FEATURESMusic Features

เรื่องเล่าถึงขวบปี ที่ Queen กลายเป็นพ่อทูนหัวของดนตรีเมทัล

การถกเถียงถึงจุดกำเนิดของดนตรีเฮฟวี เมทัล ถูกพูดกันมานานหลายทศวรรษ หลายๆ คนมักบอกว่า Black Sabbath คือผู้สร้างดนตรีแนวนี้ขึ้นมาในปี 1970 ขณะที่ศิลปินฮาร์ด ร็อคอย่าง Led Zeppelin, The Who และ Deep Purple รับเอาสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้น มาวางรากฐานต่อด้วยดนตรีที่หนักขึ้น, หม่นขึ้น และเต็มไปด้วยเสียงของดิสทอร์ชัน แต่ก็มีวงดนตรีวงหนึ่งที่มักถูกมองข้าม เมื่อพูดกันถึงเรื่องนี้ นั่นก็คือ Queen ซึ่งเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ง่ายมาก เมื่อพวกเขาไม่เคยถูกแปะป้ายว่าเป็นวง ‘เมทัล’ แถมอิทธิพลก็แผ่ขยายไปในมุมของเพลงป็อปและร็อคเป็นส่วนใหญ่ หากอย่างน้อย อัลบัมสองชุดที่พวกเขาปล่อยออกมาในปี 1974 ก็สร้างรอยประทับให้บรรดาวงเมทัลทั้งหลายได้เดินตาม และคริสโตเฟอร์ ธีสเซนอน จาก ConsequenceOfSound.net จะมาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังว่า ทำไมควีนถึงควรจะอยู่ในทุกการสนทนาถึงจุดกำเนิดของดนตรีเฮฟวี เมทัล

เดือนมีนาคม อัลบัม Queen II กลายเป็นจุดเริ่มต้นปีอันน่าจดจำของวงร็อคจากอังกฤษวงนี้ เมื่อขึ้นถึงอันดับที่ 5 ในชาร์ตของสหราชอาณาจักร สูงกว่าที่อัลบัมชุดแรกทำได้ถึง 15 อันดับ ทั้งๆ ที่ใช้เวลาในการบันทึกเสียงเพียงแค่ 1 เดือน โดยเป็นอัลบัมที่แสดงให้เห็นพลัง ที่ยังคงส่งต่ออย่างได้ผลในอีก 45 ปีต่อมา ความสำเร็จที่ Queen II ได้รับ ทำให้ได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก ในฐานะวงสนับสนุนทัวร์ของวงแกลมร็อค Mott the Hoople อยู่ราวๆ 1 เดือน ซึ่งไม่นานนักก่อนหน้าบรรดาหนุ่มสาวชาวอเมริกัน จะพบว่าตัวเองชื่นชอบการแสดงที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา และมาพร้อมกับริฟฟ์อันหนักแน่นแบบฮาร์ดร็อค มากกว่าพวกแกลมร็อคทั้งหลาย และเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน อัลบัม Sheer Heart Attack ก็ออกมา และส่งให้ควีนกลายเป็นซูเปอร์สตาร์

ถึงคนส่วนใหญ่จะไม่ยอมบอกว่า เพลงฮิตติดชาร์ทที่เข้าถึงได้ไม่ยาก แบบงานแกลมร็อค อย่าง “Killer Queen” หรือเพลงบัลลาดที่มาพร้อมเสียงร้องประสาน “Funny How Love Is” มีความเป็นงานเมทัล หากการแสดงที่หนักแน่นของหลายๆ เพลงในอัลบัม Queen II และ Sheer Heart Attack ก็เกาะอยู่กับภาพของวงเมทัลรุ่นใหญ่ ตั้งแต่ Judas Priest ไปถึง Deafheaven ชนิดแกะไม่ออก โดยเฉพาะเสียงร้องอันทรงพลังของเฟร็ดดี เมอร์คิวรี ที่ไปปรากฏอยู่ในเสียงของนักร้องเพลงร็อคผู้ยิ่งใหญ่หลายต่อหลายราย หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ ร็อบ ฮัลฟอร์ด ของพรีสท์ ที่บอกในปี 2015 ว่า “เขาเป็นแรงบันดาลใจสำหรับผม มีนักร้องมากมายที่โดนใจผมเข้าเต็มๆ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการร้องเพลง รวมถึงจิตวิญญาณที่ถ่ายทอดออกมา เขาเป็นคนหนึ่งที่ทำได้ และยังคงโดนใจผมมาถึงทุกวันนี้ เขาร้องออกมาด้วยความเชื่อมั่น และเสียงก็มีความโดดเด่นอย่างมาก” ไม่ว่าจะร้องเรื่องราวอะไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการต่อสู้ของตัวประหลาด หรือความรัก ขณะที่ทุกๆ คำที่เขาระเบิดออกมาเหมือนกับระเบิดไดนาไมท์ แต่ในอีกหนึ่งนาทีถัดไป มันก็กลายเป็นเสียงกระซิบอันนุ่มนวลราวปุยนุ่น

