การกลับมาทำงานร่วมกันของผู้กำกับมาร์ติน สกอร์เซซี กับสองผู้ร่วมงานขาประจำ ลีโอนาร์โด ดิคาพรีโอ และโรเบิร์ต เดอ นีโร
ดิคาพรีโอนั้นผูกปิ่นโตกันกับสกอร์เซซีมาตั้งแต่ปี 2002 จาก “Gangs of New York” ที่มาถึงเรื่องนี้ก็เป็นครั้งที่ 6 แล้ว ส่วนรายหลัง เริ่มทำงานกับผู้กำกับรายนี้ด้วย Mean Street ในปี 1973 มาถึง Casino เมื่อปี 1995 แล้วก็เว้นวรรคไปพักใหญ่ จนปี 2019 ก็กลับมาร่วมงานกันอีกใน The Irishman และหนังเรื่องนี้ก็เป็นการทำงานในหนังใหญ่ร่วมกันเรื่องที่ 10 เข้าไปแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้นดิคาพรีโอกับเดอ นีโร ก็เคยขึ้นจอในเรื่องเดียวกันจาก This Boy’s Life เมื่อปี 1993 ซึ่งดิคาพรีโอยังเป็นไอ้หนูอยู่เลยก็ว่าได้
แต่ถ้าคิดว่า นี่คือหนังที่สามตำนานในโลกภาพยนตร์มาทำงานร่วมกันเป็นครั้งแรก คำตอบคือไม่ใช่ เพราะหากนับรวม The Audition หนังสั้นเมื่อปี 1995 นี่เป็นหนที่สองแล้ว ที่ชื่อสกอร์เซซี-ดิคาพรีโอ-เดอ นีโร แปะอยู่ในหนังเรื่องเดียวกัน ซึ่งเพียงเห็นชื่อของทั้งสามคน หน้าตาของหนังก็ดู “หล่อ” มาก โดยเฉพาะกับคอหนังที่ชอบงานซึ่งขยายด้วยคำว่า “คุณภาพ” ได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ
แม้จะมีความยาวเป็นอุปสรรค (หนังยาว 3 ชั่วโมง 26 นาที) หากก็มีความบันเทิง มีเรื่องราวที่ดูสนุก การเล่าเรื่องที่มีลูกเล่น และแน่นอนการแสดงที่ขึ้นหิ้ง ให้ได้ชม
แต่ก็อีกนั่นละ… ไม่ใช่สำหรับทุกคน
ต้นทางของหนัง เป็นหนังสือในแบบไม่ใช่เรื่องแต่ง (Non-Fiction) ชื่อเดียวกันของ เดวิด แกรนน์ ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2017 ซึ่งตัวเรื่องเกิดขึ้นจริงในยุค 1920 ที่โอคลาโฮมา ดินแดนของอินเดียนแดงเผ่าโอเสจ ที่มีการค้นพบน้ำมันหรือทองคำสีดำ ทำให้ชนพื้นบ้านเหล่านี้กลายเป็นเศรษฐีร่ำรวยในพริบตา จนกลายเป็นพื้นที่ซึ่งไม่ได้แค่ล่อตาล่อใจบรรดานักลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมัน หากคนโอเสจยังเป็นตกเป็นเป้าของคนขาว ที่ต้องการเข้ามาเป็นทองแผ่นเดียวกับพวกเขา เพื่อหวังทรัพย์สินที่ชาวพื้นเมืองได้มาในแบบธรรมชาตินำพามาให้หรือว่าฟ้าบันดาลก็แล้วแต่
