BIRD 22 / ธงไชย์ แมคอินไตย์
(จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่)
“เพลงที่ไม่มีใครฟัง” ซิงเกิลแรกของอัลบั้มใหม่ งานชุดที่ 22 ของธงไชย แมคอินไตย์ ซึ่งใช้ชื่อง่าย ๆ ‘22’ ถูกปล่อยออกมาเมื่อ 22 เมษายน 2565 ฟังดูเผิน ๆ ก็คือเพลงพ็อป อีซีลิสนิง ฟังสบาย ๆ ว่าด้วยความผิดหวังจากความรัก พูดถึงสิ่งที่เคยทำให้กับใครบางคน ที่ครั้งหนึ่งเคยมีค่า แต่วันนี้กลับหมดความสำคัญ กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสนใจ รับรู้แบบเป็นไปตามมารยาท
“และเพลงนี้ก็เป็นแค่เพียง เป็นเพลงที่ไร้คนรอคอย ก็เหมือนแค่เสียงลอย ๆ ไม่มีความหมาย อยากร้อง แค่ให้เธอฟัง ว่าเพลง ๆ นี้ มันดีพอไหม แต่สุดท้ายก็รู้ เพลงนี้ไม่มีความหมาย เป็นเพลงที่ไม่มีใครฟัง….”
และเป็นเพลงที่มีสัมผัสของการตัดพ้อ ที่เจือปนอยู่ในความผิดหวัง
ในแง่ของการเป็นเพลงพ็อปที่ต้องทำงาน ทั้งขายตัวเอง ขายอัลบั้มที่จะออกตามมา และบอกว่า ธงไชย แมคอินไตย์ กลับมาแล้วนะ
“เพลงที่ไม่มีใครฟัง” ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เนื้อหาโดนใจ มีวรรคทองให้จำ สะกิดความรู้สึก เมโลดีเพราะ เสียงของธงไชยก็ป่าวประกาศถึงการกลับมา ลายเซ็นของเสียงครบ รวมทั้งดึงบรรยากาศเดิม ๆ จากงานในอดีต เมื่อมีสัมผัสของการผสมผสานอารมณ์จากงานในก่อนเก่า คล้ายเป็นสมการของความเศร้าแบบ “บันทึกหน้าสุดท้าย” เคล้าไปกับการตัดพ้อแกมประชด ที่เคยได้ฟังใน “ขอบใจจริง ๆ”
หากคิดตีความให้ลึก…. เพลงที่เขียนโดยนิติพงษ์ ห่อนาคเพลงนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องการตัดพ้อคนรักเก่า แต่อาจสามารถกินความไปไกล ถึงตัวตนของเพลงนี้ ที่เป็นงานพ็อปซึ่งไม่มีใครฟังเหมือนเช่นในวันเก่า ๆ เมื่อดูจากบรรดาผลงานของศิลปินที่ได้รับความสนใจ ได้รับความนิยมในตลาดเพลงปัจจุบัน แม้จะมีศิลปินบางรายทำออกมาในแบบที่ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง หากก็เพียงได้รับแค่คำพูดถึงว่า “ก่็เพราะดีนะ” มากกว่าความนิยม แล้วก็จบ ๆ กันไป เช่นที่เนื้อร้องช่วงหนึ่งของเพลงนี้ว่าเอาไว้
“เธอก็ได้แต่ยิ้ม ได้แต่เพียงชื่นชมรักษาน้ำใจ แล้วก็เดินจากไป ไม่ให้เสียกริยา”
ที่บางที “เพลงที่ไม่มีใครฟัง” อาจไม่ได้หมายความถึงเพลงนี้เพลงเดียวเท่านั้น แต่กินความหมายรวมถึงทั้งอัลบั้ม ที่เป็นงานในสูตรสำเร็จแบบที่คุ้นเคย ได้ยิน ได้ฟัง กันมาเนิ่นนานของธงไชย แมคอินไตย์แท้ ๆ ไม่ใช่ในงานของธงไชย แมคอินไตย์ ที่พยายามเข้าไปหาแฟนเพลงกลุ่มใหม่ หรือเพื่อเปิดทางให้แฟนของศิลปินรุ่นใหม่ ๆ มาทำความรู้จัก อย่าง ‘เบิร์ด-เสก’ หรือว่า ‘มินิมาราธอน’ เห็นได้ชัดจากการที่แทบจะปลอดการฟีเฌอริงโดยสิ้นเชิง โดยเพลงเดียวที่มี ตัวเจ้าของอัลบั้มก็คือศิลปินรอง แล้วก็เป็นงานในแบบบูชาครูมากกว่า
