FEATURESMovie Features

บันทึกดีลประวัติศาสตร์วอลท์ ดิสนีย์ ซื้อฟ็อกซ์ ด้วยมูลค่ากว่าห้าหมื่นล้านเหรียญ

หลังมีข่าวมาก่อนหน้านี้ถึงการเจรจาซื้อ-ขายบริษัทที่เริ่มต้นได้ไม่ดีนักแล้วก็หยุดกันชั่วคราว ในที่สุดดิสนีย์ก็ตกลงกับฟ็อกซ์เรียบร้อยด้วยสัญญามูลค่ากว่า ห้าหมื่นสองพันล้านเหรียญ ซึ่งทำให้สิทธิ์ในหนังทุกเรื่องของทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรีฟ็อกซ์ถูกขายให้กับบ้านของหนูผู้ร่ำรวย ขณะที่จักรวาลภาพยนตร์มาร์เวลก็จะเต็มวงครบสมบูรณ์มากขึ้น

รูเพิร์ท เมอร์ด็อค ประธานบริหารของฟ็อกซ์ได้ออกมาแสดงความมั่นใจว่า ความเป็นไปได้ในการซื้อ-ขายบริษัทครั้งนี้ จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับทั้งสองฝ่าย “เรามีความภูมิใจอย่างที่สุดสำหรับทุกอย่างที่เราสร้างขึ้นมาที่ทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ และเชื่อมั่นว่าการรวมกันกับดิสนีย์ในครั้งนี้ จะเป็นการปลดล็อคสิ่งต่างๆ ที่มากกว่าเรื่องสินทรัพย์สำหรับผู้ถือหุ้น ขณะที่ดิสนีย์ยุคใหม่ก็จะก้าวเดินไปในทิศทางที่น่าตื่นเต้นและพลังขับเคลื่อน”

รูเพิร์ท เมอร์ด็อค

การซื้อบริษัทดำเนินไปได้ด้วยดี หลังจากที่ฟ็อกแสดงท่าทีออกมาว่า ต้องการจะปลดทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ เพื่อเน้นไปที่เรื่องของข่าวและกีฬามากขึ้น ซึ่งการทำธุรกิจครั้งนี้สำหรับฟ็อกซ์เองจะหมายถึงเงินก้อนใหญ่ที่พวกเขาจะได้รับ แต่สำหรับดิสนีย์ โดยเฉพาะมาร์เวล มันคือการกลับบ้านหลังจากที่ต้องรอคอยกันมายาวนานของหนังหลายๆ เรื่อง และจะทำให้ดิสนีย์อยู่บนเส้นทางที่จะครอบครองโลก เมื่อการเซ็นสัญญาจะทำให้ดิสนีย์ได้หนังของสตูดิโอทะเว็นตี เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ และผลิตผลจากสถานีโทรทัศน์ทะเว็นตี เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ รวมไปถึงสื่ออื่นๆ อย่างช่องเอฟเอ็กซ์ และเนชันแนล จีโอกราฟิค, เครือข่ายสถานีโทรทัศน์กีฬา 22 ช่อง รวมไปถึงหุ้นของฟ็อกซ์ในฮูลู และถือหุ้นช่องสกายกับสตาร์มาอยู่ในมือ

โดยก่อนหน้านี้ทางทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ ได้ทำการแยกเครือข่ายและสถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์, ช่องฟ็อกซ์ นิวส์, ฟ็อกซ์ บิสสิเนสส์ เน็ทเวิร์ค, เอฟเอสวัน, เอฟเอสทูว์ และบิก เทน เน็ทเวิร์ค ไปอยู่ในรายชื่อบริษัทใหม่ที่จะมีการแจกจ่ายหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นต่อไป

ทางดิสนีย์ไม่ใช่แค่จะได้สิทธิ์ร่วมในตัวละครจากเรื่อง Deadpool และ the X-Men ที่กลับมาอยู่ในมือของมาร์เวลอีกครั้ง พวกเขายังจะได้หนัง Avatar ของเจมส์ คาเมรอน ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างถ่ายทำ 4 ภาครวด รวมไปถึงงานภาคต่ออมตะ เช่น Alien, Predator, Planet of the Apes, Kingsman และหนังคริสต์มาสอย่าง Die Hard

