Music ReviewREVIEW

ฟังไปแล้ว ROCKETMAN อัลบัมซาวนด์แทร็คหนังประวัติเอลตัน จอห์น, เพลงเอลตัน จอห์น ที่ไม่ใช่เอลตัน จอห์นร้อง

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นหนังเพลง แต่ Bohemian Rhapsody ก็มีหลายๆ เพลง หลายๆ ฉากที่ไม่ได้ถูกนำเสนอแบบหนังเพลงหรืองานมิวสิคัล อย่างที่เราคุ้นเคยกัน แม้การเลือกเพลงมาใช้อาจจะมาพร้อมกับความหมายบางอย่าง หรือนำเสนอบางสิ่งที่ภาพทำไม่ได้ แต่เพลงส่วนใหญ่ก็ไม่ต่างไปจากที่ได้ยินกันในอัลบัมของวงสักเท่าไหร่

 

กับ Rocketman หนังอัตชีวประวัติของศิลปินที่ไม่ใช่แค่อยู่ในยุคเดียวกัน แต่ยังเป็นชาวสีม่วง, มีความสามารถทางดนตรี, มีอิทธิพลดนตรีคลาสสิคอยู่ในตัว, เคยใช้ผู้จัดการคนเดียวกัน เหมือนๆ กัน กลับแตกต่าง เมื่อมีการนำเอาเพลงของเจ้าของเรื่องมาเรียบเรียงใหม่ ทำใหม่ในแบบงานหนังเพลงแท้ๆ ให้นักแสดงที่รับบทเป็นตัวละครในเรื่องเป็นคนร้อง

“ผมต้องการให้ทุกคนรู้ว่า ไม่ใช่ผมที่ร้องเพลง” เอลตัน จอห์นบอกถึงการทำเพลงประกอบหนังเพลง-แฟนตาซี อัตชีวประวัติ Rocketman ที่ทารอน เอเจอร์ตันทำได้อย่างยอดเยี่ยมในการรับบทเป็นเอลตัน จอห์น “ผมไม่ต้องการทำลิป-ซิงค์ แล้วเพลงของผมร้องไม่ง่าย ผมรู้เพราะว่านักดนตรีมากมายบอกกับผม เสียงเขาฟังเหมือนผม แต่ก็ยังฟังเป็นเสียงของทารอนด้วย เพลงอย่าง ‘Don’t Let the Sun Go Down On Me”, “Take Me to the Pilot”, “Tiny Dancer” ไม่ได้ร้องกันง่ายๆ และพอผมได้ยินเพลงพวกนี้ในหนัง มันทำเอาผมอึ้งไปเลย”

เอลตัน จอห์นบอกถึงความคิดตั้งต้นที่ทำให้เพลงประกอบของ Rocketman เป็นอย่างที่เห็นเป็นอย่างที่ฟัง เพราะฉะนั้นหากใครคิดว่าจะได้ฟังเพลงที่เหมือนกับต้นฉบับ ก็คงจะต้องคิดใหม่

โดยเพลงที่นำมาใช้นั้น มีถึง 22 เพลง ซึ่งส่วนใหญ่ก็คืองานฮิตๆ ของจอห์น (ที่อาจจะไม่ถึงกับฮิตระเบิดมากมายในบ้านเรา) เช่น “Your Song”, “Crocodile Rock”, “I Want Love”, “Goodbye Yellow Brick Road” รวมไปถึงสามเพลงที่เจ้าตัวยกตัวอย่างมาข้างต้น และ “Rocketman” เพลงที่เป็นชื่อของหนัง แต่ก็มีพวกเพลงในยุคแรกๆ ของจอห์นที่ไม่ค่อยได้ยินกันบ่อยนักใส่เข้ามาด้วย

หลายๆ เพลงยังปรับเปลี่ยนหรือตัดเนื้อหาบางท่อนออกไป เพื่อให้เหมาะกับการใช้เล่าเรื่องราว หรืออารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร และเพลงเกือบทั้งหมดก็ว่าได้ ในหนังกับอัลบัมซาวนด์แทร็ค ก็ไม่ได้เหมือนกันเป๊ะๆ เนื่องจากกับการใช้งานในหนัง หลายๆ ครั้งไม่จำเป็นเลยที่ต้องมาครบจบเพลง หรือไม่ก็อาจร้องกันไม่ต่างไปจากบทพูด แต่พอทำเป็นอัลบัมซาวนด์แทร็ค ก็ต้องให้คนฟังได้ครบถ้วนกระบวนท่า หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียง ทำให้เพลงต่างๆ ไม่ถึงกับเป็นมิวสิคัลจ๋า มีความเป็นเพลงป็อปอยู่ในตัว แต่เนื้อหาบางท่อน ดนตรีบางช่วงอาจจะมีลักษณะของงานสำหรับเพลงในตัว

นั่นหมายความว่า การทำงานเพลงของ Rocketman จะเป็นการทำงานอย่างน้อย 2 รอบ รอบแรกก็คือ การทำเพลงเพื่อตัวหนัง อีกรอบจะเป็นการทำเพื่อเป็นอัลบัมซาวนด์แทร็ค เห็นได้ชัดจาก “Sorry Seems to be the Hardest Word” ที่ในหนังเป็นเพียงท่อนดนตรีสั้นๆ เท่านั้น แต่ในอัลบัมซาวนด์แทร็คนั้นจัดกันเต็มเพลง

เสียงร้องหลักๆ ของอัลบัม ก็คือเสียงของทารอน เอเจอร์ตัน ที่เล่นเป็นจอห์น ซึ่งเขาก็ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม ร้องเพลงได้ในระดับที่สามารถไปเอาดีเรื่องร้องเพลงได้สบายๆ ดนตรีก็เยี่ยมยอดไม่แพ้เสียงร้อง เพราะมีทั้งความซับซ้อนในการเรียบเรียงให้เป็นงานสำหรับตัวหนัง มีทั้งเรียบเรียงท่อนที่มารับให้เข้ากันได้อย่างกลมกลืน เพื่อให้แต่ละเพลง ‘เวิร์ค’ สำหรับอัลบัมซาวนด์แทร็ค โดยเพลงที่เป็น เพ็ชรยอดมงกุฎของอัลบัมก็คงไม่พ้น “Goodbye Yellow Brick Road” ที่ความหมายชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อรวมกับภาพ เสียงร้องและดนตรีในเพลงก็ให้คะแนนสูงๆ ได้เลยในเรื่องอารมณ์

แม้จะไม่ใช่เพลงที่เป๊ะกับหนังแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ในเรื่องความดีงามของเนื้องานแล้ว อัลบัมซาวนด์แทร็ค Rocketman เยี่ยมยอดไม่แพ้กัน และกับการเป็นอัลบัมรวมเพลงของเอลตัน จอห์น ที่มีทั้งเพลงลึกๆ และเพลงดังๆ นี่คืองานที่ทำให้บทเพลงเหล่านั้นมาพร้อมกับบรรยากาศใหม่ๆ ทั้งดนตรี เสียงร้อง และการตีความ

โดย นพปฎล พลศิลป์ เรื่อง ฟังไปแล้ว ROCKETMAN อัลบัมซาวนด์แทร็คหนังประวัติเอลตัน จอห์น, เพลงเอลตัน จอห์น ที่ไม่ใช่เอลตัน จอห์นร้อง คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 28 มิถุนายน 2562

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.