FEATURESMusic Featuresอำลา อาลัย

เมื่อเอ็ดดี แวน เฮเลน สร้างรูปแบบใหม่ให้กับการเล่นกีตาร์ร็อค

หนึ่งปีก่อนที่วง Van Halen จะออกอัลบัมเปิดตัวที่ใช้ชื่อเดียวกับวง สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกดนตรีร็อคก็คือ การเล่นโซโลที่อลังการ, ยืดยาว กับริฟฟ์ที่กลับไปสู่พื้นฐาน จากวงอย่าง The Sex Pistols และ Ramones แล้วเพลง “Eruption” ก็บังเกิดขึ้น ด้วยเวลาแค่ 102 วินาที เอ็ดดี แวน เฮเลนสามารถสร้างศัพท์คำใหม่ให้กับกีตาร์ร็อค เหมือนๆ กับที่จิมิ เฮนดริกซ์ และเอริค แคล็ปตัน ฮีโรส่วนตัวของเขา เคยทำไว้เมื่อหนึ่งทศวรรษก่อนหน้า ด้วยการไล่เรียงท่วงทำนองอย่างรวดเร็ว, ลิคเจิดจ้า และอีก 40 ปีต่อมา ยังคงเป็นความน่าตื่นตาตื่นใจ ต่อให้คุณไม่ได้เล่นกีตาร์ คุณก็ต้องถามตัวเองว่า “เขาเล่นแบบนั้นได้ยังไง?”

 

จากการเล่นที่เรียกว่า ‘จิ้มสาย’ (finger tapping) ที่ได้รับความนิยม ไปจนถึงการโมกีตาร์ นี่คือเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงเสียงดนตรีของเอ็ดดี แวน เฮเลน ที่คอรี โกรว์ เขียนเอาไว้ในเว็บไซต์ Rollingstone.com

เอ็ดดี แวน เฮเลนคือเซียนที่ฝึกฝนด้วยตัวเอง เครื่องดนตรีชนิดแรกที่เขาเล่นคือกลอง แต่เปลี่ยนมาเป็นกีตาร์ เมื่อได้ยินพี่ชาย – อเล็กซ์ โซโลกลองเพลง “Wipe Out” ของ The Surfaris ต่อหน้าต่อตา โดย “Eruption” ก็คือเพลงที่มีแค่เขากับอเล็กซ์ เล่นด้นสดไปเรื่อยระหว่างซ้อมวง เพื่อเตรียมตัวสำหรับการแสดง จนเท็ด เทมเพิลแมน-โปรดิวเซอร์ได้ยินเข้า และยืนยันว่าพวกเขาต้องบันทึกเสียงเพลงนี้ไว้ “ผมทำอะไรที่ตัวเองอยากทำ” เอ็ดดี พูดในการให้สัมภาษณ์ใหญ่ครั้งแรกกับนิตยสารกีตาร์ เพลเยอร์ เมื่อปี 1978 “ผมไม่ได้คิดอะไรจริงๆ จังๆ กับมันมากนักหรอก… และนั่นคือความสวยงามสำหรับการได้อยู่ในวงดนตรีวงนี้ ทุกอย่างเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปตามธรรมชาติ”

จิตวิญญาณของนักบุกเบิก คือแสงนำทางให้กับเอ็ดดีตลอดชีวิตการทำงาน ซึ่งกินเวลาถึง 4 ทศวรรษ จนกระทั่งความตายอันน่าเศร้าจากโรคมะเร็งลำคอ พรากเขาจากไปเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2020 เขาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ นับไม่ถ้วนให้กับดนตรีร็อค ไม่ใช่แค่วิธีการเล่นกีตาร์ที่ส่งอิทธิพลไปยังมือกีตาร์มากมาย เขายังสร้างนิยามใหม่ให้กับกีตาร์ว่า ควรถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร และควรมีซาวนด์ออกมาแบบไหน เจ้ากีตาร์ ‘แฟรงเกนสไตน์’ อันเลื่องชื่อของเขา ถูกนำไปจัดแสดงในงานนิทรรศการ Play It Loud ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะ เมโทรโพลิแทน เมื่อปี 2019 โดยก่อนหน้านั้นหนึ่งในกีตาร์ของเขาก็เคยไปจัดแสดงที่สถาบันสมิธโซเนียมมาแล้ว นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่แสดงถึงอิทธิพลของเขาที่มีต่อแวดวงศิลปะและวัฒนธรรม และต่อจากนี้ก็คือ การสร้างคำศัพท์ใหม่ให้ดนตรีร็อคแอนด์โรลล์ที่แสนยิ่งใหญ่ของเอ็ดดี แวน เฮเลน

