WORLD WAR Z (2013) แบรด พิทท์เซฟเดอะเวิร์ลด์
กำกับ-มาร์ค ฟอร์สเตอร์ ผู้แสดง-แบรด พิทท์, มีเรลล์ อีนอส, ดานิเอลล่า เคอร์เทสซ์
World War Z (2013) ผลงานกำกับของมาร์ค ฟอร์สเตอร์ (Monster’s Ball, Quantum of Solace) เป็นหนังอีกเรื่องที่ว่าด้วยการมาถึงของวันสิ้นโลกหรืออีกนัยหนึ่ง จุดจบของมวลมนุษยชาติ (นอกเหนือจากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องซอมบี้) และเป็นที่น่าสังเกตุว่า หนังที่บอกเล่าเรื่องราวทำนองนี้-ทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆในช่วงระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านพ้นไป (จากยี่สิบกว่าเรื่องในช่วงทศวรรษที่ 1970 กลายเป็นห้าสิบกว่าเรื่องในทศวรรษที่ 2000 และลำพังเฉพาะสี่แรกของทศวรรษที่ 2010 ก็นับได้ร่วมๆสี่สิบเรื่องเข้าไปแล้ว) หรือคำนวณเฉพาะหนังที่มีทุนสร้างขนาดใหญ่ของครึ่งปีนี้ที่ผ่านพ้นไป เราก็ได้ดูหนังที่พูดประเด็นทำนองนี้ถึง 5 เรื่องเป็นอย่างน้อย อันได้แก่ Oblivion, The Host, After Earth, Warm Bodies และแน่นอน World War Z
ไม่ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวจะอธิบายถึงความหวาดกลัวและตื่นตระหนกต่อหายนะในหลากหลายรูปแบบของผู้คนช่วงศตวรรษที่ 21 อย่างไร (ภัยธรรมชาติ, โรคระบาด, การก่อการร้าย, อันตรายจากนอกโลก) ปัญหาที่สลัดไม่หลุดของหนังในแนวทางเหล่านี้-อยู่ตรงที่มันมักจะตกอยู่ในพันธนาการของกรอบการเล่าเรื่องที่มีลักษณะเป็นสูตรสำเร็จตายตัว และกลายเป็นว่าความยุ่งยากที่หนังเหล่านี้ต้องเผชิญ-ไม่ใช่เรื่องของการหาหนทางกอบกู้โลกใบนี้จากความวิบัติฉิบหายต่างๆนานาที่ถาโถมเข้ามา หากได้แก่การกอบกู้ตัวหนังไม่ให้มันตกลงไปในกับดักหรือหลุมพรางของความซ้ำซากจำเจ ตลอดจน กฎ, กติกา และมารยาทเดิมๆที่ต้องยึดถือและปฏิบัติตาม
ในกรณีของหนังเรื่อง World War Z ความดึงดูดและน่าฉงนสนเท่ห์พอๆกับพล็อตเรื่องที่ว่าด้วยตัวเอกต้องต่อสู้และขับเคี่ยวกับพวกซอมบี้ที่กำลังแพร่พันธุ์ไปทั่วโลก-ได้แก่การเฝ้าติดตามคนทำหนังดิ้นรนกระเสือกกระสนเพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์และทิศทางในการเล่าเรื่องที่เคยถูกนำเสนอไปแล้วในหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้ (และแน่นอนว่านี่คือยุคสมัยที่ผู้ชมไม่ได้อ่อนหัดและไร้เดียงสากับหนังซอมบี้และหนังวันสิ้นโลกอีกต่อไป) และในขณะที่หนังของฟอร์สเตอร์ไม่พยายามทำให้ตัวมันเองถูกทำนายทายทักง่ายดายเกินไป-ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่น่าชื่นชม แต่จนแล้วจนรอด มันก็ยังคงหลีกหนีสถานะของการนำเสนอสิ่งที่เรียกได้ว่า ‘เหล้าเก่าในขวดใหม่’ ไม่พ้นอยู่นั่นเอง หรือพูดอีกนัยหนึ่ง มันเป็นหนังที่ไม่ได้มีทั้งเนื้อหาตลอดจน ‘มู้ดและโทน’ ที่ผิดแผกแตกต่างไปจากหนัง ‘ซอมบี้โลกาวินาศ’ ที่เคยถูกสร้างก่อนหน้านี้นับไม่ถ้วน และในขณะที่ผลลัพธ์โดยรวมไม่ได้ถึงกับดำดิ่งลงสู่ก้นบึ้งของหุบเหวหรือกลายเป็นหายนะในตัวมันเอง และอันที่จริง มันเป็นหนังที่ดูสนุกและน่าตื่นเต้นใช้ได้เลยทีเดียว หลายต่อหลายช่วงไม่อาจละวางสายตา แต่ถึงกระนั้น มันก็ไม่ได้หยิบยื่นคุณค่าหรือความหมายที่ติดแน่นทนทานให้กับผู้ชม
