FEATURESMovie Features

ว่าด้วยเรื่องราวของดิสนีย์พลัส รายละเอียดของราคา และบรรดาหนังที่จะมีให้ชมกันเฉพาะที่นี่

เปิดตัวบริการสตรีมิงของตัวเอง พร้อมทั้งหนังและรายการเด็ดๆ ให้โลกรู้ออกมาได้พักใหญ่ รวมถึงเรื่องค่าบริการซึ่งอยู่ที่ 6.99 เหรียญต่อเดือน แม้จะเป็นเรื่องที่ไกลตัวคอหนังจอตู้ในบ้านเรา แต่เอาเข้าจริงๆ คงอีกไม่นานหรอกที่เราจะต้องหาเงินมาจ่ายให้บริษัทบันเทิงรายนี้ แต่นั่นก็ยังไม่ใช่หมัดเด็ดของดิสนีย์พลัสและดิสนีย์ เมื่อล่าสุดบ็อบ ไอเกอร์ หัวหน้าใหญ่ของวอลท์ ดิสนีย์สตูดิโอออกมาเผยว่า มีแพ็คเกจพิเศษสำหรับผู้ใช้บริการสตรีมิงของดิสนีย์ ที่เล่นเอาคู่แข่งทั้งหลายอาจจะถึงกับน็อคเลยทีเดียว

แพ็คเกจที่ว่าเป็นค่าสมาชิกที่พ่วงบริการสตรีมิงของตัวเองสามเจ้าเข้าด้วยกัน คือ ดิสนีย์พลัส, อีเอสพีเอ็นพลัส และฮูลู ที่จะเป็นการชมแบบมีโฆษณา ที่ผู้ชมจะต้องจ่ายกันเดือนละ 12.99 เหรียญ ทั้งสามบริการจะพร้อมให้ผู้สนใจได้สมัครใช้บริการทั้งหมดในวันที่ 12 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่ดิสนีย์พลัสจะเปิดบริการเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา

ที่เมื่อเทียบกับบรรดาคู่แข่ง ถือเป็นการตัดราคาที่รุนแรงใช้ได้ เพราะเป็นราคาที่เท่ากับราคามาตรฐานสำหรับสองจอที่เป็นแพ็คเกจยอดนิยมของเน็ทฟลิกซ์, เท่ากับราคาของอะเมซอน ไพร์ม วิดีโอ, ถูกกว่าเอชบีโอนาว 2 เหรียญ, โดยไม่ต้องพูดถึงเอชบีโอแม็กซ์ที่คิดค่าบริการถึง 17 เหรียญ

แล้วหากแยกบริการทั้งสามของดิสนีย์ออกจากกัน ก็ถือว่าเป็นการจ่ายที่ถูกมากๆ เมื่อค่าบริการของดิสนีย์พลัสอยู่ที่ 6.99 เหรียญ, ฮูลู 5.99 เหรียญพร้อมโฆษณา, อีเอสพีเอ็นพลัส 4.99 เหรียญต่อเดือน นั่นหมายความว่า หากผู้ใช้บริการตัดสินใจซื้อแพ็คเกจนี้ จะลดค่าใช้ในการสมัครชมทั้งสามช่องของดิสนีย์ไปได้ถึง 5 เหรียญต่อเดือน

ไอเกอร์พูดถึงเรื่องนี้ระหว่างการแถลงรายได้ประจำไตรมาสต่อบรรดานักลงทุนของวอลล์ สตรีม เขาบอกว่า ดิสนีย์พลัสเป็น “ธุรกิจสำคัญที่สุดของบริษัทที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของผม” โดยตัวเลขในไตรมาสที่สองของดิสนีย์นั้น ต่ำกว่าที่คาดการณ์กันไว้ล่วงหน้า ซึ่งทางดิสนีย์มองว่าที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะการควบรวมกิจการกับทะเวนตี เฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

