VANISHING POINT: เป็นไปได้ว่าในภายภาคหน้า-เมื่อใครมองย้อนกลับมา หนังเรื่อง Vanishing Point ของจักรวาล นิลธำรงค์ และรวมถึงหนังอิสระเรื่องอื่นๆ ที่ได้รับการเผยแพร่ก่อนหน้า-น่าจะกลายเป็นหลักฐานยืนยันว่า ในขณะที่หนังไทยกระแสหลักในช่วงสองสามปีที่ผ่านพ้นไป-เผชิญกับภาวะตกต่ำและซบเซา มันกลับกลายเป็นช่วงเวลาที่เบ่งบานและงอกงามที่สุดช่วงหนึ่งของหนังทางเลือกอย่างน่าชื่นชมยินดี
ผลงานที่ท้าทายจินตนาการ หรือเปิดเผยความจริง หรือตั้งคำถาม หรือวิพากษ์วิจารณ์สังคม หรือขยับขยายโลกทัศน์ของผู้ชมอย่างกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา-ถูกนำออกฉายเรื่องแล้วเรื่องเล่าอย่างค่อนข้างต่อเนื่อง และอาจกล่าวได้ว่าในบรรดาหนังที่พาผู้ชมออกไปนอกจักรวาลของหนังไทยกระแสหลัก Vanishing Point ของจักรวาล-น่าจะเป็นหนังที่ไปไกลสุดกู่กว่าเพื่อน และโอกาสมีอยู่สูงมากที่ผู้ชมจะพบว่าตัวเองเดินออกจากโรงหนังด้วยเครื่องหมายคำถามหรือข้อสงสัยที่มีเพิ่มมากขึ้นกว่าตอนที่เดินเข้าไป แต่ใช่หรือไม่ว่า คำถามหรือข้อสงสัยนำพาให้พวกเราต้องครุ่นคิด และการครุ่นคิด-คือเหตุผลของการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ (ในทางกลับกัน หนังที่มีคำตอบให้กับทุกๆ เรื่อง-ไม่น่าจะเรียกว่าเป็นหนัง แต่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ)
ส่วนที่นับเป็นเรื่องเย้ยหยันอยู่เล็กน้อยก็ตรงที่ก่อนหน้านี้ นอกจากการเป็นอาจารย์สอนภาพยนตร์ที่คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จักรวาล นิลธำรงค์-ยังเป็นคนทำหนังทดลอง และผลงานหลายเรื่องล้วนแล้วให้ความสำคัญกับ visual หรือการสื่อสารด้วยภาพ (จริงๆแล้วต้องรวมการออกแบบเสียงด้วย) และแทบจะเพิกเฉย narrative หรือการเล่าเรื่องโดยสิ้นเชิง หนังเรื่อง vanishing Point กลายเป็นหนังที่มี ‘เรื่อง’ หรือ story มากที่สุด-ก็ว่าได้ แต่ก็อีกนั่นแหละ เรื่องสั้นๆ ที่เรียงร้อยได้รับการบอกเล่าอย่างแหว่งวิ่น บางเรื่องมีแค่ช่วงเกริ่นนำและไม่มี developing story และที่นับว่าบ้าบิ่นมากๆ ก็คือ หลายครั้ง เรื่องเล่ากับการสื่อสารด้วยภาพที่ปรากฏบนจอ-ก็ไม่ได้มุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกัน หรือในบางกรณี เหมือนกันประชันขันแข่งเพื่อแย่งการพื้นที่การรับรู้ของผู้ชม
แต่ความน่าอัศจรรย์อยู่ตรงที่จนแล้วจนรอด Vanishing Point ก็ไม่ได้เป็นเพียงแค่หนังที่ผู้สร้างโยนไอเดียฉลาดๆเก๋ๆ วิฌ่วลที่ชวนให้ตะลึงตะลานและดึงดูดการมองเห็นของผู้ชม หรือสถานการณ์ที่น่าฉงนสนเท่ห์-เข้ามา ทว่ารายละเอียดที่ดูเหมือนถูกจัดวางอย่างที่เกือบจะมองหาระบบระเบียบไม่เจอ กลับปรากฏเหตุและผลของการดำรงอยู่ของมันในช่วงบั้นปลาย หรืออย่างน้อย มันก็บำเพ็ญประโยชน์บางอย่างต่อสาระที่คนทำหนังต้องการจะถ่ายทอดมันออกมา หรือหากจะมองจำเพาะในเชิงของรูปแบบหรือฟอร์ม Vanishing Point ก็เป็นหนังที่ approach ของมัน (ทั้งเรื่องย่อยที่ถูกเลือกมาบอกเล่าและได้รับการเรียงร้อยอย่างไม่ปะติดปะต่อ ผนวกกับกลวิธีการนำเสนอ-ที่ประณีตและพิถีพิถัน ทั้งการใช้สี การจัดแสง การเคลื่อนกล้อง การสร้างบรรยากาศด้วยเสียง) กลายเป็นคุณค่าที่ชวนให้ดื่มดำกำซาบในตัวมันเอง และผู้ชมสามารถสัมผัสหรือต่อติดกับมันได้โดยตรงในตอนที่มันเกิดขึ้นและอย่างทันท่วงที และโดยที่พวกเราไม่จำเป็นต้อง make sense หรือถามหาเหตุผลหรือความหมาย-ต่อสิ่งที่ปรากฏเบื้องหน้า
