
อาจจะไม่ใช่งานที่มีชั้นเชิงการเล่าเรื่องหวือหวา หรือมาพร้อมความตื่นเต้น ที่ทำให้ผู้ต้องลุ้น หรือเอาใจช่วยตัวละคร แบบหนังกีฬาอีกหลาย ๆ เรื่อง เพราะเส้นทางการเดินทางสู่การเป็นนักเทนนิสหญิงมือหนึ่ง และนักเทนนิสหญิงที่ดีที่สุดของโลก ของวีนัสและเซเรนา วิลเลียมส์ ในภาพรวม เป็นเรื่องที่น่าจะรับรู้กันอยู่แล้ว หรืออย่างน้อยที่สุด มันก็เป็นเรื่องราวที่ ‘กูเกิล’ หากันได้ไม่ยาก
แต่เมื่อหนังไม่ได้โฟกัสที่เรื่องการแข่งขันของทั้งสองสาว หรือกระทั่งตัวของทั้งสองคน หากส่งสปอตไลท์จับที่ตัวผู้ให้กำเนิดเธอทั้งคู่ ริชาร์ด วิลเลียมส์ เจ้าของชื่อหนังตัวจริง ‘King Richard’ มันก็ทำให้เรื่องราวที่เหมือนจะรับรู้กันแล้วในระดับหนึ่ง มีความน่าสนใจขึ้นมา ว่ากับการดำรงชีวิตที่ต้องกระเสือกกระสนแบบชนชั้นกลาง ในระดับหาเช้ากินค่ำ แต่ฝันไกล ริชาร์ดดิ้นรนและหาหนทาง รวมถึงต้องทำอะไรบ้าง ในการพยายาม ‘ส่ง’ ลูก ๆ ให้ไปสู่จุดหมายปลายทางของความฝัน ซึ่งจากที่เห็นในหนัง ไม่ใช่แค่ความฝันของเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ เพียงสองคนเท่านั้น แต่ยังเป็นความฝันของผู้เป็นพ่อด้วยเช่นกัน
ที่สำคัญ การเดินทางในครั้งนี้ ริชาร์ด วิลเลียมส์ ที่มีคำคมของเบนจามิน แฟรงคลิน เป็นคติประจำใจ “ถ้าล้มเหลวเรื่องวางแผน ก็คือการวางแผนเพื่อล้มเหลว”” (If You Fail to Plan, You Are Planning to Fail) คือผู้วางแผน เป็นเจ้าความคิด
แต่บนเส้นทางไปสู่ความสำเร็จ เมื่อไม่ใช่ความฝันของใครคนใดคนหนึ่ง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มันก็ต้องพึ่งพาความเข้าอกเข้าใจของกันและกัน แม้จะไม่ใช่ทุกคนที่เป็น ผู้วางแผน หากแผนการที่เป็นไปมันก็ต้องสอดรับกับความเป็นไปของเหตุการณ์ และความต้องการของแต่ละคน
ซึ่งบางครั้ง บางที ความพยายามที่จะปกป้องมากจนเกินไป แผนการที่ตึงเปรี๊ยะ ไม่มีหย่อน ก็ไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสม โดยเฉพาะในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ที่ ‘โอกาส’ เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ
ยิ่งการเดินทางลงลึกไปเรื่อย ๆ ไม่ได้มีแค่ริชาร์ด-วีนัส-เซเรนา หรือว่า โอราซีน (ภรรยาของริชาร์ด และแม่ของสาว ๆ) เท่านั้นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แผนการก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์-โอกาส และคำนึงถึงความรับผิดชอบของผู้คนที่มีส่วนร่วม กระทั่งกับบทบาทของตัวเองก็เลี่ยงไม่พ้น
