“ถ้าได้ขึ้นแสดงอีกแค่เวทีเดียวก่อนตาย” และแค่ “เพลงเดียว ครั้งเดียว”
“คุณจะสร้างการแสดงครั้งนี้ขึ้นมายังไง?”
โจทย์ที่ตั้งมาง่าย ๆ แต่เอาเข้าจริง ๆ ตอบได้ยาก และยากยิ่งกว่า หากจะให้ทำขึ้นมาจริง ๆ แล้วยังมีการกำหนดเงื่อไขเรื่องของกรอบเวลาซ้ำ เพราะฉะนั้นจะคิดแบบเพ้อ ๆ ฝัน ๆ ไปเรื่อย ๆ พร้อมเมื่อไรถึงลงมือทำก็ไม่ได้
และ Take 1 งานสารคดีชุดขนาด 7 ตอนจบของเน็ตฟลิกซ์ ก็จะนำเอากระบวนการสร้างการแสดงครั้งสุดท้าย เพลงสุดท้าย ของศิลปินเกาหลีทั้งหมด 7 รายมาให้ชมกัน โดยนำเสนอกันตอนละ 1 คน 1 โชว์ ถึงจะไม่ใช่การแสดงครั้งสุดท้าย เพลงสุดท้าย จริง ๆ เป็นเพียงการ “สมมติ” หรืออาจจะบอกว่าเป็น “การแสร้งทำ” ก็ยังได้ แต่ด้วยโจทย์ที่วางเอาไว้ และชื่อเสียงเรียงนามของศิลปินแต่ละราย พวกเขาไม่ได้รับงานนี้ โจทย์นี้แบบแค่เอาสนุก ๆ หากเล่นไปกับโจทย์ที่ตั้งขึ้นมาอย่างเต็มที่ ซึ่งทำให้แฟน ๆ และคนที่ไม่ใช่แฟนของพวกเขาหรือเธอ ได้เห็นตัวตนของแต่ละคน ได้มองเห็นถึงศักยภาพของแต่ละราย รวมถึงได้สัมผัสกับ “ปม” ที่อยู่ในใจของแต่ละชีวิต ตลอดจนมุมมองที่ทุกคนมีต่อสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัว และสิ่งต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อแต่ละศิลปิน
ซึ่งทุกคนแสดงออกมาผ่าน เพลงที่คัด, สถานที่ในการแสดง, รูปแบบของการแสดง, ผู้ชมที่ถูกเลือก รวมไปถึงทีมงานที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงครั้งสุดท้าย เพลงสุดท้าย ที่จะเล่นกันเพียงครั้งเดียว ที่ไม่ว่าจะเป็นศิลปินกลุ่ม, ศิลปินเดี่ยว, ศิลปินรุ่นใหญ่, ศิลปินระดับอินเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินในแนวเพลงแบบไหน คลาสิคัล, บัลลาด ร็อค, สแตนดาร์ด พ็อป, เค-พ็อป ต่างก็ตั้งใจรีดความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองออกมาให้ดีที่สุด และที่สำคัญการแสดงไม่ว่าจะเป็นของใคร ต่างก็มีจุดมุ่งหมายบางอย่างชัดเจน เพื่อทำให้การแสดงครั้งนี้ ที่ถูกวางเป็นครั้งสุดท้ายมี “ความหมาย”
จนแต่ละตอนของ Take 1 กลายเป็นงานที่มีอารมณ์ ความรู้สึก และบางตอนก็อาจจะทำให้น้ำตาซึมหรือเอ่อคลอขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว
จากซูมีโจ นักร้องเพลงคลาสสิคัลหญิงของเกาหลีที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก ในตอนแรก ไปจนถึงเกิร์ลกรูป มามามูในตอนสุดท้าย ทุกคนต่างเผยทัศนคติที่มีต่อการแสดงครั้งสุดท้าย และเพลงสุดท้ายของตัวเองออกมาให้เห็น ว่านี่คือการแสดงที่ทำเพื่อใครบ้าง และต้องการนำเสนออะไร
ไม่ว่าจะเป็น ความพยายามทำให้ผู้ชมทุกคนมีความสุข ได้สัมผัสกับบทเพลงที่คุ้นเคยในแบบที่แตกต่างออกไป ด้วยการนำดนตรีคลาสิคัลตะวันตกมาพบกับดนตรีพื้นบ้านของเกาหลี ที่ยังเป็นการทำงานที่ท้าทายตัวเองและทีมงาน แล้วก็พยายามสานต่อสิ่งที่ได้เริ่มต้นเอาไว้ นอกเหนือจากการแสดงหรือบทบาทในฐานะศิลปินของซูมีโจ