ทำให้ ‘22’ เต็มไปด้วยเพลงที่จับคู่กับงานที่ประสบความสำเร็จของธงไชยได้แทบยกชุด ไม่ว่าจะเป็นเพลงเต้นสไตล์ “คู่กัด”, “พริกขี้หนู” เพลงที่ผสมลีลาพื้นบ้านประเภท “แฟนจ๋า”, เพลงรักน่ารัก ๆ แบบ “ต่อเวลา”, เพลงแสดงถึงความห่วงใย ละม้าย “เล่าสู่กันฟัง”, เพลงให้กำลังใจ อย่าง “เธอผู้ไม่แพ้” จากฝีมือนักแต่งเพลงมือต้น ๆ ของวงการ ทั้งรุ่นเก่า-รุ่นเก๋า-รุ่นกลาง-รุ่นใหม่ นอกจากนิติพงษ์แล้ว ก็ยังมีกมลศักดิ์ สุนทานนท์, ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม, ธนา ลวสุต, ปิติ ลิ้มเจริญ, สลา คุณวุฒิ, ธนชัย อุชชิน, อัจฉริยา ดุลยไพบูลย์, ต้า-พาราด็อกซ์ และอีกมากมาย ที่ไม่ได้ถูกประกาศชื่อเป็นข่าว และไม่รู้ว่ามีใครอีกบ้าง เมื่อในข้อมูลของบริการสตรีมิง ไม่ได้ให้เครดิตผู้คนที่อยู่เบื้องหลังเหล่านี้ ประหนึ่งบทเพลงเหล่านี้งอกเงยขึ้นมาได้เอง
ทุกเพลงเป็นงานพ็อปเต็มตัว ทั้งจากเมโลดี้สวย ๆ ฮุกที่เข้าเป้า ฟังเพียงครั้งแรก ๆ ก็สะกิดหู หรืออาจไปไกลถึงขั้นวนเวียนในหัว การเรียบเรียงดนตรีละเอียด มีครบงานขายของ งานโชว์ฝีมือ ที่ฟังได้เพลินตั้งแต่ต้นจนจบ
“เก็บ” ที่มีสองเวอร์ชัน ต่างก็มีเสน่ห์ที่แตกต่าง, “ฟ้อนทั้งน้ำตา” การจับงานพื้นบ้านมาแต่งตัวให้เข้ากับงานที่เป็นสากลได้อย่างลงตัว, “แรงบันดาลใจ ใจบันดาลแรง” ที่เสียงร้องดีงามแค่ไหน เนื้อหา-ภาษาของเพลงก็พอฟัดพอเหวี่ยงกัน ดนตรีก็ส่งอารมณ์เต็มที่ และ “สักวันต้องได้ดี” เพลงเก่าของเรวัติ พุทธินันท์ ที่ด้วยเทคโนโลยีทำให้ธงไชยร่วมร้องกับคนที่ปลุกปั้นกันมาตั้งแต่เริ่มต้น รับ-ส่งได้อย่างสวยงาม จนตัวเพลงมีความหมายและมีมิติที่ขยับขยายจากเดิม แล้วในที่สุดเพลงนี้ “สักวันก็ได้ (การเรียบเรียงที่) ดี” กับทางของเพลง และเนื้อหา รวมถึงอารมณ์ของเสียงร้อง สักที
และกับเพลงอื่น ๆ ที่รายละเอียดดนตรีมีหลากหลาย เสียงร้องของธงไชยก็รับมือได้ทุกรูปแบบ
แม้จะเป็นทางเพลงที่คุ้นกัน แนวดนตรีที่เคย ๆ หู อาจจะไม่ได้สด แต่ก็ไม่เชย หรือเป็นงานอีซีลิสนิงผู้ใหญ่ฟังที่พ้นเวลา ซาวนด์ดนตรี ลูกเล่นในการเรียบเรียงต่าง ๆ ยังทันยุค อยู่ในสมัย เป็นพ็อปโต ๆ ที่ดนตรีสมกับวัยเจ้าของอัลบั้ม เพลงเต้นไม่ได้โฉ่งฉ่าง งานตื้ดไม่ถึงกับทำให้อัตราเต้นหัวใจโดดไปโซนสี่ โซนห้า มากับบีทสนุก ๆ ที่ไม่ได้รุกเร้า เช่นที่เคยทำให้ฟลอร์คอนเสิร์ตเขย่าแบบหลายสิบปีก่อน
เหมาะสมกับวัยของแฟนเพลงที่ตามธงไชยกันมายาวนานเช่นกัน
และไม่สมควรจะเป็น “งาน” หรือ “เพลงที่ไม่มีใครฟัง” เพราะอย่างน้อยแฟน ๆ ที่ได้ยินก็คงไม่ ยิ้มแบบรักษาน้ำใจ ไม่ให้เสียกริยา แต่ยังอ้าแขนรับธงไชยเหมือนอย่างที่เคยเป็น และอาจจะฉีกยิ้มใหญ่ ๆ อ้าแขนกว้าง ๆ ด้วยซ้ำ เมื่อขวัญใจของพวกเขากลับมาเป็นเช่นที่เคยเป็น
นักร้องชั้นดี เจ้าของเสียงร้องในเพลงแบบที่ทำให้พวกเขารัก ตั้งแต่สิบกว่าปีก่อน
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 33 ฉบับที่ 8 สิงหาคม 2565
ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่