เมื่อนิตยสารโรลลิง สโตน ให้ศิลปิน 50 รายมาจัดเพลย์ลิสต์ ไล่ตั้งแต่ มิก แจกเกอร์ กับเพลงบลูส์ ไปจนถึงเดรกกับจิมิ เฮนดริกซ์ ศิลปินเหล่านี้ ชอบเพลงอะไร? ของใครบ้าง? และคราวนี้เป็นคิวของแหบเสน่ห์ – ร็อด สจวร์ต เจ้าของเพลงฮิตมากมาย สจวร์ตจะจัดเพลย์ลิสต์เพลงของแซม คุกให้ได้ฟังกัน
(แปลและเรียบเรียงจากเรื่อง The Playlist Issue นิตยสารโรลลิง สโตน ฉบับที่ 1119)
“ให้ผมอธิบายว่า แซม คุก มีความหมายยังไงกับผม มันคงต้องใช้เวลาสัก 2-3 ชั่วโมง เพื่อที่จะสะกิดได้แค่เรื่องผิว ๆ โดยพื้นฐานแล้ว นี่คือผู้ชายที่แนะนำผมให้รู้จักกับดนตรีโซล” ร็อด สจวร์ต พูดถึงศิลปินอาร์แอนด์บีผู้ยิ่งใหญ่จากชิคาโก “ครั้งแรกที่ผมได้ยินเพลงของเขา… ผมอย่างกับโดนสายฟ้าฟาด แล้วจากนั้นก็ถูกตบหัวไปมา ตอนนั้นผมอายุแค่ 15 เอง และเขาก็เปลี่ยนชีวิตผมไปเลย”
1. “Cupid” (1961): “เพลงนี้อย่างกับเพลงวิเศษ มันแทบจะเป็นเพลงสวรรค์เลยล่ะ และไม่มีใครที่ร้องเพลงโรแมนซ์ ๆ ได้เหมือนแซม คุก”
2. “A Change is Gonna Come” (1965): “อย่างแรกเลย… ท่อนนำของมันนี่สง่างามมาก แล้วก็ดูดคุณเข้าไปอยู่ในเพลงเลยก็ว่าได้ เรื่องที่น่าเศร้าก็คือ คุกไม่มีโอกาสได้เห็นเพลงนี้ถูกปล่อยออกมา โศกนาฏกรรมของแซมในการบันทึกเสียงเพลงที่สวยงามเพลงนี้ เกิดขึ้นในยุคของการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน เขาทำเพลงเสร็จแล้วก็ถูกฆ่า คุณไม่สามารถทำอะไรได้เลย”
3. “Having a Party” (1962): นี่คือเพลง ‘ออกจากบ้านแล้วไปเมา’ ที่ดีที่สุดตลอดกาล ซึ่งก็ยังมีเพลงที่อยู่ในลิสต์อีกเยอะแยะ ยาวเหยียด! ผมเคยร้องเพลงนี้ในคอนเสิร์ตหนึ่งของผม ผมคงต้องอธิบายว่าเวลาร้องเพลงนี้ผมต้องโยกหัวไปข้างหลังเสมอ เพราะผมเคยเห็นรูปของแซม คุกทำแบบนั้นตอนร้อง ผมคิด… ‘บางทีนั่นอาจจะเป็นวิธีที่ทำให้เขาได้ซาวนด์แบบที่ได้ยินในเพลงนี้ออกมา’”
4. “Twistin’ the Night Away” (1962): “เป็นเพลงสนุก ๆ ที่ทำให้คุณอยากสนุกมากขึ้น คุณไปฟังเขาเล่นสด ๆ ที่เดอะ ฮาร์เล็ม สแควร์ คลับ แล้วเขาก็น่ารัก ทะลึ่งตึงตังมาก บางครั้งผมจะเปิดเพลงนี้ก่อนขึ้นไปบนเวที และมันก็ยังคงสร้างแรงบันดาลใจให้ผมอยู่ เวลาที่ฟังเขาเล่นสด ๆ ที่โคปาคาบานา เขาจะเล่นมันให้ช้าลง ด้วยเหตุผลง่าย ๆ เพื่อคนดูผิวขาว”
5. “Bring It On Home to Me” (1962): นี่คือเพลงที่แค่ส่งเสียงออกมาแล้วก็คว้าคุณเอาไว้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของนักร้องผู้ยิ่งใหญ่ นักร้องเพียงหนึ่งเดียวที่ทำให้ลู รอว์ลส์ ไปทำหน้าที่นักร้องแบ็กอัป”
6. “These Foolish Things” (1963): “เพลงที่แสนสง่างามกับการใช้โวหาที่แสนน่าทึ่ง”
7. “(I Love You) For Sentimental Reasons” (1957): “แซม คุกแทบจะร้องเพลงอะไรก็ได้ที่เขาอยากร้อง และเขาก็ร้องเพลงสแตนดาร์ดสวย ๆ เพลงนี้ สิ่งที่ทำให้เพลงนี้มีความพิเศษสำหรับผมก็คือ การตีความของแซม กับการใช้ภาษาของเขา คุณสามารถได้ยินความสมบูรณ์แบบในทุก ๆ คำ”
8. “Wonderful World” (1960): “ไม่นานมานี้ผมได้ฟังเพลงนี้ที่เป็นฉบับของโอทิส เรดดิง บ่อยมากขึ้น ซึ่งจะมีความเป็นบลูส์ แต่ฉบับของแซมจะสนุกและสดใสกว่าของโอทิส”
9. “That’s Where It’s At” (1964): “’That’s Where It’s At’ เป็นเพลงยามดึกขนานแท้ ตอนยังรุ่น ๆ ผมมักกลับบ้านมาแบบเมา ๆ แล้วก็เปิดเพลงนี้ฟัง มันเอาผมอยู่ ทุกวันนี้มันก็ยังเป็นแบบนั้น มันเหลือเชื่อมาก ๆ เลยใช่ไหม ทั้ง ๆ ที่เวลาผ่านมาขนาดนี้แล้ว?”
10. “Chain Gang” (1960): “นี่เป็นเพลงแรก ๆ ของเขาที่ผมได้ยิน ผมอายุ 15 เองตอนนั้น กำลังทำงานแรกในชีวิตด้วยการเป็นคนทำซิล์กสกรีน ซึ่งผมต้องเดินไปตามรางรถไฟกลับไปที่แฟล็ต ผมได้ยินเสียงของแซม คุกร้องเพลงนี้แว่วจากวิทยุทรานซิสเตอร์ โดยในตอนนั้นโลกของผมก็คือเอ็ดดี โคคราน และวูดดี กูธรี
ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่