
เห็นชื่อนักแสดงเป็นตับ เอาจริง ๆ หนังเรื่องนี้มีนักแสดงหลัก และเป็นนักแสดงนำจริง ๆ ของหนังเพียงคนเดียว คือ เจก กิลเลนฮาล นั่นละ โดยคนอื่น ๆ ที่ได้ปรากฏตัวก็อยู่ในระดับของเอ็กซ์ตร้า ตัวประกอบ โดยส่วนใหญ่จะมากันแค่เสียง ไม่ว่าจะเป็นอีธาน ฮอว์ก, พอล ดาโน หรือว่า ปีเตอร์ ซาร์สการ์ด เช่นเดียวกับไรลีย์ คีโอ
ที่กิลเลนฮาลก็ใช้โอกาสนี้ ให้กลายเป็นอีกงานโชว์เดี่ยวของตัวเองได้สมกับที่หนังเปิดทางให้
หนังยังเป็นงานรีเมก เมื่อนำเอาหนังเดนมาร์กจากปี 2018 ชื่อเดียวกันมาทำใหม่ โดยผู้กำกับเป็น แอนทวน ฟุควา ที่สร้างชื่อมาจากหนังอย่าง ‘Training Day’, ‘Olympus Has Fallen’ หรือว่าล่าสุด ‘The Equalizer’ ทั้งสองภาค
ที่น่าสนใจก็คือผู้เขียนบท นิก พิโซแลตโท ที่ผู้อยู่เบื้องหลังซีรีส์ตำรวจเข้ม ๆ ‘True Detective’ แล้วก่อนหน้านี้ก็เคยดัดแปลงซีรีส์เดนมาร์ก สืบสวน สอบสวน ‘The Killing’ มาเป็นซีรีส์ชื่อเดียวกันให้กับผู้กำกับวีนา ซัดมาแล้ว เพราะฉะนั้น อย่างน้อยนี่คือหนที่สอง ที่พิโซแลตโตเอางานจากเดนมาร์กมาเล่าใหม่ในแบบอเมริกัน
เหตุการณ์ใน ‘The Guilty’ เกิดขึ้นในช่วงที่มีเหตุไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ในลอสแองเจลีส โจ เบย์เลอร์ (กิลเลนฮาล) เจ้าหน้ารับแจ้งเหตุ 911 ได้รับแจ้งจากผู้หญิงที่ชื่อ เอมิลี (คีโอ) ว่าเธอถูกลักพาตัว เบย์เลอร์ส่งข้อมูลที่ได้รับจากเอมิลีให้กับเจ้าหน้าที่สายตรวจ เพื่อติดตามรถต้องสงสัย แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก เพราะไม่มีเลขทะเบียนรถ โจตัดสินใจแกะรอยต่อจนรู้ว่าใครที่ลักพาตัวเอมิลี ผ่านทางลูก ๆ ของเธอที่ถูกทิ้งอยู่บ้านตามลำพัง รวมถึงหมายเลขทะเบียนรถ เขาตัดสินใจทำในสิ่งที่เกินหน้าที่ของตัวเอง เพื่อหาทางช่วยเอมิลี รวมถึงลูก ๆ ของเธอให้ได้
จะว่าไปสิ่งที่โจต้องรับมือ และจัดการในเรื่อง อาจจะทำให้นึกถึงสิ่งที่ตัวละครของฮัลลี เบอร์รีเผชิญในหนัง อย่าง ‘The Call’ แล้วเอาเข้าจริง ๆ ลักษณะของตัวละครคู่นี้ก็มีความคล้ายคลึงกันอีกต่างหาก ต่างเป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์รับแจ้งเหตุ 911 ผู้มีบาดแผลในอดีต และต้องหาทางช่วยใครบางคนที่ถูกจับตัวไป ซึ่งโทรมาขอความช่วยเหลือ โดยทั้งโจและจอร์แดนต่างก็มีปฏิภาณ ไหวพริบ ความละเอียดในการทำงานที่เหมือน ๆ กัน หากที่แตกต่างก็คือ กับการเล่าเรื่อง ใน ‘The Guilty’ ผู้ชมแทบไม่ได้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกห้องทำงานของเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุเลย ทุกอย่างที่รับรู้ล้วนมีที่มาจากบทสนทนาระหว่่างโจกับผู้คนที่เขาติดต่อสื่อสารด้วย
และนั่นก็กลายเป็นเสน่ห์ รวมถึงความเฉพาะตัวของหนัง เมื่อทำให้คนดูตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับตัวละคร แบบตกที่นั่งเดียวกัน ต้องประมวลเรื่องราว ปะติดปะต่อความเป็นไปของเหตุการณ์ผ่านสายแต่ละสายที่โทรเข้ามา จะเพี้ยนกันก็นิดเดียว เพราะขณะที่โจคือหาทางช่วยเอมิลี ส่วนเรา ก็คือท้ายที่สุดแล้ว โจจะช่วยเอมิลีและจัดการกับคนที่ลักพาตัวเธอไปได้หรือไม่
