Take Me Home สุขสันต์วันกลับบ้าน: ความรู้สึกหลังจากดูหนังเรื่อง “Take Me Home สุขสันต์วันกลับบ้าน” ของก้องเกียรติ โขมศิริ คล้ายคลึงกับเล่นจิ๊กซอว์ขนาดหนึ่งพันชิ้นที่สุดท้ายแล้ว เกมจบลงด้วยความรู้สึกว่ายังมีชิ้นส่วนจำนวนหนึ่งที่ไม่ลงตัว หรืออย่างน้อย ก็ไม่รู้ว่า ชิ้นส่วนเหล่านั้นควรจะนำไปประกอบตรงส่วนใดของภาพรวม หรือจริงๆแล้ว มันคงจะมีที่ทางของมัน ทว่าด้วยเส้นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน บวกกับกลวิธีที่ไม่ยอมให้คนดูทำนายทายทักสิ่งที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ง่ายๆ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการปะติดปะต่อข้อมูลที่มีอยู่ค่อนข้างเยอะของพวกเรา-อ่อนล้าโรยแรงไปตามระยะเวลาที่ผ่านพ้นไป
แต่อย่างหนึ่งที่คนดูสามารถเชื่อมั่นได้แน่ๆก็คือ นี่ไม่ใช่หนังสยองขวัญประเภทที่ฝากคุณค่า ‘ทั้งหมด’ ของหนังไว้กับการใช้เสียงอันอึกทึกครึกโครม หรือการซุ่มโจมตีแบบทีเผลอ หรือการฉวยโอกาสจากภาพอันน่าสะอิดสะเอียนและชวนขยะแขยง แม้ว่านั่นจะเป็นแท็คติกและลีลาการนำเสนอที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ตาม (และแน่นอนว่า เมื่อเอ่ยถึงภาพอันน่าสะอิดสะเอียนและชวนขยะแขยง หรือสถานการณ์ที่สะท้อนถึงความวิปลาสและประสาทเสีย ทักษะและความชำนิชำนาญของก้องเกียรติในโสตนี้-ก็ไม่เคยเป็นสองรองใคร)
และชั้นเชิงส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของวิธีการที่หนังเลือกที่จะบอกเล่า หรืออีกนัยหนึ่ง ความซับซ้อนอยู่ในระดับที่พูดได้ว่าไม่ประนีประนอม ใกล้เคียงกับการปล่อยให้คนดูเดินหาทางออกอยู่ในเขาวงกตเลยทีเดียว ทว่ามันก็มาพร้อมกับความลี้ลับที่น่าฉงนสนเท่ห์ หรือแม้กระทั่งชวนขนพองสยองเกล้า และทีละน้อย วิธีการเหล่านั้นก็กระตุ้นและเร่งเร้าให้ผู้ชมรู้สึกว่า ตัวเองต้องรู้ให้ได้ว่า ตื้นลึกหนาบางของเรื่องทั้งหมดคืออะไร (ใครที่เคยบ่นว่าหนังสยองขวัญไทยมักจะเชื่องเกินไป ตื้นเกินไป หรือโง่เกินไป และคนดูสามารถจับได้ไล่ทันตลอดเวลา-น่าต้องทบทวนตัวเองหลังจากที่ได้ดูหนังเรื่องนี้)
อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของงานสร้างและกำกับศิลป์ที่มีผลอย่างยิ่งต่อความเขย่าขวัญสั่นประสาทของหนังโดยตรง ไล่เรียงไปตั้งแต่ฉากประตูบ้านที่เล่นบทบาทสำคัญกับหนังทั้งเรื่อง ถนนเส้นเล็กๆที่รกเรื้อไปด้วยต้นไม้ใบหญ้า และทำให้การเดินทางเข้าไปสู่ตัวบ้าน-เหมือนหลุดเข้าไปในอีกมิติหนึ่งของกาลเวลา รถกอล์ฟบุโรทั่งที่ดูเหมือนผิดที่ผิดทางกับหนังแนวนี้มากๆ ไปจนถึงตัวบ้านที่ดูอ้างว้างแห้งแล้ง และแน่นอน เต็มไปด้วยห้องหับที่น่าเชื่อว่าเก็บงำความน่าฉงนสนเท่ห์เอาไว้มากมาย และใครจะกล้ามองข้ามงานด้านเมคอัพของหนังที่ชวนให้นึกสงสัยว่า วิสัยทัศน์ของคนทำหนังต้อง ‘บิดเบี้ยว’ ขนาดไหน ผู้ชมจึงจะได้เห็นผลลัพธ์บนจอแบบนี้
แต่ที่ชอบมากๆ และตรงใจมากๆก็คือ หนึ่งในสาระสำคัญที่รองรับหนังทั้งเรื่อง-ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นแง่มุมที่ลึกล้ำหรือแปลกใหม่แต่อย่างใด กระนั้น-ก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ผู้ชมหรือสังคมควรจะได้รับการย้ำเตือนอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่การมอมเมาถาโถมมาจากทุกทิศทาง พูดอย่างกว้างๆว่า ครอบครัวของคนเรามันไม่เลิศเลอเพอร์เฟ็คท์เหมือนกับในหนังโฆษณา เราเลือกไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ และไม่ได้สวยงามเหมือนรูปภาพที่ถูกใส่กรอบแขวนไว้โชว์ชาวบ้าน (หรือโพสต์ลงเฟซบุ้ค อินสตราแกรม) ตลอดเวลา
และการพยายามวิ่งไล่ไขว้คว้าภาพเพ้อฝัน ภาพที่ไม่มีวันเป็นจริง-ก็มีแต่จะนำพาให้ตัวเองตกอยู่ในสภาพไม่แตกต่างจากถูกทรายดูด ยิ่งดิ้นพล่านเท่าไหร่ ก็ยิ่งถูกสูบให้ดำดิ่งลึกลงไปอย่างน่าสมเพชเวทนาเท่านั้น
โดย ประวิทย์ แต่งอักษร
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านงานวิจารณ์หนัง และเพลง แบบนี้ ได้ด้วยการกดไลค์ Like เพจสะเด่าส์กันไว้ก่อน ได้ที่นี่