บันทึกการสัมภาษณ์: การติดต่อขอสัมภาษณ์ดอนผีบิน ถ้าไม่ใช่เป็นการติดต่อขอสัมภาษณ์ศิลปินรายแรกของเรา ก็ต้องเป็นรายแรก ๆ เกิดขึ้นหลังจากเข้าทำงานเป็นส่วนหนึ่งของกองบรรณาธิการนิตยสารที-คลับได้ไม่นาน ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากพี่เรศ – เยาวเรศ เอี่ยมเจริญ อยากจะทำเรื่องของวงใต้ดิน เราที่บังเอิญฟังงานของดอนผีบินอยู่ ก็เลยแนะนำไป
ถ้าจำไม่ผิดเราโทรไปที่ Roxx Records หรือไม่ก็ Z-Rock ตามเบอร์โทรที่ปรากฏในปกเทป แล้วทางนั้นก็ให้เบอร์เพจเจอร์ หรือไม่ก็เบอร์มือถือของหนึ่งในสมาชิกของวงมา เรื่องมันนานจัดจำไม่ได้ละ ตั้งแต่ปี 2536 เชื่อว่าคนอ่านบางคนก็ยังไม่เกิด เอาเป็นว่ามีการติดต่อกันละกัน โดยทางวงอยู่ที่น่าน แต่ก็ยินดีที่จะตีรถเข้ากรุงมาให้สัมภาษณ์ในแบบโทรเจอกันวันนี้พรุ่งนี้จะขับรถมาเลย
วันรุ่งขึ้นกว่าวงจะมาถึงออฟฟิศที-คลับก็เย็นย่ำ โดยหนึ่งในสมาชิกของวง น่าจะเป็นคุณสมศักดิ์ แก้วทิตย์ที่คุยเก่งกว่าพี่ ๆ บอกว่าตีรถ (ถ้าจำไม่ผิด เป็นกระบะสีดำ โหลดเตี้ย) ออกมาจากน่านตอนสาย ๆ บึ่งกันมาเลย ท่าทางเหงื่อซ่กกันทั้งสามคน แต่เพราะแดดกำลังจะหมด พี่เรศเลยให้พี่เล็ก ตากล้องเก็บภาพก่อนที่จะสัมภาษณ์กัน โดยเราเองไม่ได้สัมภาษณ์โดยตรง เนื่องจากเพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นาน (เข้าทำงานหลังคอนเสิร์ต Metallica) แต่ก็ให้คำถามกับพี่เรศไปจำนวนหนึ่งในฐานะที่ฟังงานของพวกเขา รวมถึงเป็นคนทำหน้าที่ถอดเทป 😀
ด้วยความที่เป็นการสัมภาษณ์ตั้งแต่ 31 ปีที่แล้ว มุมมองต่าง ๆ ของศิลปินในวันนี้อาจจะไม่เหมือนเดิม เพราะประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้รับ ตลอดจนเรื่องของวัย ส่วนที่มาของคำถามก็อาจจะพ้นสมัยไปแล้ว แต่ที่นำมาลงให้อ่านอีกครั้ง ก็เพื่อเป็นประหนึ่งบันทึกความทรงจำ ถึงวันที่ผ่านไป วันที่วงการเพลงมีเทป คาสเส็ตต์เป็นปัจจัยสำคัญ มีวงการเพลงอันเดอร์กราวนด์ เพลงใต้ดิน บนดิน ยุคที่เพลงเมทัลไทยหาฟังกันได้ยากเย็นเหลือเกิน….
