ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในหนังคริสต์มาสที่ดีที่สุดหรือห้ามพลาด, ต้องดู มายาวนานหลายปีจากสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เว็บดิจิตอล สปาย ที่ให้อยู่ในอันดับที่ 5, นิตยสารเอนเตอร์เทนเมนท์ วีคลีกับเดอะ ฮอลลีวูด รีพอร์เตอร์ – อันดับ 4, เดอะ การ์เดียน – อันดับ 8 ส่วน ซาน ฟรานซิสโก เกทกับนิตยสารเอ็มไพร์และฟอร์บส์ยกให้เป็นอันดับ 1 กันเลยทีเดียว
แม้โดยแนวทางหนัง Die Hard จะดูแปลกและแตกต่างไปจากหนังคริสต์มาสส่วนใหญ่ ที่เป็นหนังสำหรับครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นแอนิเมชัน, หนังใสๆ, งานแฟนตาซี กระทั่งงานรอม-คอม กับเรื่องราวของจอห์น แม็คเคลน (บรูซ วิลลิส) เจ้าหน้าที่ตำรวจนิว ยอร์ค ที่ไปรับภรรยาจากงานเลี้ยงคริสต์มาสที่ตึกนากาโตมิ พลาซาในลอส แองเจลีส แต่แล้วสถานการณ์กลับพลิกผันเมื่อตัวอาคารถูกผู้ก่อการร้ายบุกยึด ทำให้แม็คเคลนต้องสวมบทฮีโรจำเป็น หาทางช่วยภรรยาและคนที่ถูกจับเป็นตัวประกันในตึกออกมาให้ได้
หนังกลายเป็นงานสร้างชื่อให้บรูซ วิลลิส ที่ตอนนั้นกำลังดังจากซีรีส์ Moonlighting และพยายามหันมาเอาดีกับภาพยนตร์จอใหญ่ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนที่ทำได้ในจอเล็ก โดยงานส่วนใหญ่ก็เป็นงานรอม-คอม แบบเดียวกับซีรีส์สร้างชื่อให้กับเขา จนมาถึง Die Hard นี่ละ ที่แม้จะมาพร้อมแนวทางที่แตกต่าง แต่ก็ทำให้เขาเป็นซูเปอร์สตาร์ในหนังจอใหญ่ ฉายโรงได้สำเร็จ
แต่กับการสำรวจล่าสุดของมอร์นิง คอนซัลท์ และเดอะ ฮอลลีวูด รีพอร์เตอร์ มีคนอเมริกันแค่ 25% เท่านั้นที่มองว่า Die Hard เป็นหนังคริสต์มาส และมีถึง 62% มองว่าไม่ใช่ โดยมีเพียง 13% ที่ยังไม่แน่ใจ หากผลสำรวจนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาถือสาหาความ เมื่อสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนอเมริกัน วัยผู้ใหญ่แค่ 2,200 คน ซึ่งดูจะน้อยเกินไป แต่อย่างน้อยก็สอดคล้องกับความคิดของวิลลิสที่มองว่า หนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังคริสต์มาส คลาสสิก ที่ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิงกับสตีเวน อี. เดอ ซูซา มือเขียนบทของหนัง Die Hard ที่ยืนยันหนักแน่นว่า นี่คือหนังคริสต์มาส
คำตอบก็คือ คงต้องพิสูจน์กันเอาเองด้วยตา
