Movie ReviewREVIEW

ดูมาแล้ว – DEATH TO 2020 การอำลาปีเก่าอย่างแสบสันต์ ****

ปี 2020 ที่เพิ่งผ่านไป เป็นปีที่น่าจดจำตั้งแต่ชื่ออย่างที่เสียงบรรยายในหนังเรื่องนี้ว่าเอาไว้ ตั้งแต่เลขปี เมื่อเกิดจากเลข 20 มาเรียงต่อกัน แล้วก็มีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้น ที่โดดเด่นไปหมดจนไม่รู้ว่าจะบันทึกอะไรก่อนดี ที่สำคัญล้วนเป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าจดจำ แต่ยากเหลือเกินที่จะลืม เพราะมันล้วนฝังลึกในความทรงจำ ตั้งแต่เรื่องของไฟไหม้ป่าในออสเตรเลีย, สภาวะแวดล้อมที่ย่ำแย่, เรื่องการเมืองในสหรัฐอเมริกา ที่มีทั้งการเตะตัดขาคู่แข่งของประธานาธิบดี ที่ตัวเองก็ถูกยื่นถอดถอน, การหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่, เรื่องของจอร์จ ฟลอยด์ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน และแน่นอน โควิด-19

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล ถูกบันทึกไว้อย่างแสบสันต์โดยทีมงานที่อยู่เบื้องหลังของซีรีส์ Black Mirror และนำเสนอออกมาเป็นงาน งานสาหลอกคดี (Mockumentary) ใช่… สาหลอกคดี เขียนไม่ผิด เพราะชาร์ลี บรูเคอร์ กับแอนนาเบล โจนส์ นำเสนออกมาเป็นงานสารคดีเทียมๆ หรือล้อสารคดี ที่จับเอานักแสดงดังๆ มา อย่าง แซมวล แอล. แจ็คสัน, ฮิวจ์ แกรนท์, ลิซา คุโดรว์, เลสลี โจนส์, คูเมล นานจิอานี, เทรซีย์ อูลล์แมน มารับบทเป็นตัวแทนของคนในสังคมในทุกชนชั้น ทั้งที่มีตัวตนจริงๆ ทั้งที่ถูกสร้างขึ้นมา อย่าง นักข่าวประจำสำนักข่าว เดอะ นิว ยอร์เกอร์ลี ของแจ็คสัน ที่เต้ามาทั้งดุ้น หรือนักประวัติศาสตร์ ที่กว่าจะรู้ว่าเป็นฮิวจ์ แกรนท์เล่นก็ตอนเครดิตท้ายเรื่องขึ้น ซึ่งทั้งสองรายไม่ใช่ตัวละครที่มีอยู่จริง ผิดกับพระราชินีเอลิซาเบ็ธที่สอง ของเทรซี อูลล์แมน

ไล่ไปจนถึง คนธรรมดา -เจ็มมา เนอร์ริค (ไดแอน มอร์แกน) และคุณแม่ลูกหนัง (Soccer Mom) – เคธี ฟลาเวอร์ส ที่รับบทโดยคริสติน มิลิออติ

หนังทำออกมาเป็นงานสารคดีแบบมาตรฐานผูกเรื่องแล้วสัมภาษณ์ผู้คน ให้พวกเขาแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งที่มันสนุกและมันในระดับแสบสันต์ก็คือ ความเห็นที่พวกเขาแสดงออกมา รวมไปถึงท่าทีในยามที่พ่นความเห็น เพราะทั้งเสียดสีเรื่องราวที่เกิดขึ้น และสิ่งที่ตัวเอง

เรียกว่าให้ข้อมูลถึงเรื่องราวที่เป็นไป และนำมาจิกกัด หยอกล้อ โดยใช้มุมมองพื้นฐานของตัวละครเป็นหลัก และทำให้ได้ความเห็นอดหัวเราะไม่ได้ แบบ พระราชินีเอลิซาเบ็ธ ที่สอง ใช้เวลาในช่วงล็อคดาวน์จากโควิด-19 ไปกับ การดูซีรีส์ The Crown เพราะดูสมจริงกว่าเรื่อง Tiger King ที่ตัวละครไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ใดๆ หรือการรับฟังการพูดถึงสภาพแวดล้อมโลกที่ย่ำแย่ลงของเกรตา ธุนเบิร์ก ทำให้มหาเศรษฐีบริษัทเทคโนโลยี (นานจิอานิ) ได้รู้ว่าโลกเราแย่แล้ว และจัดการระดมทุน แต่ไม่ใช่เพื่อฟื้นฟูหรือรณรงค์เรื่องสภาพแวดล้อม แต่เพื่อซื้อภูเขาให้เขาเจาะเป็นที่หลบภัย แล้วเมื่อถูกถามว่า แล้วรู้สึกยังไงที่มีคนประนามเรื่องนี้ เขาตอบประมาณว่า ผนังห้องหนาจนไม่ได้ยิน