นอกจากนี้ยังหมายความว่า ลูคัสฟิล์มจะได้หนัง Star Wars ทุกเรื่องกลับมา เนื่องจากก่อนหน้านี้ฟ็อกซ์ถือสิทธิหนังต้นฉบับ Star Wars เมื่อปี 1977 เอาไว้ ขณะที่หนังไตรภาคแรกจะกลับมาเป็นของลูคัสฟิล์มอยู่แล้วในปี 2020 แต่สัญญาฉบับนี้จะทำให้กลับมาเร็วขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การนำเอาหนังทั้งชุดออกมาฉายใหม่อีกครั้งในแบบครบทุกตอน

การตกลงในครั้งนี้ บรรดาผู้ถือหุ้นของทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์จะได้รับหุ้นของดิสนีย์ที่มีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 0.2745 ต่อแต่ละหุ้นของทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ ที่พวกเขาถืออยู่ ขณะที่ทางดิสนีย์เองก็รับเอาหนี้มูลค่า 13.7 พันล้านเหรียญของของทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ มาดูแล โดยจากการประเมินราคามูลค่าต่างๆ ในการซื้อขายครั้งนี้จะอยู่ที่ราวๆ 52.4 พันล้านเหรียญ เมื่อรวมกับค่าดำเนินการต่างๆ แล้วอาจจะพุ่งสูงถึง 66.1 พันล้านเหรียญ ในกรณีที่อัตราแลกเปลี่ยนต่างๆ ยังคงเดิม

บริษัทสร้างภาพยนตร์ ที่จะเข้ามารวมกับดิสนีย์ภายใต้สัญญาที่ทำกับทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ ก็ได้แก่ บริษัททะเว็นตี เซ็นจูรี ฟ็อกซ์, ฟ็อกซ์ เซิร์ชไลท์ และฟ็อกซ์ 2000 ซึ่งร่วมกันสร้างผลงานที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและมีความน่าสนใจทางธุรกิจเช่น Avatar, X-Men, Fantastic Four และ Deadpool รวมไปถึง The Grand Budapest Hotel, Hidden Figures, Gone Girl, The Shape of Water และ The Martian แล้วยังมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่สร้างสรรค์ผลงานโทรทัศน์ ทะเว็นตี เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ เทเลวิชัน, เอฟเอ็กซ์ โปรดัคชัน และฟ็อกซ์ 21 ซึ่งมีผลงานอย่าง The Americans, This Is Us, Modern Family, The Simpsons และซีรีส์ฮิตทางโทรทัศน์อีกหลายต่อหลายเรื่อง ดิสนีย์ยังได้ เอฟเอ็กซ์ เน็ทเวิร์คส์, เป็นคู่ค้าของเนชันแนล จีโอกราฟิค, เครือข่ายฟ็อกซ์ สปอร์ตส์ในพื้นที่ต่างๆ, ฟ็อกซ์ เน็ทเวิร์คส์ กรุป อินเตอร์เนชันแนล, สตาร์ อินเดีย และหุ้นของฟ็อกซ์ในฮูลู, สกาย, ทาทา สกาย และเอนเดมอล ไชน์ กรุป

โรเบิร์ท ไอเกอร์

“การได้มาซึ่งธุรกิจสำคัญๆ จากทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลาย ที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้บริโภค ซึ่งต้องมีความน่าสนใจมากขึ้น, เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และสะดวกสบายมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน” โรเบิร์ท เอ ไอเกอร์ ประธานและหัวหน้าฝ่ายบริหารของเดอะ วอลท์ ดิสนีย์ คอมพานีกล่าว “เรารู้สึกเป็นเกียรติและขอบคุณอย่างมากที่รูเพิร์ท เมอร์ด็อคเชื่อมั่นในพวกเรา ด้วยการมอบอนาคตของธุรกิจที่เขาใช้เวลาทั้งชีวิตสร้างขึ้น พวกเราตื่นเต้นอย่างมากกับโอกาสที่ไม่ธรรมดาในครั้งนี้ ที่จะเพิ่มความโดดเด่นให้กับหนังภาคต่อที่เรารัก และผลงานต่างๆ ที่สามารถเติบโตมากขึ้นเพื่อที่จะนำเสนอไปยังผู้บริโภคโดยตรง การเซ็นสัญญาจะทำให้การทำงานในต่างประเทศของเราแผ่ขยายออกไป ซึ่งทำให้เราสามารถเสนอการเล่าเรื่องในระดับเวิร์ลด์-คลาสส์ และรูปแบบการจัดจำหน่ายที่ทันสมัยไปสู่ผู้บริโภคได้มากขึ้น ในตลาดสำคัญๆ ทั่วโลก”