กับการเป็นศูนย์กลางตัวจริงของหนัง นอกจากด้านบวก ด้านที่ประสบความสำเร็จ ด้านที่ดีงามของริชาร์ด ไม่ว่าจะเป็น ความมานะ พยายาม และความเยี่ยมยอด ในการผลักดันลูก ๆ ให้มีเส้นทางชีวิตที่มีเป้าหมายชัดเจน ที่ไม่ได้สู้แค่กับความกระเหม็ดกระเหม่ของครอบครัว แต่ยังต้องเผชิญหน้ากับกากเดนในสังคม ความไม่เข้าใจหรือรับรู้ของเพื่อนบ้าน จนกลายเป็นการต่อสู้กับตัวบทกฎหมายกลาย ๆ เมื่อการกระทำของเขากับภรรยาที่มีต่อเด็ก ๆ กลายเป็นภาพของการทารุณผู้เยาว์ ที่เผยให้เห็นในคราวเดียวกันว่า… กับความฝันที่อยู่ไกล ความฝันที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน การปฏิบัติในแบบที่ถูกต้อง เป็นไปตามทำนองคลองธรรม อาจไม่ให้ผลได้ตามที่ต้องการ มันต้องมีการลงมือทำที่มากกว่านั้น โดยเฉพาะถ้าคุณไม่ได้มีกำลังคน หรือกำลัง ‘ทรัพย์’ ที่มากพอ หลาย ๆ ครั้งมันก็เป็นเรื่องที่ขัดกับมาตรฐานของชุมชน หรือบ้านเมือง
รวมถึงด้านของความเป็นพ่อ ที่ต้องการให้ลูก ๆ ไปถึงฝั่ง และกันพวกเธอให้อยู่ไกลจากเส้นทางที่พาไปสู่ปากเหว ไม่ว่าจะเป็นการให้ลูก ๆ ได้เรียนหนังสือ ไม่ถูกส่งลงทัวร์นาเมนท์การแข่งขันเร็วเกินไป ที่จะทำให้เธอล้า หรือหมดไฟตั้งแต่หัววัน จนชีวิตเถลไถลออกนอนทางเช่นเดียวกับที่นักเทนนิสรุ่นพี่หลาย ๆ คนเคยเจอ กระทั่งการวางแผนเรื่องการวางตัวของพวกเธอตั้งแต่ยังไม่โด่งดังอะไรมากมาย ด้วยการสอนผ่าน แอนิเมชัน ‘Cinderella’ ตลอดจนความ ‘เขี้ยว’ ในเรื่องการต่อรองทางธุรกิจ ที่มีทั้งหมกเม็ดรายละเอียดบางอย่างในสัญญา หรือว่าพาลูกไปเสี่ยง หากก็เป็นไปเพื่อให้เธอ (และเขา รวมถึงครอบครัว) ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด
หนังยังเผยด้านลบ หรือด้านที่เป็นความบกพร่องของริชาร์ดด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการเดินหน้าไปตามแผนที่วางเอาไว้แบบตึงเกินไป จนอาจจะลึมไปว่าเด็ก ๆ ก็มีความคิด มีชีวิต ของตัวเองเหมือนกัน ที่สำคัญ นี่ไม่ใช่ความฝันของเขาเพียงคนเดียว แต่ยังเป็นความฝันของพวกเธอด้วย เพราะฉะนั้นควรฟังและให้โอกาสพวกเธอเช่นกัน ซึ่งจากที่เห็นในหนัง หากริชาร์ดคิดทำบางอย่างช้าไปกว่านี้ บางทีโลกอาจไม่มีสองยอดนักเทนนิสหญิงที่ชื่อ วีนัสและเซเรนา วิลเลียมส์ บนคอร์ตก็เป็นไปได้
แล้วไป ๆ มา ๆ ริชาร์ดก็ ‘หลง’ ไปกับชื่อเสียงซะเองด้วยซ้ำ เมื่อเข้าไปมีบทบาทกับการออกสื่อของลูก ที่แม้หลายครั้งคือการปกป้อง แต่ในหลายหนมันก็ไม่ต่างไปจากการล้ำเส้น และหลายคราวมันก็คือ การที่เขาเป็นคนที่อยู่ในสปอตไลท์ซะเอง โดยพาตัวเองไปอยู่ตรงนั้นโดที่ (อาจจะ) ไม่รู้ตัว เช่นเดียวกับที่เผลอคิดไปว่า การเดินทางสู่ดวงดาวของลูกสาว มีเขาเพียงลำพังเป็นคนผลักดัน โดยลืมนึกถึงคนที่นอนคุยกันอย่างโอราซีน ที่ในช่วงหนึ่งคือ คนที่ดูแลเซเรนาเลยด้วยซ้ำ
