Music ReviewREVIEW

‘TAITOSMITH’ งานแนะนำตัว กับวงการเพลงไทยของไททศมิตร

TAITOSMITH/ ไททศมิตร
[GMM Grammy]

อาจจะเพราะเกิดมาพร้อมกับดนตรีโฟล์ค งานเพลงที่บ้านเราจำแนกจัดออกมาแล้วเรียกว่า ‘เพื่อชีวิต’ เลยผูกติดอยู่กับดนตรีโฟล์คหรือคันทรี-ร็อก ดนตรีในรูปแบบอื่น ๆ แม้จะทำเพลงที่มีเนื้อหาเพื่อสังคม, เป็นกระบอกเสียงของผู้คน รวมถึงบอกเล่าเรื่องการเมือง เลยถูกมองข้าม ทั้งที่เพลงบางเพลง อัลบัมบางอัลบัมนั้น เนื้อหาเรื่องราวที่สื่อออกมามีความเป็น ‘เพื่อชีวิต’ กว่าศิลปินที่เป็นหรือถูกแปะป้ายว่า เป็นศิลปิน ‘เพื่อชีวิต’ ด้วยซ้ำ

ซึ่งเอาจริง ๆ แล้วมันก็ลักลั่นพอ ๆ กับการกำเนิดของมันเองนั่นละ ที่กำเนิดเกิดขึ้นด้วยการใช้เนื้อหามากำหนด ขณะที่คำจัดกัดความของดนตรีในแนวทางอื่น ๆ ล้วนมาจากดนตรีที่เล่นที่ทำ

รวมไปถึงทำให้มีคำถามต่อมาว่า ศิลปินเพื่อชีวิตหายหน้าหายตาไปไหน ทั้งที่หากดูผลงานของศิลปินรุ่นหลังจากพงษ์สิทธิ์ คำภีร์ มีศิลปินมากมายที่ทำงานในขอบเขตที่เรียกได้ว่า ‘เพื่อชีวิต’ ได้เต็มปาก เพียงแต่ไม่ใช่งานโฟล์คหรือคันทรีร็อก ภาพลักษณ์ไม่ได้ดู… เรียกกันให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คงเป็น ‘บ้าน ๆ’ ไม่ว่าจะเป็น ฮูโก, เป้ อารักษ์​

ขณะที่บางเพลงของ โลโซ, ลาบานูน, บอดีสแลม ก็แข็งแรงมากพอที่จะจัดวางในชั้นของเพลงเพื่อชีวิตได้ไม่ยาก

แต่หากมองในแง่ของความชัดเจน และหนักแน่น แบบเป็นทั้งตัวและเพลงแล้ว ไททศมิตร วงดนตรีร็อกที่ทำเพลงบอกเล่าความเป็นไปในสังคมวงนี้ น่าจะให้ได้มากกว่า ทั้งภาพลักษณ์และเรื่องราวที่นำเสนอ

รูปลักษณ์ของพวกเขาโดยรวม ไม่ต่างไปจาก คาราบาว หรือซูซู แต่งตัวกันแบบเรียบง่าย แต่มีกิมมิกหรือเครื่องประดับ ตบแต่งบางอย่างที่ทำให้แตกต่าง มีภาพของนักดนตรี หรือคนทำงานศิลปินปรากฏอยู่ในตัวของสมาชิกทั้ง 6 คน อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี (ร้องนำ/กีตาร์), ตฤณสิษฐ์ สิริพัชญาษานต์ (ร้อง/กีตาร์), เจษฎา ปัญญา (เบส), ธนกฤต สองเมือง (คีย์บอร์ด), ปัณณสิทธิ์ สุขโหตุ (กีตาร์ โซโล) และ พัฒนภูมิ ชอุ่มผล (กลอง)

ส่วนชื่อวงไททศมิตร จากแฟนเพจของพวกเขาบอกว่า มาจาก ไท (อิสระ) ทศ (สิบ) มิตร (มิตรภาพ) ที่แปลว่า กลุ่มคนที่รักอิสระนับสิบคนที่เริ่มต้นทุกอย่างและดำเนินทุกอย่าง ด้วยมิตรภาพ และทางวงตอบคำถามที่ว่า พวกเขามีกัน 6 คน ทำไมใช้คำว่า ทศ ที่แปลว่า สิบ ว่า เพราะเบื้องหลังความสำเร็จของพวกเขาไม่ได้เกิดจากคนแค่หกคน แต่ยังมีทีมงานที่มีส่วนร่วมด้วย

ทางดนตรีหลัก ๆ ของพวกเขาก็คือ ร็อก, คันทรีร็อก รวมไปถึงฮาร์ดร็อก จังหวะจะโคนสนุก ๆ มันส์ ๆ ในแบบงานเมนสตรีม ที่ในแง่อารมณ์และบรรยากาศ อาจทำให้นึกถึงงานของโลโซ แต่ในเรื่องของรายละเอียดดนตรี ว่าไปแล้ว ไททศมิตรมีขอบเขต รวมไปถึงทิศทางที่แตกต่าง โดยเฉพาะการทำงานในทางคันทรี-ร็อก ที่ทำออกมาได้สวยงามไม่น้อยเลย เช่นที่ได้ยินใน “คางคก” เพลงปิดท้ายของอัลบัม ที่การเรียบเรียงละเอียด ค่อย ๆ ไล่อารมณ์จากน้อยไปมาก จนกลายเป็นดนตรีที่ฟังใหญ่ในแบบไม่เวอร์วัง

