Music ReviewREVIEW

ฟังไปแล้ว – RESISTANCE IS FUTILE จาก Manic Street Preachers ชีวิตไม่ว่างเปล่า เพลงไม่ว่างเปล่า

RESISTANCE IS FUTILE / Manic Street Preachers
[Columbia/Sony]

ในข้อมูลจากทางต้นสังกัดของอัลบัมชุดที่ 13 ของแมนิค สตรีท พรีเชอร์ส ที่เป็นงานใหม่ชุดแรกในรอบ 4 ปีของวง ระบุว่าวงบอกเอาไว้ว่า “ธีมหลักของ Resistance is Futile ก็คือ ความทรงจำและการสูญเสีย, ประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม, ความจริงที่น่าสับสน และงานศิลปะที่เปรียบได้กับสถานที่ซ่อน และแรงบันดาลใจ ซึ่งทำให้อัลบัมชุดนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวของผู้คนมากมายในแวดวงศิลปะ

นอกเหนือไปจากชีวิตสามัญของผู้คนทั่วๆ ไป

ที่ตอกย้ำว่า ต่อให้ทิ้งช่วงห่างการออกอัลบัมไปนานขนาดไหน หรือตัวเลขของอัลบัมจะเป็นหมายเลขอะไร บทเพลงของแมนิค สตรีท พรีเชอร์ส ไม่เคยว่างเปล่า

จากเพลงแรกของอัลบัม “People Give In” วงดนตรีสามชิ้นจากเวลส์วงนี้ เริ่มต้นด้วยวัฏจักรชีวิตของผู้คน ที่มีล้ม-ลุก-แข็งแรง-อ่อนแอ-พ่ายแพ้-ล้มแล้วลุกวนเวียนไปมาตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ, ผ่านชีวิตและผลงานของอีฟส์ ไคลน์ จิตรกรชาวเมืองนีซ์ ในฝรั่งเศส กับ “International Blue”, ชีวิตในวัยเยาว์ของเจมส์ ดีน แบรดฟิลด์ – “Distant Colour”, เรื่องราวของวิเวียน มาเออร์ ตากล้องแนวสตรีทในชิคาโก – “Vivian” ซึ่งเป็นคนๆ เดียวกับที่อยู่ในหนังสารคดี Finding Vivian Maier ที่เข้าฉายในบ้านเราเมื่อหลายปีก่อน, ชีวิตคู่ของกวีดีแลน โธมัสกับภรรยาไคทลิน, ความสูญเสียครั้งใหญ่ของทีมลิเวอร์พูลในโศกนาฏกรรมที่ฮิลล์สเบอเรอะห์ “Liverpool Revisited”, การต่อสู้กับสิ่งต่างๆ ในชีวิต ที่ไม่ต่างไปจากสงครามที่ถูกลืม – “Forgotten War”, ความหวาดกลัวความสับสนและไม่แน่นอนของสิ่งต่างๆ ที่ไม่เป็นอย่างที่เห็นกับ “Hold Me Like a Heaven”, ความตลบแตลงของผู้คนใน “In Eternity”, บทเพลงถึงสิ่งต่างๆ ที่สูญหาย สลาย และจากไป – “A Song for Sadness”

เรื่องราวในแต่ละเพลงจะพาไปพบกับเรื่องราวที่หลากหลาย ประสบการณ์ชีวิตมากมายในแต่ละแง่มุม ภายใต้ธีมที่กำหนดเอาไว้เป็นอย่างดี ภาษาในเพลงของแมนิค สตรีท พรีเชอร์ส ก็ยังคงสละสลวย ที่บางเพลงก็มาพร้อมกับแง่มุมต่างๆ ให้คิดและตีความ แล้วรับด้วยเมโลดีที่ฟังเพราะ แม้จะไม่ใช่เพลงป็อป หากก็มีความเป็นป็อปในตัวให้สัมผัสได้ชัดเจน

ซึ่งหากนำไปเทียบกับงานของวงในช่วงหลังๆ Resistance is Futile คืองานที่มีเซนส์ป็อปกล้าแข็งที่สุดก็ว่าได้ เมื่อสามารถเปิดฟังรวดเดียวจบชุด แล้วซ้ำต่อเป็นดับเบิล เป็นทริปเปิลได้หลายๆ ครั้ง

ที่น่าสนใจก็คือภาคดนตรีของงานชุดนี้ ที่เหมือนกับเป็นการพบกันระหว่างแมนิค สตรีท พรีเชอร์สในวัยหนุ่มกระทง ที่กำลังห้าว และแรง อย่างที่ได้ยินกันใน Generation Terrorists กับแมนิค สตรีท พรีเชอร์สที่สุกงอม เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว แบบที่ได้ฟังจาก Everything Must Go ที่กระทำการสมานฉันท์ หรือปรองดอง หรือจะสนธิกำลัง สมาสสมอง ตามแต่จะหาคำมาใช้เรียกได้เป็นอย่างดี ไม่ใช่เพลงแรงๆ แข็งๆ แบบยุคแรกๆ และไม่ใช่เพลงแบบรุ่นใหญ่ที่ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นเพลงสูตรสำเร็จ หรืองานที่อยู่ตัวไปแล้วเรียบร้อย

หากเป็นเพลงเนี้ยบๆ แบบรุ่นใหญ่ ซาวนด์สะอาด แต่เต็มไปด้วยพลัง เช่น “People Give In”, “Distant Colour”, “Vivian” หรือเพลงที่ฟังเข้มข้นอย่างที่เคยได้ยินจากงานยุคแรก แบบ “International Blue” ที่ลดความดิบ ดึงความพลุ่งพล่านลงมา โดยในแต่ละเพลงจะค่อยๆ พาอารมณ์ของคนฟังไต่ไปสู่จุดพีคอย่างช้าๆ

ที่ทั้งหมดทั้งมวลได้ยินแล้ว ไม่แปลกที่จะทำให้นึกถึงวันวานเก่าๆ ของพวกเขา วันที่กลายเป็นความทรงจำ วันที่มีทั้งความสำเร็จและการสูญเสีย วันที่หลายสิ่งหลายอย่างถูกลืมไปตามกาลเวลา วันที่มีความจริงที่น่าสับสนและความลวงที่น่าวกวน ที่การทำงานเพลงคือสถานที่หลบภัย หรือการหนีจากความเป็นจริงที่วุ่นวาย ซึ่งจะว่าไปแล้วชีวิตการทำงานของแมนิค สตรีท พรีเชอร์สที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ก็ไม่ต่างไปจากธีมของอัลบัม

งานที่บอกว่า “การต่อต้านเป็นเรื่องไร้ประโยชน์” สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ การยอมรับ และอยู่กับมันให้ได้ ตราบใดที่มันยังเป็นอดีตที่ลบไม่ได้ ปัจจุบันที่ยากจะลืมเลือน อนาคตที่ไม่ง่ายจะคาดเดา ความจริงที่ไม่อาจถูกบิดเบือน

ไม่ใช่แค่เพลงเท่านั้นที่ไม่ว่างเปล่า ชีวิตของพวกเขา แมนิค สตรีท พรีเชอร์สก็เช่นกัน

โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์​-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 29 ฉบับที่ 10 – 2561

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.