“ไม่มีเรื่องไหนสำคัญสำหรับเรามากกว่าไปกว่า การทำให้ทุกอย่างถูกต้อง” ไอเกอร์พูดถึงการบุกตลาดสตรีมิงอย่างจริงจังของดิสนีย์ ที่นอกจากเรื่องราคาแล้ว ไอเกอร์ยังเผยอีกว่า ดิสนีย์ได้มีการพูดคุยกับทางแอปเปิล, อะเมซอน และกูเกิล ในเรื่องการจัดจำหน่ายดิสนีย์พลัสผ่านระบบของทั้งสามบริษัท แม้การเจรจายังไม่เรียบร้อยดี แต่ไอเกอร์ก็มองในแง่บวก โดยบอกว่า “เราคิดว่า การไปให้ถึงผู้บริโภคจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วเป็นเรื่องสำคัญ และพวกเขาก็เป็นส่วนสำคัญในการเดินทางไปถึงจุดนั้น พวกเขาล้วนสนใจในเรื่องของการจัดจำหน่ายตัวโปรดัคท์”

ไอเกอร์เผยด้วยว่า การทำการตลาดกับผู้บริโภคของดิสนีย์พลัส จะเริ่มต้นในช่วงครึ่งหลังของเดือนนี้ (สิงหาคม) และในเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ ทีมงานของดิสนีย์พลัสจะทุ่มเทการทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้ระบบการทำงานใช้งานง่ายสำหรับผู้ที่มาสมัครใช้บริการ “เรารู้ว่า การสร้างประสบการณ์ที่ทำให้รู้สึกหงุดหงิดน้อยที่สุด เป็นเรื่องสำคัญมากมายขนาดไหน” เขากล่าว

ขณะที่ดิสนีย์เทเงินลงทุนให้บริการสตรีมิงที่กำลังตั้งไข่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ คริสทีน แม็คคาร์ธีย์ หัวหน้าเจ้าน้าที่ฝ่ายการเงินของบริษัท บอกกับบรรดานักลงทุนว่า บริการสตรีมิงและแผนกต่างประเทศถูกประมาณว่า น่าจะทำให้เสียเงินไปกับเรื่องปฏิบัติการราวๆ 900 ล้านเหรียญในควอเตอร์ที่สี่ของปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 553 ล้านเหรียญที่เสียไปในควอเตอร์ที่สาม และมากกว่าที่หมดไปราวๆ 370 ล้านเหรียญ ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งบริการสตรีมิงฮูลู ที่ตอนนี้กลายเป็นของดิสนีย์ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดิสนีย์เสียเงินก้อนโตไปกับแผนกสตรีมิงและแผนกต่างประเทศ ไอเกอร์บอกกับนักลงทุนว่า ผู้สมัครใช้บริการของฮูลูมีอยู่ราว 28 ล้านราย ที่น่าสนใจก็คือ บริการถ่ายทอดสดแบบมีให้เลือกหลายรายการของฮูลู ซึ่งไม่อยู่ในแพ็คเกจ เติบโตได้อย่างรวดเร็วถ้าเทียบกับคู่แข่งรายอื่นๆ ในไตรมาสเดียวกัน

เมื่อพูดถึงผลลัพธ์ในไตรมาสที่สาม ไอเกอร์ย้ำถึงความซับซ้อนที่เกิดขึ้นจากการรวมทะเวนตี เฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์เข้ามา และความต้องการเงินลงทุนขณะที่ดิสนีย์กำลังยกระดับการทำธุรกิจของตัวเอง โดยวางเดิมพันไว้ที่บริการสตรีมิงว่าเป็นอนาคตของการจัดจำหน่ายภาพยนตร์และรายการในรูปแบบต่างๆ ถึงตัวเลขรายได้จากแผนกที่เป็นมรดกตกทอดของทะเวนตี เฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ จะออกมาน่าผิดหวัง เช่น รายได้ของบริการโทรทัศน์ดาวเทียมในอินเดีย ไอเกอร์ก็ย้ำว่าบริษัทยังมั่นใจว่าเงิน 71.3 พันล้านเหรียญ ที่หมดไปกับการซื้อกิจการของฟ็อกซ์ จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า

