TAITOSMITH/ ไททศมิตร
[GMM Grammy]
อาจจะเพราะเกิดมาพร้อมกับดนตรีโฟล์ค งานเพลงที่บ้านเราจำแนกจัดออกมาแล้วเรียกว่า ‘เพื่อชีวิต’ เลยผูกติดอยู่กับดนตรีโฟล์คหรือคันทรี-ร็อก ดนตรีในรูปแบบอื่น ๆ แม้จะทำเพลงที่มีเนื้อหาเพื่อสังคม, เป็นกระบอกเสียงของผู้คน รวมถึงบอกเล่าเรื่องการเมือง เลยถูกมองข้าม ทั้งที่เพลงบางเพลง อัลบัมบางอัลบัมนั้น เนื้อหาเรื่องราวที่สื่อออกมามีความเป็น ‘เพื่อชีวิต’ กว่าศิลปินที่เป็นหรือถูกแปะป้ายว่า เป็นศิลปิน ‘เพื่อชีวิต’ ด้วยซ้ำ
ซึ่งเอาจริง ๆ แล้วมันก็ลักลั่นพอ ๆ กับการกำเนิดของมันเองนั่นละ ที่กำเนิดเกิดขึ้นด้วยการใช้เนื้อหามากำหนด ขณะที่คำจัดกัดความของดนตรีในแนวทางอื่น ๆ ล้วนมาจากดนตรีที่เล่นที่ทำ
รวมไปถึงทำให้มีคำถามต่อมาว่า ศิลปินเพื่อชีวิตหายหน้าหายตาไปไหน ทั้งที่หากดูผลงานของศิลปินรุ่นหลังจากพงษ์สิทธิ์ คำภีร์ มีศิลปินมากมายที่ทำงานในขอบเขตที่เรียกได้ว่า ‘เพื่อชีวิต’ ได้เต็มปาก เพียงแต่ไม่ใช่งานโฟล์คหรือคันทรีร็อก ภาพลักษณ์ไม่ได้ดู… เรียกกันให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คงเป็น ‘บ้าน ๆ’ ไม่ว่าจะเป็น ฮูโก, เป้ อารักษ์
ขณะที่บางเพลงของ โลโซ, ลาบานูน, บอดีสแลม ก็แข็งแรงมากพอที่จะจัดวางในชั้นของเพลงเพื่อชีวิตได้ไม่ยาก
แต่หากมองในแง่ของความชัดเจน และหนักแน่น แบบเป็นทั้งตัวและเพลงแล้ว ไททศมิตร วงดนตรีร็อกที่ทำเพลงบอกเล่าความเป็นไปในสังคมวงนี้ น่าจะให้ได้มากกว่า ทั้งภาพลักษณ์และเรื่องราวที่นำเสนอ
รูปลักษณ์ของพวกเขาโดยรวม ไม่ต่างไปจาก คาราบาว หรือซูซู แต่งตัวกันแบบเรียบง่าย แต่มีกิมมิกหรือเครื่องประดับ ตบแต่งบางอย่างที่ทำให้แตกต่าง มีภาพของนักดนตรี หรือคนทำงานศิลปินปรากฏอยู่ในตัวของสมาชิกทั้ง 6 คน อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี (ร้องนำ/กีตาร์), ตฤณสิษฐ์ สิริพัชญาษานต์ (ร้อง/กีตาร์), เจษฎา ปัญญา (เบส), ธนกฤต สองเมือง (คีย์บอร์ด), ปัณณสิทธิ์ สุขโหตุ (กีตาร์ โซโล) และ พัฒนภูมิ ชอุ่มผล (กลอง)
ส่วนชื่อวงไททศมิตร จากแฟนเพจของพวกเขาบอกว่า มาจาก ไท (อิสระ) ทศ (สิบ) มิตร (มิตรภาพ) ที่แปลว่า กลุ่มคนที่รักอิสระนับสิบคนที่เริ่มต้นทุกอย่างและดำเนินทุกอย่าง ด้วยมิตรภาพ และทางวงตอบคำถามที่ว่า พวกเขามีกัน 6 คน ทำไมใช้คำว่า ทศ ที่แปลว่า สิบ ว่า เพราะเบื้องหลังความสำเร็จของพวกเขาไม่ได้เกิดจากคนแค่หกคน แต่ยังมีทีมงานที่มีส่วนร่วมด้วย
ทางดนตรีหลัก ๆ ของพวกเขาก็คือ ร็อก, คันทรีร็อก รวมไปถึงฮาร์ดร็อก จังหวะจะโคนสนุก ๆ มันส์ ๆ ในแบบงานเมนสตรีม ที่ในแง่อารมณ์และบรรยากาศ อาจทำให้นึกถึงงานของโลโซ แต่ในเรื่องของรายละเอียดดนตรี ว่าไปแล้ว ไททศมิตรมีขอบเขต รวมไปถึงทิศทางที่แตกต่าง โดยเฉพาะการทำงานในทางคันทรี-ร็อก ที่ทำออกมาได้สวยงามไม่น้อยเลย เช่นที่ได้ยินใน “คางคก” เพลงปิดท้ายของอัลบัม ที่การเรียบเรียงละเอียด ค่อย ๆ ไล่อารมณ์จากน้อยไปมาก จนกลายเป็นดนตรีที่ฟังใหญ่ในแบบไม่เวอร์วัง
