แม้จะออกวางจำหน่ายแบบไม่มีการทำการตลาดใดๆ แต่อัลบั้ม Beyonce’ ก็ทำยอดขายได้ถึงกว่า 80.000 ก็อปปี้ ในช่วงเอิ่ม… 3 ชั่วโมงแรก และความที่ไม่มีข้อมูลอะไรเลยของอัลบั้มออกมา ก็ทำให้งานชุดนี้มาพร้อมเสน่ห์ในตัว ไม่ต่างไปจากการเลือกของที่อยู่ในกล่อง โดยไม่รู้ว่าข้างในเป็นอะไร แต่ความไม่รู้ก็คือ ความตื่นเต้น และใครละจะยอมพลาดโอกาสนั้น
[one_two][/one_two]
“อย่าเชื่อการสร้างกระแส” วงพับลิค เอเนมี เคยบอกเอาไว้ และปัญหาก็คือ การสร้างกระแสจะได้ผลก็ต่อเมื่อ “ของ” สมเหตุสมผล และในโลกทุกวันนี้ ที่ทุกคนมีเสียงของตัวเอง แล้วเสียงแห่งความเกลียดชังมักจะดังเป็นพิเศษ การจุดกระแสให้ติดไม่ใช่เรื่องง่าย ต่อให้ของได้ก็ตามที และนี่ก็ทำให้การสร้างกระแสเป็นแค่ชยะราคาแพง แล้วอะไรละที่มีค่ามากกว่า คำตอบคือ ความลึกลับ นี่คือสิ่งที่ทำงานได้อย่างน่าพิศวงกับงานของ ไนน์ อินช์ เนลส์, เรดิโอเฮด, อาร์เขด ไฟร์, คานเย่ เวสท์, มาย บลัดดี วาเลนไทน์, เดวิด โบวี และยังจะมีตามมาอีกหลายรายแน่นอน หลังบียอนเซ่ ที่ความแตกต่างระหว่างเธอกับศิลปินเหล่านี้ก็คือ งานของบียอนเซ่ ไม่มีการบอกล่วงหน้า, ไม่มีพรีวิว, ไม่มีการนำเสนอไอเดียในการทำงาน (ที่อาจจะตามมาในภายหลัง) และอย่าลืมว่า การเป็นป็อปสตาร์ระดับแม่เหล็กอย่างเธอ ยากมากๆ ที่จะทำให้สื่อทั้งหลัก ทั้งอิสระไม่ระแคะระคายเรื่องนี้มาก่อน
ถึงจะขายแค่ 3 วัน 13-15 ธันวาคม ก่อนการสรุปยอดขายประจำสัปดาห์ อัลบั้ม Beyonce’ ก็ทุบสถิติยอดขายสูงสุดประจำสัปดาห์ของไอทูนส์ สโตร์ในอเมริกา เมื่อทำได้ถึง 617,000 โหลด โดยไม่มีการจองล่วงหน้า และไม่มีการแยกขายเป็นเพลงที่จะมาช่วยดันยอดขายอัลบั้ม เอาชนะ Red ของเทย์เลอร์ สวิฟท์ ที่ทำไว้ 465,000 โหลดในสุดสัปดาห์ที่ 28 ตุลาคม 2012 โดย Red เปิดขายดาวน์โหลดสัปดาห์แรกที่ไอทูนส์เพียงที่เดียว และเป็นยอดขาย 7 วัน นับตั้งแต่อัลบั้มออกมาในวันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม ซึ่งรอบการคิดยอดขายประจำสัปดาห์จะคำนวณจากวันจันทร์-วันอาทิตย์ แต่ Beyonce’ เปิดขายวันแรกในคืนพฤหัสฯ (เช้าวันศุกร์)
นอกจากนี้ Beyonce’ ที่เปิดขายแค่ในไอทูนส์ ยังเป็นอัลบั้มที่ขายดาวน์โหลดประจำสัปดาห์ได้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากยอดขายอัลบั้ม Born This Way จากเลดี้ กาก้า ที่ทำไว้ 662,000 โหลดในสัปดาห์แรกที่เปิดขาย ซึ่งมียอดขายราคาพิเศษ 99 เซนท์จากเว็บอะเมซอน ที่ขายได้ถึง 440,000 โหลดด้วย)
สำหรับสถิติส่วนตัว Beyonce เป็นอัลบั้มขายดีที่สุดประจำสัปดาห์ของบียอนเซ่ มากกว่าที่ B’Day ทำไว้ 541,000 ก็อปปี้เมื่อปี 2006 และยังเป็นอัลบั้มของศิลปินหญิงที่ทำยอดขายประจำสัปดาห์ได้มากที่สุดของปี 2013 นับตั้งแต่สัปดาห์เปิดตัวของอัลบั้ม Red จากเทย์เลอร์ สวิฟท์ เมื่อเดือนตุลาคม 2012 แต่งานของบียอนเซ่ ไม่มียอดขายซีดีมาร่วมด้วย
ความลึกลับ เป็นสิ่งมีค่าที่สุดสำหรับการใช้สื่อทุกวันนี้ ขณะที่วงการภาพยนตร์ยังมองหาวิธีที่เหมาะสมไม่เจอ คนอย่างเจเจ เอบรามส์ทำได้ก็แค่ใกล้เคียง แต่ในวงการเพลง มันเป็นโอกาสที่จับต้องได้ เพราะสามารถกันเรื่องค้าๆ ขายๆ ออกไป ดนตรีจริงๆ แล้วก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินและแฟนเพลง ซึ่งจะเดินไปด้วยกันตามความตั้งใจของบียอนเซ่ “ฉันอยากให้งานชุดนี้ออกมาเมื่อมันพร้อม และจากฉันตรงไปถึงแฟนเพลง” นี่คือคำพูดที่ทำให้บริษัทประชาสัมพันธ์อกแตกตาย แต่นี่คือสายสัมพันธ์ที่ทำให้ศิลปินที่ได้รับการยอมรับ และค่ายเพลงยังมีชีวิต ความลึกลับจะสร้างข้อได้เปรียบให้กับงาน ต่อให้คว่ำคามือ คนก็ยังคงอยากรู้ว่าอะไรอยู่ในกล่อง แถมยังอยากเห็นก่อนคนอื่น เหมือนที่ผู้อำนวยการกองบก. ของนิตยสารบิลล์บอร์ดบอกในคืนที่อัลบั้มออกวางจำหน่าย “ผมอยู่ในรถไฟ แล้วอยากบอกทุกคน ที่ไม่ได้อ่านทวีตเตอร์ว่า อัลบั้มใหม่ของบียอนเซ่ออกแล้ว”
และนั่นละคือประเด็น ก่อนจะอยากรู้ว่ามีอะไรอยู่ในกล่อง ก็ต้องให้ใครๆ ได้รู้ว่า มีกล่องให้ได้ลองเปิดหา และตอนนี้ดูเหมือนว่า บียอนเซ่ กำลังจะเปลี่ยนเกม แต่ใครที่จะ “ครอง” เกมได้อย่างที่เธอทำ
(หมายเหตุ: แปลและเรียบเรียงจากบทความของ ไมเคิล รอฟฟ์แมน และนิตยสารบิลล์บอร์ด)
จากเรื่อง อัลบั้มใหม่ของ บียอนเซ่ จุดเปลี่ยนธุรกิจเพลง? (4) โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 20 ธันวาคม 2556