FEATURESMusic Features

ดนตรีอินดัสเทรียล – สรรพเสียงของเครื่องจักรกลและโลหะ

แม้อาจจะไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหู เหมือนดนตรีแจ๊ซซ์, ดนตรีร็อค หรือดนตรีโฟล์ค แต่ดนตรีอินดัสเทรียลเป็นอีกหนึ่งแนวทางดนตรีที่มีมานาน โดยเป็นคำที่ถูกใช้มาตั้งแต่กลางยุค 70 โน่น จากการเกิดขึ้นของค่ายเพลงชื่ออินดัสเทรียล เรคอร์ดส์ของสมาชิกวง Throbbing Gristle และ Monte Cazazza แล้วก็ถูกนำมาใช้นิยามดนตรีของวงโธรบบิง กริสเซิล จากเกาะอังกฤษ ที่เป็นการผสมผสานกันระหว่างดนตรีอิเล็กทรอนิกส์และงานดนตรีทดลอง รวมไปถึงงานอวองท์-การ์ด ซึ่งธีมของเพลงจะเป็นเรื่องที่คุกคามความเชื่อทางศีลธรรมหรือสังคม ดนตรีมีลักษณะปลุกเร้า ซาวนด์ดนตรีสากหู

ที่หากพูดให้เข้าใจง่ายๆ ตามที่เว็บไซต์ allmusic.com ระบุเอาไว้ก็คือ เป็น “การผสมผสานดนตรีร็อคและอิเล็กทรอนิกส์เข้าด้วยกัน ที่ฟังก้าวร้าวและคุกคาม”

และถึงจะได้รับอิทธิพลจากงานทดลองในแบบอวองท์-การ์ด มีการใช้เทคโนโลยี หรือเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ในเพลงอย่าง การใช้เทปเสียง, สรรพเสียงต่างๆ, ซินธิไซเซอร์ หรือว่า ซีเควนซ์ แต่สิ่งที่สำคัญสำหรับดนตรีในแนวทางนี้ก็คือ บีทหรือจังหวะดนตรีที่กระแทกกระทั้น อัดใส่เข้ามาไม่ต่างไปจากเครื่องเจาะกระแทก ที่ทำงานไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย ฟังกระด้าง รุกเร้า ทำให้ในอีกแง่หนึ่ง ดนตรีอินดัสเทรียลก็ไม่ต่างไปจากด้านมืดของดนตรีเต้นรำที่เป็นงานสร้างความสุขให้กับผู้คน เพราะนอกจากซาวนด์ดนตรีที่ฟังเหมือนเป็นเครื่องจักร ซึ่งถือว่าเป็นลายเซ็นสำคัญสำหรับดนตรีแนวนี้แล้ว ก็ยังมีเรื่องเนื้อหาที่มักว่าด้วยเรื่องความแปลกแยก หรือการถูกรังเกียจเดียดฉันท์จากผู้คน ซึ่งงานทั้งสองส่วนสามารถเข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี

เพราะฉะนั้น หากมองในแง่ความรื่นรมย์แบบเพลงทั่วๆ ไป ดนตรีอินดัสเทรียลไม่น่าจะเป็นงานในลักษณะนั้น แต่เป็นงานที่ใช้บอกเล่าด้านมืดของสังคม, จิตใจ ด้วยดนตรีที่ฟังบีบคั้น, กดดัน, อึดอัด มากกว่า โดยงานของกลุ่มศิลปินอินดัสเทรียลรุ่นแรกๆ จะทดลองใช้สรรพเสียงต่างๆ ในการสร้างงาน แล้วก็สนุกกับการนำเอาประเด็นที่เป็นเรื่องถกเถียงทางสังคมมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแนวคิดแบบฟาสซิสม์, พฤติกรรมทางเพศนอกลู่นอกทาง รวมไปถึงเรื่องที่ถูกเก็บงำ ซ่อนเร้นเอาไว้

แล้วก็ไม่ได้นำเสนอเรื่องราวเหล่านี้แค่ทางแค่เสียงเพลง หากยังนำเสนอผ่านงานวิฌวลไปพร้อมกันๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาพลักษณ์ของวง, ภาพโปสเตอร์, การโปรโมทต่างๆ เรียกว่ามาครบ 360 องศาก็ว่าได้ โดยโธรบบิง กริสเซิลถึงกับใช้สโลแกนว่า “ดนตรีอินดัสเทรียลเพื่อคนอินดัสเทรียล” เมื่อครั้งที่ออกงานชุดแรก และพวกเขาก็เป็นหนึ่งในกลุ่มศิลปินอินดัสเทรียลยุคบุกเบิกร่วมกับ Cabaret Voltaire และ Einsturzende Neubauten จากเยอรมัน ซึ่งให้ความสำคัญกับการแสดงออกทางศิลปะมากพอๆ กับงานดนตรีที่ทำขึ้น หลังจากนั้นดนตรีอินดัสเทรียลก็มีฐานที่มั่นสำคัญที่ชิคาโก บ้านของค่ายเพลงแว็กซ์ แทร็กซ์ เรคอร์ดส์ แหล่งซ่องสุมศิลปินอินดัสเทรียลที่ได้รับอิทธิพลดนตรีจากศิลปินอิเล็กทรอนิกส์อย่าง Kraftwerk, ศิลปินที่ทำงานดนตรีทดลอง แบบ Pink Floyd และ แฟรงค์ แซ็ปปา (Frank Zappa)

