FEATURESMovie Features

เมื่อโรงหนังจะอยู่ในบ้าน ดูหนังชนโรงอย่างถูกกฎหมายในคุณภาพเดียวกัน จุดสร้างความเห็นต่างของผู้กำกับระดับหัวแถว

เทคโนโลยีในวงการภาพยนตร์ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นในกระบวนการผลิต จัดจำหน่าย หรือว่าการรับชม ย้อนไปในปี 2011 คนทำหนัง 32 คน อย่าง ไมเคิล เบย์, แคธรีน บิเกโลว์, เจมส์ คาเมรอน, ไมเคิล มานน์, ท็อดด์ ฟิลลิปส์, แอนตวน ฟูควา, โรเบิร์ท เซเม็คคิส และกิแยร์โม เดล โตโร เคยร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกฮอลลีวูด เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เลิกแผนการให้บริการภาพยนตร์ตามสั่ง (Video on Demand หรือ VOD) แบบพรีเมียม ซึ่งจะทำให้ได้เห็นหนังที่ฉายในโรงภาพยนตร์ ถูกส่งไปให้ดูตามบ้านได้หลังจากเปิดตัวแค่ 60 วัน ในราคาเพียง 29.95 เหรียญ โดยพวกเขาอ้างว่ารูปแบบทางธุรกิจแบบนี้ ไม่มั่นคงและไม่สร้างประสบการณ์ในการชมภาพยนตร์ แล้วยังเชื่อด้วยว่า “อะไรที่ขายเพื่อชมด้วยราคาแค่ 30 เหรียญในวันนี้ จะกลายเป็นของลดราคาเหลือเพียง 9.99 เหรียญในเวลาไม่กี่ปี” ซึ่งทำให้เงินหลายๆ พันล้านเหรียญสูญหายไป บรรดาโรงหนังทั้งหลายต้องปิดตัวลง

the_screening_room-sadaos_story-05

วันนี้ 5 ปีหลังจากวันนั้น ขาใหญ่ในวงการธุรกิจภาพยนตร์ กลับมาให้การสนับสนุนแผนการให้บริการภาพยนตร์ตามสั่งแบบพรีเมียม ด้วยความกระตือรือร้นมากกว่าที่เคยเกิดขึ้น

ในปีที่ผ่านมา รายได้รวมของภาพยนตร์อยู่ในระดับสร้างสถิติ ด้วยรายได้เป็นพันๆ ล้านเหรียญ ตัวเลขที่กลายเป็นการปกปิดข้อมูลบางอย่างอันน่าหวั่นใจที่ว่า แม้รายได้จะมหาศาล แต่ผู้ชมกลับอยู่ในสภาพซึมเซา บรรดาสตูดิโอต้องพยายามอย่างหนัก และทำอะไรต่างๆ นานามายาวนาน เพื่อดึงผู้ชมที่กำลังเห่อกับเน็ทฟลิกซ์ และความสะดวกสบายในบ้าน ให้ออกมาหาที่จอดรถ จ่ายค่าตั๋ว เพื่อที่จะมานั่งชมและฟังคนบนจอภาพยนตร์ได้พูดอยู่ฝ่ายเดียว

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้มีบริการต่างๆ เกิดขึ้นสำหรับผู้ชมที่รักความสะดวกสบายมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ไดเร็คท์ ทีวี ที่ให้ผู้สมัครใช้บริการสามารถเช่าหนังที่เปิดตัวในโรงเมื่อ 60 วันก่อน และยังอยู่ในโรงภาพยนตร์ได้ด้วยราคา 29.99 เหรียญ แต่มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ แล้วก็หายไป

ในปี 2011 ยูนิเวอร์แซลพยายามลองวิธีการบางอย่างกับหนังเรื่อง Tower Heist ของเบน สติลเลอร์ ด้วยการให้สั่งไปดูถึงบ้านได้ในราคา 59.99 เหรียญ หลังหนังเข้าโรงแค่ 3 สัปดาห์ แต่ทางโรงภาพยนตร์ตัดสินนใจจะไม่ฉายหนังเรื่องนี้ หากสตูดิโอยังเดินหน้าตามแผน ทำให้โปรเจ็คท์ต้องพับลงไป แต่มันก็ทำให้ความคิดที่จะขายหนังตามสั่งแบบพรีเมียมเกิดขึ้นมาอีกครั้ง