กระนั้นก็ตาม ส่วนที่ตัวเองรู้สึก ‘คลิก’ กับหนังมากๆ-ก็คือการที่หนังเล่นเรื่องความเป็นจริง (reality) กับการสร้างภาพแทน (representation) ฉากในช่วงต้นที่ตำรวจพาคนร้ายมาทำแผนประกอบคำรับสารภาพในอาชญากรรมที่ใครคนนั้นก่อขึ้น (หรือไม่) เป็นสถานการณ์ที่เหลวไหลอย่างไม่น่าเชื่อ ความเป็นจริงไม่มีวันเป็นอย่างที่เห็น ทว่าเหตุการณ์ที่ปรากฏให้เห็น-ก็น่าจะสะกิดให้ผู้ชมต้องมาทบทวนและสังคายนากระบวนการรับรู้กับอะไรต่ออะไรอย่างมโหฬาร และนั่นไม่ต้องเอ่ยถึงภาพข่าวอุบัติเหตุอันสยดสยองในฉากเปิดเรื่อง-ที่ถูกกระบวนการสร้างภาพแทน ลดทอนความเป็นจริงไปอย่างที่แทบไม่เหลือเศษซาก และแน่นอน ภาพยนตร์ที่พวกเราเฝ้ามองก็เป็นกระบวนการสร้างภาพแทนที่สุดท้ายแล้ว โยนคำถามกลับมาที่ผู้ชมว่า เราจะแยกแยะและคัดกรองส่วนที่จำลองขึ้น(representation) กับความจริง (truth) ข้อเท็จจริง (fact) และความเป็นจริง (reality) ในสภาพเช่นใด
อีกอย่างหนึ่งที่หนังตั้งคำถามที่ชวนให้ขบคิดได้ท้าทาย-ก็คือเรื่องของตัวตนที่เชื่อมโยงกับการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านของกาลเวลา ทำนองว่า ตัวเราหรือสิ่งต่างๆในอดีต กับตัวเราหรือสิ่งต่างๆ ในปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งในอนาคต-ยังเป็นคนๆเดียวกันหรือสิ่งเดียวกันหรือไม่ โดยเฉพาะในแง่ของจิตวิญญาณ (ซึ่งบางที อาจจะเป็นจุดร่วมที่เรียกว่า Vanishing Point) มองอีกนัยหนึ่ง เป็นไปได้ว่าหรือไม่การดำรงอยู่ของสรรพสิ่งต่างๆ หรือที่เรียกว่า being จริงๆแล้ว-ไม่ได้กำลัง being จริงๆ และลึกๆแล้ว เป็นการสะสมพลังงานเพื่อการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลง หากจะอ้างถึงในหนัง รายละเอียดที่เกี่ยวกับกรอบคิดนี้ถูกแทรกเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่โรงแรมจิ้งหรีดที่ครั้งหนึ่ง เคยมีอดีตอันรุ่งโรจน์, เร่ืองเล่าเกี่ยวกับทหารที่ใช้ชีวิตในสมรภูมิอย่างโชกโชน แต่จู่ๆก็กลับลงเอยเป็นช่างตัดผม, พระที่ถูกหลอกหลอนด้วยความฝันในทางโลกย์ กับบทสรุปที่ผู้ชมต้องไปค้นหาคำตอบในหนังเอาเอง, ชายวัยกลางคนซึ่งมีครอบครัว ทว่ากลับลักลอบมีความสัมพันธ์ลูกน้องของตัวเอง และใครคนนี้ในตอนอยู่ที่บ้านกับตอนที่อยู่กับชู้รัก-แทบจะกลายเป็นคนละคน, โสเภณีสูงวัยผู้ซึ่งก็เหมือนกับโรงแรมจิ้งหรีดที่เธอประจำการ เคยเป็นดาวดวงเด่น แต่สภาวะเช่นนั้นก็ไม่จีรังยั่งยืน, หญิงชราที่ไม่ตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของวัฏสงสาร และเหมือนกับต้องคำสาปให้ตั้งท้องและคลอดลูกตลอดกาล
พูดแบบไม่ต้องยกยอปอปั้นเกินจริง Vanishing Point ของจักรวาล นิลธำรงค์-ไม่ใช่หนังสำหรับผู้ชมในทุกๆรสนิยม มันเป็นหนังทางเลือกตามที่ได้บอกไว้ข้างต้น และตัวหนังก็เรียกร้องจากผู้ชมสูงทีเดียว ทั้งสมาธิและความสามารถในการเข้าถึงและรับรู้ (แต่พูดก็พูดเถอะ มันไม่ได้ถึงกับเกินกำลังความสามารถ) แต่ไม่ว่ามันจะเป็นหนังดูยากหรือดูง่าย เข้าถึงได้หรือเข้าถึงไม่ได้ สุดท้ายแล้ว มันก็เป็นหนังที่ควรได้รับโอกาสจากผู้ชม และโดยเฉพาะนักดูหนังขาจร อย่างน้อย เพื่อที่จะได้รู้ว่า เส้นขอบฟ้าของการดูหนังไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่การสำเริงสำราญทางอารมณ์ หรือการได้รับข้อคิดตื้นๆ ง่ายๆ ทว่าเป็นกิจกรรมทางปัญญาที่ซับซ้อน และบางที การได้ดูหนังแปลกๆ ประหลาดๆ น่าจะช่วยให้เราหวนกลับมองเห็นสิ่งละอันพันละน้อยรอบตัว-ด้วยโลกทัศน์และวิสัยทัศน์ที่ไม่เหมือนเดิม
โดย ประวิทย์ แต่งอักษร
(หมายเหตุ หนังเรื่อง Vanishing Point เข้าฉายวันที่ 22 ตุลาคม ที่ SF World Cinema และ 5 พฤศจิกายนที่ SFX Maya Chiangmai)
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านงานวิจารณ์หนัง และเพลง แบบนี้ ได้ด้วยการกดไลค์ Like เพจสะเด่าส์กันไว้ก่อน ได้ที่นี่