– เขาปฏิบัติกับกีตาร์ราวกับเปียโน
แม้บรรดามือกีตาร์คลาสิคัลจะเป็นผู้บุกเบิกการใช้มือที่เล่นพิคกิงเล่นโน้ท ซึ่งปกติจะใช้มือที่อยู่บนเฟร็ทเล่น เพื่อภาษาดนตรีจะได้มีขอบเขตกว้างไกลมากขึ้น เอ็ดดีทำให้แฟนๆ เพลงร็อคถึงกับงุนงงกับการเล่นกีตาร์ที่เรียกว่า ‘จิ้มสาย’ ซึ่งเป็นการเล่นกีตาร์ด้วยมือทั้งสองข้าง ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ การเล่นเปียโน ใน “Eruption” และอีกหลายๆ เพลง โดยทั้งเอ็ดดีและอเล็กซ์ต่างก็เคยเรียนเปียโนคลาสสิคัล มาก่อนตอนยังเป็นเด็กๆ ซึ่งการเล่นแบบนี้ก็คือการปฏิวัติการเล่นกีตาร์ดีๆ นี่เอง และอเล็กซ์ก็บอกให้เอ็ดดีแสดงบนเวทีด้วยการหันหลังให้ผู้ชม เพื่อบรรดาขุนขวานทั้งหลายที่มาดู จะไม่สามารถขโมยวิธีการเล่นของเอ็ดดีไปใช้ ก่อนที่ทางวงจะได้เซ็นสัญญาบันทึกแผ่นเสียง

“ผมเคยดูจิมมี เพจเล่น (ทำเสียงกีตาร์ลิคออกมา) แบบนั้น ด้วยมือข้างเดียวในเพลง ‘Heartbreaker’” เอ็ดดีบอกกับนิตยสารโรลลิง สโตนในปี 2008 ว่าทำไมถึงเริ่มเล่นกีตาร์แบบนี้ “ผมคิดว่า ‘ฉันสามารถเล่นแบบนั้นได้นี่หว่า และคุณก็คงไม่รู้หรอกว่า ผมใช้นิ้วหรืออะไร’ คุณก็แค่เคลื่อนนิ้วไปรอบๆ แล้วก็… ‘นายมีมือใหญ่โตข้างหนึ่งนะเพื่อน แล้วมันก็ไล่ไปเรื่อย’”

– เขาเป็นนักกีตาร์ศาสตร์ผู้บ้าคลั่ง
การเป็นคนชอบคิดโน่นนี่นั่นอยู่ตลอดเวลา ทำให้เอ็ดดีมักหาวิธีที่จะปรับแต่งเสียงอุปกรณ์คู่ใจให้ได้ประโยชน์สูงสุด เขาหยิบกระดาษทรายและเลื่อยมาโมกีตาร์เพื่อให้ได้เสียงอย่างที่ได้ยินในหัว กีตาร์ที่โด่งดังมากที่สุดของเขาคือ แฟรงเกนสแตรท (Frankenstrat) หรือแฟรงเกนสไตน์ เพราะกรรมวิธีที่เขาสร้างมันจากตัวกีตาร์ยี่ห้อชาร์เวล ราคา 50 เหรียญ กับคอกีตาร์ราคา 80 เหรียญ แล้วกล้าๆ ติดฮัมบัคเกอร์ พิคอัพ ซึ่งสร้างเสียงที่อ้วนหนาและมีลักษณะเฉพาะตัวให้กีตาร์ไฟฟ้ากิบสัน อย่างรุ่นเลส พอล “ผมทดลองอะไรกับมันเยอะมาก” เขาบอกกับนิตยสารกีตาร์ เพลเยอร์ ในปี ’78 “ถ้าวางพิคอัพไว้ใกล้กับบริดจ์ เสียงมันจะออกแหลมๆ ถ้าคุณวางมันไว้ข้างหน้าเกินไป จะได้เสียงที่ไม่ดีเลยสำหรับการเล่นริธึม ผมชอบวางมันไว้ข้างหลัง มันจะให้เสียงที่คมมากขึ้นแล้วก็กัดหู” เขาจัดการวางเฟร็ทในแบบของตัวเอง จากนั้นก็เอาลูกบิดและสวิทช์ต่างๆ ที่พวกกีตาร์ในยุคนั้นนิยมใช้ออกไปให้หมด ใช้แค่ลูกบิดเบา-เร่งเสียง ปิดท้ายด้วยการทาสีมันเป็นริ้วๆ ตัดกันไปมา

