เมื่อถึงช่วงปลายปี ก็ได้เวลาของการประกาศรางวัลยืนยันความเยี่ยมยอดของสถาบันต่างๆ และแน่นอนก็ต้องมีการคาดการณ์กันว่า หนังเรื่องนั้น เรื่องนี้ มีโอกาสมากน้อยขนาดไหนบนเวทีประกาศรางวัล โดยเฉพาะรางวัลออสการ์ ที่ถูกยกให้เป็นยอดมงกุฏเพชรของวงการภาพยนตร์ไปแล้ว
และทางนิตยสารวาไรตี ก็คัดสรรหนังมาถึง 35 เรื่อง ที่มีความแข็งแรง และน่าสนใจมากพอที่จะไปถึงเวทีสำคัญที่ว่า ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะไปได้ถึงตรงนั้น บางเรื่องไปได้ก็แค่ในสาขาเกี่ยวกับโปรดัคชัน บ้างก็อาจจะไปไกลถึงสาขาหลักๆ และบางเรื่องก็ได้แค่ถูกคาดการณ์เท่านั้น มาดูกันว่ามีเรื่องอะไรบ้าง
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านงานวิจารณ์หนัง และเพลง แบบนี้ ได้ด้วยการกดไลค์ Like เพจสะเด่าส์กันไว้ก่อน ได้ที่นี่
Anomalisa (พาราเมาท์)
ไม่เคยมีหนังเรท อาร์เรื่องไหนที่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในสาขาหนังแอนิเมชันมาก่อน แต่กับเสียงวิจารณ์กระหึ่ม การนำเสนอที่เต็มไปด้วยอารมณ์ และสมองของผู้กำกับ/มือเขียนบทเจ้าของรางวัลออสการ์ อย่าง ชาร์ลี คอฟแมน หนังสต๊อป-โมชันเบาสมอง ที่ว่าด้วยเรื่องราวหวานอมขมกลืนของชีวิตในช่วงวัยกลางคน ที่มีทั้งความโศกเศร้า และการก้าวไปเริ่มต้นใหม่ น่าจะเปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นบนเวทีออสการ์ได้ แล้วก็น่าจะอยู่ในสายตา สำหรับการถูกเสนอชื่อในสาขาบทดัดแปลงยอดเยี่ยม
Beasts of No Nation (เน็ทฟลิกซ์)
แครี โจจี ฟูกูนากะ เจ้าของผลงานตอนที่ชื่อว่า Sin Nombre จากมินิ-ซีรีส์ True Detective ในฤดูฉายแรก ยกตัวเองมาอยู่ในอีกระดับ ด้วยหนังที่ว่าด้วยการทำสงคราม และการใช้ทหารเด็ก ในประเทศแถบแอฟริกาที่ไม่สามารถระบุกเฉพาะเจาะจงลงไปได้ว่าเป็นที่ไหน ไอดริส เอลบาพาการแสดงที่น่าทึ่งมาให้ชมกันในบทของผู้นำทหารที่เลือกสรรเด็กๆ มาทำหน้าที่รบ ซึ่งในจำนวนนั้นก็คือ อากู ตัวละครในแบบเดียวกับโอลิเวอร์ ทวิสต์ ที่รับบทโดย อับราฮัม แอตตาห์ ที่การแสดงของทั้งคู่ ต่างได้รับคำชื่นชมอย่างเป็นเอกฉันท์
The Big Short (พาราเมาท์)
จากตัวอย่าง หนังรวมดาวที่เปี่ยมไปด้วยพลังเรื่องนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการล่มสลายของธุรกิจอสังหาฯ ที่แตกอย่างกับฟองสบู่ในช่วงกลางยุค 2000 และมีใครบ้างที่ได้ประโยชน์จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น หนังดูเหมือนจะเป็นการผสมผสานกันระหว่าง American Hustle กับ The Wolf of Wall Street มือเขียนบทไมเคิล ลิวอิส จาก Moneyball และ The Blind Side ร่วมเขียนบทเรื่องนี้กับผู้กำกับอดัม แม็คเคย์ ขณะที่นักแสดงก็เต็มไปด้วยคนที่ออสการ์รักอย่าง คริสเตียน เบล, แบรด พิทท์, ไรอัน กอสลิง, สตีฟ คาร์เรลล์ และมาริสา โทเม
