FEATURESMovie Features

ย้อนอดีตความสำเร็จของคริสโตเฟอร์ โนแลน จาก Memento ถึง Dunkirk

หลังเลื่อนฉายจากกำหนดเดิมในวันที่ 17 เดือนกรกฎาคม เนื่องจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้โรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่ต้องปิดให้บริการมาเป็น 31 กรกฎาคม แต่เมื่อสถานการณ์ไม่ดีขึ้น Tenet ผลงานเรื่องที่ 11 ของคริสโตเฟอร์ โนแลน ก็โดนโรคเลื่อนเล่นงานอีกครั้ง โดยวางกำหนดฉายไว้ในวันที่ 12 สิงหาคม

 

หากท้ายที่สุด สถานการณ์การระบาดในสหรัฐอเมริกาก็ไม่คลี่คลาย ทำให้ทางวอร์เนอร์ บราเธอร์ส ตัดสินใจถอดหนังออกจากโปรแกรมแบบไม่มีกำหนด ก่อนจะประกาศกำหนดฉายใหม่ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการเปิดตัวของภาพยนตร์ระดับบิกแบบนี้โดยสิ้นเชิง เมื่อจะเปิดตัวกันก่อนในวันที่ 26 สิงหาคมใน 7 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย, แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, รัสเซีย และสหราชอาณาจักร ตามด้วยพื้นที่อื่นๆ ของโลก ส่วนที่สหรัฐอเมริกา Tenet วางกำหนดฉายเอาไว้วันที่ 3 กันยายน หรืออีกราวๆ 1 สัปดาห์ต่อมา เฉพาะโรงภาพยนตร์ในรัฐที่การระบาดหรือมีความเสี่ยงต่ำ

แม้วอร์เนอร์ฯ ต้องสูญเงินในการทำการตลาดกับหนังไปถึงราวๆ 200,000 – 400,000 เหรียญ แต่กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ Tenet คือความหวังสำหรับการดึงผู้ชมกลับเข้าโรงภาพยนตร์อีกครั้ง รวมถึงเป็นหนังบล็อคบัสเตอร์เรื่องแรกและเรื่องสุดท้ายก็ว่าได้ที่เปิดตัวในฤดูฉายซัมเมอร์ของปีนี้

ชอว์น ร็อบบินส์ จากเว็บไซท์ BoxOffice.com ได้มองย้อนความสำเร็จของคริสโตเฟอร์ โนแลน จากผู้กำกับรุ่นใหม่ที่น่าจับตา มาเป็นผู้กำกับคนสำคัญในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทุกวันนี้ และนี่คือเรื่องราวเหล่านั้น

ถึงจะมีผู้กำกับสร้างสรรค์ผลงานออกมามากมาย หากก็มีไม่กี่คนที่อยู่ในกลุ่มยอดฝีมือ ที่จะกลายเป็นชื่อสามัญประจำบ้าน สำหรับคอหนังในทุกยุคทุกสมัย และต่อให้ชื่อคริสโตเฟอร์ โนแลนอยู่ในรายชื่อของผู้กำกับเหล่านี้ อย่าง สตีเวน สปีลเบิร์ก, เควนติน ทารานติโน, เจมส์ คาเมรอน และมาร์ติน สกอร์เซซี หรือไม่ก็ตาม แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ชื่อและผลงานของเขากลายเป็นที่ถกเถียงทั้งในกลุ่มของคอหนังและผู้คนที่เกี่ยวข้องกับบ็อกซ์ ออฟฟิศ แต่ประเด็นต่างๆ ที่หยิบยกมาพูดคุยกันนั้น ล้วนเป็นไปในแง่ของการชื่นชม และหนุนให้เขาเป็นหนึ่งในผู้กำกับเหล่านั้น

โดยเฉพาะกับความสำคัญของ Tenet ที่มีต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์

