FEATURESMovie Features

ไม่ใช่นะอย่าเพิ่งเชื่อ อะไรบ้างที่ผิด ในหนัง Bohemian Rhapsody

Bohemian Rhapsody ที่ว่าด้วยเรื่องราวของวง Queen ทำให้แฟนเพลงรุ่นใหม่ๆ ได้รู้จักกับพวกเขามากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ควรรู้ไว้คือ อย่าไปเชื่อทุกอย่างในหนัง อย่าคิดว่าที่ได้เห็นนั้นถูกต้องตามความเป็นจริงทั้งหมด และนี่คือสิ่งที่ผิด ในหนัง Bohemian Rhapsody

การตั้งวง: ในหนังฟาร์ร็อคห์ บัลซารา เด็กหนุ่มขี้อายที่เรียกตัวเองว่าเฟร็ดดี (ยังไม่มีเมอร์คิวรี) มาแนะนำตัวกับไบรอัน เมย์ และโรเจอร์ เทย์เลอร์ มือกีตาร์และมือกลองของวง Smile หลังทิม สตาฟเฟลล์ นักร้องของวงลาออกไปอยู่กับวง Humpy Bong ไบรอันกับโรเจอร์ไม่เชื่อว่าหนุ่มฟันเหยินอย่างฟาร์ร็อคห์จะมีฝีมือจริง จนเขาร้องเพลง “Doin’ Alright” ให้ฟัง 2-3 ห้อง

ในความเป็นจริง ทิมออกไปอยู่กับฮัมปี บองจริง แต่เฟร็ดดีกับทิมเป็นเพื่อนกันอยู่แล้วและเรียนสถาบันศิลปะที่เดียวกัน เฟร็ดดีรู้จักไบรอันกับโรเจอร์ผ่านทิม แถมยังลงขันกับโรเจอร์เปิดแผงในตลาดนัดที่เคนซิงตันตอนปี 1969 อีกด้วย ความสัมพันธ์ของพวกเขาผ่านเรื่องแบบผิดฝาผิดตัวมานาน โดยเฟร็ดดีเคยเป็นนักร้องนำให้วงจากลิเวอร์พูลชื่อ Ibex เดินทางขึ้นล่องทั่วอังกฤษ ขณะที่ตัวเองกับว่าที่สองสมาชิกวงควีนย้ายมาใช้ชีวิตในลอนดอน ตอนเฟร็ดดีออกจากไอเบ็กซ์ และทิมอำลาสไมล์ ทั้งสามคนไม่รู้ตัวเลยว่าโลกต้องการให้พวกเขาทำงานร่วมกันอยู่หลายสัปดาห์

การแสดงครั้งแรก: หนังแสดงให้เห็นว่าจอห์น ‘ดีกี’ ดีคอน เข้ามาเป็นมือเบสของวงแทบจะในทันที แต่กับความเป็นจริง พวกเขาใช้มือเบสถึง 3 คนกว่าจะมาเจอดีคอน ส่วนช่วงเวลาที่กลายเป็นตำนานเมื่อเฟร็ดดีมีปัญหากับการปรับระดับไมค์ จนถอดออกมาจากฐาน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ แต่ไม่ใช่ในฐานะนักร้องนำวงควีน แต่เป็นสมัยที่เขาอยู่กับไอเบ็กซ์

การแสดงครั้งแรกของควีน เป็นคอนเสิร์ตการกุศลให้กาชาดที่คอร์นวอลล์ เดือนพฤษภาคม 1970 ที่มีคนดูแค่ครึ่งฮอลล์ ไม่ใช่ที่คลับในลอนดอนซึ่งสไมล์เล่นประจำอย่างในหนัง คนที่ได้ดูยังบอกอีกว่า เฟร็ดดีทำได้ดีมีความมั่นใจมากๆ ในฐานะคนนำโชว์ เช่นที่แฟนๆ ได้เห็นและชื่นชอบในเวลาต่อมา มากกว่าที่หนังแสดงให้เห็น ส่วนเพลงแรกที่เล่นก็คือ “Stone Cold Crazy” เพลงร็อคมันส์ๆ ที่เขาเคยร้องกับไอเบ็กซ์ แต่สุดท้ายกลายเป็นเพลงในอัลบัม Sheer Heart Attack ของวง แต่ในหนังพวกเขาเปิดด้วย “Keep Yourself Alive” ซิงเกิลแรกของควีน แต่ที่ตลกก็คือในเดือนพฤษภาฯ 1970 เมย์ยังไม่ได้แต่งเพลงนี้เลย แถมเวลาที่เล่นเฟร็ดดีก็ร้องเป๊ะกับเนื้อที่เมย์แต่งมากกว่าในหนังอีกต่างหาก