เขายังใช้เลื่อยไฟฟ้าหั่นกีตาร์ก็อปปีของกิบสัน เอ็กซ์พลอเรอร์ เพื่อทำให้หน้าตาออกมาคล้ายๆ ฟลายอิง วี “ไม่มีใครสอนผมเรื่องทำกีตาร์หรอก ผมเรียนรู้จากการทดลอง และความผิดพลาด” เขาบอกกับนิตยสารกีตาร์ เพลเยอร์ “ผมทำกีตาร์ดีๆ พังไปหลายตัว แต่ผมรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร และผมสามารถทำอะไรก็ตามที่อยากทำ เพื่อให้พวกมันออกมาอย่างที่ผมอยากให้เป็น ผมเกลียดกีตาร์ที่ซื้อจากร้าน พวกกีตาร์สำเร็จรูป” แม้จะไม่ใช่มือกีตาร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังคนแรกๆ ที่วุ่นอยู่กับการประดิษฐ์อุปกรณ์ของตัวเอง เพราะ เดวิด กิลมอร์ ก็มีกีตาร์ แบล็ค สแตร็ท และเลส พอลก็มีเลส พอลที่ผู้คนคลั่งไคล้ แต่เอ็ดดีคือคนที่สร้างกระแสการโมกีตาร์ด้วยตัวเองให้เกิดขึ้นในยุค 80s

ยิ่งไปกว่านั้น เขายังสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่คิดขึ้นมา ให้กับโลกของกีตาร์มากมายมหาศาล เขาทำงานกับมือกีตาร์ ฟลอยด์ โรส ทำระบบคันโยก แล้วก็สนับสนุนให้โรสใส่ไฟน์จูนเนอร์เข้ากับบริดจ์ นอกจากนี้ยังถือสิทธิบัตรอุปกรณ์ที่ใช้แต่งกีตาร์ให้เล่นจิ้มสายได้ง่ายขึ้น รวมถึงอุปกรณ์ไฟน์จูนเนอร์ ที่ชื่อว่า ดี ทูนา ซึ่งช่วยให้ดร็อปสายหก ลงหนึ่งเสียงเต็มได้อย่างง่ายดาย ตลอดจนหัวกีตาร์ที่มีลักษณะเฉพาะตัว กับฮัมบัคเกอร์พิคอัพแบบซ้อนกัน เขายังร่วมมือกับเฟนเดอร์เพื่อทำฮัมบัคเกอร์พิคอัพ แต่ก็ยังไม่เสร็จเรียบร้อย

