
เมื่อปีที่ผ่านมา ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ หนังจากเน็ทฟลิกซ์กลายเป็นประเด็นสำคัญในเรื่องที่ว่า มีคุณสมบัติสำหรับการเข้าชิงรางวัลในสายการประกวดหรือไม่ เมื่อหนังหลายๆ เรื่องไม่ได้เปิดตัวฉายในโรงภาพยนตร์ หรือฉายก็เป็นเพียงทำพอเป็นพิธีเพื่อให้ได้สิทธิในการพิจารณา และล่าสุดประเด็นคุณสมบัติในการเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ของเน็ทฟลิกซ์ ก็ถูกหยิบมาพูดถึงอีกครั้ง แต่หนนี้เป็นรางวัลออสการ์ ที่คนซึ่งพูดถึงเรื่องนี้นั้น ไม่ใช่ใครอื่น สตีเวน สปีลเบิร์ก ผู้กำกับระดับตำนานของวงการภาพยนตร์นั่นเอง
ถือว่าเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ไม่น้อย เพราะเมื่อ 3-4 ปีก่อนตอนที่ฌอน พาร์เกอร์ อดีตผู้ก่อตั้งแน็พสเตอร์ รวมไปถึงเป็นผู้หาทุนในยุคแรกๆ ให้กับเฟซบุ๊คของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ออกไอเดียถึงการเปิดให้บริการชมภาพยนตร์ชนโรงผ่านระบบออนไลน์ถึงในบ้านที่ชื่อว่า เดอะ สครีนนิง รูม (The Screening Room) โดยมีสตูดิโอ, ผู้อำนวยการสร้างหลายต่อหลายที่ “เอานะ” กับโปรเจ็คท์นี้ สตีเวน สปีลเบิร์กก็คือหนึ่งในผู้สนับสนุน จนทำให้หลายๆ คนมองว่า บางทีสปีลเบิร์กอาจจะอยู่ฝั่งเดียวกับเน็ทฟลิกซ์เหมือนกัน
ด้วยความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของผู้ให้บริการสตรีมมิงรายนี้ ก็ทำให้เกิดประเด็นสำคัญทั้งกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์และการมอบรางวัลต่างๆ อย่างที่ว่ามาข้างต้น แม้ออสการ์อาจจะเหมือนทำเมินไม่เห็นความจริงที่ว่า หนังเน็ทฟลิกซ์สร้าง-เน็ทฟลิกซ์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ตามที นับจาก Beasts of No Nation หนังเรื่องแรกของเน็ทฟลิกซ์ที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ แม้จะคว้ารางวัลไม่ได้ แต่นี่นก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้น และกับงานประกาศรางวัลครั้งล่าสุด เน็ทฟลิกซ์ทำได้ดีกว่าเดิม เมื่อหนัง Mudbound นอกจากจะได้เข้าชิงแล้ว ยังสามารถทำได้ดีกว่าหนังเรื่องก่อนๆ หน้า เมื่อเข้าชิงถึง 4 สาขา ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ การเข้าชิงครั้งแรกในสาขากำกับภาพจากราเชล มอร์ริสัน ท้ายที่สุดถึงหนังเรื่องนี้จะกลับบ้านมือเปล่า แต่เน็ทฟลิกซ์ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ชนะ เมื่อ Icarus ได้รับรางวัลหนังสารคดียอดเยี่ยม โดยอย่าลืมว่าเมื่อปีก่อนหน้าพวกเขาก็ได้รางวัลหนังสารคดีสั้นยอดเยี่ยมจาก White Helmets แม้ภาพยนตร์ทั่วๆ ไปอย่างที่ใครๆ ดูกัน ยังไม่สามารถคว้ารางวัลมาได้ ก็ต้องยอมรับกันว่าเน็ทฟลิกซ์เดินไปข้างหน้าไกลจากจุดเดิมๆ มากขึ้นเรื่อยๆ
มีความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และสัมผัสได้อย่างชัดเจน สำหรับเรื่องคุณสมบัติในการเข้าชิงรางวัลของหนังเน็ทฟลิกซ์ เมื่อพวกเขาได้หรือสร้างหนังเยี่ยมๆ มาสักเรื่อง ผู้ให้บริการสตรีมมิงปฏิเสธที่จะให้หนังตัวเองลงโรงฉายก่อนให้บริการผ่านระบบสตรีมมิง โดยเกาะกับรูปแบบการฉายในวันเดียวกันทั้งหนังโรงและสตรีมมิง หรือเต็มที่ก็จะให้หนังฉายในโรงภาพยนตร์ไม่กี่โรง แล้วหลังจากนั้นไม่กี่วันก็ค่อยนำเข้าระบบสตรีมมิงของตัวเอง เพื่อให้ได้คุณสมบัติตามที่เวทีรางวัลต่างๆ กำหนด ซึ่งหมายความว่าหนังของพวกเขาจะได้ฉายช่วงสั้นๆ เพื่อให้มีสิทธิ์สำหรับออสการ์ และฉายในจำนวนโรงที่น้อยมากๆ ทั้งเป็นความตั้งใจของเน็ทฟลิกซ์เอง และเพราะบรรดาเจ้าของโรงปฏิเสธที่จะเก็บโรงให้หนังของพวกเขา ที่สามารถชมได้พร้อมๆ กันผ่านระบบออนไลน์ สปีลเบิร์กมองว่าการให้สิทธิ์กับหนังที่เข้าโรงฉายเพียงแค่สัปดาห์เดียวเท่านั้น ไม่มากพอ
ในการให้สัมภาษณ์กับไอทีวี ผู้กำกับหนัง Ready Player One พูดอย่างตรงไปตรงมาถึงความคิดของเขาเกี่ยวกับความรุ่งเรืองของบริการสตรีมมิงทางโทรทัศน์ โดยบอกว่าเขาไม่เชื่อในการเปิดฉายด้วยเวลาที่สั้นมากๆ ก็พอแล้วสำหรับให้หนังได้รับการพิจารณาโดยคณะกรรมการออสการ์
“ผมไม่เชื่อว่าหนังที่ฉายเพียงแค่โรง-สองโรง ในเวลาไม่ถึงสัปดาห์แบบพอเป็นพิธี สมควรได้รับสิทธิ์ในการเข้าชิงรางวัลออสการ์”
เห็นได้ชัดว่า เขาไม่ชอบกลยุทธ์ที่เน็ทฟลิกซ์ใช้เพื่อพาหนังไปให้ถึงเวทีรางวัล โดยเฉพาะออสการ์ ซึ่งเจ้าของสามรางวัลออสการ์ และกลายเป็นหนึ่งในคณะกรรมการดูแลของอะคาเดมีเมื่อปี 2016 ไม่คิดว่าเวลาฉายและกลยุทธ์ที่เน็ทฟลิกซ์ใช้เหมาะสม
หากจำกันได้ สปีลเบิร์กไม่ใช่ผู้กำกับเพียงคนเดียวที่แสดงความเห็นต่อกลยุทธที่เน็ทฟลิกซ์ใช้ ปีที่แล้ว (2017) คริสโตเฟอร์ โนแลนก็เคยแสดงความรังเกียจต่อผู้ให้บริการสตรีมมิงรายนี้มาแล้ว โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการปล่อยหนังออนไลน์เหนือการออกฉายตามโรง