ในสตูดิโอ: กับเหตุการณ์เดิมๆ ในหนังทำนองนี้ ที่ควีนต้องขายรถตู้ออกทัวร์เอาเงินไปจ่ายค่าสตูดิโอเพื่อทำอัลบัมแรก นั่นไม่ใช่เรื่องจริง เพราะพวกเขาไม่ต้องทำแบบนั้น เมื่อมีนอร์แมน เชฟฟิลด์ เจ้าของไทรเดนท์ หนึ่งในสตูดิโอที่เจ๋งที่สุดของอังกฤษ มาเสนอให้ควีนใช้ห้องอัดฟรีๆ รวมถึงจ่ายเงินให้ เพื่อแลกกับการเป็นเจ้าของผลงานที่ควีนทำเสร็จ ซึ่งกลายเป็นการทำสัญญากับปีศาจในเวลาต่อมา จอห์น รีดผู้จัดการวงคนที่สองของควีน มาทำงานกับพวกเขาตอนปี 1975 ไม่ใช่มาทำงานทันทีแบบในหนัง ต้องใช้เวลาอยู่นานเพื่อปลดสัญญาที่วงทำกับไทรเดนท์ เฟร็ดดีโกรธเชฟฟิลด์มากถึงขั้นแต่งเพลงด่าออกมาตรงๆ ถึงสองเพลง ได้แก่ “Flick of the Wrist” และ “Death on Two Legs”

ทำไมหนังไม่เอาเรื่องจริงที่โคตรดรามามาเล่า? บางทีอาจเป็นเพราะเชฟฟิลด์เคยฟ้องควีน เรื่องหมิ่นประมาทหลังจากได้ยินเพลง “Death on Two Legs” จากเทปที่บันทึกเสียงในห้องอัดของเขา และควีนกับเชฟฟิลด์ตกลงกันได้นอกศาล

หนังยังให้เห็นว่าทางวงบันทึกเสียงร้องเพลง “Seven Seas of Rhye” ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว มีแค่ท่อนดนตรีบรรเลงสั้นๆ ของเพลงนี้เท่านั้น ที่อยู่ในอัลบัมแรกชื่อเดียวกับวง แม้เป็นข้อผิดพลาดเล็กๆ แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่หนังหลุดในเรื่องความถูกต้องทางการทำงานของควีน

การทัวร์อเมริกา: ในหนังจอห์น รีดผู้จัดการของเอลตัน จอห์น มารับงานดูแลควีนและส่งพวกเขาไปทัวร์อเมริกาเป็นครั้งแรก แต่ในความเป็นจริงควีนเคยทัวร์อเมริกามาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งเป็นวงเปิดให้วง Mott the Hoople ก่อนที่จะเจอกับรีด แต่นั่นก็เป็นความผิดพลาดที่ร้ายแรงไม่เท่าการที่ได้เห็นพวกเขาเล่นเพลง “Fat Bottomed Girls” ในหนังซึ่งเป็นการทัวร์ในปี 1974 ทั้งๆ ที่พวกเขายังไม่ได้แต่งเพลงนี้ที่อยู่ในอัลบัม Jazz เมื่อปี 1978 เลยด้วยซ้ำ ความผิดพลาดตรงนี้สำคัญ เพราะ Jazz เป็นงานที่ดนตรีของควีนมีทั้งความแตกต่างและสร้างข้อถกเถียงมากที่สุด โดยตอนนั้นพวกเขาพยายามต่อสู้กับกระแสของดนตรีพังค์ที่กำลังมาแรง ด้วยความดิบหยาบที่กัดกร่อนศีลธรรมในแบบของพวกเขา “Fat Bottomed Girls” ยังเป็นเพลงที่แยกไม่ออกจาก “Bicycle Race” ที่เป็นซิงเกิลคู่หน้าเอร่วมกัน และเพื่อโปรโมททั้งสองเพลง ควีนตัดสินใจพิมพ์โปสเตอร์รูปสาวๆ เรือนร่างเปล่าเปลือยขี่จักรยาน ซึ่งถูกแบนแทบทันทีทั้งในอังกฤษและอเมริกา แต่ไม่มีใครห้ามการให้บรรดาสาวเปลือยขี่จักรยานรอบๆ เมดิสัน สแควร์ การ์เดนได้ทัน ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่น่าสนใจและสมควรจะได้อยู่ในหนัง