ในเครดิตของผู้กำกับที่กุมทุกอย่างในผลงานของตัวเอง โนแลนมีงานที่ออกฉายในวงกว้างถึง 8 เรื่อง และมี 2 เรื่องที่ฉายกันในวงจำกัด ซึ่งเป็นงานในยุคแรกๆ ของเขา ที่ได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์ เมื่อดูรายได้ในบ็อกซ์ ออฟฟิศ โนแลนทำเงินให้ธุรกิจภาพยนตร์ถึงกว่า 2 พันล้านเหรียญ เฉพาะในตลาดอเมริกา แล้วหากดูรายได้ทั่วโลกจะอยู่ที่เกือบๆ 4.8 พันล้านเหรียญ ซึ่งมากกว่าทุนสร้างที่ใช้ไปถึง 4 เท่า เมื่อโนแลนใช้งบสร้างหนังเรื่องที่ผ่านๆ มารวมกันอยู่ที่ประมาณ 1.1 พันล้านเหรียญ โดยมากกว่าครึ่งหมดไปกับหนังไตรภาคมนุษย์ค้างคาว

ตามกฏง่ายๆ ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ หนังที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจโดยเฉลี่ยทั่วๆ ไป ก็คือหนังที่ทำรายได้ทั่วโลกอย่างน้อย 2 เท่าของทุนสร้าง ด้วยผลลัพธ์ที่ทำได้ โนแลนไม่ใช่แค่คนทำหนังขวัญใจของผู้ชม แต่ยังเป็นคนโปรดของสตูดิโอด้วยการทำงานที่เป็นมืออาชีพเต็มร้อย ทำหนังเสร็จออกฉายตรงเวลา, ไม่เกินงบ และประสบความสำเร็จตามเป้าอย่างต่อเนื่อง

ในวัย 50 ปีหมาดๆ เมื่อ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา โนแลนยังคงมีปีที่ดีอีกหลายๆ ปีรออยู่ข้างหน้า เพื่อที่จะสานต่อการเป็นคนทำหนังที่มีอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์โลก ซึ่งอาจจะเริ่มต้นจาก Tenet หนังเรื่องที่ 11 ของเขา ที่กลายเป็นงานกุมชะตาชีวิตโรงภาพยนตร์ โดยส่วนใหญ่ของโลกก็ยอมรับอย่างมีเหตุมีผล ทำให้ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่ดีกับการมองย้อนการทำงานของโนแลน ผู้กำกับที่สร้างเวลาดีๆ ให้กับบรรดาคอหนังตลอดเวลาที่ผ่านมา

– ไม่ต้องเรียนภาพยนตร์ ว่ากันที่พรสวรรค์ล้วนๆ
แม้จะเป็นคนที่รู้ลึกและรู้จริงเกี่ยวกับลักษณะต่างๆ หรือองค์ประกอบของภาพยนตร์ แต่โนแลนไม่เคยเรียนภาพยนตร์ หากเป็นการพึ่งพาทักษะความสามารถของตัวเอง เป็นการศึกษาในแบบดั้งเดิม และมีศักยภาพในการเรียนรู้เป็นเชื้อเพลิงสำคัญสำหรับการเติบโตในฐานะคนทำหนัง

“พูดกันชัดๆ ไปเลย ผมไม่ได้เรียนภาพยนตร์ เพราะผมไม่สามารถเข้าเรียนภาพยนตร์ได้” โนแลนพูดในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เมื่อปี 2018 “พ่อผมรู้ว่าผมอยากเป็นคนทำหนัง เขาเลยแนะนำให้ผมเรียนวิชาที่เขาบอกว่า เป็น ‘การเรียนให้ได้ความรู้ในเรื่องที่เป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ’ เพราะฉะนั้นผมเลยมองหาบางอย่างที่สามารถช่วยได้”

โนแลนเล่าต่อ “ผมเรียนวิชาภาษาอังกฤษ เพราะเป็นเรื่องวิชาการที่ผมทำได้ดีที่สุด แล้วผมก็พบว่า มันมีความสำคัญอย่างมากกับกระบวนการทำหนังของผม, การเขียนของผม ผมเริ่มรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นกับแนวคิดของวรรณกรรมมากมาย ซึ่งให้ความสำคัญกับการวิจารณ์ภาพยนตร์”