“เน็ทฟลิกซ์มีความเกลียดชังแปลกๆ สำหรับการปล่อยหนังออกฉายตามโรง” โนแลนบอกกับอินดีไวร์ “พวกเขามีนโยบายที่ไร้เหตุผลในทุกอย่าง ที่ให้การสตรีมกับการออกฉายในโรงภาพยนตร์เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นรูปแบบที่การฉายหนังตามโรงภาพยนตร์ยากจะรับมือ ดังนั้นพวกเขาไม่ได้อยู่ในเกม และผมคิดว่าพวกเขาเองก็เสียโอกาสสำคัญไป”
ในปีที่แล้วอีกเช่นกัน ที่เน็ทฟลิกซ์กลายเป็นประเด็นสำคัญในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เน็ทฟลิกซ์เปิดตัวในเทศกาลที่ได้รับการยอมรับนี้ ด้วยหนังอย่าง Okja ของบอง จูน-โฮ และ The Meyerowitz Stories ของโนอาห์ บอมบัค แต่หนังทั้งสองเรื่องเจอกับการเมินเฉยจากบรรดาผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ฝรั่งเศส ที่ไม่เข้าใจว่าทำไมหนังซึ่งไม่มีแผนฉายตามโรงภาพยนตร์ในฝรั่งเศสเลย ถึงได้สิทธิ์ในการเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำ เปโดร อัลโดโมวาร์ประธานคณะลูกขุนของงาน (หรือคณะกรรมการ) อยู่ข้างบรรดาผู้จัดจำหน่าย โดยเขาบอกว่า เขาไม่อยากให้รางวัลกับหนังที่ไม่ได้ฉายบนจอภาพยนตร์ จนทางเทศกาลต้องออกกฎใหม่มาว่า มีเพียงหนังที่มีแผนออกฉายในโรงภาพยนตร์เท่านั้น ที่สามารถมีสิทธิ์เข้าประกวดได้นับตั้งแต่นี้ ซึ่งเป็นกฎที่ว่าไปแล้ว พุ่งเป้าไปที่เน็ทฟลิกซ์ตรงๆ
อย่างไรก็ตาม ขณะที่เน็ทฟลิกซ์ไม่เคยและอาจจะไม่มีทางได้รางวัลจากฝรั่งเศส แต่พวเขาก็เข้าไปอยู่ในวงจรของออสการ์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งบางทีสปีลเบิร์กอาจจะต้องระดมพลสมาชิกของอะคาเดมี เพื่อจัดการกับเน็ทฟลิกซ์หรือผู้ให้บริการในแบบเดียวกัน ด้วยกฏใหม่
สปีลเบิร์กยังว่าอีกยาวเกี่ยวกับคุณภาพของหนังโทรทัศน์ที่เพิ่มมากขึ้น และยอมรับว่าเป็นการคุกคามคนดูหนังในโรงโดยรวม แต่ก็แสดงให้เห็นด้วยว่า สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขี้นมาก่อนหน้านี้แล้ว
“โทรทัศน์ในทุกวันนี้ท้าทายภาพยนตร์ในแบบเดียวกับที่พวกเขาเคยทำตอนต้นยุค 50 ด้วยการดึงคนดูออกมาจากโรงหนังและทุกคนก็เอาแต่อยู่กับบ้าน เพราะการนั่งชมรายการตลกทางโทรทัศน์ที่บ้านในยุค50 เป็นเรื่องสนุกกว่าการออกมาดูหนังนอกบ้าน ฮอลลีวูดเคยเจออะไรแบบนี้มาแล้ว แต่ความแตกต่างที่เกิดขึ้นในวันนี้ก็คือ หลายๆ สตูดิโออยากจะสร้างแบรนด์, ทำหนังภาคต่อ, หนังที่การันตีว่าฮิตแน่ๆ ในบ็อกซ์ออฟฟิศ จากบรรดาหนังที่ประสบความสำเร็จของพวกเขา มากกว่าจะหันไปทำหนังเล็กๆ ซึ่งบรรดาหนังกลุ่มนี้ที่สตูดิโอเคยทำออกมาเป็นประจำเลยไปลงอะเมซอน, ฮูลู และเน็ทฟลิกซ์”
