FEATURESMusic Featuresดนตรีมีเหตุ

เมื่อสิทธิ์ในเพลงของ The Beatles จะกลับไปอยู่ในมือของพอล แม็คคาร์ทนีย์ และสมาชิกคนอื่นๆ ในวง

หากติดตามคอลัมน์ดนตรีมีเหตุมาตลอดคงจำได้ว่า เคยนำเสนอเรื่องน้องรักหักเหลี่ยมโหด ที่ไมเคิล แจ็คสัน ซื้อลิขสิทธิ์เพลงของเดอะ บีเทิลส์มาไว้ในครอบครอง ซึ่งทำให้แม็คคาร์ทนีย์จำจนมาถึงทุกวันนี้ิ

ผ่านไปกว่า 30 ปี หลังไมเคิล แจ็คสันซื้อลิขสิทธิ์เพลงของเดอะ บีเทิลส์ ทางพอล แม็คคาร์ทนีย์ก็พยายามหาทางเอาสิทธิ์คืนกลับมา โดยแหล่งข่าวเผยว่า แม็คคาร์ทนีย์ได้เริ่มจัดการเอกสารที่จำเป็นซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขากับจอห์น เล็นนอนเป็นคนแต่งเพลงของวงในยุค 60 แต่แทนที่จะเจรจากับทางโซนี/เอทีวี บริษัทที่ก่อตั้งในปี 1995 โดยโซนีและผู้ดูแลสินทรัพย์ของแจ็คสัน แม็คคาร์ทนีย์กลับใช้กฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ของอเมริกาเมื่อปี 1976 ซึ่งเอื้อให้นักแต่งเพลง สามารถทวงส่วนแบ่งในเพลงที่แต่งก่อนหน้าปี 1978จากบริษัทพิมพ์เพลงได้ โดยต้องขอทวงสิทธิ์คืนหลังผ่านไป 56 ปี

ซึ่งจากที่กฎหมายระบุ บรรดาเพลงของเล็นนอนกับแม็คคาร์ทนีย์ที่อยู่ในการดูแลของโซนี/เอทีวี จะทะยอยกลับมาเป็นของคนแต่งเพลงตัวจริงตั้งแต่ปี 2018 ไปจนถึงปี 2025

“เพื่ออ้างสิทธิ์ แสดงความเป็นเจ้าของเพลง นักแต่งเพลงจะต้องร้องต่อสำนักงานลิขสิทธิ์แห่งอเมริกา เพื่อยกเลิกการพิมพ์เพลงที่ใดก็ตาม ในช่วงเวลา 2-10 ปีก่อนที่จะครบกำหนด 56 ปี เพื่อที่จะได้รับสิทธิ์การเป็นเจ้าของในการพิมพ์เพลงในช่วงเวลาที่เหมาะสม”

โดยเพลงส่วนใหญ่จาก 32 เพลงที่ทางแม็คคาร์ทนีย์ร้องขอคืนสิทธิ์ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2015 จะเป็นเพลงจากช่วงสองปีสุดท้ายของเดอะ บีเทิลส์ และเชื่อได้ว่าเขาน่าจะร้องขอสิทธิ์จากเพลงในยุคแรกๆ ของตัวเองด้วย ที่สำคัญสิทธิ์ที่ได้มา จะมีผลเฉพาะในอเมริกาเท่านั้น แต่กับตลาดโลกจะยังคงเป็นของโซนี/ เอทีวี เหมือนเดิม และแม็คคาร์ทนีย์จะได้สิทธิ์เพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้นในเพลงที่ใช้ชื่อผู้แต่งเป็น เล็นนอน-แม็คคาร์ทนีย์

ไม่น่าเชื่อว่า แม็คคาร์ทนีย์จะไม่เคยเป็นเจ้าของสิทธิ์ในเพลงส่วนใหญ่ ที่เขาแต่งในฐานะสมาชิกของเดอะ บีเทิลส์มาก่อนเลย โดยในตอนแรกผลงานจะตกเป็นของ นอร์เธิร์น ซองส์ บริษัทพิมพ์เพลงของไบรอัน เอ็พสไตน์ ผู้จัดการวงเดอะ บีเทิลส์ แต่พอเอ็พสไตน์เสียชีวิตในปี 1967 นอร์เธิร์น ซองส์ ก็ถูกขายให้กับเอทีวี มิวสิค ถึงแม้ว่าทั้งเล็นนอน และแม็คคาร์ทนีย์ พยายามที่จะซื้อบริษัทกลับคืนมา แต่ก็ไม่สำเร็จ

ในปี 1985 ไมเคิล แจ็คสันซื้อเอทีวีมาไว้ในมือ ด้วยเงินกว่า 47 ล้านเหรียญ หลังจากได้พูดคุยกับแม็คคาร์ทนีย์ถึงเรื่องมูลค่าของลิขสิทธิ์เพลง ทำให้แม็คคาร์ทนีย์มองเรื่องการซื้อลิขสิทธิ์ของแจ็คสันว่า เป็นการหักหลัง ในอีก 10 ปีต่อมา แจ็คสันตกลงที่จะรวมบริษัทเอทีวีกับโซนี ส่งผลให้เกิดการปล่อยหุ้นครึ่งหนึ่งของแจ็คสันออกไปในกระบวนการรวมบริษัท เพื่อแลกกับเงินราวๆ 100 ล้านเหรียญ ทำให้โซนียังมีรายได้จากสินทรัพย์ของแจ็คสันถึงราวๆ 50%

นอกจากนี้ การเสียชีวิตในปี 1980 ของเล็นนอน ยังมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการถือกรรมสิทธิ์ และในปี 2009 โยโกะ โอโนะตกลงเซ็นสัญญากับโซนี/เอทีวี ว่าจะให้ทางบริษัทเป็นเจ้าของเพลงของจอห์น เล็นนอน ตลอดเวลาครึ่งหนึ่งของอายุลิขสิทธิ์ ทำให้ทางโซนี/เอทีวี ยังมีสิทธิ์ในเพลงอีกครึ่งหนึ่ง ซึ่งในการร่วมแต่งเพลงนั้น กฎหมายระบุไว้ว่า ลิขสิทธิ์จะหมดไป หลังจากนักแต่งเพลงคนสุดท้าย (ในที่นี้ก็คือแม็คคาร์ทนีย์) เสียชีวิตไปแล้ว 70 ปี

ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ ทางโซนี/เอทีวี ก็ตกลงที่จะซื้อหุ้นในส่วนของผู้ดูแลสินทรัพย์ของแจ็คสัน ด้วยเงินกว่า 750 ล้านเหรียญ

ในที่สุดตัวเพลงก็กลายมาเป็นของคนแต่งเพลงสักที แม้จากวัยและสังขารของเจ้าของเพลงอย่างแม็คคาร์ทนีย์ จะเห็นกันชัดๆ ว่ากว่ากฎหมายจะให้ความเป็นธรรมช้าไปหน่อยก็ตามที

จากเรื่อง สิทธิ์ในเพลงของ The Beatles ในมือของพอล แม็คคาร์ทนีย์ คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ โดย นพปฎล พลศิลป์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสท์ วันที่ 23 มีนาคม 2559

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านงานวิจารณ์หนัง และเพลง แบบนี้ ได้ด้วยการกดไลค์ Like เพจสะเด่าส์กันไว้ก่อน ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.