ระหว่างเรียนที่มหาวิทยาลัยลอนดอน (University College London) ในช่วงก่อร่างสร้างตัว โนแลนเขียนบทและกำกับ Tarantella หนังสั้นเรื่องแรกจากจำนวนหลายๆ เรื่องในปี 1989 แล้วหลังจากนั้นก็มี Larceny ตามมาในปี 1996 แต่เป็น Doodlebug ในปี 1997 และ Following หนังยาวเรื่องแรกเมื่อปี 1998 ที่ทำให้เขาได้รับความสนใจจากแวดวงหนังประกวดและงานเทศกาลภาพยนตร์ โดยเขาเขียนบท, อำนวยการสร้าง และกำกับหนังทั้งสี่เรื่องด้วยตัวเอง และยังทำงานอีกหลายๆ อย่างเบื้องหลังผลงานเหล่านี้

ไม่นานหลังจากนั้น โนแลนก็ได้งบสร้างก้อนสำคัญก้อนแรก ซึ่งเป็นจำนวนเงินเพียงน้อยนิดแค่ 9 ล้านเหรียญ หากก็มากพอจะได้กาย เพียร์ซ, แคร์รี-แอนน์ มอสส์ และ โจ แพนโทลิอาโน มาร่วมงาน ในหนังอินดี ดูดิบๆ ชื่อ Memento

หนังดัดแปลงจากงานของน้องชาย – โจนาธาน โนแลน ซึ่งเขียนเป็นเรื่องสั้นที่ตัวเองเป็นเจ้าขอไอเดียตั้งต้น Memento ได้รับคำชื่นชมมหาศาลจากบรรดาคอหนังทั้งหลาย นิวมาร์เก็ท ฟิล์มส์ (Newmarket Films) ปล่อยหนังออกฉาย 11 โรงในเดือนมีนาคม 2001 โดยทำรายได้ถึง 235,488 เหรียญในสัปดาห์เปิดตัว แถมมีรายได้เฉลี่ยต่อโรงสูงถึง 21,408 เหรียญ ซึ่งถือว่าดีมากๆ สำหรับคนทำหนังโนเนมที่เพิ่งเริ่มต้นทำการเดินทางในโลกภาพยนตร์อันกว้างใหญ่

Memento ค่อยๆ เพิ่มโรงฉายไปทั่วประเทศในอีกสัปดาห์และอีกหลายๆ เดือนต่อมา โดยมีจำนวนโรงมากที่สุด 531 โรงในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม และทำเงินได้เกินล้านเหรียญต่อสัปดาห์ ถึง 7 สัปดาห์ไม่ต่อเนื่องกัน พอปิดการฉายในโรงภาพยนตร์ Memento ทำเงินในสหรัฐอเมริกาไปถึง 25.5 ล้านเหรียญ และเกือบๆ 40 ล้านเหรียญทั่วโลก ประสบความสำเร็จด้านรายได้มหาศาล ขณะเดียวกันโนแลนก็ได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรกในสาขาบทดั้งเดิมยอดเยี่ยม

ไม่ต่างไปจากงานชิ้นแรกๆ ในตอนเป็นนักศึกษา Memento สร้างรากฐานให้กับสิ่งที่กลายเป็นธีมในการทำงานของโนแลนในเวลาต่อๆ มา ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับโครงสร้างในการเล่าเรื่องที่ใช้เวลาเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ เพื่อทำให้ผู้ชมเกิดความสงสัยและเกาะติดอยู่กับเรื่องราว ตัวหนังเองก็ทำคะแนนได้สูงที่สุดในผลงานทุกเรื่องของโนแลน โดยได้ค่าความสด 93 และ 94% จากนักวิจารณ์และผู้ชมตามลำดับบนเว็บมะเขือเน่า ในปี 2017 Memento ถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในหนังที่ถูกเก็บรักษาในการลงทะเบียนภาพยนตร์แห่งชาติของห้องสมุดสภาคองเกรสส์สหรัฐอเมริกา

