Music ReviewREVIEW

ฟังไปแล้ว Blush และ Moss อัลบัมของสาวมายา ฮอว์ก ลูกสาวพ่ออาร์ต แม่ติสต์ อีธาน ฮอว์กกับอูมา เธอร์แมน

BLUSH/ Maya Hawke
(Mom+Pop)
MOSS/ Maya Hawke
(Mom+Pop)

ลูกสาวของสองนักแสดง อีธาน ฮอว์ก และอูมา เธอร์แมน ที่คอซีรีส์น่าจะคุ้นหน้ากันดีจาก Strange Things ซีรีส์ฮิตของเน็ตฟลิกซ์ ซึ่งเธอเป็นส่วนหนึ่งในนักแสดงของเรื่องตั้งแต่ฤดูฉายที่ 3 เมื่อปี 2019 แล้วก็ไปปรากฏตัวในหนังใหญ่ อย่าง Once Upon a Time in Hollywood (2019) ของผู้กำกับเควนติน ทารานติโน และล่าสุด Asteroid City (2023) ของเวส แอนเดอร์สัน ที่ต่างก็เป็นผู้กำกับระดับหัวแถวของวงการ และแนวทางของงานมีลักษณะเฉพาะตัวชัดเจน ทั้งการเล่าเรื่อง และสไตล์

นอกจากเป็นนักแสดงแล้ว มายายังเป็นนางแบบ ซึ่งเป็นอาชีพที่เธอเริ่มต้นในวงการบันเทิงก่อนจะจับงานแสดงหนแรก ด้วยการเล่นเป็นโจ มาร์ช ใน Little Women ฉบับปี 2017 ที่เป็นงานของบีบีซี และผลงานของเธอไม่ได้มีแค่นี้ เพราะในวงการเพลง มายา ฮอวก์ ก็มีอัลบัมออกมาให้ฟังแล้วถึง 2 ชุด เริ่มจาก Blush ในปี 2020 แล้วตามด้วย Moss เมื่อปี 2022 ซึ่งน่าจะหาฟังได้ในบริการสตรีมิงทั่วไป หรือที่มีแน่ ๆ ก็ที่แอปเปิล มิวสิกมี

หากได้ฟัง…. ไม่ต้องถึงครึ่งทางของอัลบัมใดอัลบัมหนึ่งที่เปิดฟังเป็นชุดแรก ก็น่าจะรู้สึกได้ทันทีว่า ในฐานะศิลปินเพลง มายาเป็นศิลปินที่เนื้องานมีความเฉพาะตัว มีสไตล์ชัดเจน รวมถึงมีความ “ติสต์” ในตัวไม่น้อย

งานของเธอทั้งสองชุด เป็นงานในกลุ่มนักร้อง-นักแต่งเพลง และแม้จะทำงานออกมาเพียงสองอัลบัมหากก็สามารถมองถึงการเดินทางบนเส้นทางในอนาคตของเธอได้ ว่าจะเป็นไปอย่างไร ถ้าไม่มีอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์พลิกผันครั้งใหญ่ในการทำงานเกิดขึ้น เพราะจาก Blush มาถึง Moss พัฒนาการหรือการเติบโตของมายาปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจน

อัลบัมชุดแรก แม้จะมีรายละเอียดของดนตรีที่หลากหลายในแต่ละเพลง แต่ทางดนตรีส่วนใหญ่ของ Blush คือโฟล์ก-ร็อก หรือพ็อปแบบวงอินดี ที่เสียงร้องของเจ้าของอัลบัมนอกจากจะมีบทบาท มีความโดดเด่นเหนือ “เสียง” อื่น ๆ ก็ฟังราวกับเหมือนจะถูกออกแบบมาเพื่อกำหนดและควบคุมโทนของงาน ที่ด้วยน้ำเสียงซึม ๆ อารมณ์เนิบ ๆ อาจจะทำให้ฟังเนือย แต่ก็มีพลังบางอย่างที่ดึงดูดความรู้สึกเอาไว้ได้

หากจะอธิบายแบบให้พอเห็นภาพ ก็นึกถึงเสียงของเพื่อนพ่อ ลิสา โลบ เจ้าของเพลง “Stay” เอาไว้ก่อน แต่เสียงของมายาฟังห้าวมากกว่า

ดนตรีนั้นมีสีหม่น ๆ ป้ายแต่งชัดเจน และชวนให้นึกถึงศิลปินในรุ่นเดียวกันกับอาหรือป้า อย่าง ฟิโอนา แอปเปิล แต่ก็ไม่ได้ฟังเนือย หดหู่ หรือเกรี้ยวกราดนัก

จะว่าไปเพลงของมายารู้สึกถึงมุมมองในแง่บวกมากกว่า แอปเปิล ชัด

หลาย ๆ เพลงมีเครื่องดนตรีที่หลากหลายเข้ามาเพิ่มเติม บางเพลงมีการปรับเปลี่ยนแนวทางรายละเอียดดนตรี ที่ทำให้ตัวอัลบัมมีความวูบไหวเป็นระยะ ๆ ไม่ต่างไปจากการอัปบรรยากาศและอารมณ์ของเพลงรวมถึงอัลบัม

