etc FeaturesFEATURESอำลา อาลัย

อำลา-อาลัย ย้อนดูผลงานในความทรงจำของเจมส์ เฮอร์เนอร์

titanic OST Dl22 มิถุนายนที่ผ่านมา เจมส์ เฮอร์เนอร์ มือทำดนตรีประกอบหนัง เจ้าของสองรางวัลออสการ์จากหนัง Titanic วัย 61 ปี เสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุเครื่องบินเล็ก ที่เขาเป็นนักบินตกที่ใกล้ๆ ซานตาบาร์บารา

นอกจากจะเป็นที่รู้จักดีจากผลงานที่ทำให้กับหนังเรื่อง Titanic เฮอร์เนอร์ ยังมีผลงานชั้นดีอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น งานในหนัง Star Trek รวมสองภาค, งานใน A Beautiful Mind, Field of Dreams และ Apollo 13 โดยเฮอร์เนอร์พูดถึงการทำงานใน Titanic ที่ทำให้เขาคว้าออสการ์มาครองในสาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยม และเพลงประกอบยอดเยี่ยม (ร่วมกับผู้เขียนเนื้อร้อง วิลล์ เจนนิงส์) จากเพลง My Heart Will Go On ซึ่งร้องโดยซิลีน ดิออน เอาไว้ว่า “งานของผม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมได้คุยกับจิม (เจมส์ คาเมรอน) อยู่ตลอดเวลาก็คือ ต้องแน่ใจว่าทุกเหตการณ์สำคัญของหนัง ผู้ชมต้องสามารถสัมผัสมันได้ด้วยใจ”

และ “เมื่อเราสูญเสียตัวละคร เมื่อใครบางคนชนะ เมื่อใครบางคนแพ้ เมื่อใครบางคนหายไป ตลอดเวลาเหล่านั้น ผมต้องทำในสิ่งที่ทำให้หัวใจรู้สึกอย่างต่อเนื่อง นั่นคืองานหลักของผม”

อัลบั้มเพลงซาวนด์แทร็คหนังเรื่อง Titanic ของเฮอร์เนอร์ทำยอดขายได้ถึง 27 ล้านก็อปปีทั่วโลก และนอกจากหนังเรื่องนี้แล้ว เขายังทำงานร่วมกับคาเมรอนอีกใน Aliens (1986) และ Avatar (2009) รวมไปถึงภาคต่อของ Avatar

ตลอดชีวิตการทำงานเฮอร์เนอร์เข้าชิงออสการ์ถึง 10 ครั้ง ที่เด่นๆ ก็จากหนังรางวัลหนังยอดเยี่ยม อย่าง Braveheart (1995) และ A Beautiful Mind (2001) รวมไปถึง An American Tail (1986), Field of Dreams (1989), Apollo 13 (1995) และ House of Sand and Fog (2003)

ผลงานของเฮอร์เนอร์ที่จะออกมาให้ได้สัมผัสกันหลังจากเขาเสียชีวิตก็ได้แก่ Southpaw ที่จะออกฉายในเดือนกรกฎาคม, Wolf Totem หนังของ ฌอง ฌาคส์-อันโนด์ ที่จะเข้าโรงในเดือนกันยายน และ 33 หนังดรามาที่สร้างจากเหตการณ์เหมืองถล่มในชิลี ซึ่งจะออกฉายในเดือนพฤศจิกายน และนี่คือ ผลงานของเฮอร์เนอร์ที่ได้รับการยกย่องว่า “เยี่ยม” ที่สุดของเขา

10 An American Tail (1986): ต้องขอบคุณงานของเฮอร์เนอร์ ที่ทำให้หนูแอนิเมชัน สามารถทำให้ผู้ชมหลั่งน้ำตาได้ ขณะที่ตัวเองก็คว้ารางวัลเพลงแห่งปีของแกรมมีมาครองจากเพลง Somewhere Out There ร่วมกับผู้แต่งเพลงแบร์รี มานน์ และซินเธีย เวล ซึ่งเป็นเพลงที่เป็นศูนย์กลางของเรื่อง

9 Avatar (2009): เฮอร์เนอร์ใช้เสียงเครื่องเคาะจากป่า และท่วงทำนองของตะวันตกยุคเก่ามาสร้างโลกของ Avatar ให้มีทั้งความแปลกและความคุ้นเคย เป็นการวางรากให้กับหนังที่เต็มไปด้วยเทคนิคด้านภาพจากซีจี ด้วยดนตรีที่มีความเป็นมนุษย์ หากไม่เสียชีวิต เฮอร์เนอร์จะทำหน้าที่สานต่องานดนตรีของหนังภาคต่อชุดนี้ด้วย

8 Field of Dreams (1989): ถึงจะรู้จักกีฬาเบสบอลไม่มากนัก แต่เฮอร์เนอร์ก็ฉวยโอกาสทำงานชิ้นนี้เอาไว้ ขณะที่งานสกอร์ในหนังไซ-ไฟของเขามีความรู้สึกติดดินอย่างไม่น่าเชื่อ งานดนตรีในหนังเบสบอลและไร่ข้าวโพดเรื่องนี้ ก็มีความเป็นหนังอวกาศ และสร้างบรรยากาศโอบล้อมได้เป็นอย่างดี เสียงเครื่องสายแสดงถึงชัยชนะที่บรรเลงอย่างนุ่มนวล รวมกับเครื่องเป่าทองเหลือง สร้างองค์ประกอบของเรื่องราวที่ไม่ธรรมดาได้อย่างลงตัว

