กลายเป็นข่าวช็อควงการเพลง เมื่อตำนานดนตรีอิเล็กทรอนิกาชาวอังกฤษ และนักร้องนำของวง The Prodigy คีธ ฟลินท์ ถูกพบว่าเสียชีวิตเมื่อเช้าวันที่ 4 มีนาคม ด้วยวัยเพียง 49 ปี หลังจากสร้างสรรค์ผลงานเพลงมากมายมาตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา
แม้เลียม ฮาว์เล็ทท์ จะได้ชื่อว่าเป็นมันสมองสำคัญของวง แต่เมื่อพูดถึงการแสดงสดและหน้าตาของเดอะ โพรดิจิ นับตั้งแต่ตั้งวงในปี 1990 คำตอบก็คือ ฟลินท์ ที่พลังอัดแน่นบนเวทีของเขายากที่จะหาใครมาเทียบ ขณะที่ศิลปินในโลกดนตรีอิเล็กทรอนิกส์คนอื่นมักอยู่หลังเทิร์นเทเบิล แต่ฟลินท์จะพล่านไปทั่วเวที ไม่ว่าจะเป็นการแสดงแบบหลังชนฝาในคลับใต้ดินเล็กๆ ตอนยุคแรกของวง หรือต่อหน้าฝูงชนมหาศาลบนเวทีใหญ่ของเทศกาลดนตรีกลาสตันเบอร์รี, ครีมฟิลด์ส หรือที่ เรดดิงกับลีดส์ ฟลินท์คือคนที่ทำให้ทุกโชว์เต็มไปด้วยประสบการณ์อันน่าจดจำ
เพื่อรำลึกถึงผู้ชาย ที่เป็นกระบอกเสียง และหน้าตา รวมไปถึงพลังที่พุ่งเข้าหาผู้ชมของเดอะ โพรดิจี ที่จากไปไม่มีวันหวลกลับ นี่คือเพลงดีๆ ของวงดนตรีวงนี้ที่ไม่ควรพลาดฟัง
Smack My Bitch Up: ลืมวิดีโอที่ใช้ลูกเล่นช็อคคนดูไปซะ ซิงเกิลหม่นๆ ในเชิงเสียดสีเพลงนี้ มีดีอยู่ในตัวมันเองอยู่แล้ว ด้วยจังหวะแน่นตึ้บราวกับอุโมงค์ลมและเสียงซินธ์ที่เร้าอารมณ์ ที่เปิดรูหนอนแห่งสรรพเสียงให้กับโลกดนตรีในยุค 90
Run with the Wolves: “Invaders Must Die” อาจเจอกับคำวิจารณ์แสบๆ จากการที่ไม่สามารถขยับขยายซาวนด์ของวงออกไปได้สำเร็จ แต่ซิงเกิลนี้ที่มีเดฟ โกรห์ลเล่นกลอง กลับปิดจ็อบได้อย่างสวยงาม ตลอดความยาว 4 นาทีกว่าๆ เสียงตุ๊บๆ อันหนักแน่นในเพลงนี้ จะวิ่งพล่านอยู่ในหัวของคุณ ตั้งแต่ต้นจนจบ
Wild Frontier: อัลบัม The Day is My Enemy ไม่ใช่งานที่ขาดชีวิตชีวา แต่จริงๆ แล้วเดอะ โพรดิจีเปลี่ยนพลังจากงานยุคแรกๆ ให้เป็นพื้นที่สร้างความบันเทิงมากกว่า ซึ่ง “Wild Frontier” ก็ทำให้หลายๆ คนจดจำได้ว่าวงอย่าง Klaxons ของยุค 2000 เป็นหนี้วงดนตรีวงนี้ขนาดไหน
No Good (Start the Dance): ซิงเกิลจากปี 1994 ของวงที่เปรียบได้กับลูกพีชที่หวานฉ่ำ ด้วยการแซมพลิงเสียงร้องแสนรื่นรมย์ของเคลลี ชาร์ลส์ มาใช้กับเครื่องกำเนิดเสียงอันทรงพลังของพวกเขา ก่อนจะโยนเข้าไปในความวุ่นวายของดนตรีเบรคบีท ที่ฟังเหมือนคีย์บอร์ดส์กับใบมีดกำลังถูกผสมให้เข้ากันด้วยเครื่องปั่นทำจากซีเมนท์ความเร็วสูง