คุณแม่นักฟุตบอล (คำเรียกผู้หญิงชนชั้นกลาง ที่ใช้เวลากับกิจกรรมของลูกๆ จนไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร) ที่บอกว่าไม่สนใจอินเตอร์เน็ต แต่ใช้งานโซเชียล มีเดียหลักๆ จนเกือบหมด และเชื่อข้อมูลที่แชร์กันในเฟซบุคมากกว่า คนธรรมดาๆ ที่คิดว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เป็นซีรีส์เรื่องยาว ที่บางช่วงก็เป็นวิชาการน่าเบื่อ บางช่วงก็สนุกสนาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การเมืองในประเทศมหาอำนาจชาตินี้ ไม่ต่างไปจากซีรีส์เรื่อง America รวมไปถึงคิดว่าการรณรงค์ให้คนล้างมือป้องกันโควิด-19 ของนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร – บอริส จอห์นสัน เป็นการโฆษณาน้ำยาล้างมือ

นักประวัติศาสตร์ที่อิงเหตุการณ์ปัจจุบันเข้ากับเหตุการณ์ (ที่เขาคิดว่าเกิดขึ้น) ในอดีต อย่าง การบุกเวสเตอรอสของไวท์ วอลเกอร์ หรือการประกาศชัยชนะบนดาวเอนดอร์ของพวกขบถ ที่เมื่อถูกทักว่าเป็นเรื่องในหนัง ก็แย้งว่า มันเป็นเรื่องจริงอยู่ในประวัติศาสตร์, นักการเมืองที่พลิกลิ้นเปลี่ยนข้างได้ในเสี้ยววินาที ที่ลิซา คุโดรว์ เล่น

กระทั่งเรื่องของการติดเชื้อโควิด-19 ก็ถูกใช้มาเล่นเป็นมุขแสบๆ เช่น ทอม แฮงค์ส เป็นคนที่คิดบวก แต่คงไม่มีใครคิดหรอกว่าผลตรวจเลือดของเขาก็เป็นบวก หรือหลังการโต้วาทีกับโจ ไบเดน (ที่ถูกล้อว่าเหมือนเอาคนแก่มาแร็ปใส่กัน) อะไรหลายๆ อย่างของโดนัลด์ ทรัมป์เป็นลบหมด ยกเว้นผลตรวจเลือด และแน่นอนชีวิตกับการสื่อสารในช่วงล็อคดาวน์ รวมไปถึงอาชีพสุดฮิตของคนรุ่นใหม่ นักสร้างเนื้อหา (Content Creator) ที่ไปๆ มาๆ ก็คือการเอาสิ่งที่คนอื่นทำมาปั้นใหม่ในแบบที่ไม่สร้างสรรค์อะไรเลยก็ว่าได้

นั่นคือสิ่งที่หนังนำเสนอออกมาแบบให้เห็นกันชัดๆ ตรงๆ แต่ถ้าจับสังเกตกันดีๆ ภาพที่ปรากฏ หรือฟุตเตจที่เลือกใช้ ก็มีความแสบไม่แพ้กัน เช่น การหาเสียงของเบอร์นี แซนเดอร์ นักการเมืองวัย 70 กว่าปี ที่พูดถึงการนำสิ่งใหม่ๆ มาให้ประเทศ และที่ด้านหลังของเขาก็เต็มไปด้วยเด็กๆ

ทั้งในภาพรวม ทั้งในรายละเอียด หนังมีอะไรมากมายให้หยิบจับมาคิดต่อ หรือหัวเราะ หรือยิ้ม

แต่ส่วนใหญ่จะเป็นรอยยิ้ม หรือเสียงหัวเราะแบบขื่นๆ ตามประสาหนังเสียดสี เป็นตลกร้าย

ที่หากมีแบ็คกราวนด์เกี่ยวกับเรื่องที่เป็นไปในโลก ติดตามข่าวสาร มาเยอะ Death to 2020 เป็นงานที่ถ้าไม่ขำ ก็น่าจะทำให้รู้สึก ‘บางอย่าง’ ได้ในแทบทุกวินาที ก่อนที่จะสรุปได้ว่าปีที่ผ่านมา ควรเป็นปีที่สมควร ‘ตาย’ อย่างที่ชื่อหนังว่าเอาไว้ และด้วยความแตกต่างในเรื่องมุมมองของผู้คน อย่างที่หนังนำเสนอให้เห็น ก็ตอกย้ำว่าความแปลกแยกแตกต่างก็ยังคงดำเนินต่อไป

แต่การนำเสนอข้อมูล แล้วใส่มุมมองในเชิงเสียดสีลงไปในหนัง อาจจะไม่ใช่ความบันเทิงอย่างที่เห็น ถ้าไม่ได้การแสดงที่แสบพอๆ กันของบรรดานักแสดงทั้งหลาย ที่มาทำตลกหน้าตาย ให้ความรู้สึกว่า พวกเขาเป็นตัวละครนั้นๆ แล้วรู้สึก และคิดอย่างที่พูดจริงๆ โดยเฉพาะฮิวจ์ แกรนท์ ที่ทำให้ลืมมาดนุ่มๆ ในหนังรอม-คอมทั้งหลายไปเลย
[DEATH TO 2020 ทางเน็ตฟลิกซ์]

โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ ชำแหละแผ่นฟิล์ม นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1320 ปักษ์หลังมกราคม 2564

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Movie Review

Comments are closed.