ขณะที่ “ตราบ” ก็เป็นงานบัลลาดร็อคฟังเพราะ และหากจะสนุกแบบสามช่า ที่มาพร้อมอิทธิพลดนตรีของ Santana ไททศมิตรก็มีให้ใน “บังขายถั่ว” ที่แม้จะทำให้นึกถึงงานที่มีร่องรอยเดียวกันจากคาราบาว แต่ซาวนด์และลูกเล่นของพวกเขาก็แตกต่างมากพอที่จะบอกว่า นี่คือสามช่าอารมณ์ละติน ในแบบไททศมิตร

โดยอาจจะมีที่ติดอยู่บ้างก็เนื้องานในภาพรวม ที่ฟังเป็นเพลง ๆ อาจจะรู้สึกคม แน่น และแม่น แต่หากไล่อัลบัมเรียงเพลงกันไป น่าจะรู้สึกถึงความกระจัดกระจายของงาน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรมากมาย อย่างน้อย ๆ ซาวนด์ของงานก็ยังเดินหน้าไปด้วยกัน แล้วรายละเอียดของดนตรีก็ฟังมันส์เข้าไส้ นอกจากเสียงกีตาร์ที่ขยี้ บดเคี้ยวได้ถึงอกถึงใจ จนเรียกได้ว่าเป็นลายเซ็นของพวกเขา อย่างน้อยๆ ก็ในอัลบัมนี้แล้ว งานคีย์บอร์ดที่รองอยู่ข้างหลังไกล ๆ ก็เป็นอีกอย่างที่ติดใจ และในหลายๆ เพลงก็ไม่ต่างจากเสน่ห์ที่ซ่อนเร้นอยู่ในเพลงของไททศมิตร แบบที่ได้ยินจาก “รจนา”

เสียงร้องฟังร่วมสมัย ให้ความรู้สึก ‘ใหม่’ ผิดไปจากที่เคยได้ยินจากศิลปินเพื่อชีวิตที่เคยได้ยินกันมา เมื่อมีทั้งสัมผัสของอารมณ์แบบบ้าน ๆ และความรู้สึกแบบศิลปินร็อคหรือพ็อปทั่ว ๆ ไป

ท่วงทำนองมีเซนส์พ็อปแข็งแรง ทุกเพลงมีฮุกเตะหูตั้งแต่ได้ยินในครั้งแรกก็ว่าได้ เนื้อหามีครบทั้งแข็งกร้าว เช่น “ยุติ-ธรรม”, “แดงกับเขียว”, เสียดสีเย้ยหยัน ใน “Amazing Thailand”, ประชดประชันกับ “รสนิยม”, การเปรียบเทียบเปรียบเปรยของ “รจนา” รวมถึงเรื่องขมขื่นที่พอมากับดนตรีสนุก ๆ ก็กลายเป็นงานตลกร้าย ใน “บังขายถั่ว” เรื่องราวชัดเจน ภาษาที่สื่อสารตรงไปตรงมา เรียบง่าย แต่ก็มีลูกเล่น ลีลาในตัว อย่าง ‘ยุติ-ธรรม’ ที่ในท่อนฮุกสัมผัสทางตัวอักษรของเพลงบนเมโลดีที่ติดหูฟังสนุกมาก บางครั้งอาจเป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนเคยมอง แต่ไททศมิตรก็เอามาบอกเล่าด้วยมุมใหม่ อย่าง “แดงกับเขียว” ที่เป็นเหมือนอีกภาพสะท้อน จากเรื่องราวคล้าย ๆ กันของ “หนุ่มน้อย” ที่ทำให้เพลงมีความ ‘สด’ ในตัว รวมไปถึงแสดงถึงชั้นในการเขียนเพลงบัลลาดเล่าเรื่องของพวกเขาไปพร้อม ๆ กัน

แต่ที่ให้เป็นที่สุดของความลงตัวในงานชุดแรกของพวกเขาก็คงไม่พ้น “Hello Mama” ที่ไททศมิตร ใส่ทุกอย่างเอาไว้ในเพลงนี้ก็ว่าได้ นอกจากชั้นเชิงดนตรีที่ใส่สำเนียงไทย ๆ เข้ามาได้อย่างลงตัวแล้ว ยังมีทั้งอารมณ์ขัน, ความซาบซึ้ง, ตลกร้าย, เสียดสี, เมโลดีที่สวย, ความอบอุ่น รวมถึงความปวดร้าวของชีวิต ที่ฟังแล้วอาจจะยิ้มคู่กับความขมขื่น หรือสุขปนเศร้าได้ไม่ยาก

ทำให้เพลงนี้ไม่ใช่แค่การส่งความคิดถึงให้กับบุพการี แต่ยังเป็นการกล่าวทักทายแฟนเพลงไทย และแนะนำตัวให้กับวงการเพลงไทยของไททศมิตรไปพร้อม ๆ กัน

โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจาณณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 32 ฉบับที่ 1 พฤศจิกายน 2563

สนับสนุนเราได้ที่ -:> https://facebook.com/becomesupporter/Sadaos/ หรือที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วส่งสลิปการโอนมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนคำขอบคุณ

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.