วอร์เนอร์ บราเธอร์ส ไม่ยอมเสียเวลาให้ผ่านไป สตูดิโอจ้างคนทำหนังหนุ่มมากพรสวรรค์มากำกับ Insomnia งานรีเมคหนังอาชญากรรม-ระทึกขวัญของนอร์เวย์ ที่หนึ่งในความโดดเด่นของหนังก็คือ การเป็นงานเรื่องสุดท้าย (ในตอนนี้) ของโนแลนที่เขาไม่ได้เป็นเจ้าของเครดิทในการเขียนบท ซึ่งตกเป็นของฮิลลารี ไซท์ซ์ ที่งานต่อจากนั้นคือเขียนบทหนัง Eagle Eye ในปี 2008

โนแลนได้โอกาสสำคัญอีกอย่างหนึ่ง เมื่อได้ทำงานกับนักแสดงเอ-ลิสท์ ที่รู้จักกันดีถึงสามราย อัล ปาชิโน, โรบิน วิลเลียมส์ และฮิลลารี สแวงค์ ที่เพิ่งได้ออสการ์ตัวแรกมาหมาดๆ จาก Boys Don’t Cry ในปี 2000

หนังใช้งบสร้างระดับกลางๆ 46 ล้านเหรียญ และเปิดตัวในวันรำลึกถึงทหารผ่านศึกในสหรัฐอเมริกา เดือนพฤษภาคม 2002 ด้วยรายได้สวยงาม 26.1 ล้านเหรียญจากสุดสัปดาห์หยุดยาว 4 วัน รั้งอันดับ 3 เป็นรองรายได้สัปดาห์ที่สองของ Star Wars: Episode II – Attack of the Clones และสัปดาห์ที่สี่ของ Spider-Man

Insomnia เป็นงานที่คนดูชอบและประสบความสำเร็จทางรายได้ เมื่อทำเงินในสหรัฐฯ 67.4 ล้านเหรียญ และทำรายได้รวมทั่วโลกถึง 113.8 ล้านเหรียญ

– ตอบรับเสียงเรียกจากหนังบล็อคบัสเตอร์
กับการเริ่มต้นการเป็นคนทำหนังในฮอลลีวูดด้วยวัย 30 ต้นๆ โนแลนเปิดตัวด้วยหนังสองเรื่องที่ทำได้ดีทั้งสองเรื่อง วอร์เนอร์ฯ ประทับใจกับการทำงานที่มีศิลปะและไว้ใจได้ในความเป็นมืออาชีพของโนแลน จนกล้าลงเดิมพันครั้งใหญ่ที่สตูดิโอไม่กี่แห่งมี กับคนที่กำลังจะได้ทำหนังทุนสูงจริงๆ เรื่องแรกของตัวเอง

ตอนนั้นหนังชุด Batman ถูกเก็บเข้ากรุมานานเป็นทศวรรษ หลังจากคำวิจารณ์ที่ย่ำแย่ และรายได้ที่ไม่ดีนักของ Batman & Robin ในปี 1998 ตามด้วยความพยายามที่จะปลุกขึ้นมาอีกหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การตัดสินใจที่เกือบจะเป็นความผิดพลาดด้วยการเลือกดาร์เรน อะโรนอฟสกีมากำกับ แต่โนแลนกับเดวิด เอส. โกเยอร์ ผู้ร่วมเขียนเรื่องทำให้สตูดิโอมั่นใจว่า ตอนนี้เป็นเวลาที่ใช่และมีมุมมองที่เหมาะสม

Batman Begins เปิดตัวในเดือนมิถุนายน 2005 หนังได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ ส่วนแฟนๆ ก็ให้ความพึงพอใจในทันทีสำหรับการเป็นหนังที่สร้างจากนิยายภาพ ที่ใช้วัตถุดิบต้นทางอย่างเป็นจริงเป็นจัง รวมทั้งทำได้เหนือความคาดหวังที่มีต่อหนังในแนวทางนี้