จากตํานานที่เล่าขานกันมาถึงเรื่องราวการต่อสู้ของชนชาติต่าง ๆ ที่ยึดเอาพื้นที่ของบ้านดอนตัน อําเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ในปัจจุบัน เป็นสมรภูมิรบ และวิญญาณของผู้เสียชีวิตในศึกสงครามเหล่านั้นก็ได้อาศัยสมรภูมิดังกล่าวเป็นที่สิงสู่ จนชาวบ้านเรียกขานพื้นที่แถบนี้ว่า ดอนผีล่องลอย ซึ่งกลายมาเป็น ตอนผีบิน ชื่อวงดนตรีของสมบัติ, สมศักดิ์ และสมคิด สามพี่น้องตระกูล แก้วทิตย์
และวันนี้ดอนผีบินก็มีงานชุดแรกของพวกเขา ที่ใช้ชื่อชุดว่า ‘โลกมืด’ ออกมาสู่สายตาแฟนเพลงเฮฟวี เมทัลชาวไทย ในแบบที่เรียกว่า “เทปใต้ดิน” แต่ก่อนที่จะออกมาเป็นเทปใต้ดินนั้น ทั้งสามคนก็ได้เคยพยายามที่จะทําให้งานของพวกเขาเป็นงานบนดินมาแล้ว
“งานชุดนี้เริ่มต้นมา 7-8 ปีได้ ช่วง 3-4 ปีแรก เราพยายามทำเดโมเทปกันที่บ้าน เพราะพวกเรามีห้อง อัด 4 แทร็คอยู่ พอทําเป็นเดโมเทปเสร็จก็นําเอามาเสนอตามบริษัทต่าง ๆ ปรากฏว่า คือเราไม่ได้ว่าเขาไม่รับเรานะ เป็นลักษณะที่ว่า ความเห็นของเรากับบริษัทมันสวนทางกัน ในขณะที่เราอยากเสนอคุณภาพของงานมากกว่า แต่ทางเขาก็อยากจะเน้นเรื่องจุดขายด้วย บางบริษัทนี่เรารอเซ็นสัญญาแล้ว แต่ปรากฏว่ามันก็มีอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ มาติด เช่น เขาจะให้เราเอาเพลงเราออกซัก 2 เพลง แล้วที่เหลือเอาเพลงของเขาใส่เข้าไป ซึ่งเรารับไม่ได้ คอนเส็ปต์ของเรามันชัดเจนแล้ว ถ้าไปเปลี่ยนอะไรมันก็ขาดไป”
แสดงว่างานชุดนี้เป็นงานคอนเส็ปต์อัลบัม “ก็ไม่ถึงขนาดนั้น แต่ว่าเราวางพวกคอนเส็ปต์อะไรไว้สมบูรณ์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดนตรี เนื้อเพลง ตลอดจนถึงปก ทุกอย่างมันเป็นองค์ประกอบเดียวกัน แล้วงานเราที่เอาไปเสนอมันก็เสร็จสมบูรณ์แล้วด้วย เมื่อเขาไม่รับ เราก็เลยตัดสินใจทําเอง”
ดอนผีบินตระเวนไปเสนอผลงานตามบริษัทเทปต่าง ๆ ประมาณ 1 ปีเต็ม พวกเขาจึงรู้ว่า มันเป็นการยากที่งานของพวกเขาจะอยู่บนดิน เมื่อตัดสินใจทำเอง พวกเขาก็ต้องพบกับปัญหามากมาย
“เทปชุดนี้อัดกันประมาณ 2 ปี พอตัดสินใจทําเอง ก็ต้องหาทุนมาทํากัน เราก็ทํางาน หาเงิน เก็บเงินเพื่อเอามาอัดเสียง เก็บเงินกันนานเลย แต่เวลาอัดจริง ๆ มันก็ไม่นานหรอก”
นอกจากปัญหาเรื่องของเงินทอง ดอนผีบินก็ต้องเจอกับปัญหาในการหาห้องอัด เพราะพวกเขาไม่รู้จักใครในวงการ
