Music ReviewREVIEW

ฟังไปแล้ว – เรือสำราญราตรีอมตะ การเดินทางที่แตกต่าง แต่ยังน่าติดตาม และน่าตื่นเต้น ของ ฮิวโก้ – จุลจักร จักรพงษ์

เรือสำราญราตรีอมตะ / ฮิวโก้
(ME Records)

การเดินทางของฮิวโก้ – จุลจักร จักรพงษ์ นับตั้งแต่หันมาทำงานในฐานะศิลปินเดี่ยว ล้วนเป็นการเดินทางที่น่าสนใจ เมื่อทุกย่างก้าวเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวทางดนตรี ไม่ว่าจะเป็นงานเพลงภาษาอังกฤษหรือไทย ที่ขยับขยาย ปรับเปลี่ยนแนวทางไปเรื่อย ๆ จนรู้สึกชัดว่า ขอบเขตความสนใจในการทำงานดนตรีของฮิวโก้ เดินหน้าไปทั้งในทางกว้างและลึก และมีทั้งข้างหลัง-ข้างหน้า แล้วที่ถือว่าเป็นเสน่ห์ของงานที่ผ่าน ๆ มา ก็คือการห่อหุ้มดนตรีที่หลากรายละเอียด สร้างบรรยากาศของงาน ให้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยซาวนด์ดนตรี รวมถึงปรับแต่งให้เข้าสมัยมากขึ้น

‘Old Tyme Religion’ อัลบั้มแรก ที่แม้จะรับรู้ถึงอิทธิพลดนตรีแบบอเมริกัน โดยเฉพาะงานทางเซาเธิร์นร็อก แต่ก็ไม่หลุดยุค เมื่อมีการนำงานอิเล็กทรอนิกส์มาผสม ซาวนด์ดนตรีก็แตกต่างจากดนตรีต้นทาง ส่วน ‘Deep in the Long Grass’ ซึ่งรู้สึกเหมือนฮิวโก้กำลังค้นหาตัวเอง จากทางดนตรีหลากหลาย บางเพลงคืองานแบบที่ได้ยินกันในงานชุดแรก มีเพลงที่เติมความเป็นงานอิเล็กทรอนิกส์ บางเพลงก็มีกลิ่นอายดนตรีพื้นบ้านไทย หรือเพลงที่ได้อิทธิพลจากศิลปินอีกสาย อย่าง เดอะ บีเทิลส์ รวมถึงเพลงฟังคึกคักที่จัดบีทแบบเพลงเต้นรำมาให้

แต่ก็อย่างที่บอกไว้ แม้จะแตกต่าง หลากหลาย หากท้ายที่สุด ด้วยซาวนด์ดนตรี ด้วยบรรยากาศ ความผิดแผกก็กลายเป็นหนึ่งเดียวกันจนได้ในที่สุด ซึ่งแสดงถึงชั้น และศักยภาพในการทำงานของฮิวโก้ชัดเจน

มาถึง ‘ดำสนิท’ อัลบั้มเพลงไทยชุดแรก…ที่ไม่ใช่งานซึ่งแตกต่างแค่เรื่องภาษา แต่จะว่าไปแล้ว ฮิวโก้กำลังเดินแยกจากเส้นทางเดิม แนวทางดนตรีแตกต่างชัด ซาวนด์งานเปลี่ยน ฟังผ่อนคลาย ในแบบที่เข้าถึงง่ายกว่าเดิม ที่ไม่ใช่แค่เพราะภาษา เมื่อท่วงทำนองมีความเป็นป็อปมากขึ้น

‘Lacuna’ อีพีที่ออกมาเมื่อปีที่แล้ว ฮิวโก้กลับไปหางานดนตรีอเมริกันอีก แต่ลีลาไม่ใช่เช่นที่ได้เคยยินกันในงานสองชุดแรก หากฟังโปร่ง คลี่คลาย สดใส ทันสมัย ซึ่งเป็นการเดินทางที่น่าสนใจไม่น้อยของชายหนุ่มคนนี้