พล็อตของ World War Z เริ่มต้นในวันที่ดูเหมือนเป็นปกติของเมืองฟิลาเดลเฟีย และในระหว่างที่เจอร์รี่ (แบรด พิทท์) ผู้เป็นพ่อซึ่งว่างงาน-ขับรถพาคาริน (มีเรลล์ อีนอส) คนรักและลูกสาวตัวน้อยทั้งสองสองคนเข้าเมือง และต้องติดอยู่จราจรที่ขยับเขยื้อนไปไหนมาไหนไม่ได้ จู่ๆโลกใบที่อบอุ่นปลอดภัยและพวกเขารู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี-ก็พลิกโฉมไปอย่างชนิดหน้ามือหลังมือ กลายเป็นว่าเมืองทั้งเมือง (และอันที่จริง ทั่วทั้งโลก) ตกอยู่ภายใต้การครอบงำและอาละวาดอย่างเสียสติและบ้าคลั่งของพวกซอมบี้ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวประทุขึ้นมาได้อย่างไร
ข้อมูลที่ผู้ชมได้รับการบอกกล่าวเพิ่มเติม-ก็คือแบ็คกราวนด์ของเจอร์รี่ที่ไม่ใช่คนธรรมดา หากเป็นอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษขององค์การสหประชาชาติที่เคยถูกส่งให้ไปทำงานยากๆมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน และไม่มากไม่น้อย นั่นคือตอนที่เขาถูกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพสหรัฐฯขอร้องแกมบังคับให้เข้าร่วมในภารกิจครั้งใหม่ นั่นคือการค้นหาต้นตอของการแพร่เชื้อโรคร้ายเพื่อว่านักระบาดวิทยาจะได้ใช้เป็น ‘โร้ดแม็ป’ ในการพัฒนาวัคซีน
ดังที่กล่าว เนื้อหาที่อยู่ถัดจากนี้-ก็แทบจะเรียกได้ว่าเดินตามตำราการทำหนังกู้โลกจากหายนะซอมบี้ทีละขั้นตอน และบางที ชื่อของหนังอาจจะเปลี่ยนเป็น ‘แบรด พิทท์โชว์’ หรือ ‘แบรด พิทท์เซฟเดอะเวิร์ลด์’ เพราะกลายเป็นว่ายิ่งเวลาผ่านพ้นไป ความอยู่รอดของโลกใบนี้-ขึ้นอยู่กับการใช้สติปัญญาอันหลักแหลม, วิจารณญาณอันแยลยล และการตัดสินใจอันถูกต้องแม่นยำของตัวเอกของเรื่องเพียงลำพัง และผู้ชมจำเป็นต้องยินยอมหรืออนุโลมให้เรื่องเหลือเชื่อและความเป็นไปไม่ได้ทั้งหลายทั้งปวง-เล่นบทบาทสำคัญ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว พวกเราจะประสบความยุ่งยากอย่างแสนสาหัสในการติดตามเนื้อหาที่เพิกเฉยต่อตรรกะและหลักเหตุผลอย่างสุ่มเสี่ยงและท้าทาย (หนึ่งในนั้นได้แก่เหตุการณ์ที่พระเอกของเรารอดชีวิตจากเครื่องบินตกอย่างปาฏิหาริย์ มิหนำซ้ำ ยังสามารถจัดการให้ตัวเองเดินทางไปถึงสถาบันวิจัยขององค์การอนามัยโลกทั้งๆที่ร่างกายอยู่ในสภาพสะบักสะบอม หรือใครจะไปเชื่อว่าพระเอกของเราซึ่งไม่ได้เรียนทางด้านการแพทย์แต่อย่างใด-จะเป็นผู้ค้นพบทางออกของปมปัญหาทั้งมวลได้อย่างน่าอัศจรรย์)
แต่อะไรก็ไม่ดูเป็นเรื่อง cliché หรือแบบแผนตายตัว-เท่ากับบทสรุปของเรื่องในตอนท้ายที่ภายหลังคนทำหนังใช้เวลาเกินกว่าครึ่งค่อนเรื่องบั่นทอนความหวังของผู้ชมไปจนถึงระดับที่ตกต่ำสุด มันก็แทบจะเป็นกฎหรือข้อบังคับที่พวกเขาจะเหลือทางออกเล็กๆที่นำไปสู่ตอนจบที่ยกระดับและพลิกฟื้นความเชื่อมั่นศรัทธาในมวลมนุษยชาติให้หวนกลับคืนมา หรือกล่าวอย่างจำเพาะเจาะจง มันก็คือการลำดับภาพแบบ montage ในตอนท้ายผสมกับโมโนล็อค (ที่ฟังดูไร้อารมณ์เหมือนซอมบี้) ของแบรด พิทท์ที่พรรณนาถึงภารกิจข้างหน้าที่ต้องต่อสู้และฝ่าฟันไปอีกยาวไกล
