THE GREAT GATSBY (2013) the greatest thing you’ll ever learn is just to love and be loved in return
กำกับ-แบซ เลอห์แมน ผู้แสดง-ลีโอนาร์โด ดิคาร์ปริโอ, โทบี้ แม็กไกวร์, แครี่ มัลลิแกน
(หมายเหตุ ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถซื้อและเช่าได้แล้วที่ ไอทูนส์ สโตร์ ส่วนอัลบั้มซาวนด์แทร็คก็สามารถดาวน์โหลดได้ที่เดียวกัน)
ในขณะที่ชื่อนิยายของเอฟ.สก็อตต์ ฟิทช์เจอรัลด์ (และรวมถึงชื่อหนังของแบซ เลอห์แมนด้วย) ‘The Great Gatsby’ ดูเหมือนจะไม่ได้สะท้อนความหมายตามตัวหนังสืออย่างตรงไปตรงมา หมายความว่า-ในแง่มุมหนึ่ง แกสบี้ก็ไม่ได้ great’ หรือยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง (ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับมุมมองและระดับของการตีความ ซึ่งเปิดโอกาสให้สนับสนุน และโต้แย้งสมมติฐานนี้ต่างๆนานา) ปรากฏว่า ชื่อภาษาไทยอย่างเป็นทางการของหนังเรื่องนี้ ซึ่งถูกใช้มาตั้งแต่เมื่อครั้งที่หนังฉบับสร้างปี 1974 ของแจ็ค เคลย์ตั้นถูกส่งเข้ามาฉายในบ้านเราเป็นอย่างน้อยและเวอร์ชั่นล่าสุด ก็ยังคงใช้ชื่อนี้ (และคงต้องรบกวนผู้รู้ช่วยให้ข้อมูลด้วยว่า ใครเป็นคนตั้ง และตั้งไว้นับแต่เมื่อใด) และนั่นก็คือ “รักเธอสุดที่รัก”-กลับอธิบายความหมายของเนื้อหาและสาระสำคัญของทั้งตัวหนังสือและตัวหนังได้อย่างเข้าถึงแก่นแกนของมัน
พูดง่ายๆ มันเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด และมันเป็นจุดจบด้วยเช่นกัน อีกทั้งมันยังช่วยให้ผู้ชมภาพยนตร์ตระหนักได้ในที่สุดว่า อะไรเป็นตัวการสำคัญที่นำพาให้ตัวเอกของเรื่องต้อง ‘ดิ้นรนและดันทุรัง’ อย่างน่าสมเพชเวทนา-ถึงเพียงนี้
[one_two][/one_two]
อย่างที่ข้อมูลในเชิงสถิติบันทึกไว้นั่นเอง นิยายเรื่อง The Great Gatsby ของเอฟ.สก็อตต์ ฟิทช์เจอรัลด์ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1925 ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ราวๆ 5-6 ครั้ง แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังคงไม่มีการดัดแปลงครั้งไหนที่ได้รับเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญอย่างพร้อมเพรียง หรือสามารถจะอวดอ้างได้ว่าเป็น ultimate version หรือเวอร์ชั่นที่มติมหาชนพร้อมใจกันเรียกว่าเป็น ‘ที่สุดของแจ้’ และคงเป็นด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้คนทำหนังทั้งหลายไม่ลดละความพยายาม