อักมู ดูโอพี่-น้องเจ้าของความสำเร็จทั้งเงินทั้งกล่อง ที่อยากจะสร้างการแสดงที่สุดทะเยอทะยาน การแสดงที่เติมเต็มจินตนาการของพวกเขาอย่างเต็มที่ ซึ่งมีทั้งการเปลี่ยนเวทีแสดงไปมา การใช้แดนเซอร์นับร้อย นักดิ่งพสุธาที่ต้องลงในช่วงเวลาและจุดที่กำหนด การกำกับเวทีที่ต้องทำให้การแสดงของพวกเขาออกมาดูลื่นไหล
การแสดงที่เต็มไปด้วยอารมณ์ของอิมแจบอม ที่หายไปจากวงการนานถึง 6 ปี เพราะปัญหาส่วนตัว ที่การกลับมาพร้อมกับโจทย์การแสดงครั้งสุดท้าย เพลงสุดท้ายในครั้งนี้ ยังเปิดเผยสิ่งต่าง ๆ ที่เขาเก็บเอาไว้ข้างในมายาวนาน หากที่สำคัญที่สุดก็คือ การแสดงของเขาคือการบ่งบอกอย่างเป็นรูปธรรมออกมาว่า เสียงเพลงไม่ใช่ทำได้แค่สร้างความบันเทิง หรือความสุข หากยังเป็นการ “เยียวยา” ในเวลาเดียวกัน แล้วไม่ใช่กับคนฟัง แต่กับผู้นำเสนอบทเพลงเอง บทเพลงที่เคยคิดว่าเป็นสารที่ส่งออกไปให้กับแฟน ๆ บางครั้งมันก็คือสารที่เขากำลังพูดกับตัวเองในเวลาเดียวกัน
จะว่าไปแล้วนี่คือตอนที่ “ขยี้” ความรู้สึกได้ดีที่สุดของสารคดีชุดนี้ก็ว่าได้
ขณะที่หนึ่งในศิลปินเค-พ็อประลอกแรก ๆ ที่บุกตลาดอเมริกา จองจีฮุนหรือเรน จะนำเสนอการแสดงที่นอกจากจะบ่งบอกถึงตัวตนของตัวเอง มีลูกเล่นที่น่าสนใจแล้ว สถานที่แสดงยังเป็นสถานที่สำคัญ ที่ไม่ใช่พื้นที่สำหรับความบันเทิงอย่างที่เขาทำ และจากการแสดงของเขาครั้งนี้ อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวหลาย ๆ รายเพิ่มเติมที่นี่ เป็นอีกจุดหมายของการเดินทางมาท่องเที่ยวเกาหลี
ตอนของลีนาพัค ดีว่ารุ่นใหญ่ ที่เคยทำงานร่วมกับอิมแจบอม เป็นอีกตอนที่เต็มไปด้วยอารมณ์ ทั้ง ๆ ที่ในตอนแรกเริ่มไม่ได้ทำให้รู้สึกแบบนั้นเลยแม้แต่น้อย เมื่อเธอเลือกที่จะสะท้อนชีวิตของเธอในช่วงเริ่มต้น ที่เป็นการเดินทางมาหาชื่อเสียงในบ้านเกิด กับเพลงสำคัญ ที่ไม่ใช่แค่ร้องยาก แต่ยังมีความหมายกับตัวของเธอเอง แล้วในกลุ่มของผู้ชม ก็ยังมีคนสำคัญในชีวิตของเธอรวมอยู่ด้วย
ส่วนยูฮียอล นักแต่งเพลง-เรียบเรียงดนตรี-โปรดิวเซอร์- นักดนตรี-นักร้อง ที่ทำงานออกมาในนาม ทอย ซึ่งอาจทำให้นึกถึงบอย โกสิยพงษ์ ในบ้านเรา ที่หายหน้าหายตาไปจากการแสดงบนเวที และออกผลงานเพลง หรืออัลบัมมานาน เลือกเพลง การแสดง และคนทำงาน ที่อยู่ในอารมณ์ของการถวิลหาอดีต นึกถึงวันเก่า ๆ ที่ผ่านมาของเขากับเพื่อนร่วมงาน และกับผู้ชมก็ไม่ต่างกัน นี่คือช่วงเวลาที่การแสดงครั้งสุดท้าย เพลงสุดท้าย จะดึงเอาวันเวลาในอดีตที่พวกเขาหรือเธอเติบโตมากับทอย กลับมาอีกครั้ง
นี่คืออีกตอนหนึ่ง ที่อาจทำให้น้ำตาซึมโดยไม่รู้ตัว
ตอนสุดท้าย สาว ๆ มามามู ที่แยกกันไปทำงานของตัวเองมานาน 2 ปี จะกลับมาทำการแสดงครั้งสุดท้าย เพลงสุดท้าย แบบโกง ๆ นิด ๆ เมื่อพวกเธอนำเอาเพลงฮิต 2 เพลงของตัวเองมาร้อยเข้าด้วยกัน และเชื่อมด้วยคลิปที่แสดงให้เห็นถึงการเดินทางบนถนนสายดนตรีของพวกเธอ
