FEATURESMusic Featuresดนตรีมีเหตุ

ย้อนอดีต 50 ปี Love Me Do ซิงเกิ้ลเปิดตัว เดอะ บีเทิลส์

LoveMeDoCoverย้อนไปถึงวันที่ 5 ตุลาคม 1962 หรือเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ซิงเกิ้ลใหม่ล่าสุดที่ชื่อว่า เพลง Love Me Do ถูกปล่อยออกมาในร้านขายแผ่นเสียงทั่วเกาะอังกฤษ โดยระบุว่าเป็นผลงานของวงเดอะ บีเทิลส์ ซึ่งในตอนนั้นชื่อนี้ไม่ได้มีนัยสำคัญอะไรมากมายกับคอเพลงนอกเมืองแมนเชสเตอร์ และบ้านเกิดของวงที่ลิเวอร์พูล อาจจะยกเว้นก็ที่ ฮัมบวร์ก เยอรมัน ซึ่งพวกเขาเดินทางไปเล่นในสตาร์ คลับอยู่บ่อยครั้ง ทำให้มีแฟนประจำเป็นชาวเยอรมันให้การติดตาม และรู้จักอยู่พอสมควร

Love Me Do กลายเป็นเพลงฮิตสุดเซอร์ไพรส์ ขึ้นถึงอันดับ 17 ในชาร์ทเพลงของเกาะอังกฤษ และความสำเร็จในครั้งนี้ก็มากพอที่จะทำให้ค่ายเพลงอีเอ็มไอ ตกลงใจเซ็นสัญญากับวงเดอะ บีเทิลส์

พอล แม็คคาร์ทนีย์ เริ่มเขียนเพลง Love Me Do ก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี ในปี 1958 ตอนอายุแค่ 16 ปี เขาเคยเล่นท่อนฮุคของเพลงไว้ จากนั้น พอลกับจอห์น เลนนอน ก็มานั่งทำให้เพลงนี้มีเนื้อมีหนังมากขึ้น “เป็นเพลงที่เป็นการแต่งร่วมกันอย่างสมบูรณ์” แม็คคาร์ทนีย์ เล่า “ความคิดเริ่มแรกอาจจะเป็นของผม แต่ที่เหลือต่อจากนั้นเป็นการทำงานแบบ 50-50 นั่นคือสิ่งที่เพลงนี้เป็น นี่คือเลนนอนกับแม็คคาร์ทนีย์ นั่งลงทำงานกันโดยไม่มีใครที่มีไอเดียจำเพาะเจาะจงเป็นพิเศษ”

แต่ถ้าไปถามเลนนอน เรื่องราวที่ได้จะแตกต่างไปเล็กน้อย “Love Me Do เป็นเพลงของพอล” เขาบอกเอาไว้ในปี 1980 “ขอผมคิดก่อนนะ ผมอาจจะช่วยเขาแต่งในท่อนกลางๆ เพลง แต่ผมไม่กล้าสาบานหรอก ผมรู้ว่าเขามีเพลงนี้อยู่ในหัวอยู่แล้ว ตั้งแต่ตอนไปเล่นที่ฮัมบวร์ก ก่อนหน้าที่เราจะกลายเป็นนักแต่งเพลง”

เพลงที่เดอะ บีเทิลส์ เล่นในช่วงที่ไปฮัมบวร์ก เป็นงานคัฟเวอร์เกือบทั้งหมด โดยพวกเขาจะหยิบเพลงของเรย์ ชาร์ลส์, ชัค เบอร์รี่, ลิตเติล ริชาร์ด, โบ ดิดลีย์ รวมไปถึงเพลงของบรรดาศิลปินร็อครุ่นบุกเบิกของอเมริกา มาเล่น และในท้ายที่สุด พวกเขาก็ค้นพบความกล้าที่จะทำงานเพลงของตัวเอง ซึ่งเริ่มด้วย Love Me Do และเพลงนี้ก็ไปได้สวย เมื่อพวกเขาเอาไปเล่นในสตาร์ คลับ

ตอนเดอะ บีเทิลส์ เดินทางไปที่ห้องอัดแอบบีย์ โรด เป็นครั้งแรก ในวันที่ 6 มิถุนายน 1962 เพื่อออดิชั่นกับทางบริษัทอีเอ็มไอ พวกเขาเล่นเพลง Love Me Do ร่วมกับเพลง Besame Mucho, P.S. I Love You และ Ask Me Why