ด้วยรายได้เปิดตัวในทวีปอเมริกาเหนือ 5 วัน 72.9 ล้านเหรียญ ถือเป็นงานฮิตสำหรับมาตรฐานจากผลงานก่อนๆ หน้าของโนแลน แต่เป็นการเปิดตัวที่น่าผิดหวังเมื่อเทียบกับความสำเร็จในช่วงปลายยุค 1980s ถึงกลางยุค ’90s ของหนังชุดนี้ ผู้ชมทั่วๆ ไปต้องการความมั่นใจในการกลับมาสู่โลก ที่ครั้งหนึ่งเต็มไปด้วยตัวละครสีสันจัดจ้าน, ตัวละครมีนัยเสียดสี ของหนังในตอนกลาง-ปลายยุค ’90s ขณะที่แผนการตลาดของสตูดิโอสำหรับ Begins ก็ขาดความชัดเจน เมื่อปล่อยสปอตโทรทัศน์แย่ๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยเพลงป็อปออกมา ซึ่งไม่ได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่โนแลนตั้งใจจะนำเสนอ และมีความโดดเด่นอย่าง งานดนตรีประกอบที่ได้รับความนิยมของฮานส์ ซิมเมอร์ และเจมส์ นิวตัน โฮเวิร์ด ซึ่งกลายเป็นงานที่ช่วยสร้างนิยามให้กับงานไตรภาคชุดนี้ในเวลาต่อมา

แต่การทำงานของเสียงปากต่อปากเกิดขึ้นทันที ในสุดสัปดาห์ที่สอง Batman Begins ยังอยู่ในอันดับ 1 บนบ็อกซ์ ออฟฟิศ และไม่หลุดจากห้าอันดับแรกเลยในการฉายห้าสัปดาห์แรก เรื่องราวตอนกำเนิดที่ทำได้อย่างยอดเยี่ยมเต็มไปด้วยพลังที่หาได้ยากยิ่งจากหนังภาคต่อทุนสูงในตอนนั้น ท้ายที่สุดหนังทำเงินในสหรัฐฯ 205.3 ล้านเหรียญ และจบด้วยรายได้รวมทั่วโลก 371.9 ล้านเหรียญ รั้งอันดับ 8 หนังทำเงินสูงสุดในอเมริกาของปีนั้น และอันดับ 10 สำหรับหนังทำเงินสูงสุดทั่วโลก

ด้วยทุนสร้าง 150 ล้านเหรียญ Begins ไม่ได้สร้างผลกำไรได้ในแบบที่หนังโนแลนเรื่องแรกๆ ทำได้ แต่เขาทำทุกอย่างได้ตามที่สตูดิโอหวังในการปลุกชีพหนังชุด ซึ่งรู้ดีว่าอาจจะมีงานที่ยากขึ้นที่ต้องเผชิญ เมื่อเป็นการทำงานที่นำไปสู่ภาคต่อ ได้อย่างมีแสงสว่างเรืองรอง ว่ากันว่าหนังได้รายได้มากขึ้นจากการนำออกมาฉายใหม่ ซึ่งรายได้รวมพุ่งไปถึง 400 ล้านเหรียญ แต่ไม่มีการยืนยันตัวเลขนี้อย่างเป็นทางการออกมา

ก่อนที่จะลงมือทำหนังภาคต่อเรื่องแรกในชีวิต โนแลนโดดกลับไปหาหนังทุนสร้างระดับกลางๆ The Prestige ในปี 2006 ซึ่งเขาร่วมเขียนบทกับน้องชาย – โจนาธานอีกครั้ง โดยดัดแปลงจากนิยายของคริสโตเฟอร์ พรีสท์ โนแลนได้ทำงานกับดารานำจาก Batman – คริสเตียน เบล ร่วมด้วยฮิวจ์ แจ็คแมน, สคาร์เล็ทท์ โยแฮนส์สัน และรีเบ็คกา ฮอลล์ เพื่อนำเสนออีกหนึ่งหนังระทึกขวัญกระตุ้นความคิด แต่หนนี้เหตุการณ์จะเกิดขึ้นในโลกของนักมายากล ช่วงปลายศตวรรษที่ 19