Omen: มาก่อน “The Day is my Enemy” ซึ่งก้าวร้าวและดุดันมากกว่า แต่นี่คืองานที่เป็นไฮไลท์สำคัญของอัลบัม Invaders Must Die เมื่อปี 2009 ที่หากเกิดสงสัยว่าจะเป็นยังไง หากโปรดิวเซอร์อย่าง ฮัดสัน โมฮอวค์ระโดดขึ้นยานลำเดียวกับคัลวิน แฮร์ริส แล้วทำเพลงที่พุ่งเป้าไปที่ชาร์ทเพลงป็อป คำตอบก็คงไม่พ้นเพลงนี้
Ibiza (ร่วมงานกับ เจสัน วิลเลียมสัน): ใครก็ตามที่มองเห็นความเป็นไปได้บางอย่าง สำหรับการจับคู่กันของเดอะ โพรดิจีและวง Sleaford Mods สมควรได้รับเบียร์หลายๆ แก้ว เมื่อทั้งคู่ผสมผสานดนตรีเบรคบีและความกราดเกี้ยวเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะเนื้อร้องที่พุ่งเป้าที่พวกคนที่รวยไม่จริง ซึ่งทำให้หาดทรายขาวๆ ของเกาะอิบิซาถึงกับลุกไหม้
Voodoo People: เดอะ โพรดิจีขยับขยายกลุ่มแฟนของพวกเขาบนเกาะอังกฤษไปเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลาการทำงาน และเพลงนี้ก็แสดงให้เห็นว่า พวกเขาไม่ต่อต้านการนำซาวนด์และแนวทางดนตรีที่ได้รับความนิยมตอนนั้นเข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นกีตาร์ริฟฟ์ 3 คอร์ดแบบนู-เมทัลที่กำลังเฟื่องในตอนนั้น รวมถึงเสียงกีตาร์ครางหึ่งๆ และเสียงซินธ์ที่ฟังไม่ต่างจากเลื่อยไฟฟ้า ไหนจะเสียงฟลู้ททางแจ๊ซซ์ที่แซมพ์จากเพลง “You’re Starting Too Fast” ของจอห์นนี แพพท์ นี่คือหนึ่งในเพลงสำคัญของวงการดนตรีเรฟต้นยุค 90 และเป็นที่สุดของอัลบัม album Music For A Jilted Generation ในปี 1994 ที่ถูกนำมารีมิกซ์ใหม่ในปี 2005 โดยเพนดูลัม ซึ่งได้เสียงกีตาร์ของ ทอม โมเรลโลจาก Rage Against the Machine ใส่เข้ามาในเพลง
Charly: หนึ่งในซิงเกิลจากยุคแรกๆ ของวง และเป็นหนึ่งในเพลงที่เจ็บที่สุดของพวกเขา ที่แซมพลิงเสียงประกาศในแอนิเมชัน Charley Says จากยุค 70 มาผสมผสานกับซินธ์ที่ชวนงุนงง, เสียงกลองที่คำรามอย่างกับฟ้าผ่า รวมไปถึงเสียงงุ้งงิ้งของแมวการ์ตูน ทำให้เพลงนี้กลายเป็นผู้นำเทรนด์ การแซมพลิงเพลงจากรายการสำหรับเด็ก มาใช้กับเพลงที่บีทหนักๆ รวมไปถึงเป็นเพลงฮิตเซอร์ไพรส์ในปี 1992 ที่ขึ้นไปถึงอันดับสามบนเกาะอังกฤษ สร้างตัวตนให้กับวัฒธรรมดนตรีเรฟที่แตกต่างไปจากวัฒนดนตรีอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น ความสำเร็จของมันยังทำให้วัฒนธรรมนี้เข้าถึงคนหมู่มาก
Breathe: หลังจากความสำเร็จของซิงเกิล “Firestarter” ซิงเกิลฮิตจากปี 1996 เพลงนี้ ไม่ต่างไปจากการตีเหล็กเมื่อไฟยังแรง เมื่อกลายเป็นเพลงที่ทะลุโดนใจและได้รับความนิยมไปทุกหย่อมหญ้าอย่างรวดเร็ว ที่ถ้าตัวเพลงยังไม่กระตุ้นหัวใจให้เต้นแรงมากพอ แรงส่งจากวิดิโอก็ช่วยทำให้เพลงนี้ไปถึงจุดหมายเร็วขึ้น โดย Breathe ได้ชื่อว่าเป็นเพลงอันดับ 1 เพลงที่สองและเพลงสุดท้ายของวง ที่ไม่ว่าจะเป็นเพลงนี้ หรือ “Firestarter” ฟลินท์ก็คือเจ้าของบทบาทสำคัญทั้งเสียงร้องที่โดดเด่น สำหรับช่วงเวลาที่ได้ชื่อว่าเยี่ยมยอดที่สุดของเดอะ โพรดิจี