“ทีแรกตอนอัดกลองกับเบส เราอัดกันที่เชียงใหม่มันก็ยังไม่ยาก เพราะมันมีอยู่ห้องเดียว และพวกเราก็อยู่กันที่เชียงใหม่ด้วย แต่พอมากรุงเทพ เราต้องลุยเอง เพราะเราไม่รู้จักใคร ซึ่งถ้าเรามีคนในวงการรับเป็นโพรดิวเซอร์ให้มันก็คงง่ายขึ้น แล้วคิวที่เราได้ มันก็ไม่ใช่คิวเหมา ได้ทีละวันสองวัน ซึ่งมันเป็นเวลาที่เขาไม่ใช้ห้องกันแล้วคือช่วงตี 1-8 โมงเช้า เราก็เข้าไปแทรกตรงนี้ เราไม่ได้หลับได้นอนกันเลย บางทีเรายังไม่เสร็จเจ้าของห้องเขาก็มาแล้ว”
ใช่ว่าจะเอาเวลาที่คนอื่น ๆ ไม่ต้องการเป็นเวลาทํางาน บางครั้งพวกเขาก็ต้องถึงกับวิ่งรอกอัดเสียงกัน เลยทีเดียว
“เราอัดกลองกับเบสจากเชียงใหม่ลงไว้ 11 แทร็ค เหลือเอาไว้มาใส่กีตาร์ใส่เสียงร้องให้เป็น 16 แทร็ค เราก็ หอบเทปมาเลยไปอัดที่โปรซีตรอน แถวรามคําแหง ซึ่งบางครั้งห้องนี้มันก็ไม่ว่าง เราก็ต้องไปหาคิวที่ห้องอัดอื่น ก็ได้ที่ ไฮ-เทค อีกที่ ซึ่งเราก็ต้องใช้เวลาที่มีให้คุ้มด้วย เรามาจากน่านตอนเย็น ถึงกรุงเทพฯ เช้าเข้าห้องอัดถึงเย็นก็กลับบ้าน คิวมันน้อย เงินเราก็มีจํากัด”
ซึ่งตรงนี้การที่พวกเขาทําเดโมเทปแบบสมบูรณ์ไว้ก่อนหน้า เพื่อที่จะไปเสนอค่ายเทปต่าง ๆ มันก็ช่วยได้บ้างพอสมควร
“เราก็ต้องซ้อมให้ได้ตามเดโมเป๊ะ ๆ เพราะงานของเราจะว่าไปแล้ว มันเสร็จมาตั้งแต่เดโมเป็นรูปเป็นร่างไว้ก่อน เราก็ทำตามเดโมไป
เมื่อต้องเปลี่ยนห้องอัดกันบ่อย ๆ ก็หมายความว่า ซาวนด์ที่ออกมาก็น่าจะแตกต่างไปตามอุปกรณ์ของแต่ละที่ด้วย “ตอนอัดเสียง เราจะไม่แต่งเสียงกันเลย แล้วทางซาวนด์เอ็นจิเนียร์ก็จะทําตามที่เราต้องการ เขาจะถาม จะคุยกับเราว่าจะเอายังไงก่อน”
และเมื่อถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการมิกซ์เสียง โชคดีก็มาเยือนพวกเขา เมื่อได้ซาวนด์เอ็นจิเนียร์ที่เข้าใจและรู้ถึงความต้องการของพวกเขาอย่าง อุกฤษณ์ พิทักษ์ประชากิจ
“มาเจอกับเขาที่ แจม สตูดิโอ เรามามิกซ์ที่นี่ เทปเราเป็น 16 แทร็ค ต้องถ่ายเป็น 32 แทร็ค พอดีทางโปรซีตรอน เขาจะย้ายเครื่องถ่ายจากไทม์ สแควร์ไปไว้ที่บ้านเขา เราก็ขอขนให้โดยเราแวะเอามาถ่ายก่อน แล้วค่อยขนต่อไปที่บ้านเขา ปัญหามันยังไม่หมดนะ เพราะห้องอัดที่แจมนี่เต็มหมด เราต้องเป็นมนุษย์ค้างคาวกันอีก ก็ได้คุณอุกฤษณ์มาช่วย เขาขลุกอยู่กับเราเลย ช่วยเราได้มาก ถ้าไม่ได้เขาก็ไม่รู้ว่า งานชุดนี้จะเป็นยังไง เขาเข้าใจงานของเรา แนวเพลงของเรา เพราะเขาเองก็เล่นดนตรีในแนวนี้อยู่แล้วด้วย”