ข้อน่าสังเกตก็คือ นับเฉพาะสหัสวรรษใหม่ที่ล่วงพ้นมาแล้วสิบกว่าปี นิยายของฟิทช์เจอรัลด์เรื่องนี้ถูกนำมาดัดแปลงเบ็ดเสร็จรวมสามครั้งเป็นอย่างน้อย (และนี่เป็นเครื่องยืนยันชั้นดีว่า หนังสือของพิทช์เจอรัลด์-เป็นผลงานที่ทนทานต่อการพิสูจน์ด้วยกาลเวลาจริงๆ) และล่าสุดก็คือเวอร์ชั่นของแบซ เลอห์แมน ซึ่งก็ต้องบอกว่า มันเป็นความพยายามที่น่ายกย่องชื่นชม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการนำเสนอด้วยรูปแบบของหนังสามมิติซึ่งเมื่อประกอบกับสไตล์ทางด้านภาพอันฉูดฉาดบาดตาของเลอห์แมนที่แฟนพันธุ์แท้ของเขาล้วนตระหนักดีว่า มันไม่เคยรู้จักคำว่า ‘บันยะบันยัง’ มันก็ส่งผลให้ภาพเคลื่อนไหวที่ปรากฏเบื้องหน้าของผู้ชม-ก็ไม่แตกต่างไปจากการปรนเปรอและเฉลิมฉลองอย่างเมามันในแง่ของการมองเห็นของผู้ชม (อันที่จริงแล้ว คงต้องรวมการใช้เสียงเข้าไปด้วย) และมันตอกย้ำถึงความเละเทะและฟอนเฟะของวงสังคมชั้นสูงและระดับศีลธรรมของทศวรรษที่ 1920 ได้อย่างน่าตื่นตา
แต่ถึงกระนั้น ระยะทางไปสู่การเป็น ‘ฉบับดัดแปลงอย่างเป็นทางการ’ หรือ official version ก็ยังอีกไกลโขทีเดียว (แม้ว่าจริงๆแล้ว เวอร์ชั่นแบบนั้นไม่น่าจะมีอยู่จริง ไม่ใช่เรื่องจำเป็น และบางที การนำเอาวรรณกรรมคลาสสิกมาตีความใหม่เรื่อยๆเหมือนกับกรณีของ Romeo+Juliet ก็ถือเป็นเสมือนความรับผิดชอบอย่างหนึ่งของศิลปิน นัยว่าเพื่อตอกย้ำว่างานศิลปะที่ทรงคุณค่าไม่เคยติดอยู่ในกับดักของกาลเวลา) ในแง่มุมหนึ่ง เวทมนต์คาถาทางด้านภาพ (และเสียง) เพียงลำพัง-ไม่สามารถค้ำจุนให้หนังยืนหยัดอย่างแข็งแรงได้ตลอดทั้งเรื่อง และเอาเข้าจริงๆแล้ว ครึ่งเรื่องหลังของหนัง อันได้แก่ช่วงที่งานปาร์ตี้ที่คฤหาสน์ของแกสบี้สิ้นสุดลง สภาพของหนังก็เหมือนกับคนที่เมาค้างจากงานเลี้ยงสุดขีดคลั่งเมื่อคืนวาน มันดูล่องลอย ไม่มีความกระฉับกระเฉงและกระปรี้กระเปร่าอย่างในช่วงครึ่งเรื่องแรก หรือแม้แต่สติปัชัญญะที่ครบถ้วนสมบูรณ์
แต่นั่นก็ยังไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายเท่ากับองค์ประกอบทางด้านดราม่าที่ทำงานได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย จนดูคลับคล้ายว่า มันเป็นเหมือนกับจุดอ่อนของเลอห์แมนมาตั้งแต่ไหนแต่ไร หรือพูดง่ายๆ ทันที่เงื่อนไขของเนื้อหากำหนดให้ตัวละครต้องมีปฏิสัมพันธ์กันในฉากที่ต้องทอดจังหวะและให้ความสำคัญกับการผ่านพ้นไปของระยะเวลา และคนทำหนังไม่ได้รับอนุญาตให้ชักจูงชี้นำหรือล่อหลอกผู้ชมด้วยลูกเล่นทางด้านภาพและเสียงอันหวือหวาแพรวพราว มันก็ดูเหมือนกับว่าคนทำหนังไม่รู้ว่าจะ ‘ไปต่อ’ ยังไง และความเข้มข้นตลอดจนพลังดึงดูดของหนัง-ก็อ่อนล้าโรยแรงไปดื้อๆซะอย่างนั้นเอง และการที่หนังพยายามจะแทรกแซงความต่อเนื่องลื่นไหลของเหตุการณ์ด้วยการตัดต่อด้วยช็อทสั้นๆ หรือใช้เทคนิคพิเศษมาช่วย-ก็รังแต่จะยิ่งทำให้หนังดูเป็นท่อนๆ กลายเป็นการพยายามจะเล่นมายากลทางด้านภาพ และลดทอนการมีส่วนร่วมของผู้ชมต่อตัวละครอย่างน่าเสียดาย
