Music ReviewREVIEW

Good Morning to the Night รสชาติใหม่ในเพลงของเอลตัน จอห์น โดยพาเนา

อัลบั้มชุดนี้ ที่เป็นการนำเอางานของเอลตัน จอห์น มาทำใหม่ เป็นอัลบั้มที่ถืออยู่ในมือมานานโขเอาการ หยิบๆ มาฟังก็หลายครั้ง เพราะตัวงานถือว่าเป็นการเอาเพลงของเอลตัน จอห์น มาทำเป็นงานอิเล็กทรอนิกส์-แดนซ์ได้สนุก ฟังเพลิน ครบเครื่องชุดหนึ่ง โดยคัดสรรเอาเพลงต่างๆ ของจอห์นมาทำรีมิกซ์ เป็นเซ็ทๆ คล้ายๆ กับงานในแบบโพรเกรสสีฟ โดยมีทั้งหมด 8 เซ็ท ได้แก่ Good Morning to the Night, Sad, Black Icy Stare, Foreign Fields, Telegraph to the Afterlife, Phoenix, Karmatron และ Sixty

ในแต่ละเซ็ทก็จะเป็นการนำเอางานของจอห์นมารีมิกซ์รวมกันในแบบที่จะเรียกว่าเมดลีย์ก็ไม่ใช่ เพราะเพลงจะร้อยรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ไม่ใช่เป็นเพลงๆ ต่อเนื่องกันแบบเมดลีย์อย่างที่เคยฟังกัน จะเป็นรีมิกซ์ก็ไม่เชิง หากจะเรียกว่ารีโปรดิวซ์น่าจะเหมาะกว่า

อย่าง Good Morning to the Night ก็คือการนำเอาส่วนต่างๆ ตรงนั้น ตรงนี้ ของเพลง Philadelphia Freedom, Mona Lisas and Mad Hatters, Funeral for a Friend/Love Lies Bleeding, Tonight, “Gulliver/It’s Hay Chewed, Sixty Years On, Goodbye Yellow Brick Road และ Someone Saved My Life Tonight มาผสมผสานกัน เพื่อสร้างเป็นเพลงใหม่ ในสไตล์ดิสโกฟังสนุกคึกคัก ที่นึกถึงเพ็ท ช็อป บอยส์ ขึ้นมาครามครัน โดยที่บางเพลงก็ไม่ใช่กลายเป็นงานเพลงเต้นรำสนุกๆ เพียงเท่านั้น เพราะตัวดนตรีที่มีมูฟเมนท์หลากหลาย ซาวนด์ที่แตกต่างไปจากงานในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็น เสียงกีตาร์แบบไซคีดีลิค หรือบรรยากาศที่ฟังดูล่องลอย ก็ทำให้ตัวงานกลายเป็นงานโพรเกรสสีฟ ที่มีความเป็นป็อปอยู่ในตัวสูง มีความเป็นงานเรโทร ไปพร้อมๆ กัน

ขณะที่ Sad ก็คืองานดิสโก้ในสไตล์ของเดอะ บีจีส์ และ Black Icy Stare พาเนาก็เอาจังหวะจะโคนของเร็กเกมาปรับใช้ในงานได้อย่างน่าสนใจ ส่วน Foreign Fields ที่เป็นเพลงช้าๆ นุ่มนวล ก็มีโทนของงานแบบเวิร์ลด์ มิวสิคผสมกับความเป็นป็อปอยู่ในงาน และ Phoenix ก็มาพร้อมโทนดนตรีดิสโกแบบยุค 70 ที่

กับ Telegraph to the Afterlife ก็สัมผัสได้ถึงอิทธิพลดนตรีของพิงค์ ฟลอยด์อย่างชัดเจน ส่วน Sixty ก็ทำให้นึกถึงงานของกลุ่มศิลปินจากค่ายวินด์แฮม ฮิลล์ ที่ปรับทำเพลงโพรเกรสสีฟให้กลายมาเป็นงานนิว เอจที่ฟังล่องลอย ผ่อนคลาย

ถือเป็นการทำงานที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง ทั้งรูปแบบของการสร้างงาน และผลลัพธ์ที่ออกมา ซึ่งสามารถพางานของเอลตัน จอห์น หลุดเข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่งได้สำเร็จ ถือเป็นอัลบั้มเพลงเต้นรำที่ทั้งเก๋ ทั้งเท่ มีอารมณ์แบบงานย้อนยุค แต่มีลุ้คที่ทันสมัย แล้วก็ฟังได้สบายๆ ต่อให้ไม่ใช่ขาประจำ นักเต้นรำบนฟลอร์ก็ตามที

สำหรับพาเนานั้น เป็นศิลปินคู่จากออสเตรเลีย ที่สมาชิกประกอบด้วย นิค ลิตเติลมอร์ และปีเตอร์ เมเยส มีอัลบั้ม Sambanova เมื่อปี 1999 เป็นอัลบั้มชุดแรก แต่งานแจ้งเกิดก็คือ อัลบั้มชุด Pnau ในปี 2008 ที่เอลตัน จอห์นยกให้เป็นอัลบั้ม ที่เจ๋งที่สุดที่เขาเคยได้ยินในรอบ 10 ปี แล้วก็จับพาเนาเซ็นสัญญากับสังกัดของเขาเอง ล่าสุดนิค ลิตเติลมอร์ แยกตัวไปทำงานอีกโปรเจ็คท์หนึ่งกับ เอริค สตีล โดยใช้ชื่อวงว่า เอ็มไพร์ ออฟ เดอะ ซัน

อัลบั้มชุดนี้ สามารถดาวน์โหลดได้แล้วจากไอทูนส์ สโตร์
Download_on_iTunes_Badge_TH_110x40_1115


จากเรื่อง อรุณสวัสดิ์ค่ำคืน Good Morning to the Night กับเอลตัน จอห์น และพาเนา โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 3 ตุลาคม 2556

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.