Music ReviewREVIEW

ฟังไปแล้ว – MUSIC OF THE SPHERES ท่องอวกาศ แบบสดใส ไปกับนิยายตะลุยอวกาศของโคลด์เพลย์

MUSIC OF THE SPHERES / Coldplay
(Parlophone Records/ Warner Music)

จากวงดนตรีที่สัมผัสได้ถึงอิทธิพลในการทำงานจากศิลปิน อย่าง ยูทูว์ หรือว่า เรดิโอเฮด ที่เติมความเป็นป็อปเข้ามาได้อย่างลงตัว จนกลายเป็นองค์ประกอบหรือลักษณะเฉพาะสำคัญ ของโคลด์เพลย์ ที่ในขณะเดียวกันงานเพลงของพวกเขาก็มีขอบเขตที่ไปไกลมากกว่า ทั้งความหลากหลายของแนวทางดนตรี รูปแบบในการสร้างงาน รวมถึงซาวนด์ที่เดินห่างจากดนตรีร็อกในแบบที่คุ้นเคย

หากในความเป็นป็อปของโคลด์เพลย์ ก็ไม่ใช่งานป็อปในแบบที่สัมผัสได้ทั่วไป ถึงจะมีซิงเกิลฮิต มีเพลงดัง ๆ ให้ได้ฟัง แต่ภาพรวมของอัลบั้ม งานของโคลด์เพลย์แต่ละชุดมีความแข็งแรง และชัดเจนเหลือเกินกับการเป็นงานเล่าเรื่อง เป็นคอนเซ็ปต์อัลบั้ม มีเนื้อหาหรือจุดหมายในการนำเสนอ เรื่องราวมีความสอดคล้องกัน เช่นเดียวกับดนตรี

กับอัลบั้มชุดใหม่ ‘Music of the Spheres’ งานชุดที่ 9 ของวง ที่อายุตอนนี้หากนับเริ่มตั้งแต่ตอนปล่อยอัลบั้มแรก ‘Parachutes’ นี่คือปีแรกของทศวรรษที่สองของโคลด์เพลย์แล้ว เพราะฉะนั้นมาถึงวันนี้ พวกเขาเป็นรุ่นใหญ่ของวงการเพลง

และกับตัวงาน…

หากว่ากันเป็นเพลง ฟังซาวนด์ที่ออกมา โดยไม่นับงานสลับฉากพวก “Prelude”, “interlude” ทั้งหลายที่เป็นงานบรรเลงดนตรีสั้น ๆ กับเพลงสุดท้ายของอัลบั้ม “Coloratura” และไม่เก็บเกี่ยวความเชื่อมโยงของดนตรี หรือเนื้อหามาคิด

‘Music of the Spheres’ คืองานป็อป โปรดัคชั่นใหญ่ ที่หากไม่มองว่านี่คืองานของใคร ก็รู้สึกได้ถึงความเขี้ยวในการทำดนตรี ที่มีความซับซ้อน มีลูกเล่นจัดจ้าน อยู่ในความเข้าถึงง่าย ฟังไม่ยาก แล้วก็ฟังลื่นหูกว่างานชุดก่อน ‘Everyday Life’ ที่เหมือนเป็นงานทดลองของวงมากมาย

จากซิงเกิลแรก “Higher Power” มาถึงซิงเกิลที่สอง “My Universe” ที่เป็นการร่วมงานกับบีทีเอส กลุ่มศิลปินเค-ป็อป ‘Music of the Spheres’ เคลียร์มากกับการเป็นงานป็อป ทั้งสองเพลงล้วนฟังติดหู จากงานป็อป-แดนซ์ ฟังสนุก ๆ คึกคัก มาสู่งานที่ผสมผสานตัวตนของโคลด์เพลย์ในอัลบั้มชุดนี้ กับกลิ่นอายเค-ป็อปจากหนุ่ม ๆ บีทีเอสเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว

ที่ยังมีอีกหลายเพลง พร้อมรอตัดเป็นซิงเกิลเรียกแขก ขายของ

“Humankind” งานที่โดดเด่นด้วยสำเนียงดนตรีนิวเวฟยุค 80s ไม่ว่าจะเป็น เสียงกลองไฟฟ้าที่คุ้นเคยของยุคนั้น และเสียงซินธิไซเซอร์กระหึ่มหู ที่บรรเลงบนฃบีทดนตรีสนุก ๆ ของยุค 2020s

“Let Somebody Go” เพลงบัลลาดหวาน-เพราะ-ซึ้ง ที่เซเลนา โกเมซ มาเติมเต็มความอ่อนไหว ที่น่าจะถูกตัดเป็นซิงเกิลแน่ ๆ เมื่อดูจากศักยภาพของเพลง และชื่อชั้นของศิลปิน

“♡” มีวีอาร์คิง และเจค็อบ คอลลิเออร์ มาร่วมงาน ที่ได้ลายเซ็นของคอลลิเออร์จากเสียงร้องประสาน ส่วนสามสาววีอาร์คิงก็คือเสียงร้องในแบบดำ ๆ ที่ทำให้เพลงนี้เป็นงานกอสเพลป็อปที่มีเสน่ห์เรียกหู

“People of the Pride” แน่ละว่าต้องทำให้นึกถึงยูทูว์ช่วงเวลาวิบวับ ยุคสมัยของ ‘Zooropa’ กับงานในแบบแกลมร็อก บีทหนัก ๆ แต่ก็เต้นรำ, โยกหัว หรือจะชูมือขวาไปด้วยก็ได้ทั้งนั้น