ผู้กำกับคนดังไม่ติดใจอะไรกับคุณภาพของงานทางโทรทัศน์ในปัจจุบัน รวมไปถึงย้ำอีกด้วยว่า เป็นคุณภาพที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีอีกต่างหาก
“ยังไงก็ตาม รายการโทรทัศน์ในทุกวันนี้มันเจ๋งกว่าที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์ของวงการโทรทัศน์ด้วยซ้ำ มีการเขียนบทที่ดีขึ้น, การกำกับที่ดีขึ้น, การแสดงที่ดีขึ้น, เรื่องที่ดีขึ้น ซึ่งถูกนำมาเล่าให้ชมกัน วงการโทรทัศน์ประสบความสำเร็จทั้งในเรื่องของคุณภาพและความเป็นศิลปะ แต่ก็เห็นกันชัดเจนว่า มันสร้างปัญหาให้กับคนดูหนังตามโรง”
เมื่อพูดถึง The Post สปีลเบิร์กเผยว่า เขายังคงทำหนังแบบนี้เพื่อออกฉายตามโรงต่อไป ไม่ใช่ทำออกมาเพื่อบริการสตรีมมิงที่ไหนสักแห่ง แต่ก็ยอมรับว่าโอกาสของหนังแบบนี้นั้นมันยากขึ้นเรื่อยๆ
“ผมทำ The Post เพื่อผู้ชม ขอให้พวกเขาได้โปรดออกนอกบ้านเพื่อไปดูหนังเรื่องนี้ และไม่ทำหนังที่ตรงไปลงเน็ทฟลิกซ์ ผมอยากบอกว่ามีคนทำหนังที่ดิ้นรนหาเงินเพื่อทำงานส่งประกวดในงานซันแดนซ์ แล้วเป็นไปได้ว่าจะได้สตูดิโอเจ๋งๆ สักแห่งมาเอาหนังพวกเขาไปฉายในโรง ทำให้ใครๆ ได้รู้จัก น้อยลงๆ เรื่อยๆ แต่มีคนทำหนังมากกว่านั้นที่กำลังจะให้ธุรกิจสตรีมมิงหรือวิดีโอตามสั่งสนับสนุนเรื่องเงินทุนให้ บางทีอาจจะด้วยคำสัญญาว่าจะให้หนังของพวกเขาได้ฉายในโรงสักอาทิตย์หนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก เพื่อให้มีสิทธิ์เข้าชิงรางวัลต่างๆ ในฐานะภาพยนตร์ฉายโรง แต่ในความเป็นจริง คุณยอมลงไปฉายในโทรทัศน์ คุณก็เป็นหนังโทรทัศน์ และแน่นอนว่า ถ้างานของคุณเป็นงานที่ดี คุณก็ควรจะได้รางวัลเอ็มมี ไม่ใช่ออสการ์”
แล้วกับวีอาร์ ที่กลายเป็นเทคโนโลยีสำคัญในหนังเรื่องใหม่ของเขา สปีลเบิร์กไม่มองว่าเป็นนวัตกรรมนี้คืออนาคตของการสร้างภาพยนตร์ อย่างน้อยๆ ก็ไม่ใช่ในตอนนี้
“มันไม่ใช่ตัวกลางสำหรับการเล่าเรื่องราว” เขา กล่าว “ผู้กำกับไม่สามารถเข้าถึงผู้ชม และคนที่ได้สัมผัสกับประสบการณ์นี้ก็ไม่ได้ให้ความสนใจมากพอ เรามักจะเดินไปโน่นมานี่ มองไปที่อะไรรอบๆ ตัวที่ปรากฏให้เห็นมากกว่า
“ผมไม่คิดว่าวีอาร์จะสู้กับประสบการณ์การชมภาพยนตร์ในโรงได้นะ” เขาสรุปปิดท้าย