มีเสียงกีตาร์แทวงบาด ๆ ใน “So Long” ที่ชวนให้นึกถึงเพลงและดนตรีในหนังที่คุณแม่ของเธอเล่น Kill Bill ทั้งสองภาค หรือ Pulp Fiction งานของเควนติน ทารานติโนทั้งสามเรื่อง

จังหวะจะโคนสนุก ๆ ในมูดของคันทรี-โฟล์ก “Be Myself” ที่หากกลายเป็นเพลงฮิตติดหูขึ้นมา ก็น่าจะเป็นเพลงร้องเล่นตามแคมป์ไฟได้สบาย

เสียงกีตาร์เก๋า ๆ ฟังจิ๊กโก๋ของ “Animal Enough” ก็ปลุกอารมณ์ในการฟังให้กระชุ่มกระชวยได้สบาย ๆ

ส่วนเสียงร้องเศร้าเคล้าเปียโนใน “Bringing Me Down” ที่หากไปอยู่ในงานของพ็อปสตาร์สาวสักราย ก็อาจจะกลายเป็นเพลงบับเบิลกัมที่ติดหู ติดชาร์ต

และกับการที่เธอมีส่วนร่วมในการแต่งเพลงทั้งหมด การจับมายาไปอยู่ในกลุ่มของนักร้อง-นักแต่งเพลง ถือว่าตอบโจทย์ ถูกต้อง

มาถึง Moss งานชุดต่อมา มายาไม่ใช่แค่เติบโตขึ้นตามวัย แต่ในเรื่องของการทำงานก็เช่นกัน เพลงมีความชัดเจนในแนวทางดนตรี ที่เป็นงานโฟล์กเต็มตัว โดยมีอิทธิพลจากงานชุด Folklore ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ เป็นองค์ประกอบสำคัญ

เนื้องานฟังนิ่ง แข็งแรง มีชั้นเชิง กว่างานชุดแรก โดยเฉพาะเรื่องการเรียบเรียง ทั้งดนตรี ที่มีไลน์ซับซ้อน และบางเพลงก็ฟัง “ใหญ่” ขึ้น เช่น “Crazy Kid”

ทั้งการร้องประสาน ที่ช่วยเสริมเสน่ห์ให้เสียงร้องที่มากไปด้วยแรงดึงดูดของมายา ที่จับอารมณ์ได้แม่นและหลากหลายมากกว่าเดิม

บทจะซึ้งก็ซึ้งสุด บทจะเศร้าก็เอาตายได้เลย อย่างที่ได้ยินใน “Hiatus”

หรือ “Sweet Tooth” ที่ฟังสดใส เสียงร้องก็มากไปด้วยความรู้สึกในเชิงบวก ที่หลับตาเห็นภาพสายลม แสงแดดเบา ๆ ได้จากทั้งซาวนด์ของดนตรี และเสียงร้อง

“South Elroy” ก็มีลูกเล่นน่ารัก ๆ จากพวกเครื่องเคาะ เครื่องเป่าผิว และ “Restless Moon” ก็เป็นคันทรี-โฟล์กที่ฟังแปลกและแตกต่าง ที่พอจะต่อคำขยายได้ว่า ในแบบของมายา เพราะไม่ใช่งานตามแพ็ทเทิร์นที่เคยได้ยินกันจริง ๆ

โดยที่ไม่ต้องพูดถึงเรื่องราวที่นำเสนอ เอาแค่งานดนตรีที่ได้ฟัง Moss เป็นงานที่คลี่คลาย และให้ความรู้สึกที่สว่าง มากกว่า Blush

แล้วหากจะถามถึงเพลงโชว์ของ “Thérèse” ซิงเกิลแรกของอัลบัม คือคำตอบของคำถามนี้ ที่มีทั้งความซับซ้อนของอารมณ์เพลง ที่ส่งผลไปถึงการใช้เสียงของมายา ทั้งการเรียบเรียง ที่มีการใช้งานเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์มาเสริม รวมถึงเครื่องดนตรีไฟฟ้า ที่ทำให้ภาคดนตรีมีมูฟเมนต์ที่หลากหลาย

และเป็นเพลงที่แสดงถึงการเติบโตในฐานะนักดนตรี นักร้อง ของมายาได้อย่างชัดเจน

 

ปิดท้ายด้วยเรื่องราวของนักร้องหญิง ทายาทนักแสดงรายนี้ มายาเคยบอกว่า ดนตรีโฟล์กมีอิทธิพลกับงานเพลงของเธอ และศิลปินที่มีอิทธิพลกับเธอก็คือ เลิร์นเนิร์ด โคเฮน, แพ็ตตี สมิธ และโจนิ มิตเชลล์ นอกจากนี้เธอยังได้แรงบันดาลใจในการแต่งเพลงจาก นักแต่งเพลง อย่าง โคเฮน และบ็อบ ดีแลน แล้วเสริมอีกด้วยว่า “ดนตรีคือวิธีที่ดีที่สุดในการสื่อสารออกมาเป็นกวี”

ที่หวังว่า… คงไม่มีอุบัติเหตุทางดนตรี หรือเหตุการณ์พลิกผัน ที่ทำให้เธอหลุดออกนอกเส้นทางนี้ไปไหน เพราะจากที่ผ่านมาและเป็นไป อะไร ๆ กำลังดำเนินไปได้ด้วยดี และสวยงามเหลือเกิน

โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน นิตยสารสีสัน ปีที่ 34 ฉบับที่ 7 กันยายน 2566

ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.