ปีนี้ ฮิวโก้ มากับ ‘เรือสำราญราตรีอมตะ’ อีพีขนาดกระทัดรัด 6 เพลง ที่ในแง่ของความคิดสร้างสรรค์สำหรับการทำงานนั้น วูบวาบ หวือหวากว่าทุกครั้งก็ว่าได้ กับการเป็นงานคอนเซ็ปต์ ที่ไม่ใช่แค่ดนตรีมีบรรยากาศปกคลุมให้เป็นเนื้อเดียวกัน แต่เรื่องราวยังเกี่ยวร้อยกลมกลืน บอกเล่ามุมมอง หรือความเป็นไป ของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าเรือสำราญราตรีอมตะลำนี้ ที่สะท้อนถึงความเป็นไปในโลกได้ในคราวเดียวกัน

“เรือสำราญราตรีอมตะ” เพลงเปิดงาน ดนตรีฟังหรูหรา โอ่อ่า ซึ่งเป็นการอินโทรเข้าสู่เรื่องราวทั้งของอีพี ทั้งเพลงได้อย่างน่าสนใจ เมื่อฟังต่างไปจากงานที่ฮิวโก้เคยทำชัด เมโลดีเพราะ ฮุกโดน “เรือเรากำลังพาคุณล่องไป สุดจักรวาลเราเคลื่อนผ่านหมู่ดาวมากมาย จะได้รู้ว่าดาวอังคารมีแดดจริงไหม และได้รู้ว่าแหวนดาวเสาร์มันคมสักเท่าไหร่” นี่คือการเกริ่นนำ การพาคนฟังท่องไปกับเรือสำราญลำนี้ ที่ทุกคนละทิ้งทุกอย่างบนโลกราวกับหลีกหนีความจริง “ลืมเถิดลืมเลย จงลืมทุกอย่าง ตามใจตัวเองบ้าง อย่ามองที่ชายฝั่ง ลืมเถิดลืมเลย จงลืมทุกสิ่ง สุขกับทุกข์มันไม่มีจริง ชีวิตก็เช่นกัน ตรงนี้ก็เช่นกัน”

หลังแนะนำเรือสำราญ ก็เป็นเรื่องของใครบางคน ที่ “ดังที่สุดในจักรวาล” ซึ่งอาจเป็นผู้โดยสารเซเล็บคนหนึ่ง หรืออาจเป็นศิลปินที่จะมอบความสุขให้ผู้คนที่เดินทางหลีกหนีความจริงครั้งนี้ ร่วมกับวงดนตรีที่ไม่รู้จักตาย แต่ไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพไหน เนื้อหาของเพลงที่เขียนโดย จุลจักร จักรพงษ์, ฟองเบียร์ และ กฤษติกร พรสาธิต ก็คืองานเสียดสีแสบ ๆ ที่กัดจิกทั้งคนดัง ความดัง ที่กระทบชิ่งไปถึงผู้คนที่หลงใหลและหากินกับคนดัง

“ฉันไม่รู้ว่าจะห้ามยังไง จะทำอะไรก็มีแต่คนตาม ฉันไม่รู้ว่าจะซื้ออะไร ให้เงินในบัญชีมันหมดธนาคาร ฉันไม่รู้ … ว่าต้องหวังอะไร ให้มันใหญ่พอจะเก็บรางวัล ฉันไม่รู้ว่าต้องค่ายอะไร ที่มันคู่ควรกับฉัน” ที่นำไปสู่สถานการณ์ “ยังไม่ทันได้ออกไปไหน ก็เป็นข่าวลือให้เขียนกันทุกวัน ยังไม่ทันได้พูดอะไร ไมค์ทุกตัวก็จ่อมารวมกัน ยังไม่ทันได้ร้องอะไร คนก็กรี้ดกร๊าดจนฮอลแทบจะพัง ยังไม่ทันได้ขยับอะไร คนก็เป็นลมกันจัง”

ดนตรีที่เลือกมารับใช้เนื้อหา ก็คัดมาได้เหมาะเจาะ กับงานฟังก์-โซล ฟังเฟี้ยว ๆ ให้อารมณ์กวน ๆ แฝงความรู้สึกเย้ยหยัน โดยมีเสียงเครื่องเป่าปรู๊ดปร๊าดเติมความจัดจ้านของถ้อยคำ