โครงสร้างของเรื่องในแต่ละตอน อาจมีรูปแบบตายตัว ทีมงานคุยกับศิลปิน มอบนาฬิกานับเวลาถอยหลังเรือนโตให้ เลือกเพลง เลือกสถานที่ ซ้อม เตรียมงาน เผยปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนวันแสดง และแสดงถึงอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการแสดงจริง และแน่นอนการแสดง ที่ระหว่างทาง ยังมีรายละเอียดส่วนตัวของศิลปิน แทรกเข้ามาซึ่งทำให้เรื่องมีหัวจิตหัวใจมากขึ้น เช่น ตัวตน หรือปมบางอย่างของศิลปิน หรือการแสดง
แต่เมื่อการเล่าเรื่องของ Take 1 ไม่ได้เรียงลำดับแบบ 1-2-3-4 แม้บางตอนจะเป็นเช่นนั้นก็ตาม ทำให้แต่ละตอนของสารคดีชุดนี้ มีลักษณะเฉพาะตัว แตกต่าง ตัวเรื่องในภาพรวมมีความหลากหลาย ไม่ต่างไปจากศิลปินทั้งเจ็ดรายใน Take 1 ที่มีความแตกต่างกันชัดเจน ตั้งแต่แนวเพลง ภาพลักษณ์ การแสดงออก วัย ประสบการณ์ ตลอดจนปมในชีวิต หรือมุมมองที่มีต่อการแสดงครั้งสุดท้าย เพลงสุดท้าย ที่สัมผัสได้จากเป้าหมายของแต่ละคน
แต่อย่างหนึ่งที่ทุกคนมีร่วมกัน นั่นก็คือ การเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จมานาน มีชื่อเสียงไม่ใช่แค่ในระดับประเทศ หลายรายโด่งดังในต่างบ้านต่างเมือง มากบ้าง น้อยบ้างแตกต่างกันไป ซึ่งด้วยความสำเร็จของแต่ละราย สำหรับแฟน ๆ ของพวกเขาหรือเธอ รวมถึงผู้ชมที่แม้ไม่เคยรู้จักศิลปินเหล่านี้มาก่อน และเพิ่งได้รับรู้ผ่านการแนะนำในแต่ละตอนของ Take 1 ล้วนรับรู้ได้ถึงความสำคัญของ “การแสดงครั้งสุดท้าย เพลงสุดท้าย” ของพวกเขาหรือเธอ
การคัดสรรศิลปินยังแสดงให้เห็นถึงความ “เขี้ยว” ของทีมสร้างสารคดีชุดนี้ ที่ต้องทำการบ้านและรอบจัดขนาดไหนในการทำให้ Take 1 ออกมาเป็นงานที่ดูสนุก มีลุ้น มีตื่นเต้น มีบีบอารมณ์ กดดันความรู้สึก ไม่แพ้งานดรามา และน่าสนใจตั้งแต่เปิดรายชื่อศิลปินออกมา
การเรียงร้อยแต่ละตอน ออกแบบ จัดวางเป็นอย่างดี ตอนที่มีความฉูดฉาด จัดจ้าน ถูกคั่นด้วยตอนที่มีความเป็นดรามา เร้าอารมณ์ เช่นเดียวกับการสลับงานของแฟนเพลงรุ่นใหญ่กับงานพ็อป ที่นอกจากจะทำให้แฟนเพลงในแต่ละแนวทาง แต่ละยุคสมัยไม่รู้สึกไกลตัว จากการที่ต้องชมเรื่องราวของศิลปินที่พ้นวัยตัวเองยาว ๆ แล้ว ยังช่วยให้สารคดีชุดนี้ ไม่ใช่แค่หวือหวาแค่ตัวเพลงหรือศิลปิน แต่กับการเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นในแต่ละตอน หรือว่าในภาพรวมทั้ง 7 ตอน มีสนุก มีซึ้ง มีอารมณ์ขัน มีประทับใจ ให้ความรู้สึกโลดโผนโจนทะยานทางอารมณ์ เป็นความวูบไหวในการชม
จนสารคดีชุดเรื่องนี้ ดูเพลินไม่ต่างไปจากงานซีรีส์ดรามา หรือว่าแอ็กชันทั้งหลาย ที่ได้การเขียนบทเยี่ยม ๆ และการเล่าเรื่องดี ๆ เลย
ผู้สร้างสรรค์: คิมฮักมิน เขียนบท: ยูจินยัง นักแสดง: ซูมิโจ, ลีนาพัค, มามามู, จองจีฮุน (เรน), อักมู,ยูฮียอล, อิมแจบอม
โดย นพปฎล พลศิลป์ จาก คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566
ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์หรือกดติดตามเพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่