นอกจากจะช่วยมิกซ์เสียงให้กับงานชุดนี้แล้ว อุกฤษณ์ยังช่วยหาที่จัดจําหน่ายให้กับตอนผีบินอีกต่างหาก “อุกฤษณ์เขารู้จักกับ คุณสนิท นรฮีม เจ้าของ ROXX Records ก็ไปคุยกับเขา ซึ่งคุณสนิทก็รู้จักกับทาง Z-Rock อีกที มันเป็นลักษณะให้เขาขายให้มากกว่า”
ถึงตรงนี้เราก็อดถามไม่ได้ถึงคนที่มีอํานาจสูงสุดในการทำงาน เพราะงานชุดนี้ลงเครดิตไว้ว่าพวกเขาทั้งสามโพรดิวซ์งานร่วมกัน
“เราจะแบ่งงานกันชัดเจนถ้ากลอง เอามือกลองเป็นหลัก คนที่เหลือก็จะเป็นแบบออกความคิดเห็น ซึ่งการโพรดิวซ์นี่เราเคยมีประสบการณ์บ้างตอนทําเดโมที่ห้องอัด 4 แทร็คที่บ้าน แต่กับห้องอัดใหญ่ ๆ นี่มันเป็นครั้งแรก เราพยายามปรับให้มันทํางานได้ แต่ในช่วงมิกซ์นี่คุณอุกฤษณ์ช่วยเราไว้เยอะมาก”
เมื่อเสร็จงานอัดเสียงก็มาถึงงานขาย ที่ทางดอนผีบินมอบหมายหน้าที่ให้กับทางร็อกซ์ เรคอร์ดส์ และ ซี-ร็อค ทํางานไป แต่พวกเขาเองก็ช่วยด้วยอีกแรงไม่ ว่าจะเป็นการส่งข่าวไปตามนิตยสาร ส่งเทปไปตามสถานีวิทยุ และที่สําคัญ เราคงจะไม่กล่าวเกินเลยไปนักว่า พวกเขามีงานเปิดตัวเหมือนกับศิลปินมีสังกัด โดยทั่วไปเช่นกัน
“เป็นวันงานคอนเสิร์ทเมทัลลิกา เราเอาเทปไปขายเอง ซึ่งวันนั้นมันจะเป็นวันที่แฟนเพลงแนวนี้เขามารวมตัวกันเรา ก็ไปตั้งค่ายกันอยู่ปากประตูทางเข้า เอารถไปจอดขายกัน ถือเป็นวันเปิดตัวเราเลย เปิดกันข้างถนน”
ไม่เพียงแต่จะมีวันเปิดตัวแล้ว ตอนผีบิน ก็เปิดโอกาสให้กับแฟนเพลงได้สื่อสารกับพวกเขา ด้วยการส่งสลิปที่มีอยู่ในปกเทปกลับมายังพวกเขา ซึ่งพวกเขาเองก็มีสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ มอบให้ไปยังแฟนเพลง
หลาย ๆ คนเมื่อได้ฟังเพลงจากอัลบั้มชุดนี้ จะพบได้ ว่าไม่มีเพลงรักถูกบรรจุลงในอัลบัมนี้เลย
“อาจเป็นเพราะคนแต่งยังไม่มีประสบการณ์ (หัวเราะ) ได้หรือเปล่า คือผมเห็นว่าผมมีประสบการณ์อยู่ในเรื่องใดไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การต่อสู้ ในเรื่องของชีวิต เรื่องของสังคม ซึ่งเราเจอมาแล้ว เราก็ดึงเอาตรงนั้นมา แล้วอาจจะเป็นเพราะว่าดนตรีแนวนี้มันหนักนะในความรู้สึกของผม ถ้าจะไปหยิบเอาเรื่องราวที่มันเบาหรือไร้สาระมาใส่มันก็ไม่ดี แต่ไม่ได้แอนตีเพลงรักนะ” สมบัติบอกกับเราถึงงานของเขา
