FEATURESMusic Featuresดนตรีมีเหตุ

ริชี ฮาเวนส์ อีกหนึ่งตำนานเทศกาลดนตรีวู้ดสต็อค ผู้จากไป

richie-havensเทศกาลดนตรีวู้ดสต็อคเมื่อปี 1969 ถือเป็นเทศกาลดนตรีที่นอกจากจะยิ่งใหญ่แล้ว ยังมีความคลาสสิค อมตะเฉพาะตัว โดยเฉพาะในแง่ที่เป็นอีกหนึ่งการแสดงพลัง ที่มีผลต่อทั้งสังคม การเมือง และวงการบันเทิง ซึ่งในงาน เต็มไปด้วยการแสดงของศิลปินชื่อดังในยุคนั้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น จิมิ เฮนดริกซ์, ระวี ชังการ์, เดอะ เกรทฟูล เดด, โจน บาเอซ, เจนิส จอปลิน โดยมีศิลปินโฟล์คชาวบรูคลีนน์ ริชี ฮาเวนส์ เป็นศิลปินที่เล่นเปิดงาน

และเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2556 ฮาเวนส์ ที่นำความรู้สึก ความเป็นธรรมชาติมานำเสนอในแวดวงดนตรีโฟล์คยุค 60 ก็อำลาจากโลกนี้ไป ด้วยวัย 72 ปี หลังจากเกิดหัวใจวาย โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ฮาเวนส์ก็เพิ่งออกมาประกาศว่า เขาจะเลิกทัวร์คอนเสิร์ท เพราะมีปัญหาเรื่องสุขภาพ

สำหรับฮาเวนส์นั้น เริ่มแรกเดิมทีในช่วงกลางยุค 60 เขาเล่นดนตรีอยู่ที่วิลเลจ โฟล์ค คลับ และเป็นที่จดจำได้จากรูปร่างที่สุดถึง 6 ฟุตครึ่ง กับการเป็นคนผิวดำ เพราะศิลปินโฟล์คส่วนใหญ่จะเป็นคนผิวขาว ขณะที่การเล่นกีตาร์ของฮาเวนส์ ก็จะเล่นสายเปิด และเน้นถ่ายทอดอารมณ์ กับจังหวะจะโคน เสียงร้องก็ก้องกังวาน หยาบๆ ซึ่งสามารถทำให้งานโฟล์ค-บลูส์ และกอสเพลเชื่อมประสานกันได้เป็นอย่างดี

นอกจากร้อง และเล่นอะคูสติค กีตาร์ ฮาเวนส์ยังแต่งเพลงเอง แต่ที่ได้รับการจดจำเป็นพิเศษก็คือ ความสามารถในการคัฟเวอร์ และเรียบเรียงเพลงของศิลปินอื่นๆ และนำเสนอออกมาราวกับเป็นผลงานของตัวเอง ครั้งหนึ่งเขาเคยบอกไว้ว่า “ดนตรีก็คือโครงสร้างหนึ่งของการสื่อสาร” และ “มันเป็นความสั่นสะเทือนที่รับรู้ได้ร่วมกัน, เป็นการกระจายข่าวสารของผู้คน โดยเฉพาะสำหรับเด็กๆ”

ฮาเวนส์เป็นพี่คนโต ที่มีน้องให้ดูแลถึง 8 ชีวิต เติบโตมาแถบเบดฟอร์ด-สตูอีฟซองท์ ที่เต็มไปด้วยความยากจนในบรูคลีนน์ เป็นลูกชายของคนงานที่เล่นเปียโน ตอนเด็กๆ สมัยยังเรียนไฮสคูล ฮาเวนส์ตั้งวงกอสเพลขึ้นมา และแม้ครั้งหนึ่งจะอยากเป็นหมอผ่าตัด แต่พออายุ 17 เขาก็ออกจากบ้านมาย่านคนศิลปะอย่าง กรีนวิช วิลเลจ ที่นี่ หากไม่รับงานวาดภาพเหมือนเอาเงินจากนักท่องเที่ยว ฮาเวนส์ก็จะเล่นดนตรีในคลับโฟล์คแถวๆ นั้น และหนึ่งในคนที่เห็นบางอย่างในตัวเขาก็คือ บ็อบ ดีแลน “นักร้องคนหนึ่งที่เส้นทางของเราพาดทับกันบ่อยมาก ก็คือ ริชี ฮาเวนส์ ซึ่งจะมีสาวๆ หน้าตาดี ที่ถือหมวกรวบรวมเงินให้เขาอยู่เสมอ และผมก็พบว่าเขาเป็นคนที่เล่นดนตรีได้ดี” นั่นคือที่ดีแลนเล่าเอาไว้ ในหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเอง Chronicles: Volume One

richie havens woodstock-02หลังบันทึกเสียงอัลบั้ม 2 ชุดให้กับสังกัดเล็กๆ ฮาเวนส์ ก็ถูกดึงตัวโดยอัลเบิร์ท กรอสส์แมน ผู้จัดการของดีแลน ซึ่งทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว ในปี 1966 เขาเซ็นสัญญากับสังกัด เวิร์ฟ/โฟล์คเวย์ส ซึ่งปล่อยงานคลาสสิคของเขาที่ชื่อ Mixed Bag ออกมาในปีนั้น กลุ่มคนฟังของฮาเวนส์เพิ่มมากขึ้น เมื่อเขาออกอัลบั้มคู่ในแนวบลูส์-โฟล์ค-ไซคีดีลิค ชื่อ Richard P. Havens, 1983 ออกมาในปี 1968 และได้รับการเซ็นสัญญาเล่นในงานวู้ดสต็อค ซึ่งต้องเดินทางไปด้วยเฮลิคอปเตอร์ “มันน่าทึ่งมาก เหมือนกับไทม์สแควร์ในช่วงปีใหม่ที่ใหญ่และมีคนมากเป็นสองเท่า แสงแดดเจิดจ้า ไม่มีกำแพง หรือสิ่งก่อสร้างใดๆ ที่กั้นผู้ชมให้อยู่ที่นั่น”

