FEATURESMusic Featuresวันนี้ ในโลกดนตรี

วันนี้ในโลกดนตรี 1 มิถุนายน


1969: จอห์น เล็นน็อนและโยโกะ โอโนะ บันทึกเสียงเพลง “Give Peace A Chance” เพื่อเป็นการปิดกิจกรรม “ติดเตียง” ที่มอนทรีล

จอห์น เล็นน็อนและโยโกะ โอโนะ ใช้เวลาในช่วงดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์อยู่บนเตียง ในห้องพักของโรงแรมที่อัมสเตอร์ดัม โดยเชื้อเชิญบรรดานักข่าวเข้ามาพูดคุยถึงเรื่องสันติภาพ, ความรัก และความเข้าใจ วันละ 12 ชั่วโมง แต่พวกเขาทำแบบนั้นเป็นเวลาถึง 7 วัน ภายใต้ข้อความที่เขียนว่า “Hair Peace” กับ “Bed Peace” เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องดังกล่าว ถูกบันทึกเอาไว้ในเพลงของ The Beatles ที่เป็นการบันทึกเสียงอย่างรีบเร่ง “The Ballad of John and Yoko” ซึ่งมีแค่เล็นน็อนกับแม็กคาร์ตนีย์ ที่ช่วยกันเล่นเครื่องดนตรีทุกชิ้นในเพลงนี้ กิจกรรมในครั้งนี้ของเล็นน็อนกับโอโนะถือว่าประสบความสำเร็จในแง่ของการประชาสัมพันธ์ ถึงแม้บรรดานักข่าวจะไม่ใส่ใจกับเรื่องสารที่พวกเขาต้องการสื่ออย่างจริง ๆ จัง ๆ ก็ตาม แต่ทั้งคู่ก็ตัดสินใจจะหาทางชดเชยจุดบกพร่องดังกล่าว

การประท้วงครั้งที่ 2 ถูกวางแผนให้มีขึ้นที่นิว ยอร์ก แต่เล็นน็อนถูกปฏิเสธการเข้าประเทศเนื่องจากมีชนักติดหลังจากการครอบครองกัญชาเมื่อปี 1968 หลังจากที่พักกิจกรรมไปแค่หนึ่งคืน ตัวเลือกที่สองที่พวกเขาคิดไว้ก็คือ ที่โรงแรมเชอราตัน ในบาฮามาส์ แต่จอห์นกับโยโกะคิดว่า สภาพอากาศที่ร้อนเกินไปของที่นั่น ไม่เหมาะกับการจมอยู่บนเตียงเป็นสัปดาห์ ทั้งคู่ตัดสินใจบินมาที่แคนาดา และจองห้องพักที่เชื่อมต่อกันยาวจากห้องหมายเลข 1738 ไปถึง 1744 ที่โรงแรมควีน เอลิซาเบ็ธ ในมอนทรีล เป็นเวลา 7 วัน

ขณะที่กิจกรรมติดเตียงดำเนินไป บรรดาพิธีกรคนดังและตัวแทนของสื่อต่าง ๆ ก็จะมาเยี่ยมเยียนพวกเขาถึงห้อง โดยจอห์นจะพูดย้ำ ๆ วลีที่ว่า “ให้โอกาสกับสันติภาพ” (give peace a chance) ในการให้สัมภาษณ์หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งกลายเป็นการจุดประกายให้กับเพลงนี้ขึ้นมา

“Give Peace A Chance” บันทึกเสียงกันแบบงานแสดงสดโดยโปรดิวเซอร์ อังเดร เพอร์รี โดยใช้ไมโครโฟนสี่ตัวกับเครื่องบันทึกเสียงเทปคาสเส็ตต์แบบ 4 แทร็ก ซึ่งเขายืมมาจากสตูดิโอในละแวกนั้น ท่อนคอรัสของเพลงนี้ได้เสียงของ เพทูลา คลาร์ก, อัลเลน กินสเบิร์ก และทิโมธี ลีรีมาช่วยร้อง

เพลงนี้ถูกปล่อยเป็นซิงเกิลในฐานะงานเดี่ยวของเล็นน็อน โดยใช้ชื่อว่า The Plastic Ono Band และเครดิตในการแต่งตกเป็นของคู่หูในการแต่งเพลง เล็นน็อน-แม็กคาร์ตนีย์ เพื่อเป็นการขอบคุณพอล แม็กคาร์ตนีย์ ที่มาช่วยบันทึกเสียงเพลง “The Ballad of John and Yoko” ซึ่งทำให้เล็นน็อนรู้สึกเสียใจในเวลาต่อมา โดยเขาบอกว่า “รู้สึกผิดที่ให้เครดิตแม็กคาร์ตนีย์ ในการร่วมแต่งซิงเกิลอิสระเพลงแรกของผม แทนที่จะให้โยโกะที่จริง ๆ แล้วคือคนที่แต่งเพลงนี้ร่วมกับผม”

เพลงนี้ขึ้นไปถึงอันดับที่ 14 ในสหรัฐอเมริกา และกลายเป็นเพลงต่อต้านสงครามเวียตนามเพลงสำคัญตลอด 1 ทศวรรษต่อจากนั้น

1985: สติงออกอัลบัมเดี่ยวชุดแรก ‘The Dream of the Blue Turtles’ โดยมีเพลงเด่น ๆ อย่าง “Moon Over Bourbon Street” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากนิยายเรื่อง ‘Interview With The Vampire’ และ “Russians” เพลงที่เป็นการมองสงครามเย็น โดยใช้มุมมองของสหภาพโซเวียต

 

 

2006: ชาร์ตอัลบัมของอังกฤษมีอายุครบ 50 ปี และจากการสำรวจโดยหนังสือ British Hit Singles and Albums กับ NME พบว่า อัลบัม ‘Definitely Maybe’ ของ Oasis ถูกโหวตให้เป็นอัลบัมยอดเยี่ยมตลอดกาล โดยงานของ The Beatles ตามมาเป็นที่สองและสาม ‘Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band’ และ ‘Revolver’ ตามลำดับ

‘OK Computer’ ของ Radiohead ตามมาเป็นที่สี่ และ ‘(What’s the Story) Morning Glory?’ งานอีกชุดของโอเอซิสอยู่ในอันดับ 5

2017: ต้องขอบคุณเพลง “Stan” ของเอ็มมิเน็ม ที่ทำให้คำว่า ‘stan’ ถูกเพิ่มเข้าไปในพจนานุกรม the Oxford American Dictionary

โดยนิยามของคำนี้ก็คือ “แฟนที่ลุ่มหลงหรือคลั่งไคล้คนดังบางคนมากจนเกินเหตุ”

ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.