จากการทํางานที่เรียกได้ว่ากระท่อนกระแท่น ย้ายเข้าออกห้องอัดเป็นว่าเล่น พวกเขาพอใจกับงานที่ออกมาเป็น เทปคาสเส็ทท์วางขายทั่วไปในขณะนี้หรือเปล่า
“ไม่พอใจนะกับงานที่ออกมา หลายอย่างมันยัง ไม่ถึงจุดที่เราต้องการ อย่างกลองเราใช้กลองจริงไม่ใช้โพรแกรมแต่มันก็ไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เราผ่านมาทุกจุดที่เราทําเองหมด พยายามทําให้ดีที่สุด ซึ่งมันก็หนักหนา เราก็พอใจในระดับที่เราทําเต็มที่แล้ว”
ความคาดหวังของพวกเขาเมื่อมีงานเพลงชุดนี้ออกมา ว่าจะทํายอดขายได้ทะลุเป้าหรืออะไรก็ตามแต่นั้น หลาย ๆ คนอาจจะงงเล็ก ๆ เมื่อรู้คําตอบถึงสิ่งที่เขาคาดหวังในงานชุดนี้
“เราไม่ได้นึกถึงยอดขายนะ เราทํางานออกมาตอบสนองความต้องการทางจิตใจว่านี่คือเราอยากทํา ได้ทำตามที่ตั้งใจแล้วงานออกไปสู่ตลาดพอใจแล้ว ไม่ได้คิดด้วยว่าคนฟังจะรับได้รับไม่ได้ แต่เราก็คิดนะว่าอย่างน้อยเราก็ฟังเพลงแนวนี้อยู่ มันก็ต้องมีคนที่รับงานของเราได้ ซึ่งถ้ามัน ขายได้คุ้มทุน หรือพอประทังชีวิตเราได้นิด ๆ หน่อย ๆ เราก็ถือว่าเราโชคดี และมันก็เป็นกําลังใจให้เรากับก้าวที่ 2 ต่อไป เราถือว่าเราประสบผลสําเร็จในการทํางานแล้วเมื่อมันเสร็จ ออกมาเพราะมันก็คือตัวเราชัดเจน ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรมาบังคับ ถึงแม้จะไม่ประสบความสําเร็จในด้านการขายก็ตาม เพราะไอ้การที่ขายได้เยอะก็ไม่ใช่ว่างานมันจะดี มันไม่ใช่สิ่งที่มาวัดตัวเรา เป้าหมายของเราคือได้ทํางานด้วยความรู้สึกเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ของเรา เรื่องของการขายมันก็คือผลพลอยได้”
ก่อนจะจากกันเราถามถึงคอนเสิร์ทของพวกเขา ว่าจะมีมาให้เราชมกันบ้างหรือเปล่าเพราะอาวุธสําคัญของวงร็อคอย่างหนึ่งที่หนีไม่พ้นก็คือคอนเสิร์ทนี่เอง
“คงจะต้องมี แต่เราคงกําหนดกฎเกณฑ์ลงไปไม่ได้ ว่าเมื่อไหร่ ที่ไหน แต่อยากจะเล่นกลางแจ้ง” เราก็คงจะต้องรอดูกันต่อไปกับคอนเสิร์ทของดอนผีบิน
ดอนผีบินล่องลอยคือตํานานที่ก่อให้เกิดชื่อของวง ดนตรี เฮฟวี เมทัล ดอนผีบิน คงต้องดูกันต่อไปว่า ดอนผีบิน จะเป็นตํานานอีกหน้าหนึ่งของวงดนตรี เฮฟวี เมทัล ใต้ดินได้หรือเปล่า
เรื่อง: เยาวเรศ เอี่ยมเจริญ คอลัมน์ Music Scene นิตยสาร T-Club ฉบับที่ 18 ตุลาคม 1993
ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่