ที่น่าตระหนกก็คือ นอกจากจะมีหนุ่มผิวขาวเข้ามาอยู่ในชีวิตผู้หญิงโอเสจอย่างต่อเนื่อง อัตราการเสียชีวิตของพวกเขาก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะสาว ๆ ที่อยู่กินกับพวกคนขาว แถมไม่มีการสืบสวนเป็นเรื่องเป็นราว ทั้งที่หลาย ๆ คราวเห็นได้ชัดว่าเป็นการฆาตกรรม ซึ่งบ่งบอกกลาย ๆ ว่า ผู้รับผิดชอบในหลาย ๆ ระดับ เลือกจะเข้าเกียร์ว่าง โดยผลที่ตามมาหลังจากการเสียชีวิตของคนโอเสจเหล่านี้ก็คือ ทรัพย์สินของพวกเขาถูกเปลี่ยนไปอยู่ในมือของผู้รุกราน และเจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็ได้รับผลประโยชน์จากเรื่องนี้ด้วย
หลังได้รับการร้องเรียนจากชาวโอเสจ ในที่สุดรัฐบาลกลางก็ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามา และนำไปสู่การสืบสวนการเสียชีวิตแบบมีเงื่อนงำของพวกเขา แม้จะเหมือนเป็นการคืนความยุติธรรมให้กับชาวพื้นเมืองเหล่านี้ แต่มองในอีกมุมกรมสอบสวนกลางหรือเอฟบีไอ ก็ยังหาประโยชน์จากพวกโอเสจเช่นกัน เพราะนำการทำคดีนี้ไปใช้โปรโมตองค์กรในเวลาต่อมา
ลาภที่ธรรมชาติให้ชาวพื้นเมืองเหล่านี้ จึงไม่ต่างไปจากทุกขลาภ ที่แม้จะนำเงินทองมาให้ แต่ก็พาพวกเขาเดินไปสู่ความตายด้วยเช่นกัน โดยอาจจะมองได้ว่า เป็นเพราะความอ่อนต่อโลก และเล่ห์กลของคนขาวของชาวโอเสจ แต่ในอีกด้านของเหรียญ ก็เป็นได้ว่า มันคือความผิดพลาดของชาวพื้นเมืองเหล่านี้บางคนเหมือนกัน ที่พยายามยกระดับตัวเอง ด้วยการเปิดรับคนขาวเข้ามาในเป็นส่วนหนึ่งในบ้าน ซึ่งเห็นได้จากรูปแบบการใช้ชีวิต ความคิด การแต่งเนื้อแต่งตัว ของคนโอเสจที่โตมากับความร่ำรวย โดยไม่ได้ผ่านชีวิตข้นแค้น อย่างช่วงก่อนที่จะเจอทองคำสีดำ
บทที่เขียนร่วมกันโดยเอริก ร็อธและสกอร์เซซี ไม่ได้มีการปกปิดผู้ต้องสงสัย หรือเก็บไอ้ตัวร้ายอุบไว้เป็นเซอร์ไพรส์ในตอนท้าย เพราะใช้เวลาไม่นานก็แบไพ่ออกมาแล้วว่า ใครที่น่าจะอยู่เบื้องหลังการตายเป็นเบือของชาวโอเสจ แล้วก็ใช้เวลาไม่นานยิ่งกว่า เพื่อบอกว่า “ถูกแล้ว คนนั้นนั่นแหละ” ที่สังหารเหล่าสตรีที่โตเต็มสาว เช่นที่ชื่อหนังและหนังสือว่าเอาไว้ โดย Flower Moon นั้นหมายถึงพระจันทร์เต็มดวงเดือนพฤษภาคม ช่วงเวลาที่ดอกไม้บานสะพรั่ง พืชพรรณพร้อมทำการเพาะปลูก เช่นเดียวกับชีวิตสาว ๆ เหล่านี้
และไม่ได้ปิดบังการกระทำ แผนการของเหล่าชายผิวขาวเหล่านี้ด้วยซ้ำ
แล้วความสนุก หรือบันเทิงเริงรมย์ของ Killers of the Flower Moon อยู่ตรงไหน
คำตอบก็คือ การเล่าเรื่อง ที่สกอร์เซซีทำออกมาเป็นงานตลกร้าย เป็นงานเสียดสี ที่ให้อารมณ์ขันแสนขำขื่น แทนที่จะทำเป็นหนังสืบสวนสอบสวนอาชญากรรม ในแบบที่พล็อตนำทางเอาไว้ ซึ่งทำให้หัวเราะ ๆ หึ ๆ แบบรู้สึกสมเพชไปพร้อม ๆ กัน จากความทุเรศทุรังทั้งทางความคิดและการกระทำของตัวละคร ทั้งแผนการที่วางกันง่าย ๆ ไร้ความซับซ้อน หรือชั้นเชิง ที่เห็น ๆ กันว่า ตัวต้นคิดก็ไม่ได้คิดอย่างชาญฉลาด ส่วนผู้กระทำหรือคนที่ลงมือก็ไร้ซึ่งสติปัญญา โดยไม่ต้องไปมองหาความเฉลียว เพราะเป็นการกระทำ “โง่ ๆ” จากความคิดที่ไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน
นอกจากจะหัวเราะเบา ๆ เคล้าความเวทนาแล้ว ยังเต็มไปด้วยคำถามว่า พวกเขาเหล่านี้จะไปลงเอยที่ไหน? อย่างไร? หรือจะรอดไปได้อีกนานแค่ไหน? เมื่อสิ่งที่ทำกันลงไป ช่างโจ่งแจ้ง และโฉ่งฉ่างเหลือเกิน จังหวะจะโคนในการปล่อยเรื่อง ก็ช่วยให้หนังน่าติดตาม การแสดงของเหล่านักแสดงตัวหลัก ๆ ทั้งหลาย คือเสน่ห์ เป็นความฉูดฉาด จัดจ้าน และอีกจุดแข็งของหนัง ตัวละครที่ดูไม่ฉลาด ก็ช่างไม่ฉลาดจนเชื่อว่าจะทำอะไรโง่ ๆ ได้อย่างที่เห็น ส่วนคนที่ใสซื่อ หรือเชื่อมั่นในบางสิ่งบางอย่าง ก็ช่างใสซื่อหรือเชื่อได้ขนาดนั้น จนดูไปก็อดรำพึงขึ้นมาในใจไม่ได้ว่า “เฮ้ย… มันโง่ได้ขนาดนี้เลยเหรอ” หรือ “จะยอมมันไปอีกนานแค่ไหน” ที่พอในฉากต่อ ๆ มาตัวละครที่ว่าโง่ ก็ยังโง่ได้อีก และยิ่งกว่าที่เคยโง่ ที่ใสซื่อต่อให้รู้ระแคะระคายมาบ้าง หรือเริ่มไม่ไว้ใจ ก็ยังยอมต่อไป ส่วนคนที่เป็นถึงจอมบงการ ก็จัดการสิ่งที่ต่าง ๆ แบบแถกไถ ใช้สีข้างเข้าครูด อาศัยการสร้างภาพมาปกปิดความชั่วของตัวเอง โดยเฉพาะการโบ้ยบ้าย เบี่ยงประเด็น เล่นละครบีบน้ำตา จนอดรู้สึกถึงนักการเมืองในบางประเทศที่ทำตัวคลับคลากันไม่ได้ เพราะนอกจากจะไม่เนียนแล้ว ยังโป๊ะแตกเอาได้ง่าย ๆ
ชื่อของ ดิคาพรีโอ, เดอ นีโร และลิลี แกลดสโตน คงไม่พ้นติดโผชิงรางวัลของสถาบันต่าง ๆ ในช่วงมอบรางวัลปลายปีนี้ (2023) โดยเฉพาะสองรายหลังที่ท็อปฟอร์มกันเหลือเกิน ขณะที่รุ่นใหญ่เล่นได้ “มันส์” แต่ “ลึก” จนเป็นความหวือหวาของหนัง รายหลังที่รับบทสาวโอเสจ ก็เล่นได้ “นิ่ง” แต่ “ไหล” ขณะที่ดิคาพรีโอก็รับ-ส่งกับทั้งสองคนได้อย่างลงตัว กลมกลืน และทำให้ตัวละครของเขา ดูโง่เง่าเต่าตุ่นอย่างน่าเชื่อเหลือเกิน
ที่หากสัมผัสไม่ได้ หรือมองไม่เห็น ว่านี่คืองานตลกร้าย เป็นหนังเสียดสี การสรุปชะตากรรมของตัวละคร ด้วยการนำเสนอเป็นรายการโชว์ที่ถูกถ่ายทอดทางวิทยุ ก็น่าจะเป็นการตอกย้ำว่า นี่คืองานที่เป็นเรื่องเล่าเพื่อความบันเทิง มีขึ้นเพื่อความหรรษา
แต่จากที่เกริ่นไว้ Killers of the Flower Moon ไม่ใช่ความบันเทิงสำหรับทุกคน…
