จะว่าไปแล้ว ‘Beckett’ งานใหม่ของจอห์น เดวิด วอชิงตัน ที่ได้ดูต่อจาก ‘BlacKkKlansman’ และ ‘Tenet’ ให้ความรู้สึกไม่ต่างไปจากงานพักร้อนของนักแสดงที่เป็นทายาทของเดนเซล วอชิงตันรายนี้ เมื่อดูจากพล็อต รวมไปถึงชื่อชั้นของผู้กำกับ
จาก สไปก์ ลี, คริสโตเฟอร์ โนแลน งานเรื่องนี้ของวอชิงตันผู้ลูก เป็นงานกำกับของเฟอร์ดินานโด ซีโต ฟิโลมาริโน ผู้กำกับชาวอิตาเลียน ที่เพิ่งมีงานหนังใหญ่มาก่อนหน้าเพียงเรื่องเดียว โดยเขาเป็นเจ้าของเรื่องราวของหนัง ที่มี เควิน เอ. ไรซ์ เป็นผู้เขียนบท เรื่องนี้
วอชิงตันเป็น เบ็กเก็ตต์ นักท่องเที่ยวอเมริกันที่เดินทางไปกรีกกับแฟนสาว – แอพริล (อลิเซีย วิแคนเดอร์) ที่เพราะการประท้วงทางการเมืองบริเวณหน้าที่พักในกรุงเอเธนส์ ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจออกจากเมืองไปพักในชนบท ซึ่งทุกอย่างก็ดูจะเป็นไปด้วยดี แต่แล้วอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง ก็ทำให้ชีวิตของเขาต้องเจอกับวิบากกรรม ที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดสุดชีวิต
เมื่อชั่วแว่บหนึ่งก่อนหมดสติ เขาได้เห็นบางสิ่งบางอย่างที่มีส่วนเกี่ยวพันกับความวุ่นวายทางการเมืองของกรีก และทำให้เรื่องที่น่าจะต้องจบลงง่ายๆ ของเขากลายเป็นความวินาศสันตะโรของชีวิตอย่างที่เห็น เพราะตกเป็นเป้าหมายในการตามล่าของตำรวจท้องถิ่นกับหญิงสาวลึกลับ ที่พร้อมจะสังหารเขาและทุกคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้
ทางรอดเดียวของเบ็กเก็ตต์ก็คือ ดิ้นรนหาทางกลับเข้ามาในกรุงเอเธนส์ เพื่อขอความช่วยเหลือจากสถานทูตสหรัฐอเมริกา ที่น่าจะเป็นสถานที่ปลอดภัยที่สุด และน่าจะช่วยเขาได้ในสถานการณ์วิกฤตินี้
นี่คือตัวละครที่อยู่ผิดที่ผิดทางโดยบังเอิญ แล้วสิ่งที่พบเห็นระหว่างนั้น ก็ทำให้ลำบากเหลือเกินที่จะพาตัวเองให้กลับมาอยู่กับร่องกับรอย เมื่อบรรดาคนที่เกี่ยวข้องไม่ต้องการให้เขามีชีวิตอยู่ต่อไปในฐานะ ‘พยาน’ ท่ามกลางสถานการณ์สมคบคิด ที่มีอะไรมากมายใหญ่โตอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นพล็อตที่เห็นกันมาไม่น้อย แตกต่างกันก็แค่รายละเอียด
ที่พอเทียบกับหนังของวอชิงตันที่ได้ดู 2 เรื่องก่อนหน้าแล้ว ถึงรู้สึกอย่างที่บอกเอาไว้ในตอนต้นว่า นี่เป็นงานพักร้อนหลังเจอของหนัก ๆ มาก่อนหน้าของนักแสดงรายนี้
แม้จะมีแง่มุมการเมืองหรือเรื่องที่ต้องค้นหาความจริงแทรกในเนื้อหนัง แต่ ‘Beckett’ ก็เดินหน้าไปในแบบงานแอ็กชั่นลุ้นระทึก ที่ตัวละครเล่นเกมไล่จับกัน โดยอีกฝ่ายได้เปรียบพระเอกของเราแทบทุกประตู เป็นเจ้าของประเทศ, เป็นผู้มีกฎหมายในมือ, มีอาวุธ, มีเครือข่ายโยงใย ซึ่งเบ็กเก็ตต์ไม่ได้มีอะไรแบบนั้นเลย นอกจากสมองและปฏิภาณไหวพริบ ซึ่งดู ๆ ไปก็อาจทำให้หลาย ๆ คนนึกถึงหนังอย่าง ‘The Fugitive’ เมื่อตัวละครดร. ริชาร์ด คิมเบิล ของแฮร์ริสัน ฟอร์ดในหนังปี 1993 ที่สร้างจากซีรีส์ทีวีอีกที ก็เป็นเพียงคนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ที่ต้องหนีสุดชีวิตเหมือน ๆ เบ็กเก็ตต์ เจอกับแผนสมคบคิดเช่นเดียวกัน แต่ก็มีความแตกต่างสำคัญอยู่ตรงที่คิมเบิลต้องหาทางเปิดเผยความจริงไปในเวลาเดียวกัน และการอยู่ผิดที่ผิดทางของเขา เป็นเรื่องของการจัดฉากไม่ใช่ความบังเอิญ ขณะที่การต้องมาอยู่ต่างบ้านต่างเมือง พูดจาคนละภาษา ของเบ็กเก็ตต์ ก็ทำให้การเอาตัวรอดเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีกระดับ
หนังเล่นสนุกกับการเอาตัวรอดในสถานการณ์ และสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นใจของเบ็กเก็ตต์อย่างเต็มที่ ซึ่งหากไม่ได้คิดอะไรมากมาย ดูแบบง่าย ๆ เน้นความบันเทิงเป็นหลัก หนังก็ถือว่าตอบโจทย์ได้ เพราะส่งสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานมาให้ตัวละครได้แก้เป็นพัก ๆ อย่างต่อเนื่อง แล้วก็ยังมีเรื่องหักมุมที่ซ่อนอยู่ในสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองของกรีก รวมถึงตัวละครบางราย ที่ไม่ใช่คนดีอย่างที่คิด (ซึ่งจริง ๆ น่าจะเดาได้ไม่ยาก) มาเป็นเซอร์ไพรส์เล็ก ๆ ในตอนท้าย แต่ก็ไม่ได้ทำให้ประเด็นของเรื่องราวพลิกผัน หรือเปลี่ยนแปลง หากก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า เรื่องราวบางเรื่องมันไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากมายอย่างที่เห็น เพียงแต่มีใครบางคนสามารถใช้มันเป็นประโยชน์สำหรับตัวเอง หรืออะไรบางอย่าง ที่ใหญ่กว่าที่เป็นได้ เช่นเดียวกับเบ็กเก็ตต์ ที่จู่ ๆ ก็ดันเจอเรื่องราวใหญ่โตในชีวิตโดยไม่ได้ตั้งใจ
ถือว่าหนังเป็นงานขายความบันเทิงที่ดูสนุก…
แต่… หากมีเวลาแว่บคิดถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางการหาทางออกของตัวละคร หนังมีความไม่น่าเชื่อถือมากมาย ตั้งแต่ตัวเบ็กเก็ตต์ ที่เป็นแค่หนุ่มไอที (ฉากหนึ่งในหนังมีตัวละครบอกแบบนั้น) มีเงินทองติดตัวไม่มากนัก อยู่ในประเทศที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก แล้วได้รับบาดเจ็บที่แขน แถมยังถูกยิงซ้ำอีกต่างหาก หากก็ทนทานทายาทเหลือเกินอย่างที่เห็น ซึ่งจะว่าไปแล้วไม่ต่างไปจาก แจ็ก บาวเออร์ ในซีรีส์ ‘24’ ที่แม้จะโดนซ้อมหนักหน่วงแค่ไหน เจอสถานการณ์รุมเร้าเพียงใด ก็สามารถจัดการได้ภายใน 24 ชั่วโมง
หรือจุดเกิดเหตุ เป็นสถานที่ซึ่งเจ้าตัวสามารถเดินกลับไปได้โดยไม่ต้องใช้จีพีเอส หรือแผนที่เสาะหา มันก็ช่างบังเอิญ หรือง่ายเกินเหตุ
แล้วหากมองไปที่ฝ่ายตรงข้าม… พวกเขามีวิธีจัดการเรื่องที่เบ็กเก็ตต์ตกเป็นพยานได้ง่ายกว่าที่ทำในหนัง โดยไม่ต้องมีการเสียเลือดเนื้อ หรือทำให้เรื่องราวไปกันใหญ่แบบนี้
ในแง่ของงานที่มีความหนักแน่น จริงจังแล้ว ‘Beckett’ จังไม่ใช่งานที่เข้มข้นอะไรมากมาย เมื่อบทมีรูรั่วมากมายอย่างที่เห็น ยังดีที่เอาแง่มุมทางการเมืองมาสร้างความแตกต่างให้ตัวเองกับหนังตัวละครผิดที่ผิดทางเรื่องอื่น ๆ ได้บ้าง แล้วหากดูเครดิตของคนทำงาน จะพบชื่อของลูกา กัวดาญีโน ผู้กำกับของ ‘Call Me by Your Name’ และ ‘Summer Splash’ เป็นผู้อำนวยการสร้าง ซึ่งไม่รู้ว่ามีความเกี่ยวพันกับเรื่องมากน้อยแค่ไหน แต่จากงานที่ผ่าน ๆ มา เขาก็มักจะแทรกสถานการณ์ทางการเมืองเข้ามาในหนังเสมอ แต่ก็ไม่ได้ชัดเจนเท่ากับเรื่องนี้ ที่เป็นฉากหลังของหนังโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ตัวละครต้องเปลี่ยนแผนการเดินทาง จนกลายเป็นผู้รู้เห็นบางอย่างที่เกี่ยวข้อง
การที่ ‘Beckett’ มีจุดร่วมบางอย่างกับงานของผู้อำนวยการสร้าง ก็ไม่ได้สร้างปัญหาอะไร เป็นแค่การตั้งข้อสังเกตแค่นั้น และในกรณีนี้ถือว่าเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ เพราะทำให้หนังมีความซับซ้อนมากขึ้น
ซึ่งถ้าหนังทำให้ทางหนีทีไล่ การเอาตัวรอดของตัวละครที่เป็นชื่อเรื่อง มีความซับซ้อน ได้เหมือนที่ใส่เรื่องการเมืองเข้ามาในเรื่องได้ ไม่ได้ทำให้คนธรรมดา ๆ คนหนึ่งกลายเป็นคนเหล็กขึ้นมาได้ในเวลาอันสั้นอย่างที่เห็น ‘Beckett’ ก็น่าจะเป็นงานแอ็กชันที่น่าจดจำมากกว่านี้
หรือบางที… ยาเม็ดที่ตัวละครกิน ไม่ใช่ยานอนหลับอย่างที่ขวดระบุเอาไว้…
(BECKETT ทางเน็ตฟลิกซ์)
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ ชำแหละแผ่นฟิล์ม นิตยสาร เอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1335 ปักษ์แรก กันยายน 2564
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่