ศิลปินเมทัลหลายๆ คนเสริมว่า การแสดงของเมอร์คิวรีมีอิทธิพลต่อพวกเขาอย่างสูง แอ็กเซล โรสบอกว่า เมอร์คิวรีคือ “นักร้องนำที่เจ๋งที่สุดตลอดกาล” ซึ่งสก็อทท์ เอียน แห่ง Anthrax ก็คิดไปในทางเดียวกัน กระทั่งก่อนการแสดงในตำนานบนเวทีไลฟ์เอดเป็นทศวรรษ เมอร์คิวรีก็จัดการบัญชาการทุกอย่างบนเวที ด้วยมาดที่ดูราวกับเป็นกษัตริย์ ยกไมค์ราวกับเป็นคฑาขึ้นไปบนฟ้า แถมใส่ชุดดำล้วนก่อนพวกเมทัลอีกต่างหาก

ไม่ดีแน่ หากพูดถึงผลกระทบที่ควีนมีต่อดนตรีเมทัลแค่เรื่องเสียงร้องของเมอร์คิวรี แล้วละเลยไบรอัน เมย์และโรเจอร์ เทย์เลอร์ โดยเฉพาะคนหลังที่เสียงกรีดร้องแบบเมทัลของเขาถูกมองข้ามเสมอ ขณะที่หลายๆ คนจำเสียงร้องเปี่ยมอารมณ์ ความรู้สึกของเอียน กิลแลนจากดีพ เพอร์เพิล หรือโรเบิร์ท แพลนท์ของเลด เซพเพลินได้ แต่กลับลืมเสียงกรีดร้องของเทย์เลอร์ตอนต้นเพลง “Ogre Battle” หรือ “In the Lap of the Gods” ที่ไม่ต่างไปจากการวางรากฐานให้นักร้องสายเมทัล อย่าง ฮัลฟอร์ด หรือ บรูซ ดิคคินสัน แห่ง Iron Maiden นอกจากนี้เสียงร้องประสานของเมย์, เทย์เลอร์ และเมอร์คิวรี ก็สัมผัสได้จากการแสดงของวงเมทัลในสนามกีฬาของยุค 80 เช่น Def Leppard

พูดถึงเสียงประสาน เสียงกีตาร์โซโลที่สอดรับกันซึ่งเป็นของต้องมีสำหรับวงเมทัลยุค 70 – 80 ก็มีผู้บุกเบิกชื่อไบรอัน เมย์ ที่บันทึกเสียงเครื่องดนตรีต่างๆ ทับกันไปมา เขาคือเจ้าของคลังเสียงทั้งหมดใน “Procession” ไม่ว่าจะเป็นเสียงเครื่องเป่าทองเหลืองหรือเครื่องสายกับเจ้าเรด สเปเชียลกีตาร์ตัวเก่ง รวมทั้งงานซิมโฟนีใน “Lily of the Valley” คงเป็นเรื่องสะเพร่าสุดๆ หากพูดถึงงานของเมย์โดยไม่ชื่นชมการโซโลของเขาใน “Brighton Rock” ด้วยเวลาราวๆ 3 นาที เมย์มอบบทเรียนชั้นยอดสำหรับการเล่นกีตาร์ที่มาก่อนยุคของดนตรีเมทัล ที่เริ่มด้วยพาวเวอร์คอร์ดที่ผสมผสานกับลูกลิคแบบบลูส์ คล้ายๆ กับเดอะ ฮูว์ แล้วก็โยนระเบิดตูมใหญ่ เหมือนที่มือกีตาร์รุ่นหลังอย่างเอ็ดดี แวน เฮเลนชอบทำ ด้วยเสียงริฟฟ์สั่นระรัว ที่น่าจะทำให้ศิลปินแธรชยุคแรกๆ อย่าง Metallica ต้องอิจฉา