โดยในงานฮาเวนส์ขึ้นแสดงเป็นคนแรก แต่จริงๆ แล้วเขาไม่ได้ถูกวางไว้ให้เป็นศิลปินเปิดงาน วงสวีทวอเตอร์ คือวงที่ถูกวางเอาไว้ แต่ยังเดินทางมาไม่ถึงเนื่องจากเจอกับปัญหารถติด ไมเคิล แลง ผู้ร่วมจัดงานที่ทำหน้าที่ดูแลหลังเวที จึงขอให้ฮาเวนส์ขึ้นเล่นแทน “มันต้องเป็นริชีเท่านั้น ผมรู้ว่าเขาสามารถควบคุมสถานการณ์ได้” แลงบอกเอาไว้ในเวลาต่อมา

เล่นไปได้ 6 เพลง ฮาเวนส์ก็หมดเพลงจะเล่น ฮาเวนส์เล่าถึงเหตุการณ์นั้นไว้ว่า เขาจำ “คำๆ หนึ่งที่ได้ยินขณะมองไปฝูงชนเป็นครั้งแรก เมื่อขึ้นเวทีได้ คำนั้นคือ Freedom” ฮาเวนส์พูดคำนี้ออกมาเป็นทำนองซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า แล้วก็เสริมด้วยเสียงกีตาร์ กับเสียงคองก้า จากทีมนักดนตรีของเขา ท้ายที่สุดเพลงนี้ก็กลายเป็นงานกอสเพล Sometimes I Feel Like a Motherless Child ที่เขาได้ยินในโบสถ์ตอนยังเป็นเด็กๆ การผสมผสานครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ทำให้แฟนๆ พอใจ แต่กลายเป็นไฮไลท์หนึ่งในหนังสารคดีงานวู้ดสต็อค ซึ่งภาพที่เขาใส่เสื้อพื้นเมืองแบบแอฟริกันสีส้มแปร๋นกลายเป็นที่จดจำมาถึงทุกวันนี้ และไม่มีใครรู้ว่า จริงๆ แล้วฮาเวนส์ต้องใส่ฟันปลอม เพื่อทำให้เสียงร้องของตัวเองมีเอกลักษณ์ “ความทรงจำที่ผมรักที่สุดในงานนี้ก็คือ การที่ได้เห็นในบางสิ่งที่ผมไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นมาก่อนตอลดชั่วชีวิตนี้ การรวบรวมผู้คนจำนวนมหาศาล ที่มีจิตวิญญาณ และความสำนึกเดียวกัน”

richie havens woodstock-01ฮาเวนส์ยังคงความสำเร็จเอาไว้ได้ในอีกหลายปีหลังงานวู้ดสต็อค โดยความสำเร็จสุดท้ายของเขาคือ การเอา Here Comes the Sun ของจอร์จ แฮร์ริสัน มาร้องในอัลบั้ม Alarm Clock และขึ้นถึงยี่สิบอันดับแรกของชาร์ทในปี 1971 จากนั้นเขายังมีงานออกมา แต่ไม่ได้รับความนิยมนัก รวมถึงไปเล่นเป็นโอเธลโลในละครเพลงร็อค Catch My Soul ในปี 1974, เล่นหนังของริชาร์ด ไพรเออร์ Greased Lightning ปี 1977 แม้งานเพลงจะเงียบๆ แต่ฮาเวนส์ก็ทำงานดนตรี-การเมืองมาตลอด ในปี 1978 เขามีเพลงอันดับ 1 ในอิสราเอล Shalom, Salaam Aleichum ซึ่งเขียนขึ้นจากการเห็นประธานาธิบดีอันวาร์ ซาดัทของอียิปต์ เดินทางเยือนกรุงเยรูซาเลม

ถึงอายุจะมากขึ้น ฮาเวนส์ยังร้องเพลง, ออกทัวร์อยู่ และมีงานร้องเพลงโฆษณาอย่าง สปอตจิงเกิ้ลโฆษณาของรถไฟแอมเทรค และแมคโดนัลด์ แล้วเมื่อไม่นานมานี้ ฮาเวนส์ก็เป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่มากขึ้น เมื่อเขาไปร่วมงานกับวงอิเล็กทรอนิกส์ กรูฟ อาร์มาดา

ปี 2000 เขาออกหนังสือความทรงจำของตัวเอง They Can’t Hide Us Anymore และอีก 8 ปีต่อมา ฮาเวนส์ก็ออกอัลบั้มชุดสุดท้ายในชีวิต Nobody Left to Crown

และนับต่อจากนี้ ก็มีเพียงแค่ความทรงจำให้รำลึกถึงผู้ชายผิวดำ ร่างใหญ่ ในเสื้อพื้นบ้านแอฟริกันสีส้มจับตา กับงานเพลงที่เต็มไปด้วยเสียงร้องจับใจ เพียงเท่านั้น

จากเรื่อง ริชี ฮาเวนส์ อีกหนึ่งตำนานเทศกาลดนตรีวู้ดสต็อค ผู้จากไป คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ โดย นพปฎล พลศิลป์ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 1-2 พฤษภาคม 2556

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.