ซึ่งหลาย ๆ ครั้ง ก็อาจทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนมืดแปดด้าน ไม่รู้จะไปหา หรือว่าสานต่อตรงจุดไหน ที่หนังก็มีทางออกให้โจ (และเรา) ด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุใช้ ที่ช่วยให้รับรู้ความคืบหน้าของเหตุการณ์ สถานการณ์ของตัวละครไปทีละเปลาะ ๆ ที่นอกจากจะสนุกไปกับปมแต่ละปมที่ถูกคลาย ยังเพลินไปกับการได้เห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุ รวมไปถึงวิธีการที่พวกเขาใช้ในการแกะรอย แม้การกระทำของโจใน ‘The Guilty’ ดูเป็นการทำงาน ‘เกิน’ ขอบเขตหน้าที่ไม่น้อย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล เมื่อหนังเผยให้เห็นไปพร้อม ๆ กันว่า เขามีลูกสาว และบางทีนี่ก็คือมูลเหตุที่ทำให้เขาเกาะติดกับเอมิลีเป็นพิเศษหลังรู้ว่าเธอมีลูก และลูกสองคนของเธอก็ถูกทิ้งไว้ตามลำพังหลังเกิดเหตุร้าย
ไม่ใช่แค่การเล่าเรื่องที่ทำให้ ‘The Guilty’ ต่างไปจาก ‘The Call’ ความเป็นมาของโจ ตัวละครที่กิลเลนฮาลเล่น ก็ไม่เหมือนจอร์แดนที่เบอร์รีรับบท เมื่อไม่ได้แบออกมาชัด ๆ ตั้งแต่ต้นว่า เขามีปัญหาส่วนตัวเรื่องอะไร หากก็ค่อย ๆ ปล่อยออกมาทีละนิด ที่ทำให้เราได้รู้ว่า เขาเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องมาทำงานนี้ เพราะมีปัญหาบางอย่าง วันรุ่งขึ้นโจจะต้องขึ้นศาล ที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ เมื่อมีนักข่าวพยายามโทรมาเพื่อขอสัมภาษณ์ และน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เขากลายเป็นคนหัวร้อนอย่างที่เห็น รวมทั้งน่าจะเป็นเรื่องเดียวในหนังที่ผู้ชมรู้ ‘น้อย’ กว่าตัวละคร เป็นอีกเรื่องราวที่ดึงผู้ชมให้เกาะติด ขนานไปกับชะตากรรมของเอมิลีและลูก ๆ ของเธอ
ก่อนที่ทั้งสองเรื่อง… จะไหลมารวมกัน โดยเรื่องหนึ่งกลับพลิกผัน สิ่งที่เป็นไม่ใช่อย่างที่คิด ที่นอกจากจะทำให้ผู้ชมเซอร์ไพรส์แล้ว เหตุการณ์ครั้งนี้ยังทำให้โจ ได้ระเบิดสิ่งที่ทำให้ตัวเองขุ่นมัวออกมา และนำไปสู่การทำในสิ่งที่แตกต่างไปจากที่ตั้งใจไว้ในตอนเริ่มต้น และพร้อมรับมือกับชะตากรรมที่จะตามมา ต่อให้ต้องสูญเสียอะไรไปก็ตามที
ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ ‘The Guilty’ ทำให้ผู้ชมรู้สึกไม่ต่างไปจากตัวละคร หลังจากที่ต้องอึดอัดกับโจ กับเอมิลี หรือกระทั่งการเล่าเรื่องของหนัง ที่เต็มไปด้วยบทสนทนา กับหน้าตาที่เต็มไปด้วยอารมณ์หงุดหงิดตลอดเวลาของเจก กิลเลนฮาล ซึ่งแน่นอนว่า อาจจะทำให้หนังเรื่องนี้ ไม่ได้สร้างความสนุกสนาน หรือสร้างความบันเทิงในแบบที่คุ้นเคย โดยเฉพาะหากไม่สามารถประมวลเรื่องราว จากข้อมูลที่ดูกระจัดกระจายของหนัง อาจจะรู้สึกว่านี่คืองานที่น่ารำคาญ หรือหนังที่น่าเบื่ออีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเก็บสิ่งต่าง ๆ ที่เรื่องป้อนมาให้ได้สำเร็จ
บทสรุปของ ‘The Guilty’ หรือตัวละครในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นชะตากรรมของเอมิลี หรือการตัดสินใจของโจ ก็ทำให้รู้สึกโล่ง ปลอดโปร่ง คลี่คลายจนได้ในที่สุด
เมื่อทำความผิด หรือชีวิตมีมลทิน หรือว่าตำหนิ ทางที่ดีที่สุดคือยอมรับ ไม่ใช่ปกปิดหรือหาทางหนี เพราะไม่ว่าจะทำยังไง มันก็คือสิ่งที่เรารู้ เราเห็น ไม่มีวันเลือนหายไปจากความทรงจำ และแน่นอน… สามัญสำนึก ที่ทำให้รู้สึกถึงความผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี
(THE GUILTY ทางเน็ตฟลิกซ์)
ผู้กำกับ: แอนทวน ฟุควา นักแสดง: เจก กิลเลนฮาล, คริสตินา วิดัล, อีธาน ฮอว์ก, ไรลีย์ คีโอ, พอล ดาโน, ปีเตอร์ ซาร์สการ์ด
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 32 ฉบับที่ 10 ตุลาคม 2564
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่