Black Mass (วอร์เนอร์ บราเธอร์ส)
จากสตูดิโอที่ทำหนังแกงสเตอร์เอาตังค์ในช่วงยุค 30 – 40 ใน Black Mass เราจะได้เห็นจอห์นนี เด็ปป์ ปล่อยตัวเองเข้าไปในบท ไวทีย์ บัลเกอร์ เจ้าพ่ออาชญากรแห่งบอสตันตอนใต้ ได้อย่างน่าพรั่นพรึง ขณะที่โจล เอดเกอร์ตัน ก็ปล่อยการแสดงที่รับมือกับเด็ปป์ได้เป็นอย่างดี ด้วยการรับบทเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ จอห์น คอนนอลลี ผู้กำกับสก็อทท์ คูเปอร์ มีเครดิตที่ดีมาจาก Crazy Heart และกำลังจะเป็นสตาร์ในสายงานของตัวเองในไม่ช้า แล้วไม่ต้องห่วงว่าออสการ์จะไม่แลหนังแกงสเตอร์ดิบๆ กระทั่งหนังรีเมคอย่าง The Departed ยังคว้ารางวัลมาแล้วเลย
Bridge of Spies (ทัชสโตน)
สตีเวน สปีลเบิร์ก เป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ไม่เคยถูกมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง การแสดงของทอม แฮงค์ส ได้รับการยกย่องเช่นเดียวกับการปั่นบทของพี่น้องโคเอ็น แต่ที่โดดเด่น เจิดจ้า ก็คือ มาร์ค ไรแลนซ์ ที่แสดงฝีมือราวกับพระเจ้าประทาน และน่าจะถูกล็อคให้เข้าชิงในสาขานักแสดงสมทบชายเรียบร้อยแล้วจากบทสายลับโซเวียต
Brooklyn (ฟ็อกซ์ เซิร์ชไลท์)
เรื่องราวเกี่ยวกับผู้อพยพในยุค 1950 ของผู้กำกับจอห์น ครอว์ลีย์ โดนอารมณ์ความรู้สึกได้โดยไม่รู้ตัว และทำให้น่าจะมีโอกาสในสาขาหนังยอดเยี่ยม ขณะที่การทำงานของนิค ฮอร์นบี ที่มาพร้อมอารมณ์ขันในการดัดแปลงนิยายของโคลิน โทบินมาเป็นบทภาพยนตร์ ก็สามารถแข่งกับใครก็ได้ในสาขาบทดัดแปลงยอดเยี่ยม ที่ไม่น้อยหน้าไปกว่างานในส่วนอื่นๆ คงไม่พ้นการแสดงของเซียซ่า โรแนน ที่สร้างความสง่างามได้ในทุกเฟรมที่เธอปรากฏตัว
Carol (เดอะ ไวน์สไตน์ คอมปานี)
ครั้งสุดท้ายที่ท็อดด์ เฮย์นส์ขุดค้นเข้าไปในแรงปรารถนาต้องห้าม ก็คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในยุค 1950 ตอนนั้นหนัง Far From Heaven เข้าชิงรางวัลออสการ์ไปสี่สาขา และครั้งนี้ ที่เป็นการทำงานที่เยี่ยมยอด, เรื่องราวความรักของคู่เบี้ยนที่นักวิจารณ์ชื่นชม น่าจะส่งให้หนังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลหนังยอดเยี่ยม เช่นเดียวกับนักแสดงนำสองคนของเรื่อง เคท แบลนเช็ทท์ และรูนีย์ มารา ที่รายหลังน่าจะเลี่ยงไปเข้าชิงในสาขานักแสดงสมทบ แต่ไม่ว่าจะเป็นคนไหน ต่างก็แข็งแรงในการเข้าชิงสาขานักแสดงหญิงยอดเยี่ยมทั้งคู่