Die Hard ออกฉายเมื่อปี 1988 กำกับโดยจอห์น แม็คเทียร์แนน ที่กำลังดังมาจาก Predator ซึ่งช่วงเวลานั้นถือว่าเป็นยุคทองของเขา เมื่อมีงานที่ประสบความสำเร็จติดต่อกัน 3 เรื่องรวด จาก Predator มาถึงเรื่องนี้ และ The Hunt for Red October งานเรื่องถัดไป หนังมีที่มาจากนิยายเรื่อง Nothing Lasts Forever ของรอเดอริก ธอร์ป เมื่อปี 1979 โดยตอนแรกนิยายเรื่องนี้ถูกวางไว้เป็นงานภาคต่อของ Commando หนังที่อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์เล่นไว้ในปี 1985 แต่แล้วชวาร์เซเน็กเกอร์ปฏิเสธที่จะกลับมา ทำให้ต้องมีการปรับเรื่องใหม่ และทางฟ็อกซ์ก็ไม่เห็นด้วยสักเท่าไหร่กับการเลือกวิลลิสที่ดังจากซีรีส์เบาๆ มารับบทนำ ก่อนที่จะแสดงให้เห็นว่าทีมงานตัดสินใจได้อย่างถูกต้องขนาดไหนในเวลาต่อมา และวิลลิสก็ไม่ใช่นักแสดงเพียงคนเดียวที่แจ้งเกิดจากเรื่องนี้ ยังมีอลัน ริคแมน ที่มารับบทตัวร้ายของหนัง – ฮานส์ กรูเบอร์ หัวหน้าผู้ก่อการร้าย และอเล็กซานเดอร์ โกดูนอฟ – นักบัลเลต์ลี้ภัย ที่เป็นมือสังหารของกรูเบอร์ ที่สู้รัดฟัดเหวี่ยงกับแม็คเคลนได้อย่างสนุก
หนังใช้ทุนสร้าง 28 ล้านเหรียญในตอนนั้น ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลย แต่ทำเงินได้ถึง 140 ล้านเหรียญทั่วโลก และทำให้มีหนังภาคต่อตามมาอีก 4 เรื่อง, มีวิดีโอ เกมของตัวเองออกมา รวมไปถึงหนังสือการ์ตูน นอกจากนี้ในปี 2017 Die Hard ยังถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ต้องรักษา ในทะเบียนภาพยนตร์แห่งชาติสหรัฐ อเมริกา และถูกเลือกเป็นหนึ่งในหนังแอ็คชันที่ดีที่สุด รวมถึงหนังคริสต์มาสที่ดีที่สุดจากหลายๆ สื่อ นิตยสารเอ็มไพร์ยังยกให้หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดอันดับที่ 20 จากการจัดอันดับในปี 2017 อีกด้วย
แต่ที่น่าตลกก็คือ ตอนที่ออกฉายครั้งแรก หนังกลับได้รับคำวิจารณ์ในแบบก้ำกึ่ง กระทั่งโรเจอร์ อีเบิร์ต ก็ให้คะแนนหนังแค่ 2 ดาว แต่เมื่อเวลาผ่านไป Die hard ก็ได้รับการประเมินที่แตกต่างไป ปัจจุบันหนังได้ความสด 93% บนเว็บมะเขือเน่า จากบทวิจารณ์ 71 ชิ้น ที่ให้คะแนนเฉลี่ย 8.4/10 โดยย้ำว่า บรรดาหนังสร้างตามรวมถึงหนังภาคต่อของ Die Hard ไม่เคยเข้าใกล้ความตื่นเต้นที่หนังแอ็คชันสำหรับวันหยุดแสนคลาสสิกเรื่องนี้ทำได้เลย บนเว็บเมตาคริติก หนังได้คะแนน 70/100 จากนักวิจารณ์ 13 คน ส่วนคะแนนของผู้ชมเมื่อเดินออกจากโรง หรือซีนีมาสกอร์นั้น อยู่ที่ A+ ซึ่งเป็นคะแนนสูงสุด และน่าจะบอกได้ดีถึงความบันเทิงที่หนังเรื่องนี้มอบให้ ที่จะว่าไปแล้วยังสร้างความสดใหม่ให้กับหนังแอ็คชันไปพร้อมๆ กัน