ทางเมอร์ด็อค ยังกล่าวเสริมด้วยว่า “ยิ่งไปกว่านั้น ผมเชื่อมั่นว่าการรวมกันในครั้ง ภายใต้การนำของบ็อบ ไอเกอร์ จะทำให้เกิดบริษัทที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบริษัทหนึ่งในโลก ผมรู้สึกเป็นพระคุณและยินดีสนับสนุนให้บ็อบตอบตกลงทำหน้าที่ต่อ เพื่อรับช่วงของการรวมบริษัทซึ่งจะเกิดขึ้นตามมา”

จากคำร้องขอทั้งจากทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ และกรรมการของดิสนีย์ ไอเกอร์ที่จะพ้นจากตำแหน่งในปี 2019 ตอบตกลงที่จะทำหน้าที่ประธานและหัวหน้าฝ่ายบริหารของเดอะ วอลท์ ดิสนีย์ คอมพานีต่อไปจนถึงสิ้นปี 2021

= สำหรับผลประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับจากการรวมบริษัทในครั้งนี้ก็คือ

ทางดิสนีย์จะได้ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ อย่าง แพล็ทฟอร์มแบมเทค (BAMTECH) เพื่อสร้างสรรค์กรรมวิธีต่างๆ ได้หลากหลายมากขึ้นเพื่อสร้างความบันเทิง และเชื่อมต่อได้โดยตรงกับผู้ชม โดยสามารถจัดหาตัวเลือกความบันเทิงให้ ด้วยการอิงจากการเสพผลงานต่างๆ ของผู้บริโภค ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของแต่ละบริษัทในแผนกพัฒนาภาพยนตร์, รายการโทรทัศน์ และจัดหาผลิตภัณฑ์ที่สร้างความสนุกสนาน ที่เป็นประสบการณ์ทางความบันเทิงที่น่าหลงใหลให้กับผู้บริโภค

ความบันเทิงต่างๆ และความสามารถของทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ บวกกับขอบเขตการทำงานในต่างประเทศและทีมบริหารกับทีมทำงานระดับโลก จะทำให้ดิสนีย์ขยับขยายศักยภาพในการสร้างประสบการณ์บันเทิงที่น่าสนใจไปสู่ผู้บริโภคได้โดยตรง การรวมบริษัทที่เกิดขึ้นทำให้ดิสนีย์และอีเอสพีเอ็น รวมไปถึงฮูลู สามารถเสนอสิ่งต่างๆ ตรงถึงผู้บริโภค การสร้างสิ่งที่เต็มไปด้วยความน่าสนใจและมีแรงดึงดูดมากขึ้น และนำเสนอผลงาน, ความบันเทิง และเกมกีฬา ต่างๆ ไปยังผู้บริโภคได้ทั่วโลกไม่จะเป็นที่ไหน ก็สนุกกับความบันเทิงเหล่านี้ได้

การตกลงครั้งนี้ทำให้ดิสนีย์มีโอกาสรวบเอา the X-Men, Fantastic Four และ Deadpool มาอยู่ใต้ชายคาเดียวกันกับครอบครัวมาร์เวล เพื่อที่จะสร้างโลกที่สมบูรณ์มากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น และตัวละครกับเรื่องราวมีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ชมอยากเห็น โดยหลายปีที่ผ่านมา ตัวละครอมตะหลายๆ ตัวของมาร์เวล ที่ทำให้สำนักพิมพ์กลายเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่ยุค 70 ไม่สามารถมีส่วนร่วมกับจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล เพราะระหว่างยุค 90 มาร์เวลได้เซ็นสัญญาขายสิทธิ์ในการสร้างภาพยนตร์ให้กับฟ็อกซ์ ไม่ว่าจะเป็น the X-Men, the Fantastic Four และ Deadpool มาถึงตอนนี้มาร์เวลสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เคยเป็นในอดีตได้แล้ว แม้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในปัจจุบันทันด่วนก็ตาม

