ละติจูดที่ 6: ในมิติของการเป็นหนังที่มี (hidden) agenda หรือพูดตรงๆ ก็คือโฆษณาชวนเชื่อ “ละติจูดที่ 6” ถือเป็นหนังที่พยายามกลบเกลื่อนภาพลักษณ์ดังกล่าวได้น่าสนใจ แม้ว่าถึงที่สุดแล้ว มันจะไม่สามารถเล็ดรอดการตรวจจับด้วยเรดาร์ของผู้ชม (ที่สังเกตสังกาแค่เพียงเล็กน้อย) แต่อย่างใด
แง่มุมที่น่าพูดถึงประการหนึ่งก็คือ แทนที่หนังเรื่อง “ละติจูดที่ 6” จะไปแตะต้องประเด็นความขัดแย้งซึ่งเกิดขึ้น ณ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง มันกลับหันเหไปพูดเรื่องส่วนตัวของตัวละครอย่างน้อยสี่คน อันได้แก่ ชายหนุ่มเมืองกรุงที่ตกหลุมรักสาวมุสลิม และต้องรับมือกับอุปสรรคทั้งในเรื่องพ่อของฝ่ายหญิงซึ่งเป็นครูสอนศาสนาที่ไม่เห็นดีเห็นงาม และการต้องเลือกว่าตัวเองควรจะลงหลักปักฐาน ณ แห่งหนใด, หญิงสาวมุสลิมที่นอกเหนือจากความรักกับคนต่างศาสนา ระหว่างเธอกับพ่อ-ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่ลงรอย, เด็กสาวไทยพุทธที่ตกอยู่ในสถานการณ์ ‘ชุลมุนวุ่นรัก’ กับเด็กหนุ่มมุสลิมที่มาติดพันชอบพอสองคน และสุดท้าย เด็กหนุ่มมุสลิมที่นอกจากต้องแข่งขันทั้งในเรื่องกีฬาและความรักกับคู่ปรับตัวฉกาจแล้ว ยังต้องเผชิญความกดดันจากพ่อที่ตั้งความหวังให้ลูกชายก้าวเดินในวิถีทางของศาสนาอิสลาม
ว่าไปแล้ว เรื่องย่อยๆเหล่านี้-สร้าง perception ทำนองว่า หากตัวละครยังสามารถสาละวนอยู่กับเรื่องส่วนตัวเหล่านี้ได้ (ซึ่งหมายรวมถึงการวางแผนและตั้งความหวังเกี่ยวกับอนาคตในภายภาคหน้าของแต่ละคน) เหตุการณ์ความไม่สงบ ณ จังหวัดชายแดนใต้ก็ไม่น่าจะถึงกับเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย
ยิ่งไปกว่านั้น คนทำหนังยังลดบทบาทของทหาร กระทั่งพูดได้ว่า ทหารแทบจะถูกดึงออกไปจากสมการของความขัดแย้งโดยปริยาย ในแง่ของ visual ทหารเป็นเพียงส่วนปลีกย่อยของเรื่องราว และมักจะปรากฏในลักษณะอยู่นอกระยะชัด หรือแม้กระทั่งอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ชมจะไม่หันไปมองเป็นลำดับแรก อาจจะยกเว้นเรื่องของพ่อของเด็กสาวไทยพุทธที่เป็นทหารในหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด กับจ่าทหารที่เป็นตัวตลก-ซึ่งทั้งสองกรณี ก็เหมือนกับเป็นการทำให้ฝ่ายทหารดูมีความเป็นมนุษย์มนา และแน่นอนว่านั่นเป็นภาพลักษณ์ที่ตรงกันข้ามกับฝ่ายก่อการร้าย-ที่นอกจากไม่มีตัวตน หรือความเป็นคน พฤติกรรมยังสะท้อนถึงความโหดเหี้ยมทารุณและเลือดเย็น
อีกอย่างที่น่าพูดถึงก็คือ การนำเสนอภาพของปัตตานีในฐานะที่เป็นเมืองที่ไม่ได้ดูน่ากลัวเหมือนกับที่ปรากฏเป็นข่าวในโทรทัศน์และบนหน้าหนังสือพิมพ์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยเทคนิคทางด้านภาพ, เสียงและการตัดต่อ ปัตตานีก็กลายสภาพเป็นดินแดนที่ทั้งอบอุ่น สงบสุข หรือแม้กระทั่งโรแมนติก อีกทั้งผู้คนก็ดำเนินวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เต็มไปด้วยความโอบอ้อมอารี เป็นมิตรกับผู้มาเยือน เหนืออื่นใด พวกเขาพูดภาษาไทยด้วยสำเนียงของคนภาคกลางอย่างชัดถ้อยชัดคำและถูกอักขระวิธี และมีเพียงตัวละครหนึ่งหรือสองคนเท่านั้น-ที่สำเนียงการพูดเป็นแบบคนใต้ (ซึ่งปรากฏว่า มันคล้ายๆกับจะถูกนำเสนอด้วยท่าทีล้อเลียน นัยว่าเพื่อเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชม) แต่ทั้งหมดทั้งมวล ไม่มีใครพูดภาษายาวี ข้อสำคัญ ปัตตานีในหนังเรื่องนี้ยังเป็นดินแดนที่เปิดกว้างสำหรับความเชื่อและความศรัทธาที่แตกต่างกัน ผู้ชมได้เห็นทั้งวัดของคนไทยพุทธ และศาลเจ้าของคนไทยเชื้อสายจีน-ซึ่งก็บ่งบอกโดยอ้อมถึงการอยู่ร่วมกันอย่างปรองดอง
แต่จนแล้วจนรอด ส่วนที่ทำให้หนังสูญเสียสถานะการเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่ออันแยบยล-ก็ยังคงเป็นเรื่องของแท็คติกและกลวิธีในการเล่าเรื่องที่กะพร่องกะแพร่ง งุ่มง่าม หลายช่วง-พึ่งพาบทสนทนาระหว่างตัวละครเป็นกลไกขับเคลื่อนราวกับมันเป็นละครโทรทัศน์ อีกทั้งในแง่ของการจัดสรรปันส่วนเนื้อหา-ก็เป็นไปแบบขาดๆเกินๆ บางเหตุการณ์ถูกสอดแทรกเข้ามา-เพียงเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนลงแรง หรือบางครั้งบางคราว ตัวละครบางคนก็หายไปจากการรับรู้ของผู้ชมเป็นเวลานาน และไหนยังจะมีเรื่องของความไม่สมเหตุสมผลในแง่ของเนื้อหาและพฤติกรรมของตัวละครมาคอยก่อกวนความรู้สึกตลอดเวลา
และในขณะที่แอ็คติ้งของปริศนา กัมพูสิริในบทฟาติมะ สาวมุสลิมที่มีปัญหากับผู้เป็นพ่อ (สหัสชัย ชุมรุม) ช่วยเพิ่มทั้งความเข้มข้นให้กับหนังและสร้างการมีส่วนร่วมให้กับผู้ชม ฝีมือการแสดงของปีเตอร์ คอร์ป ไดเรลดัล-กลับไม่ได้อยู่ในระดับที่ทัดเทียม นอกจากเข้าไม่ถึงบทบาทอย่างที่ควรจะเป็น มันยังดูประหนึ่งเป็นแอ็คติ้งที่เดินทางมาจากละติจูดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
โดย ประวิทย์ แต่งอักษร
สามารถกดไลค์ Like เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่