“ลูกเรือ” ด้วยท่วงท่าดนตรีพื้นบ้านไทยเรา ไม่แปลกที่จะทำให้ภาพผู้คนที่ต้องจากชนบทไกล มาหางานทำในสังคมเมือง เพื่อสร้างชีวิตที่ (คิดว่า) น่าจะดีกว่า ให้ตัวเองและครอบครัว ด้วยความหวัง มีเป้าหมาย ลอยขึ้นมาในจินตนาการ หากท้ายที่สุด สิ่งที่คิด-หวัง-ไขว่คว้า กลับไม่รู้จะว่าจะไปถึงหรือสมหวังกันตอนไหน “ฝั่งไกลลับตา เหมือนว่าเพึ่งจากมา เดี๋ยวก็ได้กลับไป ห่างจนลับตา นึกในใจขึ้นมา เดี๋ยวมันคือเมื่อไร” จนถึงกับตั้งคำถามขึ้นมาว่า สิ่งที่ทำ ‘มันดีจริงแล้วหรือเปล่า…’

ความเลวร้ายในชีวิตของคนกลุ่มนี้ นอกจากจะมองไม่เห็นจุดหมาย ทำไม่ได้อย่างที่หวัง กระทั่งชีวิตก็ไม่รู้ว่าเป็นของใคร “ฉันออกเดินทางเพื่อใคร ใช้วันพรุ่งนี้ที่มีให้ใคร ตกลงชีวิตฉันเป็นของใคร ไปตามกระแสที่ลอยล่องไป ไม่เห็นปลายทางสักที ไม่เห็นปลายทางสักที”

ฮิวโก้ลงลึกถึงชีวิตคนทำงานมากขึ้นใน “ห้องเครื่อง” ซึ่งดนตรีที่หนักแน่นในแบบร็อก เข้ากับชีวิตของพวกเขา เจ้าของความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ ทำงานแบบไม่มีหยุด เต็มไปด้วยความสำคัญ เพราะหากผิดพลาดหรือละเลย เรือสำราญลำนี้ก็อาจไปไม่ถึงจุดหมาย “ในเรือมีกัปตันคอยบอกชี้เส้นทาง ผู้โดยสารมีความมั่นใจ เดินทางกันปลอดภัย สะดวกสบายเพราะเราในห้องเครื่อง” แต่ชีวิตพวกเขาช่างแตกต่างดูไร้ค่า “ตายใครจะสน ตายไปในห้องเครื่องยนต์ ตายไปกับเครื่องเรือยนต์”

เสียงสไลด์กีตาร์ที่เข้ามารับ ทำให้รู้สึกถึงความคับแค้นขึ้นมาทันที ส่วนจังหวะดนตรีที่ใช้ ก็วาดชีวิตในห้องเครื่องให้เป็นเครื่องจักร มากกว่าจะเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ

คนสำคัญของเรือถูกเล่าด้วยดนตรีที่คึกคัก ฟังสนุก มีเสียงกีตาร์ทแวง ที่เป็นเครื่องหมายการค้าของดนตรีประกอบหนังตะวันตก หากไม่ได้แทนภาพผู้นำกองคาราวาน หรือหัวหน้าชุมชน แต่เป็นภาพของ “กัปตัน” ที่อาจเห็นภาพผู้นำเผด็จการทับซ้อนขึ้นมา “ไม่ใช่หน้าที่ ที่คุณต้องสงสัย อย่ามีคำถามประมาณว่าทำไม ฉันไม่ต้องการได้ยิน คำว่าทำไม่ได้จากใครสักคน ฉันไม่ต้องการได้ยิน คำว่าทนไม่ไหวจงเข้าใจ” แต่ก็เป็นเพราะ “เรือที่ล่องมา กับทางที่ต้องไปอยู่ในแผนที่กำหนด ใครคือกฎเกณฑ์ ใครที่ขีดไว้แผนที่ของโลกใบใหญ่” และ “ไม่เคยสงสัยแค่ดูและตามไป หน้าที่ได้มาต้องทำ เพราะสิ่งที่มั่นใจ ถ้าเรือนี้ล่มไป ความซวยก็ตกที่ฉัน” เมื่อเขาคือคนเดียวที่รับผิดชอบกับการพาเรือลำนี้ไปสู่จุดหมาย ซึ่งในระหว่างบรรทัดของเพลง ก็เผยให้รับรู้เช่นกันว่า บางทีเขาก็ไม่ได้อยากจะเป็นอย่างที่เห็น ทำอย่างที่ทำ