สมมติว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังแนวหายนะไม่กี่เรื่อง-ก็ยังเป็นเรื่องที่พอทำเนา แต่ดังที่กล่าว มันกลายเป็นเสมือน ‘ระเบียบปฏิบัติ’ หรืออะไรบางอย่างที่ถูกโปรแกรมเอาไว้ล่วงหน้า และมันส่งผลให้หนังสูญเสียทั้งความเป็นธรรมชาติ และความเป็นตัวของตัวเองอย่างน่าเสียดาย (มองในแง่มุมนี้แล้วก็ทำให้นึกถึงฉากจบของหนังเรื่อง Melancholia ที่หยิบยื่นข้อเสนอน่าสนใจที่ว่า บางที มนุษย์ก็ให้ราคาค่างวดกับการอยู่รอดของตัวเองมากเกินไป) แต่ก็อีกนั่นแหละ ต้องยอมรับว่า แท็คติกในบิลด์อารมณ์ของคนทำหนังในฉากดังกล่าวอย่างได้ผล-ก็เกือบจะทำให้พวกเราเปล่งเสียงร้องเพลง ‘We are the World’ พร้อมๆกับหันไปโอบกอดคนดูที่นั่งอยู่ข้างๆ ร่วมร้องไห้และรักกัน
ไม่ว่าจะอย่างไร ส่วนที่โดดเด่นมากๆอาจสรุปได้ในสามส่วนด้วยกัน หนึ่งก็คือ การออกแบบพฤติกรรมของซอมบี้ให้มีลักษณะเฉพาะที่ไม่พบในหนังเรื่องก่อนๆ และโดยเฉพาะการอาศัยกันและกันปีนป่ายในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากมดปลวก และมันเป็นภาพที่ทั้งเย้ายวนชวนมองและยั้วเยี้ยน่าขยะแขยงไปพร้อมๆกัน อีกหนึ่งได้แก่ลูกเล่นในการเล่าเรื่องที่สอดแทรกไว้ด้วยอารมณ์ขันหรือเรื่องที่คาดไม่ถึง และมันส่งผลให้ผู้ชมรู้สึกได้ว่าหนังไม่ ‘เชื่อง’ เกินไป (มีฉากหนึ่งที่แบรด พิทท์ยิงใครซักคนในซุปเปอร์มาร์เก็ต และทันใดนั้น ตำรวจนายหนึ่งก็วิ่งตรงเข้ามา ซึ่งมันทำให้ผู้ชมนึกเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจาก-พระเอกของเรา ‘เสร็จ’ แน่ ทว่าบทสรุปของฉากเล็กๆนี้ไม่เพียงหันเหไปในทิศทางที่อยู่เหนือความคาดหมายของผู้ชม หากยังอธิบายถึงสถานการณ์ล่าสุดในตอนนั้นได้อย่างแยบยล หรือฉากไคลแม็กซ์ในตอนท้ายเรื่องที่ชวนให้ตื่นเต้นระทึกขวัญด้วยวิธีการอันสุดแสนฉลาด และโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาซีจี., ลวดสลิงหรือตัวแสดงแทน)
และสุดท้าย แบรด พิทท์ เขาอาจจะไม่ใช่พระเอกหนังแอ็คชั่นคนแรกๆที่เรานึกถึง และความเก่งกล้าสามารถของเขาในหนังเรื่องนี้-ก็ออกจากมีลักษณะเป็นการอวดอุตริมนุสธรรม แต่นี่เป็นการพิสูจน์ครั้งที่นับไม่ถ้วนว่าแบรด พิทท์เป็นนักแสดงที่ครบเครื่องและฝีไม้ลายมือจัดจ้าน เขาสามารถทำให้เราเชื่อในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และพร้อมจะขึ้นเขาลงห้วยตลอดจนล่มหัวจมท้ายไปทุกหนทุกแห่งกับตัวละคร ข้อสำคัญ เขาดูมีเลือดมีเนื้อและความเป็นมนุษย์ รวมทั้งสัมผัสได้ถึงอบอุ่นอ่อนโยน
อีกทั้งยังสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า-พร้อมๆกับที่เขาช่วยกอบกู้โลกนี้ให้พอจะมีทางรอดจากซอมบี้ เขาก็ทำแบบเดียวกันกับหนังเรื่องนี้เช่นกัน
จากเรื่อง แบรด พิทท์เซฟเดอะเวิร์ลด์ โดย ประวิทย์ แต่งอักษร ตีพิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2013 คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ ภาพยนตร์ นิตยสารสีสัน