สองฉากที่ต่อเนื่องกัน และเป็นข้อต่อสำคัญที่นำไปสู่บทสรุปอันเป็นโศกนาฏกรรมของเรื่องทั้งหมด และผู้ชมจำเป็นต้องได้รับโอกาสดื่มด่ำและซับซับอย่างให้ระยะเวลา แต่กลับถูกกระทบกระเทือนด้วยวิธีการนำเสนอดังที่กล่าวข้างต้นก็คือ ช่วงที่เจย์ แกสบี้ (ลีโอนาร์โด ดิคาร์ปริโอ) ถูกเชื้อเชิญให้มาที่คฤหาสน์ของพวกบิวคาแนน ก่อนที่ทั้งหมดจะยกขบวนกันไปหาที่คลายร้อน ณ โรงแรมหรูในเมือง-ซึ่งนำไปสู่การเผชิญหน้าและเปิดเผยความจริง ไม่ต้องสงสัยว่าโดยเจตนาของผู้เขียน นี่คือฉากที่ยิ่งทำให้ระดับของอุณหภูมิซึ่งในทางกายภาพ มันอบอ้าวอยู่แล้ว เพิ่มดีกรีของความเดือดพล่านมากขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่า แท็คติกและกลวิธีของหนัง-กลับไม่ได้ช่วยสร้างความร้อนแรงเท่าที่ควร อันที่จริง มันกลับทำให้ ‘ลมปราณ’ ของหนังแตกซ่านและกระเจิดกระเจิง รวมทั้งโฟกัสและสมาธิของผู้ชม-ก็เหมือนกับถูกเบี่ยงเบน เดชะบุญที่แอ็คติ้งของดิคาร์ปริโอช่วยกอบกู้ฉากสำคัญเอาไว้ได้ (อันได้แก่ตอนที่เขาเกือบจะลุแก่โทสะ และลงไม้ลงมือทอมตามพื้นฐานกำพืดดั้งเดิมของตัวเอง) และมันช่วยผู้ชมตระหนักได้ว่า หนึ่งในน้ำหนักสำคัญของหนังทั้งเรื่อง-ก็คือ การนำเสนอด้านที่อาจจะเรียกได้ว่า ‘not so great’ ของแกสบี้นั่นเอง
ไม่ว่าจะอย่างไร ส่วนที่หนังของเลอห์แมนเบี่ยงเบนจากหนังสือ (ซึ่งจริงๆแล้ว เป็นสิทธิอันชอบธรรม) และกระทบโครงสร้างความหมายของเนื้อหาพอสมควร-เกี่ยวเนื่องกับบทบาทของเดซี่ บิวคาแนน (แครี่ มัลลิแกน) พูดอย่างย่นย่น เดซี่เวอร์ชั่นของเลอห์แมนดูจะเป็นเหยื่อของการถูกกระทำจากค่านิยมของสังคมที่เงินตราและสถานภาพทางชนชั้นมีความหมายมากกว่าความเป็นมนุษย์มนา และเป็นตัวละครที่ทั้งน่าสงสารและเห็นอกเห็นใจ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คนทำหนังให้ความเมตตาเดซี่ย์มากกว่าตัวหนังสือของฟิทช์เจอรัลด์ที่มุ่งชี้ให้ผู้ชมได้เห็นตัวละครนี้ในบุคลิกตื้นเขิน โง่เขลา และเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้
