Music ReviewREVIEW

เพลงของหนัง – หนังของเพลง ในซาวนด์แทร็ค A STAR IS BORN

เปิดตัวด้วย “Shallow” ที่แบรดลีย์ คูเปอร์ เจ้าของบทแจ็คสัน เมน ศิลปินคันทรี-ร็อค กับเลดี กากา ที่เล่นเป็นอัลลี หญิงสาวเสียงดีที่แจ็คสันค้นพบในคลับแบบอัลคาซาร์ ร้องร่วมกัน ถือว่าเป็นการเลือกเพลงมานำได้ดี เพราะไม่ใช่แค่เป็นเพลงบัลลาด-ป็อป-ร็อค ที่ได้ยินแล้วติดหูเท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก แสดงให้เห็นถึงเคมีที่สอดคล้องต้องกันของทั้งกากาและคูเปอร์ แล้วหากได้ชม ฉากร้องเพลงนี้ทำให้เชื่อว่า ผู้หญิงที่ร้องเพลงคู่กับร็อคสตาร์ในเรื่อง เป็นว่าที่ซูเปอร์สตาร์คนต่อไปของวงการเพลงได้จริงๆ

แล้วถึงจะเหมือนเป็นเพลงที่นักร้องในเรื่องร้อง แบบเพลงป็อป เพลงร็อคของศิลปินทั่วๆ ไป แต่เนื้อหาของ “Shallow” ก็บอกความเป็นไปของตัวละครทั้งสองคนที่พบ-รัก-ใช้ชีวิตร่วมกัน ที่ย้ำว่าเมื่อตัดสินใจร่วมทางกันไป พวกเขาก็เดินห่างจากจุด ‘น้ำตื้น’ หรือจุดปลอดภัยไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ต่างไปจากธีมของหนังด้วยเช่นกัน

และทุกเพลงในหนัง ก็ล้วนมีเนื้อหาข้องเกี่ยวกับเรื่องราวทั้งตรงๆ และโดยอ้อม ไม่ว่าจะเป็น บอกเบื้องลึกความเป็นมา อารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร เล่าถึงสถานการณ์ที่เป็นไป โดยถูกนำเสนอผ่านแนวดนตรีที่หลากหลาย ทั้งร็อคหนักๆ อย่าง “Black Eyes”, คันทรี-โฟล์ค “Maybe It’s Time”, คันทรี-ร็อค “Alibi” กระทั่งเพลงป็อปที่ใช้กับตัวละครแอลลีของกากา ในช่วงเป็นป็อป-สตาร์ แม้จะเป็นงานป็อป สนุกๆ คึกคัก เนื้อร้องก็ยังบอกถึงสภาวะช่วงนั้นๆ ของตัวละคร เช่น “Heal me/ God knows nothin’ else is gonna/ Gonna heal me / Oh before it’s too late / Won’t you steal me/ Steal me all the way from myself/ Won’t you heal me?” ในเพลง “Heal Me” หรือเพลงบีทตื้ดๆ ที่เหมือนไม่เกี่ยวกับความเป็นไปของเนื้อหา “Why Did You Do That?” ก็ถูกใช้เป็นปมในความรู้สึกหรือความขัดแย้งของตัวละคร แม้อาจจะฟังแปลกแยกจากเพลงอื่นๆ ไม่น้อยในเรื่องแนวทางดนตรี

ตัวอัลบัมซาวนด์แทร็คยังใส่บทสนทนาก่อนเพลงเข้ามาด้วย ทำให้ได้อารมณ์อัลบัมเพลงจากหนังเต็มที่ โดยบางบทสนทนาก็ยังมีนัยยะเพิ่มเติม อย่าง การร้องเพลง “Somewhere Over the Rainbow” ของตัวละครแอลลี ก็คือการที่หนังใช้คารวะจูดี การ์แลนด์ ที่รับบทนี้ในหนังฉบับปี 1954 ที่เพลงนี้ซึ่งการ์แลนด์ร้องใน The Wizard of Oz ไม่ต่างไปจากเพลงประจำตัวของเธอ

อีกเพลงที่โดดเด่นไม่แพ้ “Shallow” ก็คือ “I’ll Never Love Again” งานป็อปเศร้าๆ ที่มีสองฉบับ ฉบับหนึ่งเป็นฉบับที่น่าจะถูกตัดมาเป็นซิงเกิลต่อไป อีกฉบับจะได้ยินในหนัง ซึ่งปิดเพลงด้วยเสียงร้องดิบๆ ของคูเปอร์จากอีกเหตุการณ์ในหนัง ที่ได้เต็มในเรื่องอารมณ์ และทำให้ฉากนี้กลายเป็นฉากสะเทือนใจได้มากที่สุดของหนังก็ว่าได้

เสียงร้องของคูเปอร์อาจจะไม่ได้เยี่ยมยอดแบบนักร้องอาชีพ แต่ก็ร้องเพลงเป็น พอบวกการแสดง อารมณ์ที่ส่งออกมา ก็ทำให้เชื่อได้อย่างสนิทใจว่า นี่คือนักร้องที่ประสบความสำเร็จอย่างที่เป็นในหนังจริงๆ ส่วนกากาคงไม่ต้องพิสูจน์อะไรอีกแล้ว และเสียงร้องที่เธอฝากเอาไว้ใน “La Vie en Rose” งานอมตะนิรันดร์กาล ก็คือการตอกย้ำสำหรับคนที่ยังลังเล ที่ยังสมกับการทำให้ตัวละครแจ็คสัน เมนของคูเปอร์ถึงกับน้ำตาซึมจริงๆ

ที่น่าสนใจก็คือ เพลงส่วนใหญ่บันทึกเสียงกันแบบสดๆ ในสถานที่ถ่ายทำจริงๆ ทำให้ซาวนด์ออกมาดิบ และถึงอารมณ์เต็มที่