ขณะที่ “ตราบ” ก็เป็นงานบัลลาดร็อคฟังเพราะ และหากจะสนุกแบบสามช่า ที่มาพร้อมอิทธิพลดนตรีของ Santana ไททศมิตรก็มีให้ใน “บังขายถั่ว” ที่แม้จะทำให้นึกถึงงานที่มีร่องรอยเดียวกันจากคาราบาว แต่ซาวนด์และลูกเล่นของพวกเขาก็แตกต่างมากพอที่จะบอกว่า นี่คือสามช่าอารมณ์ละติน ในแบบไททศมิตร
โดยอาจจะมีที่ติดอยู่บ้างก็เนื้องานในภาพรวม ที่ฟังเป็นเพลง ๆ อาจจะรู้สึกคม แน่น และแม่น แต่หากไล่อัลบัมเรียงเพลงกันไป น่าจะรู้สึกถึงความกระจัดกระจายของงาน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรมากมาย อย่างน้อย ๆ ซาวนด์ของงานก็ยังเดินหน้าไปด้วยกัน แล้วรายละเอียดของดนตรีก็ฟังมันส์เข้าไส้ นอกจากเสียงกีตาร์ที่ขยี้ บดเคี้ยวได้ถึงอกถึงใจ จนเรียกได้ว่าเป็นลายเซ็นของพวกเขา อย่างน้อยๆ ก็ในอัลบัมนี้แล้ว งานคีย์บอร์ดที่รองอยู่ข้างหลังไกล ๆ ก็เป็นอีกอย่างที่ติดใจ และในหลายๆ เพลงก็ไม่ต่างจากเสน่ห์ที่ซ่อนเร้นอยู่ในเพลงของไททศมิตร แบบที่ได้ยินจาก “รจนา”
เสียงร้องฟังร่วมสมัย ให้ความรู้สึก ‘ใหม่’ ผิดไปจากที่เคยได้ยินจากศิลปินเพื่อชีวิตที่เคยได้ยินกันมา เมื่อมีทั้งสัมผัสของอารมณ์แบบบ้าน ๆ และความรู้สึกแบบศิลปินร็อคหรือพ็อปทั่ว ๆ ไป
ท่วงทำนองมีเซนส์พ็อปแข็งแรง ทุกเพลงมีฮุกเตะหูตั้งแต่ได้ยินในครั้งแรกก็ว่าได้ เนื้อหามีครบทั้งแข็งกร้าว เช่น “ยุติ-ธรรม”, “แดงกับเขียว”, เสียดสีเย้ยหยัน ใน “Amazing Thailand”, ประชดประชันกับ “รสนิยม”, การเปรียบเทียบเปรียบเปรยของ “รจนา” รวมถึงเรื่องขมขื่นที่พอมากับดนตรีสนุก ๆ ก็กลายเป็นงานตลกร้าย ใน “บังขายถั่ว” เรื่องราวชัดเจน ภาษาที่สื่อสารตรงไปตรงมา เรียบง่าย แต่ก็มีลูกเล่น ลีลาในตัว อย่าง ‘ยุติ-ธรรม’ ที่ในท่อนฮุกสัมผัสทางตัวอักษรของเพลงบนเมโลดีที่ติดหูฟังสนุกมาก บางครั้งอาจเป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนเคยมอง แต่ไททศมิตรก็เอามาบอกเล่าด้วยมุมใหม่ อย่าง “แดงกับเขียว” ที่เป็นเหมือนอีกภาพสะท้อน จากเรื่องราวคล้าย ๆ กันของ “หนุ่มน้อย” ที่ทำให้เพลงมีความ ‘สด’ ในตัว รวมไปถึงแสดงถึงชั้นในการเขียนเพลงบัลลาดเล่าเรื่องของพวกเขาไปพร้อม ๆ กัน
แต่ที่ให้เป็นที่สุดของความลงตัวในงานชุดแรกของพวกเขาก็คงไม่พ้น “Hello Mama” ที่ไททศมิตร ใส่ทุกอย่างเอาไว้ในเพลงนี้ก็ว่าได้ นอกจากชั้นเชิงดนตรีที่ใส่สำเนียงไทย ๆ เข้ามาได้อย่างลงตัวแล้ว ยังมีทั้งอารมณ์ขัน, ความซาบซึ้ง, ตลกร้าย, เสียดสี, เมโลดีที่สวย, ความอบอุ่น รวมถึงความปวดร้าวของชีวิต ที่ฟังแล้วอาจจะยิ้มคู่กับความขมขื่น หรือสุขปนเศร้าได้ไม่ยาก
ทำให้เพลงนี้ไม่ใช่แค่การส่งความคิดถึงให้กับบุพการี แต่ยังเป็นการกล่าวทักทายแฟนเพลงไทย และแนะนำตัวให้กับวงการเพลงไทยของไททศมิตรไปพร้อม ๆ กัน
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจาณณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 32 ฉบับที่ 1 พฤศจิกายน 2563
สนับสนุนเราได้ที่ -:> https://facebook.com/becomesupporter/Sadaos/ หรือที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วส่งสลิปการโอนมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนคำขอบคุณ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่