ปัญหาก็คือในท้ายที่สุด หนังของเลอห์แมนกลับยังคงรักษาทัศนะและมุมมองความคิดเดียวกันกับในหนังสือโดยเฉพาะในส่วนของการตำหนิติเตียนพวกชนชั้นสูง นั่นรวมถึงเดซี่ย์ อันได้แก่ประโยคที่ผู้ชมได้ยินนิค คาร์ราเวย์ (โทบี้ แม็คไกวร์) ตัวละครที่เป็นคนเล่าเรื่องทั้งหมด-กล่าวสรุปถึงความ ‘careless’ หรือความไม่แยแสต่อการก่อกรรมทำเข็ญของทั้งเดซี่ย์ และทอม (โจเอล เอจเกอตั้น) สามีผู้มั่งคั่งของเธอ ในมุมของทอม เขาชั่วช้าสามานย์และเห็นแก่ตัวตามข้อกล่าวหาจริงๆ แต่สำหรับเดซี่ย์ มันดูเหมือนเธออยู่ในภาวะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้มากกว่าที่จะแสดงออกอย่างใจไม้ไส้ระกำ หรือโหดเหี้ยมเลือดเย็นโดยเจตนา และมันอาจจะทำให้ผู้ชมนึกสงสัยขึ้นมาได้ว่าหญิงสาวไปทำอะไรมาถึงต้องกับเจอกับข้อกล่าวหาแบบนั้น
[one_two][/one_two]
ไม่ว่าจะอย่างไร ส่วนที่แยบยลมากๆของหนังเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ ‘มุมมอง’ หรือ ‘องศา’ ที่หนังเลือกบอกเล่า และเป็นดังที่กล่าวข้างต้น มันไม่ได้มุ่งให้ผู้ชมได้เห็นเจย์ แกสบี้ในภาพลักษณ์ของเทพบุตรชวนฝันแบบโรเบิร์ต เรดฟอร์ด ผู้ซึ่งรับบทเจย์ แกสบี้ในเวอร์ชั่นปี 1974 แม้ว่าในตอนแรกที่ผู้ชมได้พบกับตัวละครนี้ คนทำหนังพยายามจะสร้างภาพลวงตาแบบนั้น แต่ทีละน้อย แกสบี้ในเวอร์ชั่นปี 2013 ของดิคาร์ปริโอ-ก็ดูเป็นตัวละครที่หน้ามืดตามัวและหมกมุ่นงมงายอยู่กับจินตภาพของคนรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้นและถลำลึกเกินไป และไม่ว่าผู้ชมจะสงสารเห็นใจพระเอกของเรามากน้อยแค่ไหน (ฉากหนึ่งที่ชวนให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกอย่างนั้น-ก็คือตอนที่เขาพยายามเจ้ากี้เจ้าการให้การได้ ‘รียูเนียน’ กับเดซี่ย์ออกมาสมบูรณ์แบบ แต่ทุกอย่างกลับตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง) สิ่งเดียวที่เราทำได้-ก็คือการเฝ้ามองเขาลอยคออยู่กลางมหาสมุทรและค่อยๆจมน้ำไปต่อหน้าต่อตา โดยที่เราไม่อาจจะหยิบยื่นความช่วยเหลือใดๆ
แน่นอนที่สุดว่าการแสดงของลีโอนาร์โด ดิคาร์ปริโอมีส่วนอย่างยิ่งยวดในการทำให้ผู้ชมได้เห็นแกสบี้ในมุมที่นอกจากจะไม่ใช่ ‘the Great Gatsby’ ตามชื่อแล้ว ยังลงเอยด้วยการเป็น ‘the greatest loser of all time’ และไม่ว่าหนังของแบซ เลอห์แมนจะเล่นตัวโน๊ตที่แตกต่างและผิดเพี้ยนไปจากคีย์ดั้งเดิมของตัวหนังสือของฟิทช์เจอรัลด์ในส่วนอื่นๆอย่างไร
ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือสรรพสำเนียงที่คนทำหนังเลือกถ่ายทอดได้อย่างไพเราะเพราะพริ้งและสวยสดงดงาม
โดย ประวิทย์ แต่งอักษร จากนิตยสาร สีสัน คอลัมน์ ภาพยนตร์ ตีพิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2013