7 A Beautiful Mind (2001): เรื่องน่าเศร้าที่เกิดขึ้นพ้องกันอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อจอห์น แนชและภรรยา ที่เป็นที่มาของหนังเรื่องนี้ เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อเดือนพฤษภาฯ อีกหนึ่งเดือนถัดมาผู้ทำดนตรีประกอบของหนังก็จากไป แม้จะเต็มไปด้วยองค์ประกอบของงานจากหนัง Bicentennial Man เมื่อปี 1999 แต่ดนตรีประกอบของหนังเรื่องนี้ก็ออกมาเยี่ยมยอดมาก โดยเฉพาะธีม A Kaleidoscope of Mathematics ที่ชวนลุ่มหลง ซึ่งเป็นหนึ่งในงานชิ้นที่เยี่ยมที่สุดของเฮอร์เนอร์อย่างไม่ต้องสงสัย

6 Apollo 13 (1995): ดนตรีประกอบของเฮอร์เนอร์มาเป๊ะมากในหนังของรอน โฮเวิร์ดเรื่องนี้ ที่สร้างความเป็นดรามาให้กับเรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์ เน้นความอ้างว้างในห้วงอวกาศ และอันตรายที่คืบคลานเข้ามาหายานอพอลโล 13 รวมไปถึงความอบอุ่นจากความรักของครอบครัว

5 Aliens (1986): สกอร์ในหนังไซ-ไฟของเฮอร์เนอร์ไม่ค่อยทำให้ผู้ฟังรู้สึกไม่สบายใจสักเท่าไหร่ แต่กับงานที่ทำให้เขาชิงรางวัลออสการ์เป็นหนแรก แสดงให้เห็นว่า เฮอร์เนอร์สามารถทำดนตรีที่ปลุกความน่ากลัว, ความหวาดระแวง และความละโมบ รวมไปถึงอารมณ์ที่นุ่มนวล และความอบอุ่น ในเรื่องเดียวกันได้

4 Star Trek II: The Wrath of Khan (1982): ชัยชนะหนแรกอย่างแท้จริงของเฮอร์เนอร์ ในวัย 28 ปี นี่คือดนตรีประกอบหนัง Star Trek เรื่องแรกจากสองเรื่องของเขา และเป็นงานชิ้นที่ดีที่สุด ซึ่งมีทั้งแสดงให้เห็นด้านที่คิดบวกของกัปตันเคิร์ค, คนกระหายเลือด และคิดมุ่งมั่นอยู่เพียงสิ่งเดียวอย่างข่าน รวมไปถึงศักดิ์ศรี, การไม่นึกถึงตัวเอง ตลอดจนความตายของสป็อค ธีมที่เยี่ยมที่สุดคืองานในฉากรบตอนท้าย ที่ทำให้สกอร์ Star Wars ของจอห์น วิลเลียมส์ เจอคู่ปรับคนสำคัญเลยทีเดียว

3 Braveheart (1995): จากเสียงเครื่องเป่าลมไม้ ที่นำมาใช้สร้างความโรแมนติค กับธีมหลักที่ติดหู และฟังน่าเกรงขาม Freedom เต็มไปด้วยอารมณ์แบบท้องทุ่งของสก็อทท์แลนด์ ในยุคกลางของยุโรป หนังเรื่องนี้ทำให้เห็นการสร้างธีมที่คุ้นเคย, เป็นสากล และมีแรงบันดาลใจ ของเฮอร์เนอร์

2 Glory (1989): ล่องลอย, ทึม และสง่างาม คือนิยามของดนตรีประกอบหนังสงครามกลางเมืองเรื่องนี้ ที่มีคณะนักร้องประสานเสียง Boys Choir of Harlem มาร่วมงาน เมื่อได้ยินเสียงร้องที่ไม่มีเนื้อร้องของพวกเขา ก็ราวกับได้ยินเสียงภูตผีจากอดีต ที่อยากบอกเล่าเรื่องราวที่ผ่านมาของพวกเขาให้ฟัง

1 Titanic (1997): งานซาวนด์แทร็คที่ขายดีที่สุดของเฮอร์เนอร์ และติดอันดับอัลบั้มขายดีตลอดกาล นี่คืองานที่ตบแต่งมาเป็นอย่างดี ซึ่งเขาสามารถจับเอาความจองหอง หยิ่งทะนงของชนชั้นสูง, ความร่าเริงของพวกชนชั้นแรงงาน และความตายที่เลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรอคอยผู้คนบนเรืออยู่ มานำเสนอได้เป็นอย่างดี ขณะที่เพลง My Heart Will Go On ก็เต็มไปด้วยพลัง เป็นเพลงที่มาปิดท้ายเรื่องราวได้อย่างลงตัว

จากเรื่อง ผลงานในความทรงจำของเจมส์ เฮอร์เนอร์ โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ สะกิดร่องเสียง นิตยสาร เอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1189 ปักษ์แรก สิงหาคม 2558

สามารถกดไลค์ Like ติดตามเพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:etc Features

Comments are closed.