การให้สัมภาษณ์ของสปีลเบิร์กในครั้งนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะก่อให้เกิดข้อถกเถียงตามมาอย่างแน่นอน แต่ก็อย่าลืมว่าสปีลเบิร์กมาจากไหน และเรื่องนี้ก็ไม่ต่างไปจากดาบสองคม ในทางหนึ่งเน็ทฟลิกซ์, ฮูลู และอะเมซอน คือคนที่ทำให้หนังดรามาทุนกลางๆ ถูกสร้างขึ้น หนังอย่าง Manchester by the Sea อาจจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากไม่มีช่องทางที่ไม่เป็นไปตามแบบแผนทั่วไปแบบนี้ Mudbound ถูกสร้างเป็นหนังอิสระ แต่ผู้เขียนบท/กำกับ ดี รีส์ก็ยอมรับออกมาตรงๆ ว่า ถึงหนังจะได้รับคำวิจารณ์ที่ดีมากๆ ในงานซันแดนซ์ แต่ไม่มีสตูดิโอไหนเลยอยากได้หนังไปจัดจำหน่าย ด้วยสาเหตุง่ายๆ พวกเขามองไม่เห็นช่องทางทำเงินจากหนังเรื่องนี้ เธอกับทีมต้องไปหาเน็ทฟลิกซ์ เพราะเป็นผู้จัดจำหน่ายรายแรกที่แสดงความสนใจในการปล่อยหนังออกฉายจริงๆ และยังหมายความว่า หนังจะเข้าถึงผู้ชมกลุ่มกว้างมากๆ ได้ในคราวเดียว
แต่ก็คงต้องระบุด้วยว่า อะเมซอนไม่ได้หลบเลี่ยงช่องทางการฉายในโรงภาพยนตร์แบบที่เน็ทฟลิกซ์ทำ หนังอย่าง Manchester by the Sea และ The Big Sick ถูกทำให้เป็นหนังฉายโรงแท้ๆ เปิดตัวในโรงภาพยนตร์แบบเต็มที่ ก่อนหน้าจะไปฉายทางอะเมซอนไพรม์ เพราะฉะนั้นยังมีความตั้งใจจากบางเจ้าที่ต้องการเก็บรูปแบบการฉายในแบบดั้งเดิมเอาไว้ แต่การที่เน็ทฟลิกซ์เติบโตกลายเป็นยักษ์ใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ความไม่ค่อยจะเต็มใจปล่อยหนังฉายตามโรงภาพยนตร์แบบเดิมๆ ยังคงก่อให้เกิดปัญหากับหลายๆ ฝ่ายต่อไป
ขณะที่สปีลเบิร์กดูเหมือนว่าไม่สนใจที่จะทำหนังให้กับเน็ทฟลิกซ์ อย่างน้อยๆ ก็ไม่ใช่ในเร็ววันนี้ ก็ยังมีคนช่างสงสัยตั้งข้อสังเกตุขึ้นมาว่า เขาจะทำยังไงเมื่อผู้ให้บริการสตรีมมิงรายนี้ ปล่อยหนัง The Irishman ของมาร์ติน สกอร์เซซีออกมา? สปีลเบิร์กจะเลี่ยงการลงคะแนนให้หนังเรื่องนี้ในฐานะหนึ่งในผู้มีสิทธิ์ออกเสียง เพราะว่ามันเปิดตัวทางเน็ทฟลิกซ์หรือเปล่า? และ การเปลี่ยนรูปแบบในการจัดจำหน่ายจริงๆ แล้วมันเปลี่ยนความเป็นศิลปะในเนื้องานด้วยไหม?
ทั้งหมดนี้คือคำถามที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ต้องสู้กันต่อ และไม่มีทางเจอคำตอบได้ง่ายๆ
โดย ฉัตรเกล้า จากเรื่อง เน็ทฟลิกซ์กับคุณสมบัติในการเข้าชิงออสการ์ และโทรทัศน์ในมุมมองของสตีเวน สปีลเบิร์ก นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1254 ปักษ์หลัง เมษายน 2561
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่