Creed (วอร์เนอร์ บราเธอร์ส)
ตอนหนังนักมวยที่หลายๆ คนมองข้ามอย่าง Rocky คว้ารางวัลหนังเยี่ยมในปี 1977 หนังน็อคงานเยี่ยมๆ อย่าง All the President’s Men และ Network หงายเก๋ง ถือว่าเป็นชัยชนะในแบบเดียวกับที่เดวิดคว่ำโกไลแอธได้สำเร็จ แม้ว่างานภาคต่อที่ทำออกมาจะดูตลกและกลายเป็นหนังการ์ตูน การฟื้นคืนชีพในครั้งนี้ มีหลายๆ อย่างที่แสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบที่หลายๆ คนมองข้ามในแบบเดียวกันกับหนังต้นฉบับ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงในแบบกะแจ้งเกิดครั้งยิ่งใหญ่ของดาวรุ่งอย่าง ไมเคิล บี จอร์แดน ขณะที่ผู้กำกับก็คือไรอัน คูกเลอร์ จากFruitvale Station ที่ได้ซิลเวสเตอร์ สตอลโลนหนุนหลังอย่างเต็มที่
Concussion (โคลัมเบีย พิคเจอร์ส)
บทดร. เบนเน็ท โอมาลู ของวิลล์ สมิธที่ท้าชนอำนาจล้นฟ้าของเอ็นเอฟแอล ในหนังเรื่องนี้ ไม่ต่างไปจากบทเจฟฟรีย์ วีแกนด์ ของรัสเซลล์ โครว์ ที่หาญสู้บริษัทบุหรี่ใน The Insider งานดรามาสร้างจากเรื่องจริงที่ว่าด้วยการกดขี่จากองค์กรขนาดใหญ่ที่ยากจะล้มแบบนี้ ดูเหมือนว่าจะสร้างขึ้นมาเพื่อเวทีออสการ์ โดยเฉพาะเนื้อหาที่ว่าด้วยเรื่องของฟุตบอลกับผลกระทบทางสมอง ถูกพูดถึงอย่างมากในรายการข่าวต่างๆ สมิธรับบทตัวละครที่มีตัวตนอยู่จริง ด้วยการพูดติดสำเนียงไนจีเรียน ขณะที่อเล็ค บอลด์วิน และอัลเบิร์ท บรูคส์ก็เด่นเอาเรื่องในการเป็นนักแสดงสมทบ
The Danish Girl (โฟกัส ฟีเจอร์ส)
การกลับมาร่วมงานกับ ทอม ฮูเปอร์ ผู้กำกับ The King’s Speech ของเอ็ดดี เรดเมย์น ในผลงานต่อจากการแสดงระดับคว้ารางวัลออสการ์ในบทสตีเฟน ฮอว์กิง ที่ความท้าทายอยู่ตรงการแสดงซึ่งแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เมื่อเขาต้องสวมบทบาทจากข้างใน เพื่อให้เข้าถึงวิญญาณของเอลนาร์ เวเกเนอร์ ผู้บุกเบิกการผ่าตัดแปลงเพศ ในฐานะเป็นผู้เข้ารับการผ่าตัดรายแรกๆ แต่ที่ไม่ต่างไปจากหนังคว้ารางวัลเรื่องก่อน เขายังมีภรรยาผู้เข้าใจในจอภาพยนตร์ ที่เล่นได้เป๊ะ รับส่งกับเขาอย่างลงตัว โดยอลิเซีย วิแคนเดอร์
(ยังมีต่อ)
จากเรื่อง หนังเรื่องไหนที่จะไปมีบทบาทบนเวทีออสการ์ โดย ฉัตรเกล้า สกู๊ปพิเศษ นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1196 ปักษ์หลังพฤศจิกายน 2558