-เขาคิดไปไกลมากกว่ากีตาร์ของตัวเอง
ในฐานะแฟนคนหนึ่งของวง Cream ซึ่งมือกีตาร์ของวงที่ชื่อเอริค แคล็ปตันสร้างเสียงที่เขาเรียกว่า ‘เสียงของผู้หญิง’ ขึ้นมาในเพลงอย่าง “Sunshine for Your Love”ทำให้เอ็ดดีตั้งใจจะสร้างเสียงที่เขาเรียกว่า ‘เสียงสีน้ำตาล’ และก็ทำได้สำเร็จด้วยการเล่นเจ้าแฟรงเกนสแตร็ท ผ่านแอมป์มาร์แชลล์ ซูเปอร์ ลีด ปี 1968, เอ็ฟเฟ็คท์ เอ็มเอ็กซ์อาร์ เฟส 90 เพื่อเพิ่มระดับเสียงสูงให้กับการโซโลของตัวเอง แล้วก็อุปกรณ์ทำเสียงก้อง ถึงจะเคยพูดเล่นๆ เรื่องการโมแอมพลิไฟเออร์ ซึ่งทำให้พวกมือกีตาร์สมัครเล่นจำนวนนับไม่ถ้วน พังอุปกรณ์ของตัวเองเพื่อทำแบบเดียวกับเอ็ดดี แต่ความจริงที่เป็นก็คือ เขาเคยใช้ วาเรียค (variak) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถเปลี่ยนแรงดันไฟฟ้าที่เข้าไปในแอมพ์ เพื่อให้แอมพ์ทำงานได้ที่ระดับแรงดันไฟฟ้าต่ำๆ แล้วใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ มาปรับระดับเสียงของแอมพ์แทน ทำให้ได้เสียงบอบบาง, คมขึ้น แต่ยังคงให้ความรู้สึกอบอุ่นอยู่

– เขากล้าที่จะทำเพลงร็อคด้วยคีย์บอร์ด ในช่วงที่กระแสนิว เวฟถึงจุดสุดยอด
ขณะที่ดนตรีร็อคมาถึงจุดอิ่มตัว ด้วยการที่พวกเลียนแบบเอ็ดดี แวน เฮเลน โผล่มาฆ่าตัวตายเป็นแถว และวงดนตรีอย่าง Blondie และ Duran Duran ครองชาร์ทด้วยงานเพลงนิว เวฟ เอ็ดดีทำเพลงฮาร์ดร็อคฮิตออกมาได้ด้วยซินธิไซเซอร์ “Jump” ไม่ใช่มีแค่เสียงกีตาร์โซโลที่เร่าร้อน ซึ่งหากคิดดูอีกทีก็จะรู้สึกถึงความเยี่ยมยอด แต่ยังมีเสียงลีดคีย์บอร์ดที่โดนหู เขายังทดลองใช้คีย์บอร์ดในเพลงแบบ “And the Cradle Will Rock … ” และการเอา “Dancing in the Streets” มาคัฟเวอร์ ก็ทำให้วงมีเพลงที่เข้าใกล้งานดิสโกเอามากๆ แต่ “Jump” มีความเป็นตัวของตัวเอง สนุกแต่ก็ยังแข็งกร้าว และฟังหนักแน่นกว่าที่วงชอบใช้ซินธ์อย่าง Journey พยายามทำ เอ็ดดีใช้ซินธ์อีกครั้งในเพลงบัลลาดที่เบสฟังหนักหน่วง “I’ll Wait” จากอัลบัมเดียวกัน – 1984 และกลายเป็นเพลงฮิทอีกเพลงจากอัลบัมชุดนี้ คีย์บอร์ดยังคงเป็นส่วนสำคัญในเพลงดังๆ ของแวน เฮเลน จากยุคของแซมมี เฮการ์ เช่น “Dreams”, “Right Now” และ “When It’s Love.”