หนังเพิ่งปล่อยขายบนไอทูนส์ สโตร์ในราคาพิเศษ เพียง 199 บาท ในสัปดาห์ที่สองของเดือนธันวาคม ที่หากใครเข้าไปใช้บริการเป็นประจำคงไม่น่าพลาดซื้อมาเก็บไว้ และถึงจะเป็นหนังเก่าจากปลายยุค 80 แต่ก็มีไอทูนส์ เอ็กซ์ตรามอบให้ไม่น้อยเลย
เริ่มจากความเห็นที่มีต่อหนัง ซึ่งแยกออกเป็นสามเรื่อง เรื่องแรกเป็นความเห็นของผู้กำกับแม็คเทียร์แนนและผู้ออกแบบงานสร้าง แจ็คสัน เดอโกเวีย เรื่องต่อมาเป็นความเห็นของริชาร์ด เอ็ดลันด์ ที่ดูแลในเรื่องเทคนิคพิเศษ ที่จะมาพูดถึงเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้ถ่ายทำ การตัดสินใจว่าทำไมหนังต้องถ่ายทำด้วยอัตราส่วนนี้ หรืออุปกรณ์นี้ เช่น การใช้อัตราส่วนของภาพแบบจอกว้างมาก ก็เพื่อให้ได้อารมณ์และบรรยากาศคล้ายๆ กับการชมหนังคาวบอยของจอห์น เวย์น ที่มักถ่ายทำกันด้วยฟิล์ม 35 ม.ม. แล้วก็ปิดท้ายด้วยความเห็นแบบซับไทเทิล ที่จะอ่านไปพร้อมกับชมภาพยนตร์ได้ ซึ่งจะเป็นเรื่องเกร็ดเล็ก เกร็ดน้อยต่างๆ ของหนัง ตลอดจนการถ่ายทำในฉากนั้นๆ โดยความเห็นในสองเรื่องแรกมาพร้อมกับซับไทเทิล ภาษาอังกฤษเรียบร้อย
ต่อมาจะเป็น Outtakes ที่แยกออกเป็นสองเรื่องย่อย Video: Turning of the Power กับ The Vault เรื่องแรกจะพาไปดูฉากที่เอฟบีไอตัดไฟตึกนากาโตมิ ซึ่งต้องผสมผสานกันระหว่างฉากที่ถ่ายทำจริง กับฉากที่ใช้เทคนิคพิเศษช่วย โดยจะแสดงให้เห็นว่าช่วงไหนถ่ายจริง และช่วงไหนใช้สเปเชียล เอ็ฟเฟ็คท์ มาตบแต่งภาพ ขณะที่ The Vault จะเป็นการนำเอาฉากที่ถูกตัดออก, ฉากหลุดๆ และฉากที่แตกต่างไปจากที่เห็นในหนังมาใส่รวมกันให้ดูกันยาวๆ โดยมีตัวเลือกในการชมสองแบบ แบบที่มีและไม่มีดนตรีประกอบ ซึ่งเราจะได้เห็นอารมณ์ขันของทีมงาน นักแสดง
ในไอทูนส์ เอ็กซ์ตรา จะมีเนื้อหาพิเศษที่ใช้ชื่อว่า Videos สองเรื่อง เรื่องแรกจะซอยเป็นเนื้อหาย่อยๆ อีกสามเรื่องคือ The Newscasts กับ Why Letterbox? และ Ad Campaign Featurette จากฉากการรายงานข่าว ที่มีทั้งเทคที่ถูกตัดออก ฉากหลุด และฉากที่ยาวกว่าในหนังของ The Newscasts ก็ตามด้วย Why Letterbox? ที่ว่าด้วยการทรานสเฟอร์หนังเป็นวิดีโอ ที่เพื่อคงสัดส่วนและรายละเอียดในแบบภาพจอกว้าง เหมือนตอนชมในโรงภาพยนตร์ ทำให้ต้องทำเป็นภาพแบบเล็ตเตอร์บ็อกซ์ ที่มีแถบดำบนล่าง โดยทีมงานที่รับผิดชอบจะพูดให้ฟังว่า ทำแบบนี้ดียังไง ซึ่งมาดูในยุคนี้ที่ใครๆ ก็คุ้นกับการชมหนังที่เป็นภาพไวด์สกรีนบนจอโทรทัศน์แล้ว ก็เลยรู้สึกเชยๆ อยู่บ้าง แต่ก็มีความเป็นหมายเหตุแห่งยุคสมัยในตัวด้วยเช่นกัน กับ Ad Campaign Featurette บรรดาทีมงาน-นักแสดงจะพูดถึงหนัง แนะนำตัวละคร ตลอดจนการทำเทคนิคพิเศษต่างๆ ซึ่งเป็นสารคดีสั้นๆ ที่ทำมาเพื่อโปรโมทภาพยนตร์
