เมื่อถึงช่วงปลายปี ก็ได้เวลาของการประกาศรางวัลยืนยันความเยี่ยมยอดของสถาบันต่างๆ และแน่นอนก็ต้องมีการคาดการณ์กันว่า หนังเรื่องนั้น เรื่องนี้ มีโอกาสมากน้อยขนาดไหนบนเวทีประกาศรางวัล โดยเฉพาะรางวัลออสการ์ ที่ถูกยกให้เป็นยอดมงกุฏเพชรของวงการภาพยนตร์ไปแล้ว
และทางนิตยสารวาไรตี ก็คัดสรรหนังมาถึง 35 เรื่อง ที่มีความแข็งแรง และน่าสนใจมากพอที่จะไปถึงเวทีสำคัญที่ว่า ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะไปได้ถึงตรงนั้น บางเรื่องไปได้ก็แค่ในสาขาเกี่ยวกับโปรดัคชัน บ้างก็อาจจะไปไกลถึงสาขาหลักๆ และบางเรื่องก็ได้แค่ถูกคาดการณ์เท่านั้น มาดูกันว่ามีเรื่องอะไรบ้าง
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านงานวิจารณ์หนัง และเพลง แบบนี้ ได้ด้วยการกดไลค์ Like เพจสะเด่าส์กันไว้ก่อน ได้ที่นี่
Everest (ยูนิเวอร์แซล)
ต้องใช้คนไอซ์แลนดิคอย่าง บัลตาซาร์ คอร์มาเคอร์ เพื่อจับเอามุมมองและเรื่องราวความรับผิดชอบจนตัวตาย ซึ่งเกิดขึ้นในจุดสูงสุดของโลก ที่บอกเล่าเอาไว้ในหนังสือเรื่อง Into Thin Air ของจอน คราเคอร์ มานำเสนอเป็นภาพยนตร์ได้อย่างใกล้เคียงที่สุด แล้วกับสไตล์การเล่าเรื่องที่ไม่มีเนาะแนะ ภาพสามมิติ ไอแมกซ์ ที่ดูลึก และนำความสมจริงมาให้ บวกกับการแสดงของทีมดาราระดับฝีมือ ที่นำโดยเจสัน คลาร์ค, จอช โบรลิน และเจค กิลเลนฮาล ก็ทำให้หนังที่ดู ‘ใหญ่’ เรื่องนี้ มีอารมณ์ ความรู้สึก ‘สูง’ เช่นกัน
Ex Machina (เอทะเว็นตีโฟร์)
งานหนังทุนต่ำ แต่สร้างขึ้นมาอย่างงดงามที่ออกฉายมาตั้งแต่ต้นปี นี่คือผลงานการกำกับครั้งแรกของอเล็กซ์ การ์แลนด์ มือเขียนบทเจ้าของผลงานอย่าง 28 Days Later และ Never Let Me Go ที่บอกเล่าถึงเรื่องราวที่ว่า จะเกิดอะไรหากปัญญาประดิษฐ์สามารถคิดและรู้สึกแบบมนุษย์ได้ ซึ่งเป็นคำถามที่เคยถูกนำเสนอมาแล้วใน 2001, Blade Runner หรือกระทั่ง Under the Skin อลิเซีย วิแคนเดอร์ ที่เล่นเป็นหุ่นยนต์ต้นแบบในเรื่อง ได้โอกาสแสดงความสามารถทางการแสดงอันซับซ้อนอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ที่น่าจะถูกยกให้เป็นปีที่โดดเด่นมากๆ ของเธอ ขณะที่ออสการ์ ไอแซ็ค ในบทเจ้าพ่อของซิลิคอน วัลเลย์ และนักวิทยาศาสตร์วิปลาส ก็เต็มไปด้วยเสน่ห์ และเล่นได้อย่างลื่นไหล
45 Years (ซันแดนซ์ เซเล็คทส์)
งานดรามาว่าด้วยคู่รักที่กำลังจะฉลองการครบรอบแต่งงานปีที่ 45 อย่างชื่อหนังว่าไว้ ที่น่าชื่นชมเรื่องนี้ นำเสนอออกมาโดยไม่ฟูมฟาย และอยู่ภายใต้งบที่จำกัดจำเขี่ย แต่รุ่มรวยไปด้วยการแสดงที่โดดเด่นของ ทอม คอร์เทนาย์ และชาร์ล็อตต์ แรมปลิง สองนักแสดงนำที่กลายเป็นฐานให้กับหนัง ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องหรือแสดงถึงมุมมองที่ขัดกับวิถีนิยมทั่วๆ ไป หนังได้แต้มต่อไปก่อนแล้ว จากการเข้าชิงรางวัลหนังอินดีของเกาะอังกฤษถึงห้าสาขา
