร์อะคูสติค รวมไปถึงลูกลิคตอดเล็กตอดน้อยน่ารักๆ จาก ไนออล ควินน์ และแกนนำของวง นีล โฮแกน 

โดยเฉพาะ เสียงร้องที่เวลาเศร้าก็จมลึก เวลาเจ็บก็กรีดไปถึงกระดูกสันหลัง เวลาสุขก็สวยงาม เวลารื่นรมย์ ก็อบอุ่นเหลือเกินของโดโลเรส

นี่คืองานที่ทำให้หลายๆ คนได้ย้อนไปถึงวันเก่าๆ ที่ได้พบกับพวกเขาและเธอเป็นครั้งแรก 

มากมายหลายเพลงเต็มไปด้วยกลิ่นไอเก่าๆ ที่ไม่ได้หมายความถึงการทำซ้ำ แต่เป็นงานในองค์ประกอบที่คุ้นเคย ทั้งบรรยากาศ อารมณ์ และซาวนด์ ที่ได้ฟังแล้วก็ไม่รู้สึกว่า เชย หรือพ้นสมัย ซึ่งไม่ต่างไปจากการยืนยันว่า ที่สุดแล้วแม้จะเกิดและดังในช่วงเวลาที่เสียงอึงอลของดนตรีอัลเทอร์เนถีฟดังสนั่น เดอะ แครนเบอร์รีส์ก็มีตัวตนของตัวเอง ที่ผสมผสานเข้ากับกระแสได้อย่างกลมกลืนลงตัว ที่เมื่อเวลาผ่านไป กระแสที่อยู่ในงานของพวกเขาและเธอ ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในตัวตนที่เป็นเดอะ แครนเบอร์รีส์เรียบร้อย 

ไม่แปลกที่จะฟังเพลงในอัลบัมนี้ อย่าง “Summer Song”, “All Over Now”, “Wake Me When It’s Over”, “A Place I Know” แล้วจะนึกถึงเพลงของพวกเขาที่หลายๆ คนรัก ไม่ว่าจะเป็น “Dreams”, “Salvation”, “Zombie” ขณะที่ “Catch Me If You Can” หรือ “The Pressure” ก็มาพร้อมกับซาวนด์แปลกๆ ที่ให้ความรู้สึกสดในที 

เนื้อหา เรื่องราว ส่วนใหญ่ล้วนแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของชีวิต การเอาชนะความเจ็บปวดจากอดีต ความทรงจำเก่าๆ จากวันวาน ที่ตอกย้ำถึงประสบการณ์ วัย และสิ่งที่พวกเขาและเธอผ่านได้เป็นอย่างดี และ ‘ชัดเจน’ ในแบบงานที่ไม่เกรี้ยวกราดหรือฟูมฟาย เป็นจิตใจที่เติบโต แข็งแกร่ง ตามอายุขัย หากอยู่ในร่างเดิม  

นับตั้งแต่เพลงแรก “All Over Now” จนถึงเพลงสุดท้าย “In the End” ทุกเพลงในอัลบัมนี้ ไม่ต่างไปจากการเรียนรู้ชีวิตแบบสั้นๆ ที่ใครบางคนบอกเล่าให้ฟัง ซึ่งทุกอย่างสรุปออกมาอย่างชัดเจนในเพลงปิดท้ายชื่อเดียวกับชุด

“Ain’t it strange / When everything you wanted/ Was nothing that you wanted/ In the end
“Ain’t it strange/ When everything you dreamt of / Was nothing that you dreamt of/ In the end”

บางทีชีวิตเราก็ไม่ได้ฝันหรืออยากได้ในสิ่งที่เราฝันหรือต้องการ… ในท้ายที่สุด 

ราวกับจะเป็นปรัชญาชีวิตง่ายๆ ที่โดโลเรส และเพื่อนๆ ทิ้งเอาไว้ให้หลายๆ คนจดจำ และรำลึกถึง 

“พวกเรารู้ว่างานชุดนี้ ถ้าไม่ใช่อัลบัมที่ดีที่สุดของเดอะ แครนเบอร์รีส์ ก็ต้องเป็นหนึ่งในอัลบัมเหล่านั้น เท่าที่เราทำกันมา” นีล โฮแกน พูดถึงการทำงานชุดนี้ หลังจากที่ตอนแรกจะเป็นงานที่เก็บเข้ากรุ หลังการเสียชีวิตของเสียงของวง “ความกังวลก็คือ… เราอาจจะทำลายชื่อเสียงของวงด้วยการทำงานที่ไปไม่ถึงมาตรฐานระดับนั้น พอฟังเดโมทุกเพลงที่ผมกับโดโลเรสทำร่วมกัน แล้วตัดสินใจว่า เรามีอัลบัมที่แข็งแรง เรารู้ทันทีว่าอะไรเป็นเรื่องที่เหมาะสม และเป็นการกระทำที่ดีที่สุด ในการยกย่องโดโลเรส”

และเป็นการกระทำที่ดีสุดสำหรับแฟนเพลง ไม่ว่าจะเป็นแฟนๆ ของวงหรือไม่ก็ตาม สำหรับการที่ได้ฟังอัลบัมที่ (อย่างน้อยก็เป็น) อัลบัมที่ดีที่สุดของพวกเขา 

“ในท้ายที่สุด”

โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 30 ฉบับที่ 8 เมษายน 2562

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.