จากนั้นก็เป็นการมาถึงของศิลปินอินดัสเทรียลรุ่นที่สอง อย่าง Skinny Puppy, Front 242 และ Nitzer Ebb ที่เติมบีทแบบดนตรีเต้นรำเข้ามาในดนตรีฟังกระด้างที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปินรุ่นก่อน แต่กับบางวง เช่น Ministry และ KMFDM ก็เลือกจะใช้ริฟฟ์แบบเมทัล ที่สามารถพาตัวเองเข้าถึงคนฟังในกลุ่มที่กว้างมากขึ้น โดยเฉพาะมินิสทรีที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องจากยุค 80 ไปจนถึง 90 เมื่อรวมกับการทำงานของศิลปินรายอื่นๆ อาทิ Front Line Assembly และ Sister Machine Gun ศิลปินเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในแวดวงดนตรีอินดัสเทรียล และทำให้อิทธิพลของดนตรีที่หนักหน่วง ดุดัน ราวกับเครื่องจักรขยับขยายออกไป ถูกหยิบไปใช้และผสมผสานกับดนตรีในแนวทางอื่นๆ เช่น แอมเบียนท์และร็อค จนแตกแขนงเป็นดนตรีอินดัสเทรียลรูปแบบต่างๆ บ้างก็จำกัดความใหม่เป็น ดนตรีอีเล็คโทร-อินดัสเทรียล หรือถูกแปะป้ายว่าเป็นดนตรีในกลุ่มโพสท์-อินดัสเทรียล ซึ่งมีสองรูปแบบดนตรีที่โดดเด่น เหนือการผสมผสานในรูปแบบอื่นๆ ได้แก่ อินดัสเทรียล ร็อค และอินดัสเทรียล เมทัล โดยมีศิลปินที่เป็นหัวหอกอย่าง มินิสทรี และ Nine Inch Nails ที่รายหลังนำเอาโครงสร้างของเพลงทั่วๆ ไปมาปรับใช้ และสร้างภาพลักษณ์ของตัวเองให้เป็นศูนย์กลางของเรื่องราวต่างๆ ทั้งคู่ต่างทำยอดขายอัลบัมในระดับรางวัลแผ่นแพลตินัม นำความหลากหลายที่มีพาดนตรีอินดัสเทรียลของตัวเองไปสู่ขอบเขตคนฟังที่กว้างไกลยิ่งขึ้น ซึ่งกินความไปถึงคอเพลงอัลเทอร์เนถีฟ-ร็อค และเมทัล ที่มาถึงตอนนี้ความเวิ่นเว้อ หรือคำจำกัดความที่วุ่นวายถูกทิ้งไปหมด เหลือเพียงคำง่ายๆ ที่ใช้เรียกดนตรีในแนวทางนี้ว่า ดนตรีอินดัสเทรียล

แม้ตลอดยุค 90 ดนตรีอินดัสเทรียล เมทัลจะได้รับความสนใจ แต่ก็มีศิลปินที่ประสบความสำเร็จไม่กี่ราย นอกจากมินิสทรีกับไนน์ อินช์ เนลส์ แล้วก็ยังมี Orgy, White Zombie, ร็อบ ซอมบี (Rob Zombie) และ Marilyn Manson แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นศิลปินใต้ดินเหมือนที่เคยเป็น ในที่สุดดนตรีอินดัสเทรียล เมทัลก็ค่อยๆ หายไปจากตลาดเพลงหลัก ที่ยังคงทำงานต่อเนื่องก็เป็น มาริลีน แมนสัน, ร็อบ ซอมบี และไนน์ อินช์ เนลส์ โดยรายหลังเพิ่งมีอีพีชุดใหม่ Bad Witch ออกมาเมื่อเดือนมิถุนายนนี่เอง และจะมีคอนเสิร์ตครั้งแรกในบ้านเรา 14 สิงหาคมนี้ ที่มูนสตาร์ สตูดิโอ โดยซื้อบัตรได้ที่ www.ticketmelon.com ซึ่งน่าจะเป็นคอนเสิร์ตครั้งแรก ที่แฟนเพลงในบ้านเราจะได้สัมผัสกับการแสดงของวงดนตรีอินดัสเทรียลของจริง ที่ยังเป็นตัวท็อปของวงการอีกต่างหาก

และสำหรับคนที่ต้องการสัมผัสกับงานเพลงอินดัสเทรียล นี่คืออัลบัมอินดัสเทรียลที่ไม่ควรพลาดหามาฟังกัน โดยหาฟังกันได้บนแอปเปิล มิวสิค โดยชื่อแรกเป็นชื่อวงตามด้วยชื่ออัลบัม ชื่อสังกัดและปีที่ออก Revolting Cocks – Beers, Steers & Queers (Wax Trax, 1990) / Skinny Puppy – Too Dark Park (Nettwerk, 1990) / Front 242 – Tyranny For You (Epic, 1991) / Ministry – Psalm 69 (Sire, 1992) / Nine Inch Nails – The Downward Spiral (Interscope, 1994) / KMFDM – Nihil (Wax Trax, 1995) / Neurosis – Through Silver In Blood (Music For Nations, 1996) / Rammstein – Sehnsucht (Slash, 1998) / Static-X – Wisconsin Death Trip (Warner Bros, 1999)

โดย นพปฎล พลศิลป์ จากเรื่อง ดนตรีอินดัสเทรียล – สรรพเสียงของเครื่องจักรกลและโลหะ คอลัมน์ หรรษาวันจันทร์ – HAPPY MONDAY หนังสือพิมพ์ไทยโพสท์ วันที่ 13 สิงหาคม 2561

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.