The Hateful Eight (เดอะ ไวน์สไตน์ คอมปานี)
เจ้าของบัลลังก์เด็กเกรียนแห่งฮอลลีวูด และเจ้าของสองรางวัลออสการ์ เควนติน ทารานติโน ดูตั้งอกตั้งใจอย่างมากกับการนำพยายามนำเอาความคลาสสิคแบบงานมหากาพย์ กลับมาสู่จอใหญ่ให้ได้ ด้วยการถ่ายทำในระบบไวด์สกรีน 70 ม.ม. แล้วจากที่เห็นในหนังตัวอย่าง หนังเต็มไปด้วยพลัง และบทสนทนาที่กระชับ เฉียบคม แล้วในบทหลักๆ ก็ได้เซียนๆ ที่มาพร้อมกับผมสีดอกเลามาเล่น ไม่ว่าจะเป็น แซมวล แอล แจ็คสัน, เคิร์ท รัสเซลล์ และบรูซ เดิร์น ที่จะมาพิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่า ยังไม่แก่เกินแกง แต่ยิ่งแก่ยิ่งเก๋า
In the Heart of the Sea (วอร์เนอร์ บราเธอร์ส)
ถ้าทารานติโนคือสายเกรียน รอน โฮเวิร์ด ก็คือประชากรตัวอย่างของฮอลลีวูด ที่สร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง เป็นงานดรามาที่เต็มไปด้วยความงดงาม เช่น Apollo 13, A Beautiful Mind, Frost/Nixon โดยไม่มีการเรียกร้องความสนใจให้กับตัวเอง กับหนังผจญภัยในท้องทะเลลึกอิงประวัติศาสตร์เรื่องนี้ นี่คืองานที่สร้างจากหนังสือชื่อเดียวกันของนาธาเนียล ฟิลบริค ซึ่งเป็นเรื่องจริง ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับวรรณกรรมชิ้นเอกที่ชื่อ Moby Dick อีกที
Inside Out (วอลท์ ดิสนีย์)
หนังครอบครัวที่ว่าด้วยการเดินทางของจิตใจในหัวสมองเรื่องนี้ของพิกซาร์ เป็นงานมาเต็มในเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งไม่ต่างไปจากที่ Up และ Toy Story 3 เคยทำได้ หนังมีศักยภาพมากพอที่จะแทรกตัวเข้าไปในสาขาหนังยอดเยี่ยม ขณะที่สาขาหนังแอนิเมชันยอดเยี่ยมนั้นคือ ของตาย และก็เป็นไปได้ว่า หนังอาจจะกล้าๆ เข้าชิงในสาขาบทดั้งเดิมยอดเยี่ยมด้วยก็เป็นได้
Joy (ฟ็อกซ์ทูว์เธาซันด์)
หนังสามเรื่องก่อนหน้านี้ของเดวิด โอ รัสเซลล์ ล้วนได้เข้าชิงในสาขาหนังยอดเยี่ยม แถมหนังก็มีเจ้าของรางวัลออสการ์จาก Silver Linings Playbook เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ เป็นทั้งหน้าและศูนย์กลาง ส่วนเรื่องราวที่ว่าด้วยชีวิตของจอย แมงกาโน นักประดิษฐ์คนสำคัญ และการเติบโตของสถานีโทรทัศน์คิววีซี ก็เรียกร้องความสนใจจากเหล่ากรรมการออสการ์ได้แน่ๆ แล้วหันไปดูในสาขาของนักแสดงสมทบ หนังก็ยังมีชื่ออย่างแบรดลีย์ คูเปอร์ และโรเบิร์ท เดอ นีโร เข้าคิวรออยู่เป็นคนแรกๆ
Love & Mercy (โรดไซด์ แอทแทรคชันส์)