The Prestige ใช้ทุนสร้างไป 40 ล้านเหรียญ และจัดจำหน่ายโดยดิสนีย์ หนังดึงคนดูได้อย่างน่าพอใจในสัปดาห์แรก ซึ่งก็ต้องขอบคุณการเป็นงานรวมดาวที่ทำให้หน้าหนังแข็งแรง และชื่อเสียงที่เพิ่มมากขึ้นของโนแลนเอง หนังเปิดตัวในอันดับที่ 1 ของบ็อกซ์ ออฟฟิซด้วยรายได้ 14.8 ล้านเหรียญในเดือนตุลาคม ทำให้เป็นงานเปิดตัวในวงกว้างเรื่องแรกของโนแลนที่ฉายนอกซัมเมอร์

หนังถือว่าเสมอตัวสำหรับการเป็นงานของโนแลน และเป็นหนังอีกเรื่องที่ค่อยๆ ได้รับการตอบรับที่แข็งแรงมากขึ้น โดยสามารถอยู่ในโรงได้จนถึงช่วงสัปดาห์แรกๆ ของปี 2007 เลยทีเดียว The Prestige ทำเงินในอเมริกา 53.1 ล้านเหรียญ และทำรายได้รวมทั่วโลก 109.7 ล้านเหรียญ

โนแลนตามกระแสของบรรดาคนทำหนังรุ่นใหม่มากพรสววรค์ ที่พุ่งเข้าหาการทำงานหนังทุนสูงตั้งแต่การทำงานในช่วงแรกๆ ของตัวเอง ด้วยการกลับไปทำงานกับวอร์เนอร์ฯ ที่เป็นการสานต่อความสำเร็จจาก Batman Begins ที่หลายๆ คนรอคอยอย่างคลั่งไคล้ และยังเป็นการกลับไปทำหนังซัมเมอร์ ซึ่งกลายเป็นกำหนดการฉายตามปกติสำหรับเขานับตั้งแต่นั้น

ก่อนจะออกฉาย The Dark Knight ได้ใจคนดูไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็ต้องขอบคุณแผนการตลาดที่เดินหน้าอย่างต่อเนื่องของวอร์เนอร์ฯ ซึ่งเริ่มด้วยการปล่อยทีเซอร์มายั่วน้ำลายคอหนังล่วงหน้าถึง 1 ปี แล้วส่งฉากเกริ่นนำฉบับไอแม็กซ์แปะหัวหนัง I Am Legend ในเดือนธันวาคม 2007

ด้วยฉากที่ว่าและการทำการตลาดในภาพรวม ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวละครโจเกอร์ของฮีธ เล็ดเจอร์ ที่รูปโปสเตอร์ถูกใช้เป็นภาพหลักของแคมเปญจน์โฆษณาในแบบไวรัล ทำให้หนังเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกรายแรกๆ ของการทำการตลาดแบบนี้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ยุคใหม่ ขณะที่โศกนาฏกรรมของเล็ดเจอร์และการจากไปแบบไม่มีใครตั้งตัวในเดือนมกราคม กลายเป็นการเพิ่มความลึกลับให้กับการรับบทสำคัญครั้งสุดท้ายของเขา ซึ่งเป็นตัวละครวายร้ายในตำนาน

เมื่อออกฉาย The Dark Knight ทำสถิติเปิดตัวสูงสุดตลอดกาลด้วยรายได้ 158.4 ล้านเหรียญ เอาชนะแชมป์เก่า Spider-Man 3 ที่ทำไว้ 151.1 ล้านเหรียญ เมื่อพฤษภาคม 2007 ซึ่งเพิ่งเขี่ยรายได้ 135.6 ล้านเหรียญของ Pirates of the Caribbean: Dead Man’s Chest เมื่อปี 2006 ตกจากบัลลังก์