“เราประเมินกันว่า คุณค่าในระยะยาวที่พวกเราสามารถสร้างขึ้นมาได้ จะมีเพิ่มมากขึ้น” ไอเกอร์กล่าว “การตอบสนองในเชิงบวกต่อกลยุทธบริการสตรีมิงของเราเป็นสิ่งที่น่าพอใจอย่างมาก และการควบรวมกับธุรกิจที่เราได้รับจากทะเวนตี เฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ จะเพิ่มความเชื่อมั่นในศักยภาพของเรา ทั้งในการเล่าเรื่องและพลังในความคิดสร้างสรรค์ ที่มีอยู่ทั่วบริษัท เพื่อนำเสนอผลงานที่คุณค่าเหนือธรรมดาให้กับผู้บริโภค”

ในวันแรกที่เปิดให้บริการ ดิสนีย์พลัสจะมีภาพยนตร์ให้ชมกว่า 300 เรื่อง ทั้งของดิสนีย์ และบริษัทในเครือ ลูคัสฟิล์ม, พิกซาร์ และมาร์เวล โดยรายชื่อของภาพยนตร์ที่จะได้ชมกันก็มี หนังในเฟสสี่ของมาร์เวล ได้แก่ The Falcon and the Winter Soldier, Hawkeye, WandaVision, ซีรีส์ What If? ที่จะว่าด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีกแบบหนึ่งในจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล โดยตอนหนึ่งในซีรีส์จะว่าด้วยการที่เพ็กกี คาร์เตอร์ กลายเป็นยอดทหาร แทนที่สตีฟ โรเจอร์ส และซีรีส์ของ Loki, ซีรีส์คนแสดงของ Star Wars เรื่อง The Mandalorian กับซีรีส์ตอนแยกของ Rogue One ที่นำแสดงโดยดีเอโก ลูนา, หนังตอนแยกจากชื่อที่ผู้ชมคุ้นเคยกันดี อาทิ High School Musical กับ Monsters, Inc, แอนิเมชันอีก 70 เรื่องจากคลังของดิสนีย์, แอนิเมชันคลาสสิคของดิสนีย์ 13 เรื่อง, หนังจากช่องดิสนีย์อีก 100 เรื่อง, หนัง 18 เรื่องของพิกซาร์ รวมทั้งหนังสั้นอีกมากมาย, ภาพยนตร์และรายการที่เป็นของฟ็อกซ์ อย่าง Alien และ Titanic, หนังโทรทัศน์ทั้งที่ยังออกอากาศ และไม่ออกอากาศ ตลอดจนหนังใหญ่ของมาร์เวล สตูดิโอส์ กับรายการของเนชันแนล จีโอกราฟี ที่หนึ่งในนั้นก็มี Free Solo หนังรางวัลออสการ์รวมอยู่ด้วย

โดยภาพยนตร์หรือรายการที่เป็นของดิสนีย์พลัสเอง ในปีแรกจะมีหนังรวม 10 เรื่อง กับซีรีส์ 25 เรื่อง ซึ่งจะเน้นที่ภาพยนตร์หรือรายการที่ดูได้ทั้งครอบครัว อาทิ Lady and the Tramp กับ The Sword in the Stone ฉบับสร้างใหม่ใช้คนแสดง และหนังใหม่เกี่ยวกับสุนัขลากเลื่อนเรื่อง Togo, หนังเรื่อง Noelle ที่แอนนา เคนดริคจะเล่นเป็นลูกสาวซานตาคลอส แล้วก็ Phineas and Ferb