การที่ฟ็อกซ์สามารถสร้างความโดดเด่นเฉพาะตัว และที่ทางให้กับหนังซูเปอร์ฮีโรของตัวเอง อย่าง Logan, Deadpool และ The New Mutants ด้วยการทำเป็นหนังเรท อาร์ ทำให้เกิดคำถามในเรื่องที่ว่าอนาคตของหนังซูเปอร์ฮีโรสำหรับผู้ใหญ่เหล่านี้จะเป็นอย่างไรต่อไป บ็อบ ไอเกอร์ ประธานฝ่ายบริหารของดิสนีย์ ให้ความเห็นว่าเป็นไปได้สำหรับดิสนีย์ที่จะสานต่อคอนเส็ปท์นี้เอาไว้ต่อไป ทั้งๆ ที่ทางสตูดิโอไม่ได้ทำธุรกิจหนังเรท อาร์อย่างเป็นจริงเป็นจัง

“ดูกันจาก Deadpool ที่จะเป็นหนังในตรามาร์เวล ซึ่งเราคิดว่าอาจจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับโลกของหนังมาร์เวล เรท อาร์ สำหรับหนังในแบบเดียวกับ Deadpoo เท่าที่เราให้ผู้ชมได้รับรู้ว่าเขากำลังจะได้ชมอะไร เราคิดว่าเราน่าจะจัดการมันได้เป็นอย่างดี” ไอเกอร์ กล่าว และย้ำว่า “พวกเขากำลังมองไปถึงการขยายจักรวาลภาพยนตร์ของมาร์เวลออกไป ซึ่งก็รวมไปถึง X-Men, Fantastic Four และ Deadpool”

เควิน ไฟกี

ขณะที่เควิน ไฟกี ประธานของมาร์เวล สตูดิโอ ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นซัมเมอร์ก็เคยแสดงความเห็นออกมาแล้วว่า ไม่ได้ขัดขวางการที่มาร์เวล สตูดิโอจะทำหนังเรท อาร์ออกมา โดยบอกว่า การทำหนังในคอนเส็ปท์นี้ไม่ใช่ “เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ไม่ใช่สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในตอนนี้”

วอลท์ ดิสนีย์ พิคเจอร์ส มักจะปล่อยหนังเรท อาร์ออกมาภายใต้การจัดจำหน่ายของทัชสโตน พิคเจอร์ส ซึ่งค่อยๆ ลดน้อยลงจนหายไปหมดแล้ว และไม่เคยมีหนังเรื่องไหนที่ถูกสร้างขึ้นโดยตีตราว่าเป็นผลงานของวอลท์ ดิสนีย์ หนสุดท้ายที่ทางสตูดิโอทำหนังเรท อาร์จริงๆ ก็ต้องย้อนไปถึงหนังเรื่อง Apocalypto เมื่อปี 2006

ขณะที่การเสริมเรื่องราวของ Avatar เข้ามายังเป็นการขยายโอกาสในการชมและสัมผัสกับประสบการณ์ในโลกแฟนตาซีที่เกินธรรมดาให้กับผู้บริโภค บรรดาผู้ที่เข้าไปเยี่ยมชม แอนิมอล คิงดอม พาร์ค ที่วอลท์ ดิสนีย์ เวิร์ลด์ รีสอร์ท จะได้พบประสบการณ์สำคัญของแพนดอรา โลกของ Avatar พื้นที่แห่งใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังภาคต่อของฟ็อกซ์

และกับการทำงานของเนชันแนล จีโอกราฟิค ที่มีภารกิจสำรวจและปกป้องโลกของเรา รวมไปถึงให้ข้อมูล ความรู้ และแรงบันดาลใจสำหรับคนรุ่นใหม่ ก็ทำให้ดิสนีย์สามารถเสนอสิ่งต่างๆ ได้มากกว่าที่เคย เพื่อนำเด็กๆ และครอบครัวมาสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้