และในท้ายที่สุด ก็เป็นเธออีกนั่นแหละ ที่ดึงสติของริชาร์ด กลับมา
ซึ่งหากมองว่า วิลล์ สมิธ เล่นได้เยี่ยมแล้วกับการเป็นริชาร์ด วิลเลียมส์ อันจานู เอลลิส ก็แข็งแรงเหลือเกินการการแสดงที่มอบให้กับตัวละครโอราซีน
ที่ด้วยความชัดเจนของราศีและรัศมีแบบสตาร์ของสมิธ ซึ่งไม่ต่างไปจากทอม ครูซ ที่จำเป็นต้องได้บทที่ ‘คลิก’ กับภาพลักษณ์หรือบุคคลิกจริง ๆ เพื่อไม่ให้รู้สึกถึงความพยายาม และลืม (หรือใช้) ความเป็นสตาร์ เช่น ที่ฝ่ายหลังมี ‘Jerry Maguire’ เป็นตัวอย่างสำคัญ เอลลิสดูจะทำได้ดีกว่าสมิธด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่ได้หมายความสมิธทำได้ไม่งาม หากนี่เรียกได้ว่า ถือเป็นบทที่ดีที่สุดบทหนึ่งที่เขาฝากฝีมือเอาไว้ ในระดับที่ไม่ใช่ก็ใกล้เคียงกับที่เห็น ‘Ali’ เหลือเกิน
ในความเป็นหนังอัตชีวประวัติ เป็นหนังดรามา-กีฬาแล้ว ด้วยพื้นฐานของครอบครัววิลเลียมส์ และคู่ต่อกรในฉากสุดท้าย ‘King Richard’ ยังมีด้านเลวร้ายของกีฬาที่กลายมาเป็นธุรกิจสำคัญให้รับรู้ และยังว่าด้วยการต่อสู้ของตัวละครแบบอันเดอร์ด็อกด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นมูลเหตุหนึ่งที่ทำให้หนังมีความน่าติดตาม เพราะต่อให้รู้จุดหมายปลายทาง หากด้วยรายละเอียด เรื่องระหว่างทางแล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่รับรู้การเดินทางแต่ละก้าวของวีนัส-เซเรนา วิลเลียมส์ โดยเฉพาะความรอบจัดของริชาร์ด ที่ไม่เป็นเพียงความจัดจ้านของหนัง แต่ยังทำให้มีสถานการณ์พลิกผัน มีเรื่องของการชิงไหวชิงพริบ เป็นอีกสีสันหนึ่งของหนัง สมกับที่เป็นตัวละครศูนย์กลางของเรื่อง
ตัวละครที่ถูกนำเสนอในแบบมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง มีร้าย มีดี ที่อาจจะทำให้รัก เอาใจช่วย แกมรำคาญ และหมั่นไส้ในเวลาเดียวกันได้
ตัวละคร ที่มีตัวตนจริง ๆ ผู้ทำให้ความฝันของลูกสาว และ… ตัวเอง กลายเป็นจริง
ตัวละครที่ทำให้ตัวเองกลายเป็น ‘King’ จนได้ในท้ายที่สุด
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 33 ฉบับที่ 1 เดือนกุมภาพันธ์ 2565
เป็นกำลังใจให้เราได้ ด้วยการสนับสนุนทางการเงินที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วส่งสลิปการโอนมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนคำขอบคุณ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่