หนังใหญ่ Star Wars ก็จะมีให้ชมครบทุกเรื่องตั้งแต่ไตรภาคต้นฉบับ แต่กับบางเรื่อง เช่นแอนิเมชันซีรีส์ อาจจะยังไม่ถูกรวมเข้ามา เนื่องจากทางเทอร์เนอร์ บรอดคาสติง เป็นผู้ถือสิทธิ์ในการออกอากาศทางโทรทัศน์เอาไว้

เมื่อดูจากที่เจนนิเฟอร์ ลี หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของดิสนีย์ แอนิเมชัน พูดถึงการเอาหนังจากโรงภาพยนตร์มาอยู่ในระบบของดิสนีย์พลัส โดยยกตัวอย่างจากแอนิเมชันเรื่อง Frozen 2 ที่จะฉายในโรงหนังเดือนพฤศจิกายน จากนั้นก็จะปล่อยลงโฮม วิดีโอ แล้วก็เป็นดิสนีย์พลัส จะเห็นว่าต้องใช้เวลาถึง 7 เดือนหลังจากเปิดตัวในโรงภาพยนตร์ ถึงจะได้ชมหนังเหล่านี้ผ่านดิสนีย์พลัส

ในปีแรกหลังเปิดให้บริการดิสนีย์พลัสจะมีรายการโทรทัศน์ให้ชมทั้งหมดถึง 7,500 ตอน, ซีรีส์ของตัวเอง 25 เรื่อง, ภาพยนตร์ของตัวเองและภาพยนตร์เรื่องพิเศษ 10 เรื่อง, หนังในกรุสมบัติถึง 400 เรื่อง กับหนังที่เพิ่งออกฉายตามโรงภาพยนตร์อีก 100 เรื่อง ซึ่งแอกเนส ชู รองประธานอาวุโสแผนกเนื้อหา เสริมว่า ดิสนีย์พลัสจะได้ออกอากาศซีรีส์ The Simpsons เพียงเจ้าเดียว ตั้งแต่เริ่มให้บริการ ซึ่งเป็นผลจากการซื้อทะเวนตี เฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ และเมื่อผ่านไปห้าปี บริษัทคาดว่าดิสนีย์พลัสจะมีภาพยนตร์หรือรายการที่ผลิตเองให้ได้ชมปีละ 50 เรื่อง

อีเอสพีเอ็นพลัสก็มีหนังของตัวเองอยู่ในกรุอีกไม่น้อย ตลอดจนเกมการแข่งขันกีฬาต่างๆ รวมไปถึงเป็นที่มั่นของการแข่งขันชกมวยยูเอฟซี ซึ่งทางดิสนีย์หวังว่าจะสร้างรายได้จากแบนเนอร์ในรายการ เพื่อทดแทนการที่รายการทางช่องโทรทัศน์อีเอสพีเอ็นขาดแคลนผู้ให้การสนับสนุน

ไอเกอร์มั่นใจมากๆ กับภาพยนตร์และรายการที่ดิสนีย์พลัสสร้างขึ้น เขาได้ชม The Mandalorian ฤดูฉายแรกแล้ว โดยบอกออกมาว่า “ผมประทับใจกับคุณภาพ, ความหลากหลาย และปริมาณ” ของงานที่เป็นการสร้างของดิสนีย์พลัส เขายังพูดถึงหนังที่ดิสนีย์พลัสจะนำมาสร้างใหม่ด้วย โดยในจำนวนนั้นก็มีหนังอย่าง Home Alone, Night at the Museum และ Cheaper by the Dozen

ไอเกอร์เสริมว่า ดิสนีย์จะมีความยืดหยุ่นในเรื่องของภาพยนตร์และรายการที่สร้างสรรค์ขึ้นมา โดยทีมของช่องเอฟเอ็กซ์อาจจะไปสร้างซีรีส์ให้กับฮูลู ที่เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการปล่อยของจากช่องเอฟเอ็กซ์ ก็ทำได้ รวมถึงบริษัทจะต้องเผชิญหน้ากับ “การสร้างความสมดุลย์” ในช่วงเวลาอันใกล้ ซึ่งเป็นเรื่องของการหาจุดลงตัวว่าจะต้องลงเงินไปกับบริการใหม่ๆ เท่าไหร่ และจะหมดไปกับการคงบริการในรูปแบบเดิมๆ อย่าง สถานีโทรทัศน์ ที่มีช่อง เอบีซี, ฟรีฟอร์ม และเอฟเอ็กซ์ เท่าไหร่

“เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องเติมเชื้อเพลิงให้ช่องเหล่านั้น ด้วยคุณภาพที่เพียงพอ และรายการของตัวเองที่จะผลักดันธุรกิจให้ไปต่อได้ใ นขณะที่ยังคงดำเนินงานอยู่ในวันนี้” ไอเกอร์ กล่าว และในเวลาเดียวกัน “การปักธงไปที่ธุรกิจบริการส่งตรงถึงผู้บริโภค ก็ถูกสร้างขึ้นไม่ใช่แค่เพียงสำหรับโอกาสที่เกิดขึ้นในพื้นที่ว่าง แต่ยังเป็นการท้าทายสิ่งที่มีอยู่ในธุรกิจเก่าอีกด้วย”

ส่วนยอดผู้ใช้บริการดิสนีย์พลัส แม็คคาร์ธีย์บอกว่า บริษัทมองถึงตัวเลขในระดับ 60 – 90 ล้านรายทั่วโลกเมื่อถึงสิ้นปี 2024 โดยคาดว่า 2 ใน 3 ของผู้สมัครใช้บริการจะเป็นผู้ใช้งานนอกสหรัฐอเมริกา และประเมินเรื่องค่าใช้จ่ายไว้ด้วยว่า จะเริ่มได้กำไรในปี 2024 ขณะที่ในปี 2020 ดิสนีย์จะทุ่มงบให้รายการ-ภาพยนตร์ของดิสนีย์พลัสราวๆ 1 พันล้านเหรียญ และตั้งเป้าไว้ว่าจะหมดเงินไปกับเรื่องการปฏิบัติการไม่เกิน 1 พันล้านเหรียญ แล้วงบในการผลิตจะเพิ่มไปถึง 2.5 พันล้านเหรียญในปี 2024

สำหรับรายได้ของดิสนีย์พลัส จะมาจากค่าสมัครใช้บริการล้วนๆ และเปิดให้บริการในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผ่านเว็บไซท์ disneyplus.com, เครื่องเล่นวิดีโอเกม, สมาร์ททีวี และอุปกรณ์ที่สตรีมิงได้ อย่าง โรคูและเพลย์สเตชันสี่ รวมไปถึงผู้ให้บริการอย่าง แอปเปิล, อะเมซอน และกูเกิล

ไอเกอร์ให้ความเห็นอีกว่า ดิสนีย์กำลังอยู่ท่ามกลาง “การสร้างตัวเอง ด้วยวิธีการที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าบรรดาคู่แข่ง ในขณะที่ธุรกิจแบบเดิมๆ กำลังถูกกัดกร่อน จนไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างที่เคยเป็น”

ถึงหลายๆ ข้อสงสัยจะกระจ่างชัด และได้รับคำตอบ หากยังมีบางคำถามที่คำตอบยังดูคลุมเครือ เช่น ดิสนีย์พลัสจะเปิดบริการในต่างประเทศหรือไม่? เมื่อไหร่? แล้วก็ยังไม่ชัดเจนด้วยว่า แพ็คเกจนี้ จะถูกใช้กับพื้นที่ต่างๆ ของโลกด้วยไหม? เนื่องจากในแต่ละพื้นที่ก็มีปัญหาในเรื่องของการให้บริการที่แตกต่างกันไป เช่น ฮูลูไม่มีให้บริการในแคนาดา แต่ดิสนีย์มีแผนที่จะพาฮูลูออกไปต่างประเทศด้วย แต่ก็น่าจะหาทางออกได้ไม่ยาก ปัญหาใหญ่จะไปตกอยู่กับอีเอสพีเอ็นพลัสต่างหาก เพราะเรื่องของลิขสิทธิ์ในแต่ละภูมิภาค ซึ่งไอเกอร์บอกกับนักวิเคราะห์ทั้งหลายว่า บริษัทยังไม่มี “อะไรประกาศในตอนนี้เกี่ยวกับเรื่องของตลาด”

ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นปีดิสนีย์แถลงออกมาว่า ตั้งเป้าที่จะเปิดดิสนีย์พลัสไปทั่วโลกภายในสองปี โดยหลังเปิดตัวในสหรัฐ อเมริกาแล้ว ก็จะพุ่งเป้าไปที่แถบตะวันตกของยุโรป และประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิค ในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2019 ถึงต้นปี 2020 จากนั้นก็เป็นยุโรปตะวันออก และลาตินอเมริกา ตอนปลายปี 2020

สำหรับไอเกอร์เอง มีแผนที่จะอำลาตำแหน่งซีอีโอของวอลท์ ดิสนีย์ในปี 2021 “ผมหวังว่าสัญญาของผมจะหมดลงตอนสิ้นปี 2021 แล้วผมคงได้พูดว่า ‘หนนี้ผมหมายความตามที่มันเป็นจริงๆ’ แต่ผมเคยพูดประโยคนี้มาก่อน ผมเป็นซีอีโอที่นี่มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2005 และผมก็พูดแบบนั้นมาหลายครั้ง แต่ก็ต้องมีสักครั้งหนึ่งจริงๆ และปี 2021 ก็น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับผมที่จะลงจากตำแหน่ง”

บ็อบ ไอเกอร์

ตลอดการทำงาน 15 ปี ไอเกอร์อยู่ที่หัวแถวของสตูดิโอมาตลอด เขาประสบความสำเร็จกับการต้อนรับสตูดิโออย่าง พิกซาร์ ในปี 2006, มาร์เวล เอนเตอร์เทนเมนท์ ในปี 2009, ลูคัสฟิล์ม ในปี 2012 และล่าสุด ทะเวนตี เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ ในปีนี้ เข้ามาอยู่ในอ้อมแขนที่ขยายออกไปเรื่อยๆ ของดิสนีย์ ก่อนหน้านี้ไอเกอร์เคยคิดจะวางมือมาตั้งแต่ปี 2018 แต่แล้ววาระของเขาก็ถูกขยายออกมาเป็นปี 2019 แล้วก็ขยับออกไปอีก ซึ่งจากผลงานที่สร้างเอาไว้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะมีใครมาสานต่อได้อย่างสมบูรณ์แบบ

”ผมต้องสู้กับคณะกรรมการบ้างเหมือนกัน แล้วก็มีการพูดถึงเรื่องคนที่จะมารับงานต่อ ซึ่งพวกเขาก็คิดหนักถึงเรื่องกระบวนการทำงานที่ต่อเนื่อง” ไอเกอร์ เล่า “แล้วพวกเราก็รู้สึกว่า พวกเขาน่าจะได้ตัวคนที่มารับหน้าที่ต่อจากผมในเวลาที่เหมาะสม เพื่อที่บริษัทจะได้เปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่น”

ที่เมื่อถึงเวลาที่เขาต้องเดินลงจากบัลลังก์จริงๆ ในตอนนั้นการควบกิจการกับฟ็อกซ์ก็น่าจะเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ เช่นเดียวกับธุรกิจใหม่อย่าง ดิสนีย์พลัส ที่จะต้องเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคง เพื่อที่เขาจะได้กลายเป็นตำนานอีกหน้าหนึ่งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อย่างสมบูรณ์แบบ

โดย ฉัตรเกล้า เรื่อง รายละเอียดของราคา และบรรดาหนังในดิสนีย์พลัส นิตยสาร เอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1286 ปักษ์หลัง สิงหาคม 2562

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.