“Biutyful” เสียงร้องแหลมเล็กที่ทำให้รู้สึกเหมือนเสียงร้องของเด็ก ๆ คือจุดสนใจแรก แต่ที่ตรึงให้อยู่กับที่ก็คือเมโลดี้สวย ๆ ที่สมกับชื่อเพลง ก่อนที่ “♾️” งานบรรเลงอิเล็กโทรนิกส์ ที่ฟังชูใจ เพลิดเพลิน ให้ความรู้สึกบวก จะเข้ามารับ ซึ่งเป็นอีกครั้งสัมผัสของดนตรียุค 80s มีให้จับต้อง

หลังเข้าถึงง่าย สนุกด้วยไม่ยากมาตลอด ‘Music of the Spheres’ ปิดท้ายด้วยของยาก “Coloratura” งานโชว์ฝีมือที่ตัวเพลงมีหลากอารมณ์ มากมูฟเมนต์ ภายใต้ความยาวกว่า 10 นาที ซึ่งในแบบงานโพรเกรสสีฟ แล้วด้วยบรรยากาศชวนล่องลอย “Coloratura” ก็มีอารมณ์ของงานไซคีดีลิกในตัว ที่คงต้องพ่วงท้ายด้วยว่า ในแบบโคลด์เพลย์ หรือในที่ทางของอัลบั้มชุดนี้ ซึ่งไม่ได้หวือหวาเกินรับ แต่ฟังคลี่คลาย โดยที่ซาวนด์เป็นไปในทางเดียวกับเพลงอื่น ๆ ของอัลบั้ม และด้วยอารมณ์ในงาน การนำเพลงนี้มาปิดท้าย ก็ทำให้ ‘Music of the Spheres’ ปิดฉากลงได้แบบสวยงาม

แม้ไม่ใช่ครั้งแรกที่โคลด์เพลย์ทำงานที่มีความเป็นป็อปจัด ๆ ในตัว แต่ก็เซอร์ไพรส์เหมือนกัน เพราะดูหนักข้อมากกว่าที่เคย แต่เมื่อพลิกดูชื่อโปรดิวเซอร์ที่เพิ่งมาร่วมงานกับโคลด์เพลย์เป็นหนแรก แม็กซ์ มาร์ติน เจ้าพ่อเพลงฮิตยุคใหม่ ที่อยู่เบื้องหลังการแจ้งเกิดของ บริตนีย์ สเพียร์ส. แบ็กสตรีทบอยส์ หรือการเกิดใหม่ของบอน โจวี่

นี่ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์ และไม่น่าประหลาดใจ ที่งานในอัลบั้มชุดนี้จะเป็นอย่างที่ได้ฟัง

และไม่แปลกใจเช่นกันที่ได้รู้ว่า แม็กซ์มีส่วนร่วมกับ “Coloratura” เพลงสุดท้ายของอัลบั้มในระดับ ‘Minimal’ จากที่ข้อมูลของอัลบั้มในแอปเปิล มิวสิกระบุเอาไว้

แต่ถึงจะเป็นงานป็อป ดนตรีใน ‘Music of the Spheres’ ก็ไม่ง่าย มีโทน อารมณ์ มีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกัน ส่วนเนื้อหาเรื่องราว ก็เป็นงานคอนเซ็ปต์อัลบั้ม คล้าย ๆ กับงานก่อน ๆ หน้า โดยคราวนี้เป็นเรื่องในห้วงอวกาศ ของระบบดาวเคราะห์ที่ชื่อ เดอะ สเฟียร์ส (The Spheres) ซึ่งคริส มาร์ตินบอกว่า ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังชุด… ใช่ เดาไม่ผิดหรอก ’Star Wars’

เพราะฉะนั้นกับตัวเพลงที่ฟังล่องลอย ให้ความรู้สึกเวิ้งว้าง ก็คือบรรยากาศในห้วงอวกาศของเดอะ สเฟียร์ส ที่โคลด์เพลย์เตรียมให้คนฟังเข้าไปสัมผัส ก่อนรับรู้เรื่องราวลึกซึ้งมากขึ้น จากเนื้อหาที่นำเสนอในแต่ละเพลง แล้วหากได้ชมมิวสิก วิดีโอ หรือรับรู้ส่วนเสริมนอกจากตัวเพลง โคลด์เพลย์ (หรืออาจจะหมายความถึงแค่คริส มาร์ติน) พาคนฟังไปไกลกว่าที่ได้ยิน เมื่อมีทั้งการบัญญัติตัวอักษร และความเป็นไปของแต่ละดวงดาวในระบบของเดอะ สเฟียร์ส

ที่ทำให้ ‘Music of the Spheres’ กลายเป็นงานเพลงนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ใช่งานไซ-ไฟลึก ๆ ที่เข้าถึงยาก หรือต้องผ่านการตีความ เหมือนงานของปรมาจารย์ อย่าง อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก, ไอแซ็ก อาซิมอฟ, ฟิลลิป เค. ดิก หรือ แฟรงค์ เฮอร์เบิร์ต แต่เพราะได้แรงบันดาลใจจากหนังไซ-ไฟ ที่มีความเป็นแฟนตาซี มีลักษณะของนิทานอวกาศ อย่าง ‘Star Wars’

‘Music of the Spheres’ จึงมอบความบันเทิง สนุกสนาน ให้ได้ไม่แตกต่างกัน

โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 32 ฉบับที่ 10 ตุลาคม

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.