เรย์ ฟอสเตอร์: หนังไม่ค่อยพูดถึงผู้บริหารค่ายเพลง เรย์ ฟอสเตอร์ ตัวละครที่แต่งขึ้นซึ่งรับบทโดยไมค์ ไมเออร์ส ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ทำให้รู้สึกสงสัยว่า ทำไมวงดนตรีขายดีของเขาอย่างควีน ต้องได้รับการยินยอมจากเขาเพื่อบันทึกเสียงอัลบัมNight at the Opera และกับผู้บริหารของอีเอ็มไอตัวจริง เรย์ ฟีเธอร์สโตน คือแฟนตัวยงของควีน ถึงกระนั้นเขาก็กลุ้มไม่น้อยกับความยาวและความประหลาดสำหรับการเป็นซิงเกิลของเพลง “Bohemian Rhapsody” เหมือนกับอีกหลายๆ คน เช่น เอลตัน จอห์น และจอห์น ดีคอน มือเบสของวง แต่ความเห็นของเขาที่มีต่อเพลงนี้ก็ไม่ใช่ความเห็นเชิงลบอย่างที่ตัวละครในหนังแสดงให้เห็น

เพราะฉะนั้นเป็นการดีกว่าที่จะพูดน้อยๆ เกี่ยวกับผู้บริหารค่ายเพลงเรย์ ฟอสเตอร์ ตัวละครที่แต่งขึ้น ซึ่งรับบทโดยไมค์ ไมเออร์ส

เมื่อไหร่ที่พวกเขาร็อคคุณ: การลำดับเวลาใหม่จนกลายเป็นผิดเพี้ยนยังมีให้พูดถึงกันต่อ หนังพาเราไปที่ปี 1980 เพื่อพบกับเฟร็ดดีที่มีหนวดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และด้วยอะไรบางอย่างในตอนนั้นไบรอัน เมย์ยังไม่ได้แต่งเพลง “We Will Rock You” ซะอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง พวกเขาชวนคนดูร็อคในสนามกีฬาด้วยกันตั้งแต่ปี 1977 นั่นแล้ว โดยได้แรงบันดาลใจจากการร้องเพลงเชียร์ทีมฟุตบอลของแฟนๆ ตอนจบโชว์ในปี 1976

ที่เป็นเรื่องใหญ่ก็เพราะถ้าลองคิดถึงหนังประวัติวง The Beatles ที่พอล แม็คคาร์ทนีย์ กว่าจะแต่งเพลง “Sergeant Pepper’s Lonely Heart’s Club Band” ก็หลังจากออกอัลบัม Let It Be ซึ่งไม่สมเหตุสมผล! จนแฟนๆ อาจจะเผาโรงหนังเลยก็เป็นได้! แต่การปรับเปลี่ยนเรื่องเวลามันก็มีค่าบางอย่างเหมือนกัน เพราะทำให้ Bohemian Rhapsody สามารถออกนอกลู่นอกทางไปบ้าง แต่ยังเอาใจแฟนๆ ด้วยเพลงสำหรับพวกเขาอย่าง “Doin’ Alright” และ “Lazing on a Sunday Afternoon” ได้ หากบางครั้งมันก็เป็นทำให้แฟนๆ ไม่พอใจด้วยเช่นกัน

อีกความผิดพลาดในฉากนี้ก็คือ หนังบอกว่าเฟร็ดดีมักมาห้องอัดสายเป็นประจำ จริงๆ แล้วเขาสายเป็นบางครั้ง สมาชิกคนอื่นในวงก็เช่นกัน แถมเสียงอะคูสติคกีตาร์เปิดเพลง “Crazy Little Thing Called Love” แต่งไว้ตั้งแต่ปี 1979 โดยทางวงอัดเสียงกัน “ก่อนที่ไบรอันจะมาถึง”

(มีต่อที่นี่ > http://bit.ly/2OYrW4F)

โดย นพปฎล พลศิลป์ เรื่อง ไม่ใช่นะอย่างเพิ่งเชื่อ อะไรบ้างที่ผิด ในหนัง Bohemian Rhapsody คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 8-9 พฤศจิกายน 2561

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
2
Happy
1
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.