ฮิวโก้กลับมาหางานที่ฟังโอ่อ่า หรูหราอีกครั้งในเพลงส่งท้าย “เชื้อไฟ” ที่บรรยากาศดนตรีมีสัมผัสของงานแบบวอลล์ ออฟ ซาวนด์ ลายเซ็นของโปรดิวเซอร์อย่าง ฟิล สเป็กเตอร์ เรื่องราวชวนคิดถึงความรักแบบหนุ่ม-สาว ที่ต้องการพื้นที่ของตัวเอง มีโลกของเขาและเธอ ที่ไม่มีใครหรืออะไรมาวุ่นวาย แต่ท้ายที่สุด ด้วยนัยบางอย่างจากบางแง่มุม “เชื้อไฟ” อาจไม่ใช่แค่เพลงรักหนุ่ม-สาว “เธอเป็นเหมือนเชื้อไฟให้เรือสำราญนี้ล่องไป จากโลกอันกว้างใหญ่” เมื่ออาจไปได้ถึง ‘ความรัก’ ที่เป็นแรงผลักดันอันยิ่งใหญ่ให้ใครบางคนกล้าทำอะไร

ซึ่งไม่ใช่แค่ดนตรี บางมุมมองของ “เชื้อไฟ” ก็ทำให้ ‘เรือสำราญราตรีอมตะ’ ปิดจบอย่างสวยงาม แบบมีบทเริ่มต้น เรื่องราว และบทสรุป ที่ไปได้ครบไม่ว่าจะมองที่เนื้อหาหรือว่าดนตรี

เมื่อเรื่องราวบนเรือสำราญลำนี้ เหมือนเป็นตัวแทนสังคมหนึ่งหรือคนกลุ่มหนึ่ง ที่พยายามหนีความเป็นจริงของโลกหรือชีวิต หากก็หนีความจริงของการ ‘ใช้’ ชีวิตไปไม่พ้น ทุกคนยังต้องมีหน้าที่ มีความรับผิดชอบ ซึ่งมีเพียง ‘ความรัก’ เท่านั้นที่เป็นเชื้อเพลิง

เมื่อดนตรี ที่แม้แนวทางในหกเพลงจะแตกต่างกัน แต่ก็ลงตัวในตัวเอง แล้วยังรับใช้เนื้อหาที่บอกเล่าได้อย่างกลมกลืน เสริมแง่มุมที่ไม่ถูกสื่อสารด้วยภาษา เหมือนการสร้างธีมให้ตัวละครหรือเรื่องราวในงานดนตรีประกอบภาพยนตร์ งานที่ฟังโอ่อ่า หรูหรากับเรือสำราญ อารมณ์ดนตรีพื้นบ้านสำหรับคนที่จากชนบทมาทำงานในสังคมเมือง ดนตรีร็อกกับคนใช้แรงงาน ชีวิตที่เหมือนเป็นเครื่องจักรมากกว่าคน ดนตรีโซล-ฟังก์ฟังหวือหวาที่ว่าด้วยชีวิตคนดัง ดนตรีแบบหนังตะวันตกกับผู้นำที่ต้องพาทุกคนไปให้ถึงจุดหมาย

ที่แม้ผู้คนบนเรืออาจจะไม่รู้ว่าจะถึงเมื่อไหร่ และต้องเผชิญอะไรบ้าง หรือบางทีอาจจะออกทะเลไปไม่รู้ทิศทางก็เป็นได้

แต่ตัวอีพีนั้น ไม่ใช่เพียงเป็นไปในทิศทางที่แตกต่าง ยังทำให้การเดินทางครั้งต่อ ๆ ไปของฮิวโก้ – จุลจักร จักรพงษ์ ยังคงน่าติดตาม และน่าตื่นเต้น เสมอ

โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 32 ฉบับที่ 11 ธันวาคม 2564

เป็นกำลังใจให้ www.sadaos.com ด้วยการสนับสนุนทางการเงิน ได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วส่งสลิปการโอนเงินมาที่ shopsadaos@gmail.com เพื่อดำเนินการมอบรางวัลให้กับผู้สนับสนุนที่โชคดีต่อไปเป็นประจำทุกเดือน

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
1
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.