ในตอนนั้น พีท เบสท์ ยังเป็นมือกลองของวง แต่โปรดิวเซอร์ จอร์จ มาร์ติน ไม่ชอบการเล่นของเบสท์นัก “จอร์จ มาร์ติน คุ้นเคยกับมือกลองที่เล่นตามจังหวะเวลามากๆ เพราะมือกลองวงบิ๊ก-แบนด์ทุกคนที่เขาใช้ จะต้องมีจิตสำนึกในเรื่องจังหวะเวลา” แม็คคาร์ทนีย์ เล่า “ตอนนี้ มือกลองชาวลิิเวอร์พูลของเรา มีจิตสำนึกในเรื่อง สปิริต, อารมณ์ กระทั่งเรื่องความประหยัด แต่ไม่มีเรื่องเวลาเลย จอร์จดึงเราไปคุยกันอีกด้านหนึ่ง แล้วบอกว่า ‘ผมไม่ชอบมือกลองของคุณเลย พวกคุณลองเอาเรื่องเปลี่ยนมือกลองไปคุยกันดูได้ไหม?’ พวกเราตอบว่า ‘ไม่ เราทำไม่ได้!!!’ มันเป็นเรื่องน่ากลัวที่สุดเรื่องหนึ่งที่คุณต้องเจอในตอนที่ยังเป็นเด็กๆ เราจะทรยศเขาได้ไหม? ไม่ แต่อาชีพของเรากำลังเป็นไปด้วยดีนะ บางทีเรื่องนี้อาจทำให้พวกเขายกเลิกสัญญากับเรา”

ทุกๆ คนในวง มีความคิดที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนในเรื่องที่ว่า ทำไมพีท เบสท์ ต้องออกจากวงหลังออดิชั่นกับอีเอ็มไอ ผ่านไปแค่ 2 เดือน เมื่อพวกเขากลับมาเข้าห้องอัดแอบบีย์ โรดอีกครั้งในวันที่ 4 กันยายน 1962 ก็มีมือกลองคนใหม่ ริงโก้ สตารร์ นั่งประจำตำแหน่งอยู่หลังกลองชุดแล้ว พวกเขาซ้อม Love Me Do ไป 15 รอบ แต่มาร์ตินก็ยังไม่ชอบเสียงกลอง พอพวกเขากลับมาอีกรอบในวันที่ 11 กันยายน มือกลองรับจ้าง แอนดี้ ไวท์ ถูกดึงตัวมา ทำให้ริงโก้ช็อค และกลัวมาก

“ผมรู้สึกแย่มากที่จอร์จไม่เชื่อใจผม” ริงโก้ กล่าวเอาไว้ในอัลบั้ม The Beatles Anthology “ผมมาถึงแล้ว และก็ได้ยินว่า ‘พวกเราได้มือกลองอาชีพ’ หลังจากนั้น จอร์จพูดขอโทษออกมาอีกหลายๆ ครั้ง แต่มันเป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกสิ้นหวัง ผมเกลียดเขาไปนาน แล้วก็ยังไม่ยกโทษให้ง่ายๆ หรอก” มาร์ติน ให้ริงโก้เล่นแทมโบรีนตลอดการบันทึกเสียงเพลงนี้ในวันนั้น แต่มันแทบจะชดเชยอะไรไม่ได้

ริงโก้ได้เอาคืน เมื่อ Love Me Do ถูกตัดเป็นซิงเกิ้ลในวันที่ 5 ตุลาคม 1962 เพราะอีเอ็มไอ เลือกใช้เทคที่ริงโก้เป็นคนตีกลอง แต่เมื่อเพลงนี้นำมาออกอีกใหม่ในเดือนเมษายนถัดมา กลับใช้เทคที่แอนดี้ ไวท์ตี ซึ่งก็รวมไปถึงเวอร์ชั่นที่ได้ยินในอัลบั้ม Please Please Me ที่ออกในอังกฤษ และอัลบั้ม Introducing… The Beatles ที่ออกในอเมริกาด้วย

ทุกคนในวงถึงตะลึงไปหมด เมื่อ Love Me Do เริ่มขึ้นชาร์ทของอังกฤษในช่วงปลายปี 1962 “การได้ยินเพลงนี้จากวิทยุ มันทำให้ตัวผมเย็นเฉียบ” จอร์จ แฮร์ริสัน กล่าว “และหลังจากขึ้นอันดับ 17 ได้ ผมนึกไม่ออกแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเพลงนี้อีก มันอาจจะเงียบ แล้วก็หายไป แต่ที่สำคัญกับเราก็คือ เมื่อเราเดินเข้าบริษัทอีเอ็มไอ พวกเขาเป็นมิตรกับเรามากขึ้น ‘โอ… ว่าไง… เพื่อน เข้ามาซิ’”

ต้นเดือนมกราคม 1963 เดอะ บีเทิลส์ปล่อยซิิงเกิ้ลที่สอง Please Please Me ออกมา และขึ้นอันดับ 1 ในเกาะอังกฤษทันที ก่อให้เกิดกระแสคลั่งเดอะ บีเทิลส์ และต้องใช้เวลาอีกถึง 1 ปี กว่ากระแสนี้จะแผ่ขยายมาถึงอเมริกา

จาก เรื่อง ย้อนอดีตครึ่งศตวรรษ Love Me Do ซิงเกิ้ลเปิดตัว เดอะ บีเทิลส์ คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ โดย นพปฎล พลศิลป์
หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 7-8 มีนาคม 2556 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.