เพราะนอกจากความยาวแล้ว หนังยังเดินหน้าไปเหมือนการถักทอผ้าผืนใหญ่ขึ้นมาสักผืน ซึ่งมีรายละเอียดอะไรมากมายเต็มไปหมด การเดินด้ายถูกเก็บเม้นยังไง เรื่องราวหรืออารมณ์ของหนังกฌละม้าย ๆ แบบนั้น แถมยังถูกฉาบปิดเอาไว้ด้วยหน้าตาที่ดูเคร่งขรึม จริงจัง ทั้งโปรดักชั่น การเล่าเรื่อง การแสดง จนอาจมองไม่เห็นความเป็นงานตลกร้าย อารมณ์ขันในเชิงเสียดสี และพอเข้าไม่ถึง ก็ไม่รู้สึกถึงความพิเศษ ยากจะสนุกกับองค์ประกอบชั้นดีต่าง ๆ ที่หนังมี จน 3 ชั่วโมงเกือบครึ่ง คือช่วงเวลาของความทรมานบันเทิง
แต่ถ้าสัมผัสได้ มองเห็น มันคือ 3 ชั่วโมงกว่าแห่งความสนุก เพลินกับการแสดง และคุณภาพของงานโปรดักชัน ไม่ว่าจะงานด้านภาพหรือเสียง อย่าง ดนตรีประกอบฝีมือของร็อบบี โรเบิร์ตสัน แกนนำคนสำคัญของเดอะ แบนด์ วงดนตรีสนับสนุนของบ็อบ ดีแลน ที่งานชิ้นนี้คือการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของเจ้าตัว ที่จากไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่ถือว่าเป็นงานชิ้นเยี่ยมอีกชิ้นของโรเบิร์ตสัน เมื่อนำดนตรีพื้นบ้าน ร็อค บลูส์ และคันทรี มาใช้ได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นการผสมผสานเข้าด้วยกัน หรือเป็นงานที่มีที่ทางชัดเจนของตัวเองอย่างที่เป็น
จะว่าไป ความบันเทิงที่สกอร์เซซีมอบให้ใน Killers of the Flower Moon ก็ไม่ต่างจากความบันเทิงที่พบเห็นกันในงานของพี่น้องโคเอ็น หากมีลักษณะเฉพาะหรือมิติส่วนตัวที่แตกต่างออกไป
ฉากหลังที่เป็นสหรัฐอเมริกาในยุคอดีต กับเรื่องที่มาจากเรื่องจริง ตลอดจนบรรยากาศบางอย่างของหนัง ย่อมทำให้นึกถึง Gangs of New York งานก่อนหน้าของผู้กำกับรายนี้ เพียงไม่ได้ดุดันเท่า เมื่อมาพร้อมกับอารมณ์ขันแสบ ๆ แบบตลกหน้าตาย ขายมุขจากลักษณะของตัวละคร และเหตุการณ์ เช่นที่เคยสัมผัสจาก The Wolf of Wall Street หนังอีกเรื่องของสกอร์เซซี แต่คราวนี้มุขลึก และนิ่ง ไม่โฉ่งฉ่าง และเอะอะมะเทิ่งขนาดนั้น
พอทุกอย่างถูกกวนผสมผสานกัน มันก็กลายเป็นงานที่ช่างขำขื่น ขันขม กับทุกขลาภ ที่มาพร้อมทองคำสีดำบนดินแดนของชนเผ่าโอเสจ ที่ทำให้หัวเราะแบบขม ๆ ไปกับความจริงอันน่าสมเพช ทุเรศทุรังที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ซึ่งในหลาย ๆ พื้นที่ยุคปัจจุบัน ก็ยังมีให้เห็นและเป็นไปไม่ต่างกัน
ผู้กำกับ: มาร์ติน สกอร์เซซี เขียนบท: เอริก ร็อธ, มาร์ติน สกอร์เซซี จากเรื่อง Killers of the Flower Moon โดย เดวิด แกรนน์ นักแสดง: ลีโอนาร์โด ดิคาพรีโอ, โรเบิร์ต เดอ นีโร, ลิลี แกลดสโตน, เจสซี พลีมอนส์, แทนทู คาร์ดินัล, จอห์น ลิธกาว, เบรนแดน เฟรเซอร์
โดย นพปฎล พลศิลป์
ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่