Dark Knight แสดงให้เห็นว่าสามารถทำได้มากกว่าการเปิดตัวอย่างเป็นกอบเป็นกำ ด้วยการเดินหน้าอย่างแข็งแรง สยบทุกความคาดหวังที่มีต่อหนังบล็อคบัสเตอร์ในยุคนั้น ในทวีปอเมริกาเหนือ หนังอยู่ในอันดับหนึ่งถึง 4 สัปดาห์ และไม่หลุดไปจากท็อป 10 เลยถึง 10 สัปดาห์ ท้ายที่สุดเก็บเงินไปได้ 533.4 ล้านเหรียญ และเมื่อรวมรายได้ทั่วโลกตอนสิ้นปี 2008 หนังทำเงินไปถึง 1.003 พันล้านเหรียญ ยึดอันดับ 1 หนังทำเงินสูงสุดทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลกสบายๆ ยิ่งไปกว่านั้นหนังที่ดัดแปลงจากนิยายภาพที่มีอิทธิพลมหาศาลต่อคนอ่านเรื่องนี้ ยังไปได้ไกลถึงอันดับสองของหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลในตลาดทวีปอเมริกาเหนือ เป็นรองแค่ Titanic เมื่อปี 1997 ซึ่งทำรายได้ในตอนนั้น 600.8 ล้านเหรียญ และเป็นอันดับสามของหนังทำเงินสูงสุดทั่วโลกตลอดกาล แพ้แค่หนังเรื่องเดียวกันของเจมส์ คาเมรอน ที่ทำรายได้ 1.85 พันล้านเหรียญ และหนัง The Lord of the Rings: The Return of the King เมื่อปี 2003 ที่ทำเงินไป 1.14 พันล้านเหรียญ

ท่ามกลางความสำเร็จทั้งรายได้และคำชื่นชม The Dark Knight ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 8 รางวัล และได้มาสอง โดยหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ รางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจากฮีธ เล็ดเจอร์ ผู้จากไป นอกจากนี้การที่หนังไม่ได้ติดหนึ่งในห้าของหนังที่เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ยังถูกมองว่าเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ทางคณะกรรมการจัดงานออสการ์ ตัดสินใจเพิ่มรายชื่อหนังที่เข้าชิงในรางวัลนี้ไปเป็น 10 เรื่องในอีกหนึ่งปีต่อมา ซึ่งเป็นการแก้ไขเพื่อทำให้หนังมีความหลากหลายมากขึ้นในการลงคะแนน

มาถึงวันนี้ The Dark Knight ยังคงเป็นหนังจากโลกของดีซี คอมิคส์ ที่ทำรายได้สูงสุด และทำเงินตามหลังหนัง Avengers สามเรื่อง และ Black Panther สำหรับงานที่สร้างจากนิยายภาพ

โนแลนเลือกที่จะพักการทำงานภาคต่อ เพื่อไปทำหนังทุนสูงที่เป็นการคิดเรื่องขึ้นมาใหม่ Inception ที่ถูกมองว่าเป็นการเสี่ยงทางการเงินในตอนนั้น เมื่อใช้ทุนสร้างสูงถึง 160 ล้านเหรียญ แถมไม่มีอะไรที่มีฐานแฟนๆ แบบเดียวกับที่บรรดานิยายภาพมี

ความกลัวถูกขจัดปัดเป่าไปอย่างรวดเร็ว เมื่อเขาทำให้หนังเป็นงานรวมดาว มีดารานำเป็น ลีโอนาร์โด ดิคาพรีโอ ที่กำลังเข้าสู่ช่วงที่ดีที่สุดในการทำงาน และอยู่ในช่วงทศวรรษที่เขาแสดงให้เห็นว่า เป็นหนึ่งในนักแสดงที่พึ่งพาได้ในบ็อกซ์ ออฟฟิศ งานที่ทำกับมาร์ติน สกอร์เซซีในยุค 2000s ก็ช่วยยกระดับสถานะของเขา ทำให้กลายเป็นนักแสดงที่ดึงดูดผู้ชมได้หลากหลาย และเป็นสิ่งที่สร้างความน่าสนใจให้กับ Inception ด้วยเช่นกัน