= ขณะที่ทางดิสนีย์สิ่งที่ได้รับจากการซื้อกิจการของฟ็อกซ์ ก็คือ

ทำให้เครือข่ายทั่วโลกของดิสนีย์ขยับขยายออกไป เพราะสินทรัพย์ของทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ที่มีอยู่ทั่วโลก จะทำให้ความเป็นบริษัทบันเทิงที่ครอบคลุมไปทั่วโลกของดิสนีย์ ทั้งในแง่ของผลงานระดับท้องถิ่นและการให้บริการกับผู้ชมเติบโตมากขึ้น โดยดิสนีย์สามารถใช้ช่องทางของสกาย ซึ่งเข้าถึงกว่า 23 ล้านครัวเรือนในอังกฤษ, ไอร์แลนด์, เยอรมันนี, ออสเตรีย และอิตาลี ขณะที่เครือข่ายฟ็อกซ์ เน็ทเวิร์คส์ ก็มีช่องโทรทัศน์กว่า 350 ช่องใน 170 ประเทศ และสตาร์ อินเดีย ที่มี 69 ช่อง ก็เข้าถึงผู้ชมในอินเดียกว่า 720 ล้านคน และมีให้ชมในกว่าร้อยประเทศ

ก่อนปิดการซื้อกิจการ มีการคาดการณ์ว่าทางทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์พยายาม หาทางชิงซื้อหุ้นที่ไม่ได้เป็นของตัวเองในสกายจำนวน 61% โดยสกายเป็นหนึ่งในสถานีโทรทัศน์แบบจ่ายเงินที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในยุโรป และเป็นองค์กรที่มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าได้กล้าเสีย เป็นแพล็ทฟอร์มที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง ที่มีทั้งนวัตกรรมและคุณภาพในระดับสูง เป็นแบรนด์ที่รู้จักกันดีรวมไปถึงมีทีมงานที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำและแข็งแรง ทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์มุ่งมั่นอย่างเต็มที่เพื่อจะจัดการเรื่องดีลในสกายให้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งต้องเป็นไปตามที่กฎที่วางเอาไว้ สำหรับการซื้อขายบริษัทในครั้งนี้จะจบลงในวันที่ 30 มิถุนายน 2018 ทำให้เป็นที่เข้าใจได้ว่าทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์จะต้องซื้อหุ้นในสกายให้เสร็จเรียบร้อยก่อนหน้านั้น เพื่อทำให้เดอะ วอลท์ ดิสนีย์ คอมพานี เป็นเจ้าของสกายเต็มตัว ซึ่งก็รวมไปถึงหนี้สินผูกพันที่มี หลังการซื้อบริษัทจบสิ้นลง

= ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญของดีลธุรกิจมูลค่ามหาศาลครั้งนี้ ก็คือ

การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ได้รับการคาดหมายว่า ดิสนีย์จะเซฟต้นทุนได้ถึง 2 พันล้าน จากประสิทธิภาพในการทำงานอันเป็นผลจากการรวมธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มผลกำไรได้ก่อนหน้าผลกระทบจากการซื้อกิจการจะเกิดขึ้นในปีที่สองของการทำธุรกิจ ภายหลังการซื้อกิจการเสร็จสิ้นลง

การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ทำให้ดิสนีย์ต้องส่งมอบหุ้นใหม่ๆ จำนวน 515 ล้านหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นของทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ ซึ่งเท่ากับ 25% ของหุ้นในบริษัทดิสนีย์ตามมูลค่าโดยพื้นฐาน โดยมูลค่าของแต่ละหุ้นมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนไปตามหนี้สินจากภาษีที่เพิ่มสูงขึ้น จากการเรียกคืนหุ้นและการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายกิจการ โดยอัตราแลกเปลี่ยนขั้นต้นของหุ้นดิสนีย์สำหรับแต่ละหุ้นของทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ อยู่ที่ 0.2745 ซึ่งมีที่มาจากการประเมินค่าของหนี้สินอันเกิดจากภาษี อันเกิดจากเงินปันผลเป็นเงินสดถึง 8.5 พันล้านเหรียญให้กับทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ จากบริษัทที่แยกตัวออกไป สำหรับอัตราการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้เป็นการคำนวนจากข้อมูลอัพเดทล่าสุดก่อนการซื้อกิจการ และสามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ขึ้นอยู่กับการประเมินราคาในขั้นตอนสุดท้าย ว่าจะสูงขึ้นหรือลดลงไปจากการประเมินในตอนแรก