– เขาเป็นคนทำเพลงพอๆ กับที่เป็นมือโซโล
แม้ “Eruption” จะเป็นการระเบิดออกมาด้วยความบังเอิญ ที่เต็มไปด้วยท่วงทำนองที่สอดประสาน, เสียงกีตาร์ที่ทอดยาว, การจิ้มสาย และสะท้องที่ดังก้อง แต่เอ็ดดีทำงานหนักมากขึ้นในการเดินทางด้วยกีตาร์ครั้งต่อๆ มา ในเพลง “Spanish Fly” จากอัลบัม Van Halen II เขานำเทคนิคจิ้มสาย และสปีดการเล่นที่เร็วเป็นไฟมาใช้กับกีตาร์อะคูสติก, กับ “Sunday Afternoon in the Park” จากงานชุด Fair Warning เอ็ดดีแจมกับอเล็กซ์ในสไตล์แบบเลด เซพเพลินที่ฟังหม่นมัว ด้วยการใช้คีย์บอร์ด, ในอัลบัม Diver Down เพลง “Cathedral” ก็คือศิลปะตัดแปะจากลูกเล่นในการปรับระดับเสียง การทำให้เสียงกีตาร์ฟังเหมือนคีย์บอร์ด แต่ด้วยลีลาแบบดนตรีคลาสสิคัล, “Little Guitars (intro)” ที่อยู่ในอัลบัมเดียวกัน ก็คืองานโชว์กีตาร์สแปนิชสั้นๆ, “316” จาก For Unlawful Carnal Knowledge ก็อาจจะกลายเป็นงานอะคูสติค บัลลาด หากแซมมี เฮการ์ ใส่เสียงร้องลงมา แต่ถึงกระนั้นมันก็มีความสวยงามในตัวมันเองอยู่แล้ว, และ “Baluchitherium” ใน Balance ก็แสดงให้เห็นว่าเอ็ดดี ก็สามารถเล่นแจ็ซซ์-ร็อคได้ดีเหมือนกัน ถ้าไม่เยี่ยมกว่าบรรดาขวัญใจมือกีตาร์ อย่าง สตีฟ ไว และโจ แซทริอานี ที่ผงาดขึ้นมาในกระแสของเขา ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความสวยงามที่ชาวร็อคชอบจาก “Panama” และ “Right Now” ซึ่งความหนักแน่นสลับเข้าออกไปมา โดยเอ็ดดีทำออกมาในแบบได้ยินแล้วไม่รู้สึกถึงความพยายามอะไรเลย

– เขาทำให้ดนตรีเฮฟวี เมทัลฟังสนุกขึ้น
ในช่วงต้น-กลางยุค 70s เพลงเฮฟวี เมทัล และฮาร์ด ร็อค ถูกให้คำจำกัดความด้วยบทเพลงที่คร่ำครวญเกี่ยวกับความตายของ Black Sabbath, งานเพลงที่ฟังลึกลับของ Led Zeppelin และดนตรีที่แข็งกร้าว ให้ความรู้สึกแข็งแรง อย่างงานของ Deep Purple และ Judas Priest แวน เฮเลนทำให้เพลงเฮฟวี เมทัลเป็นเพลงที่คนสามารถเต้นรำด้วยได้ ถึงเดวิด ลี ร็อธ นักร้องนำของวงสมควรได้รับการนึกถึง จากลีลาท่าทางการแสดงแบบ วอเดอวิลล์ แต่ก็เป็นเอ็ดดีนี่ละที่สร้างซาวนด์แทร็คให้ จากริฟฟ์ที่ฟังลื่นไหล ในลีลาบูกีที่หนักหน่วงพอๆ กับการกระแทกกระทั้น โดยไม่ลังเล การเล่นโซโลก็ลื่นไหล ฟังปลอดโปร่งและรื่นรมย์ มีสองคำที่อาจจะฟังตรงกันข้ามและน่ารังเกียจ ในปีกของดนตรีร็อคที่ดนตรีหนักหน่วงมากขึ้นก็คือ Ratt และ Mötley Crüe สองวงฮาร์ดร็อคที่พยายามก็อปปีอารมณ์สุนทรีย์ราวกับอยู่ในปาร์ตีของแวน เฮเลน แต่พวกเขาไม่เคยทำได้ในแบบเดียวกัน กระทั่งในยุคของแซมมี แฮการ์ ที่กีตาร์ของนักร้องนำคนใหม่มีบทบาทพอๆ กัน หากก็ไม่มีเสียงไหนที่สำคัญมากกว่า และสำหรับการสัมผัสประสบการณ์แบบแวน เฮเลน เสียงดนตรีที่ดังออกมา จะดึงคุณเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมันเท่านั้น

โดย ลุงทอย (ขอบคุณ น้องก้อย วิซาร์ดสำหรับคำปรึกษาในเรื่องกีตาร์ และคำแปลเรียบรียงบางส่วน)

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.