ท่วงท่าแปลกๆ ของพอล ดาโน ที่ถ่ายทอดความเป็นไบรอัน วิลสันออกมาให้เห็นอย่างโดดเด่น ถือเป็นความเยี่ยมยอดอย่างที่สุดของ Love & Mercy แต่หนังก็ยังมีอะไรดีๆ ที่น่าสนใจอีกมากมายไม่ใช่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงของเอลิซาเบธ แบงค์ส ในบทภรรยาคนที่สองของวิลสันและผู้ช่วยชีวิตของเขา ที่อาจจะถูกมองข้ามได้ง่ายๆ ในสาขานักแสดงสมทบ ไปจนถึงความสามารถของบิลล์ โพห์ลาด กับงานกำกับชิ้นที่สอง ที่สามารถเก็บรายละเอียดของยุค 1960 เอาไว้ได้อยู่หมัด ขณะที่สามารถหลบกับดักของงานในแบบอัตชีวประวัติได้เป็นอย่างดี
Mad Max: Fury Road (วอร์เนอร์ บราเธอร์ส)
หนังแอ็คชันยากที่จะได้โอกาสเมื่อมาถึงช่วงเวลาของการประกาศรางวัล แต่ก็มีหนังน้อยเรื่องที่จะเทียบกับหนังที่จู่โจมเข้าใส่ผู้ชม ด้วยพลังของภาพยนตร์เพียวร์ๆ เรื่องนี้ ที่ออกแบบหายนะ ความรุนแรงขึ้นมาอย่างวิจิตรบรรจงเท่าที่จะทำได้ และความระทึกตื่นเต้นที่ผู้กำกับจอร์จ มิลเลอร์นำเสนอ ก็คือตัวอย่างชั้นเยี่ยมสำหรับความเป็นที่สุดของหนังในแนวทางนี้ จากความสับสนไปจนถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ตลอดจนการเล่าเรื่องที่เดินหน้าไปโดยตลอด และการแสดงอันโดดเด่นของชาร์ลิซ เธอรอน ที่น่าจดจำแทบจะทันทีในบทเจ้าแม่ฟูริโอซา นี่คือหนังที่ผู้ลงคะแนนอาจจะอยู่ในสภาวะอันตรายได้ หากเผลอละเลยหลงลืม
The Martian (ฟ็อกซ์)
ในหนังทำเงินของริดลีย์ สก็อทท์ เรื่องนี้ เน้นความเป็นวิทยาศาสตร์พอๆ กับตัวแม็ทท์ เดมอน ไม่ต่างไปจากที่ซานดรา บูลล็อคเคยเป็นมาก่อน ในหนังเรื่อง Gravity The Martian แสดงให้เห็นว่าเดมอนสามารถอุ้มหนังทั้งเรื่องเพียงลำพังเป็นระยะเวลานานๆ เหมือนอย่างที่เห็นในช่วงเวลาแห่งการหาทางรอดชีวิตในเรื่องได้ บทที่เขียนมาจากนิยายขายดีของแอนดี เวียร์ ก็เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน และปลุกเร้ากำลังใจในเวลาเดียวกัน แถมยังแสดงให้เห็นด้วยว่า ความคิดและการใช้สมอง ก็เซ็กซีและดูดีได้ไม่ต่างไปจากพวกซูเปอร์ฮีโร
The Revenant (ฟ็อกซ์)
ผู้กำกับของหนังยอดเยี่ยมเมื่อปีที่แล้ว อเลฮานโดร จี อีญาร์ริตู นำเอาสุนทรีย์ทางศิลปะของตัวเองมาใส่ในเรื่องเล่าขานถึงการล้างแค้นของผู้ชายคนหนึ่ง ที่ถูกทิ้งไว้ให้ตายในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า หลังถูกหมีทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ หนังมีลีโอนาร์โด ดีคาพรีโอ มารับบทนี้ และมีไอ้หนุ่มเมธ็อดจากเกาะอังกฤษ ทอม ฮาร์ดี มาเล่นเป็นคู่ปรับ ทั้งคู่จะปรากฏตัวบนจอภาพยนตร์ที่งานด้านภาพเต็มไปด้วยความน่าทึ่ง จากฝีมือของผู้กำกับภาพเจ้าของรางวัลออสการ์สองปีซ้อน เอมมานูเอล ลูเบซกี ที่น่าจะเข้าป้ายได้ชิงออสการ์เป็นอย่างน้อย
(ยังมีต่อ)
จากเรื่อง หนังเรื่องไหนที่จะไปมีบทบาทบนเวทีออสการ์ โดย ฉัตรเกล้า นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1196 ปักษ์หลัง พฤศจิกายน 2558