Breathe ยังได้ชื่อว่าเป็นเพลงที่ทางวงเอามาเล่นบ่อยที่สุด จนถือว่าการแสดงที่ทำให้ผู้ชมลืมหายใจจะสมบูรณ์ไม่ได้เลยหากขาดเพลงนี้
Firestarter: เพลงที่เปรียบได้กับลายเซ็นของเดอะ โพรดิจี ที่ดนตรีทั้งเร่งเร้าและคุกคาม “Firestarter” กลายเป็นเพลงอันดับ 1 ในอังกฤษเพลงแรกของวง และแน่นอนนี่คือเพลงที่เด่นที่สุดในอัลบัม The Fat Of The Land เมื่อปี 1997 ที่ได้ชื่อว่าเป็นงานมาสเตอร์พีซของพวกเขา รวมทั้งยังเป็นเพลงที่พาเดอะ โพรดิจี ไปพบกับความสำเร็จในอีกระดับหนึ่ง ยกสถานภาพของวงจากการเป็นวงโปรดของคอเพลงเต้นรำแบบคัลท์ ไปสู่การเป็นชื่อที่ใครๆ ก็รู้จักหรืออย่างน้อยก็เคยได้ยิน ด้วยเสียงเบสและกลองกระตุ้นความรู้สึกที่เต้นอย่างเป็นจังหวะ ขณะที่เสียงร้องของฟลินท์ ก็เป็นการนำเอาลักษณะการพูดแบบคนแถบเอสเซ็กส์มาใช้ในเพลงได้อย่างมีประโยชน์
Out of Space: นับตั้งแต่ถูกตัดเป็นซิงเกิลในปี 1992 “Out of Space” คือซาวนด์แทร็คของงานปาร์ตีรอบกองไฟ, ความบันเทิงในห้องนั่งเล่น และกิจกรรมฟังเพลงผ่านหูฟัง ที่กลายเป็นเพลงที่วิ่งวนอยู่ในศรีษะ ที่มีท่อนฮุคจากเพลง “Chase the Devil” ของแม็กซ์ โรมีโอ ที่โปรดิวซ์โดยลี เพอร์รี เป็นตัวนำทาง แล้วก็ตามด้วย “Critical Beatdown” ของ Ultramagnetic MCs ที่แปะแต่งด้วยเสียงซินธ์ที่วุ่นวายกับเสียงแซมพลิงที่ฟังไม่ปกติ ซึ่งพร้อมจะเปิดกะโหลกของคุณ
“Out Of Space” คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นในการใช้แซมพลิงของวง รวมไปถึงนำเสนอจินตนาการและความคล่องแคล่วของเลียม ฮาวเล็ทท์ และเป็นตัวอย่างที่แสนมหัศจรรย์ของการนำดนตรีที่องค์ประกอบแตกต่างกันสุดๆ มาผสมผสานกันเพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในไฮไลท์แรกๆ ในการทำงานของวง ซึ่งปล่อยเพลงนี้มาเป็นซิงเกิลที่สี่ในชีวิตการทำงาน และได้ชื่อว่าเป็นอีกเพลงที่ถูกนำไปเล่นบ่อยๆ บนเวทีคอนเสิร์ต แม้จะไม่มีเสียงร้องของฟลินท์ แต่นี่คือเพลงที่การแสดงของเขาทำให้กลายเป็นเพลงที่ถูกร้องตามดังสนั่นทุกครั้ง เมื่อดังขึ้นมา
โดย นพปฎล พลศิลป์ เรื่อง ย้อนดูเพลงดีของ The Prodigy รำลึกถึงคีธ ฟลินท์ ผู้จากไป คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ไทยโพสท์ วันที่ 6-7 มีนาคม 2562