ที่มาเพิ่มเติมความน่าสนใจให้กับหนังอย่างต่อเนื่องก็คือ ตัวอย่างฉบับทีเซอร์ที่มีทั้งความลึกลับและกระตุ้นให้อยากรู้ โดยปล่อยออกมาล่วงหน้าถึงหนึ่งปี และเป็นช่วงที่หนังกำลังถ่ายทำ ที่มีภาพนักแสดงของหนัง และตามหลังคำว่า ‘จากผู้กำกับของ’ ก็คือชื่อของโนแลน ไม่มีใครที่สงสัยว่า Inception จะเป็นหนังเกี่ยวกับอะไร แต่พากันพูดถึงและคาดหวังไปต่างๆ นานา ซึ่งปกติแล้วเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับหนังที่เป็นเรื่องราวของตัวเอง

Inception กลายเป็นพายุลูกใหญ่สำหรับโนแลน, ดิคาพรีโอ และวอร์เนอร์ฯ ด้วยการทำการตลาดที่เฉียบแหลม และการเป็นงานที่กระตุ้นให้เกิดความคิด, ใช้เวลาในการทำงานถึง 10 ปี, บทที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ ซึ่งว่าด้วยเรื่องของความฝันที่ซ้อนความฝัน ก่อให้เกิดคำสรรญเสริญมากมาย ทั้งในฐานะการเป็นส่วนหนึ่งความบันเทิงที่ผู้คนชื่นชอบ และการผลักดันขอบเขตของภาพยนตร์ให้กว้างไกลออกไป

หนังเปิดตัวได้แข็งแรงด้วยตัวเลข 62.8 ล้านเหรียญในเดือนกรกฎาคม 2010 และฉากสุดท้ายของหนังก็กลายเป็นฉากที่ทำให้เกิดการถกเถียงอย่างจริงจังฉากหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ปากต่อปากช่วยให้หนังกลายเป็นหัวข้อสนทนาไปเป็นหลายๆ สัปดาห์ ในขณะที่หนังอยู่ในอันดับ 1ได้ถึง 3 สัปดาห์ และอยู่ในท็อป 10 ได้ถึง 11 สัปดาห์ ยิ่งไปกว่านั้น Inception ยังกลายเป็นหนึ่งในหนังต้องดู หรือ Event Film แห่งปี 2010 ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมาย

ท้ายที่สุดหนังทำเงินในสหรัฐฯ ไป 292.6 ล้านเหรียญ และทำรายได้รวมทั่วโลกถึง 828.3 ล้านเหรียญ กลายเป็นหนึ่งในหนังเรื่องใหม่ที่ทำรายได้มหาศาลในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ยุคใหม่ เป็นหนังทำเงินสูงสุดในอเมริกาอันดับ 6 ของปี 2010 เป็นรองแค่หนังภาคต่อห้าเรื่อง ส่วนรายได้รวมทั่วโลกก็มาเป็นอันดับ 4 แม้จะแพ้ Toy Story 3, Alice in Wonderland และ Harry Potter and the Deathly Hallows: Part 1 แต่ก็ยืนยันถึงการเป็นผู้กำกับที่สามารถเรียกผู้ชมในระดับนานาชาติได้ โดยไม่ต้องแบกมนุษย์ค้างคาวมาด้วย

นอกเหนือไปจากตัวโนแลนเองแล้ว หนังยังมีแรงส่งที่น่าจดจำจากผลงานที่ทำเอาไว้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ฮานส์ ซิมเมอร์ ที่สร้างงานสกอร์ในตำนานขึ้นมา ไปจนถึงวอลลี ฟิสเตอร์ ผู้กำกับภาพรางวัลออสการ์และใครๆ อีกหลายคน Inception เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 8 รางวัลในปีนั้น รวมถึงรางวัลหนังยอดเยี่ยม และบทดั้งเดิมยอดเยี่ยมของโนแลน แต่ได้มาสี่ ซึ่งเป็นรางวัลด้านงานเทคนิคทั้งหมด (ยังมีต่อ)

โดย ลุงทอย เรื่อง ย้อนอดีตความสำเร็จของคริสโตเฟอร์ โนแลน จาก Memento ถึง Dunkirk คอลัมน์ Special Scoop นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1310 ปักษ์หลัง สิงหาคม 2563

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.