แล้วอย่าลืมว่า “Stone Cold Crazy” ในอัลบัม Sheer Heart Attack คือเพลงที่ถูกกล่าวถึงเสมอว่าเป็นเพลงสำคัญสำหรับการก่อตัวของดนตรีแธรช เมทัล ซึ่งมองเห็นได้ไม่ยากจากเสียงริฟฟ์ กับจังหวะที่กระหน่ำด้วยความเร็ว 240 บีทต่อนาที กระทั่งเมทัลลิกายังคัฟเวอร์เพลงนี้ไว้ในอัลบัม Garage, Inc. หลังจากเจมส์ เฮทฟิลด์เล่นเพลงนี้กับควีนและโทนี ไอออมมีของแบล็ค แซ็บบาธ ในคอนเสิร์ทสดุดีเฟร็ดดี เมอร์คิวรีเมื่อปี 1992 เสียงริฟฟ์หนักๆ ของเมย์ใน “Stone Cold Crazy” แล้วก็ “Father to Son” และ “Brighton Rock” กลายเป็นการวางรากฐานให้กับจังหวะในแบบเฮฟวี ที่หาฟังได้ในแทบทุกแนวทางของดนตรีเมทัล

ไม่ใช่แค่การแสดงและซาวนด์ เรื่องราวในเพลง โดยเฉพาะจากอัลบัม Queen II ก็เป็นสิ่งที่มาก่อนเสียงที่ได้ยินกันในวงเพาเวอร์ เมทัลหรือโพรเกรสสีฟ เมทัล ก่อนหน้าเพลงอย่าง “Sentinel” ของพรีสท์ หรือ “Call of Ktulu” ของเมทัลลิกา หรือ “Number of the Beast” ของไอออน เมเดน เมื่อควีนเอาเรื่องราวของตัวร้ายมาเล่าขานไว้ใน “Ogre Battle” แม้จะฟังดูตลกกว่าบรรดาผู้ที่มาทีหลัง แต่ก็แสดงให้เห็นว่า พวกเขาไม่ลังเลที่จะพูดถึงเรื่องในด้านมืดเลย

ขณะที่ออซซี ออสบอร์น มักถูกกล่าวถึงว่าเป็น เจ้าชายแห่งความมืด เมอร์คิวรีก็อาจหาญพอจะท้าชิงบัลลังก์ด้วย “The March of the Black Queen” ที่มาพร้อมเรื่องราวในด้านมืด ด้วยจังหวะที่รุกเร้า ส่วน “Seven Seas of Rhye” เมอร์คิวรีก็กลายเป็นขุนนางผู้ทรงอำนาจในด้านมืด เห็นได้ชัดว่าควีนนำเสนอเรื่องราวในแบบโทลคีนก่อนเลด เซพเพลิน ขณะที่วงโพรเกรสสีฟ เมทัลอย่าง Dream Theater ที่เอาเพลงจาก Sheer Heart Attack ไปทำเมดลีย์ในปี 2009 ก็เผยว่าองค์ประกอบแบบงานแฟนตาซีในด้านมืดของควีน มีอิทธิพลสำคัญต่อการทำงานของวง

คงเป็นเรื่องผิดพลาด หากบอกว่าดนตรีเมทัลคงไม่เกิดขึ้นถ้าไม่มีควีน และเป็นเรื่องผิดพลาดพอๆ กัน ถ้าพูดถึงกำเนิดของดนตรีเมทัล โดยไม่พูดถึงการแสดงอันทรงพลังของควีน “จริงๆ แล้ว” มาร์ตี ฟรีดแมน อดีตมือกีตาร์ของ Megadeth บอก “พวกเขาสร้างลักษณะสำคัญที่วงเมทัลต้องมีได้ดีกว่าที่ศิลปินเมทัลส่วนใหญ่ทำได้” แต่หากไปถามสมาชิกของควีน บางทีพวกเขาคงใส่ใจน้อยมากว่างานของตัวเองส่งผลกระทบต่อแนวทางรองในโลกของดนตรีร็อคแค่ไหน เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการก็คือทำงานที่อยากทำ โดยไม่สนใจว่าใครจะไม่ชอบ และใครอยากจับพวกเขาไปอยู่ในโลกของดนตรีแบบไหน ซึ่งในทุกวันนี้ มันคือสปิริตของดนตรีเมทัลที่เลือนหายไป

โดย นพปฎล พลศิลป์ เรื่อง เรื่องเล่าถึงขวบปี ที่ Queen กลายเป็นพ่อทูนหัวของดนตรีเมทัล คอลัมน์ หรรษา วันจันทร์ – HAPPY MONDAY หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 8 เมษายน 2562

[one_half][/one_half][one_half_last][/one_half_last]

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.