กับเมนู Videos เรื่องที่สอง เป็นเบื้องหลังของหนังที่ทำขึ้นใหม่ หลังหนังออกฉายหลายปี และน่าจะอยู่ในดีวีดี หรือบลู-เรย์ฉบับใดฉบับหนึ่งของ Die hard มาก่อน เรื่องแรก Decoding Die Hard: The Right Man for the Right Time ทีมงานคนสำคัญๆ และนักแสดงจะมาให้ความเห็นกันว่า เพราะอะไร? ทำไม? Die Hard ถึงกลายเป็นงานแอ็คชันคลาสสิค และหนังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการทำหนังแอ็คชันอย่างไรบ้าง แล้วก็ปิดท้ายด้วย Ultimate Die Hard ที่ตัดเอาฉากเด็ดๆ ของหนังทุกภาคมารวมกัน
ส่วน Trailers & Spots จะเก็บตัวอย่างหนังและสปอตโฆษณาทางโทรทัศน์ของหนังมาให้ชม ตัวอย่างจะมีสามแบบ ส่วนสปอตโฆษณามีถึง 7 ฉบับ
เนื้อหาพิเศษทั้งหมดมีซับอังกฤษให้ ยกเว้น Trailers & Spots ที่ไม่มีซับไทเทิลเลย ขณะที่ตัวหนัง จะเป็นภาพจอกว้างมากอัตราส่วนเดียวกับในโรงภาพยนตร์ มีเสียงไทยและซับไทยครบ
หนังมีเครดิต เกียรติประวัติยาวเป็นหางว่าว และมีเนื้อหาพิเศษมากขนาดนี้ คงไม่ต้องบอกว่า สมควรจะซื้อดาวน์โหลดมาเก็บไว้ดูยาวๆ หรือไม่ อย่างน้อยๆ ถ้าหาหนังดูไม่ได้ในช่วงคริสต์มาส เปิดชม Die Hard อาจจะทำให้วันคริสต์มาสเปลี่ยนโฉมแปลงหน้าต่างไปจากเดิมไม่น้อยเลย
ไม่เชื่อลองดูซิ…
รายละเอียดภาพยนตร์
ผู้กำกับ: จอห์น แม็คเทียร์แนน ผู้เขียนบท: เจ็บ สจวร์ต, สตีเวน อี. เดอ ซูซา จากเรื่อง Nothing Lasts Forever โดย รอเดอริค ธอร์ป นำแสดง: บรูซ วิลลิส, อลัน ริคแมน, อเล็กซานเดอร์ โกดูนอฟ, บอนนี เบดีเลีย ดนตรีประกอบ: ไมเคิล คาเมน กำกับภาพ: ยาน เดอ บองท์ ตัดต่อ: แฟรงค์ เจ. ยูเรียสต์, จอห์น เอฟ. ลิงค์ จัดจำหน่าย: ทะเว็นตี เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ ฉาย: 12 กรกฏาคม 1988 (ลอส แองเจลีส, สหรัฐอเมริกา) ความยาว: 132 นาที เสียงต้นฉบับ: ภาษาอังกฤษ รูปแบบ: ไฟล์ดิจิตอล ไอทูนส์ สโตร์ เนื้อหาพิเศษ: 1. Commentary by Director and Production Designer 2. Scene Specific Commentary by Richard Edlund 3. Subtitle Commentary 4. Outtakes [4.1. Video: Turning of the Power 4.2. The Vault: 4.2.1. Production & Music 4.2.2. Production Audio Only] 5. Videos – 1 [5.1. The Newscasts 5.2. Why Letterbox? 5.3. Ad Campaign Featurette] 6. Trailers & Spots 7. Videos – 2 [7.1. Decoding Die Hard: The Right Man for the Right Time 7.2. Ultimate Die Hard]