กับการเตรียมตัวเป็นแจ็คสัน เมน คูเปอร์ต้องใช้เวลาสองปีครึ่ง รวมถึงต้องวางลักษณะตัวละครด้วยว่า จะเป็นนักดนตรีในแบบไหน ผ่านการทำงานกับนักดนตรีมากมายและโรเจอร์ เลิฟ โค้ชในการร้องเพลง เจ้าตัวบอกว่า “ท้ายที่สุดเขาก็เริ่มพัฒนาไปสู่การสร้างตัวตนของตัวเอง ถ้าผมมีเวลาอีกสักปี คงจะกลายเป็นศิลปินร็อค แต่ตอนนี้เป็นการผสมผสานกัน” โดยคนที่เป็นแรงบันดาลใจในบทนี้ก็คือเอ็ดดี เว็ดเดอร์แห่ง Pearl Jam ไม่ใช่แค่เล่นดนตรี, ร้องเพลง คูเปอร์ยังแต่งเพลงให้หนังเช่นเดียวกับกากา โดยเขาตั้งใจให้เนื้อร้องมี “วิวัฒนาการไม่ต่างไปจากเรื่อง” และ “แต่ละเพลงก็มีตัวตนที่แตกต่างกันไป” คูเปอร์ยังเล่าต่อว่า “เพลงกลายเป็นหนึ่งตัวละครในหนังเรื่องนี้ ไม่มีเนื้อร้องในฉากไหนของหนังเลย ที่ไม่มีความเกี่ยวพันกับตัวละคร หรือสิ่งที่พวกเขาหวัง หรือเสียใจ นั่นคือสิ่งที่ถูกปลดปล่อยออกมา แล้วจากนั้นเราก็แค่หาที่เหมาะๆ ที่จะใส่มันลงไป”

คูเปอร์ได้ลูคัส เนลสัน (ลูกชายของตำนานคันทรี วิลลี เนลสัน) มาร่วมงานด้วยในฐานะที่ปรึกษาทางด้านดนตรี หลังดูเขาเล่นในคอนเสิร์ต Desert Trip ตอนตุลาคม 2016 เนลสันเล่าว่า เขาเริ่มต้นด้วยการ “แต่งเพลงให้หนังแบบเล่นๆ เอาสนุกๆ แล้วก็ส่งต่อไปให้โปรดิวเซอร์ ซึ่งพวกเขาก็ชอบกัน จากนั้นเลดีกากาก็เข้ามา เราเจอกันแล้วคลิกกันกลายเป็นเพื่อน ได้แต่งเพลงด้วยกัน” ยิ่งไปกว่านั้น ลูคัสยังยกวง Promise of the Real ของตัวเองไปเล่นเป็นวงแบ็คอัพของคูเปอร์ในหนัง แถมยังทำงานกับกากาต่อ และเธอก็ตอบแทนด้วยการร้องแบ็คอัพในอัลบัมของเขาสองเพลง ส่วนคูเปอร์ก็จบด้วยการแต่งเพลงในหนังสองเพลงคือ “Black Eyes” กับ “Out Of Time” เพลงแรกกับเนลสัน เพลงหลังกับเจสัน อิสเบลล์ (ศิลปินเจ้าของสี่รางวัลแกรมมี) ที่ยังแต่งเพลง “Maybe It’s Time” ให้กับตัวละครของคูเปอร์อีกด้วย

นอกจากลูคัส พวกมือทองสมองเพ็ชรที่มาทำเพลงให้หนังยังมี ดีเจ ไวท์ ชาโดว์ ที่ทำงานกับกากาในอัลบัม Born Thie Way ที่มาช่วยทำเพลงป็อปให้ตัวละครอัลลี, โปรดิวเซอร์มาร์ค รอนสัน (โปรดิวเซอร์ของเอมี ไวน์เฮาส์ และเจ้าของเพลงดัง Uptown Funk ที่ทำกับบรูโน มาร์ส), มือแต่งเพลงฮิลลารี ลินด์ซีย์ ทั้งคู่ทำงานให้กากาในอัลบัม Joanne, ไดแอนน์ วอร์เรน นักแต่งเพลงเจ้าของเพลงฮิต อย่าง “I Don’t Wanna Miss a Thing”, แอนดรูว์ ไวแอ็ทท์ จากวง Miike Snow

ที่พอเพลงทั้งหมดรวมเข้ากับ การแสดง, บท ก็ทำให้หนังที่มีพล็อตซ้ำๆ เก่าแก่โบร่ำโบราณเรื่องนี้ กลายเป็นงานที่มีเสน่ห์น่าสนใจได้อีกหน โดยปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ‘เพลง’ คือองค์ประกอบสำคัญ ที่สามารถฟังได้-เข้าถึงได้ ไม่ว่าจะอยู่ในหนังหรือไม่ก็ตาม โดยนิตยสารบิลล์บอร์ดสรุปถึงอัลบัมซาวนด์แทร็คหรือเพลงในหนัง A Star is Born เอาไว้ว่า “เป็นเพลงที่ไร้กาลเวลา, เต็มไปด้วยอารมณ์, ความกล้าหาญ และจริงจัง เป็นเพลงที่ราวกับเขียนจากศิลปินผู้ที่ชีวิตยุ่งเหยิงโคตรๆ แต่โดนไปที่ขั้วหัวใจคนฟัง”

โดย นพปฎล พลศิลป์ เรื่อง เพลงของหนัง – หนังของเพลง ในซาวนด์แทร็ค A STAR IS BORN คอลัมน์ หรรษา วันจันทร์ – Happy Monday หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 15 ตุลาคม 2561

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.