คณะกรรมการบริษัทของดิสนีย์และทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์จะต้องให้การอนุมัติการซื้อขาย ซึ่งมีแนวโน้มที่ต้องเป็นไปตามความเห็นชอบของบรรดาผู้ถือหุ้นทั้งสองฝ่าย และมีความโปร่งใส ปราศจากข้อโต้แย้งใดๆ ภายใต้กฎหมายป้องกันการผูกขาด, ข้อกำหนดจำนวนของบริษัทที่ถูกควบรวมกิจการนอกสหรัฐอเมริกา และการตรวจสอบจากผู้มีอำนาจในการกำกับดูแล รวมไปถึงเงื่อนไขอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง

ก่อนหน้าที่จะพูดถึงจักรวาลภาพยนตร์ของมาร์เวลที่สมบูรณ์แบบมากขึ้นซับซ้อนมากขึ้น หรือ Star Wars ที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นก่อนแน่ๆ ก็คือ การรวมกิจการในครั้งนี้จะเป็นการทำลายหนึ่งในหกบริษัทยักษ์ใหญ่ของฮอลลีวูดลงไป ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะกรรมการควบคุมการผูกขาดจะต้องให้ความสนใจอย่างที่สุด

และหากทุกอย่างเป็นได้อย่างเรียบร้อย ในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่า ผู้ชมจะได้ชมหนังของมาร์เวล สตูดิโอในทุกๆ 6 สัปดาห์ก็เป็นได้

สรุปโดยย่อถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจากการซื้อกิจการในครั้งนี้
1. การเจรจาครั้งนี้ให้ราคาสินทรัพย์ของทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ อยู่ที่ 66.1 พันล้านเหรียญ ซึ่งในจำนวนนั้นเป็น หนี้สินของทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ 13.7 พันล้านเหรียญ หรือหุ้นในราคา 28 เหรียญ ส่วนมูลค่าขององค์กรได้รับการประเมินค่าอยู่ที่ 69 พันล้านเหรียญ
2. ประธานบริหารของดิสนีย์ บ็อบ ไอเกอร์ จะขยายสัญญากับบริษัทออกไปอีก 2 ปี ทำให้เขาจะอยู่ในตำแหน่งจนถึงสิ้นปี 2021 เพื่อดูแลการรวมสินทรัพย์ต่างๆ ในครั้งนี้
3. ผู้ถือหุ้นแต่ละหุ้นของทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ จะได้รับหุ้นของดิสนีย์ 0.2745 หุ้น ทำให้ผู้ถือหุ้นของฟ็อกซ์มีหุ้นรวม 25% ในบริษัทดิสนีย์
4. ทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ ได้แยกบริษัท ฟ็อกซ์ บรอดแคสติง โค,, ฟ็อกซ์ สปอร์ตส์, ฟ็อก นิวส์, สถานีโทรทัศน์ ฟ็อกซ์ เทเลวิชัน และสินทรัพย์จำนวนหนึ่งออกไปเป็นบริษัทใหม่ ซึ่งมีรายได้รวม หนึ่งหมื่นล้านเหรียญ และมีผลกำไรราวๆ 2.8 พันล้านเหรียญ ขณะที่โรงถ่ายเดอะ ทะเว็นตี เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ ในเซ็นจูรี ซิตียังเป็นของบริษัทฟ็อกซ์ คอมพานีที่แยกตัวออกมา
5. ทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ ยังคงดำเนินการขอซื้อหุ้นในสกาย สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมในยุโรป ที่ยังไม่ตกเป็นของตัวเอง เพื่อที่ดิสนีย์จะได้ครอบครองบริษัททั้งหมดในทันที ที่การซื้อขายกิจการเสร็จสมบูรณ์
6. ดิสนีย์คาดว่า จะประหยัดเงินได้ราวๆ 2 พันล้านเหรียญภายในเวลา 2 ปีหลังปิดการตกลงซื้อขาย จากการควบรวมบริษัทที่มีธุรกิจคล้ายคลึงกัน
7. ดิสนีย์คาดหวังการพิจารณาการซื้อกิจการของผู้มีอำนาจควบคุมทางกฎหมายจะใช้เวลาราวๆ 18 เดือน

จากเรื่อง บันทึกดีลประวัติศาสตร์วอลท์ ดิสนีย์ ซื้อฟ็อกซ์ ด้วยมูลค่ากว่าห้าหมื่นล้านเหรียญ โดย ฉัตรเกล้า นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1247 ปักษ์แรกมกราคม 2561

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.