1952: วันเกิดของแพทริค สเวย์ซี (Patrick Swayze) นักแสดง, นักร้อง เจ้าของเพลงอันดับ 3 ในสหรัฐอเมริกา และอันดับ 17 ในอังกฤษ “She’s Like The Wind” ที่เขาร้องกับเว็นดี เฟรเซอร์ (Wendy Fraser) ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Dirty Dancing
สเวย์ซีเสียชีวิตแล้ว ด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2009
1962: ริงโก สตาร์ร์ (Ringo Starr) เปิดตัวกับ The Beatles เป็นครั้งแรกที่ เดอะ ฮอร์ติคัลเฌอรัล โซไซตี แดนซ์ (The Horticultural Society Dance) ในเบอร์เคนเฮด, อังกฤษ โดยมีเวลาซ้อมกับวงก่อนการแสดงเพียงแค่ 2 ชั่วโมง
การแสดงครั้งนี้เป็นการปรากฏตัวครั้งแรกของเดอะ บีเทิลส์ อย่างที่ทุกคนรู้จักกันในเวลาต่อมา ว่ามีสมาชิก 4 คน จอห์น (John Lennon)} พอล (Paul McCartney), จอร์จ (George Harrison) และริงโก
1969: จิมิ เฮนดริกซ์ (Jimi Hendrix) ปิดเทศกาลดนตรีวูดสต็อค (Woodstock) ด้วยการแสดงในช่วงเช้าตรู่ ที่เริ่มด้วยเพลง “Hey Joe” ในฐานะที่เป็นศิลปินหลักของงาน เฮนดริกซ์ถูกวางเอาไว้ให้เล่นตั้งแต่คืนก่อน แต่เมื่อการแสดงลากยาวกันมาเรื่อย ๆ ทำให้เขาต้องขึ้นเล่นในช่วงเช้าของวันจันทร์ โดยเพลงที่ถูกเฮนดริกซ์นำมาเล่นในวันนั้น ก็รวมถึงการตีความเพลง “The Star Spangled Banner” ออกมาได้อย่างเร่าร้อน
นอกจากจะเป็นศิลปินปิดงานวูดสต็อคแล้ว เฮนดริกซ์ยังกลายเป็นคนที่ทำหน้าที่สร้างทัศนคติให้กับจิตวิญญาณของยุค ’60 ด้วยการเล่นเพลงชาติสหรัฐอเมริกา ที่เป็นการผสมผสานกันระหว่างความก้าวร้าวและพลังได้อย่างกลมกลืน ซึ่งบางคนถึงกับบอกว่า เขาถูกวิญญาณของพระเจ้าสิงขณะเล่นเพลงนี้ แต่บางคนก็บอกว่าเป็นปีศาจ โดยไม่มีใครตั้งคำถามว่า เขาถูกบางสิ่งบางอย่างเข้าสิงหรือไม่
ในวันที่สี่ที่เป็นวันสุดท้ายของวูดสต็อค พื้นที่จัดงานดูเหมือนค่ายผู้อพยพมากกว่างานเทศกาลดนตรี แล้วเมื่อมองดูจากการแสดงออกของงานที่มีลักษณะของปฏิวัติบางสิ่งบางอย่าง การเป็น “ค่ายผู้อพยพ” บางทีก็น่าจะเป็นการเปรียบเทียบที่เหมาะสม และบรรดาผู้ร่วมงานก็ยินดีที่จะยอมรับ
จากผู้ชมในช่วงที่มากที่สุดของเทศกาลราว ๆ 400,000 คน ลดจำนวนลงมาเหลือแค่ไม่ถึง 200,000 คน ที่ต่างก็ดูล้า เนื้อตัวสกปรกมอมแมม เฮนดริกซ์ก้าวขึ้นเวทีในชุดสีขาว สวมเสื้อโคตมีพู่ระมาตามแขน ที่ทำให้นึกถึงชนพื้นเมืองอเมริกัน กับกางเกงยีนส์สีน้ำเงิน และเรียกชื่อวงแบ็คอัปว่า Gypsy Sun & Rainbows แทนที่จะเป็น Jimi Hendrix Experience เช่นที่เคยเป็น
ในวงมีสมาชิกใหม่ บิลลี ค็อกซ์ (Billy Cox) เข้ามาเล่นเบสแทนโนล เรดดิง (Noel Redding) แล้วก็ได้แลร์รี ลี (Larry Lee) มาเสริมในฐานะมือกีตาร์คนที่สอง โดยวงมีโอกาสซ้อมร่วมกันเพียงแค่สองครั้ง แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร จนกระทั่งเฮนดริกซ์ยั่วเย้าคนดูด้วยโน้ตไม่กี่โน้ตของเพลง “Voodoo Child (Slight Return)” ก่อนที่จะตัดฉับเข้าไปสู่ความรุนแรงที่รุกเร้ามากขึ้น ซึ่งเป็นการตีความ “The Star Spangled Banner” ในแบบไซคีดีลิก
เฮนดริกซ์เหมือนเป็นกิ้งก่าเพลิง ที่อาจเหมือนจะหลุดจากการควบคุมไปสู่ความบ้าคลั่งหรือล่องลอยอยู่หลายครั้ง ก่อนที่จะกลับมาสู่ความเยี่ยมยอด และทำให้ทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอยได้จนจบ การแสดงยังไม่ต่างไปจากบททดสอบทางจิตวิทยา สำหรับทุกคนที่ได้ชมกับตา แอนน์ วิลสัน (Ann Wilson) จากHeart บอกว่าได้ยินเสียงระเบิดและปืนในเพลง แล้วมองว่านี่เป็นแถลงการณ์ต่อต้านสงครามเวียตนาม ส่วนคนอื่น ๆ ก็มองว่าเป็นการคุกคามความเป็นอเมริกันดั้งเดิม สำหรับตัวศิลปินเองล่ะ เฮนดริกซ์บอกดิค คาเว็ตต์ (Dick Cavett) ว่า การแสดงที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการเหยียดหยามหรือต่อต้านอะไร สำหรับเขามันเป็นเรื่องของ “ความสวยงาม”
“Star Spangled Banner” ฉบับของเฮนดริกซ์ กลายเป็นเพลงล่องลอยอยู่ในจิตใต้สำนึกของคนยุค ’60 บางทีหากมองที่ความบิดเบี้ยวของมัน เพลงนี้อาจเป็นเสียงสำหรับความหวังในแบบกึ่ง ๆ มีเหตุผลและความกลัวของยุคสมัย แต่กับหลาย ๆ นี่คือการให้คำจำกัดความช่วงเวลาที่เป็นการนิยามเหตุการณ์ทางวัฒนธรรม
1986: Bon Jovi ออกอัลบัมชุดที่สาม Slippery When Wet ซึ่งขึ้นอันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกา และสามารถขายได้กว่า 28 ล้านก็อปปีทั่วโลก
โดยมีสองเพลงจากอัลบัมชุดนี้ ที่ขึ้นไปถึงอันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกา “You Give Love A Bad Name” และ “Livin’ On A Prayer”
ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่