และคนที่ยื่นมือเข้ามาทำให้ความคิดที่ว่า ส่งประกายอีกครั้งก็ไม่ใช่ใคร ฌอน ปาร์เกอร์ ผู้ที่เคยสร้างเว็บแชร์เพลงแน็ปสเตอร์ และร่วมลงทุนสร้างเฟซบุ๊คในยุคแรกๆ ที่ก่อตั้งบริษัทใหม่ ที่ชื่อว่า เดอะ สครีนิง รูม (The Screening Room) ซึ่งมีคอนเส็ปท์คล้ายๆ กับความพยายามที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ตอนนี้มาพร้อมกับความมุ่งมั่น เอาจริงยิ่งกว่า เมื่อเขาไปเจรจากับบรรดาสตูดิโอต่างๆ ในฮอลลีวูด เพื่อเสนอแผนงานในการขายภาพยนตร์แบบสตรีมมิง ที่ผู้ใช้งานจะต้องซื้อกล่องในราคา 150 เหรียญก่อน และกล่องนี้ก็จะทำให้พวกเขาเข้าถึงภาพยนตร์เรื่องต่างๆ เพื่อเช่าชมในวันเดียวกับที่หนังเข้าโรงฉายในราคาเรื่องละ 50 เหรียญ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องดีสำหรับทั้งสองผ่าย สตูดิโอและผู้ชม โดยทางเดอะ สครีนิง รูมจะให้สตูดิโอ 20 เหรียญจากค่าเช่าชมในราคา50 เหรียญ

the_screening_room-sadaos_story-03

ฌอน ปาร์เกอร์ ผู้ที่เคยสร้างเว็บแชร์เพลงแน็ปสเตอร์ และร่วมลงทุนสร้างเฟซบุ๊คในยุคแรกๆ

นอกจากนี้ผู้ชมที่เช่าหนังไปดู ก็จะได้บัตรชมภาพยนตร์ฟรี 2 ที่นั่ง เพื่อที่จะให้บรรดาเจ้าของโรงหนังรู้สึกดีกับบริการนี้ ที่ยังสร้างโอกาสให้ผู้ชมกลับมาในโรงภาพยนตร์อีกครั้ง

โดยบริษัทที่ให้ความสนใจในเรื่องนี้อย่างจริงจังก็มี ยูนิเวอร์แซล, ฟ็อกซ์ และโซนี นอกจากนี้ก็มีข่าวว่าทางเดอะ สครีนิง รูม ก็กำลังจะปิดการเจรจากับสถานีเอเอ็มซีสำเร็จ และหากพวกเขาทำสำเร็จตามที่ตั้งใจก็จะทำให้กลายเป็นเครือข่ายภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศทันที แต่เอาเข้าจริงๆ การให้บริการแบบนี้มันสมเหตุสมผลหรือไม่?

ถ้าคุณลงเงินเป็นร้อยๆ ล้านเหรียญกับหนังสักเรื่อง มันจะมีคุณค่าบางอย่างในตัวภาพยนตร์ ที่ควบคู่ไปกับสิ่งที่เรียกว่าประสบการณ์ในการชมภาพยนตร์ กับหนังของมาร์เวลเรื่องต่อไป หรือ Star Wars สิ่งเหล่านี้จะหายไป หากคุณสั่งหนังมาชมผ่านจอโทรทัศน์ภายในบ้าน ไหนจะมีเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้ทางเดอะ สครีนิง รูมจะย้ำว่า พวกเขามีเทคโนโลยีที่จัดการกับเรื่องนี้ได้ แต่มันก็คงใช้เวลาไม่นานหรอกสำหรับพวกแฮ็คเกอร์ทั้งหลาย ที่จะหาทางเจาะเข้ามา

the_screening_room-sadaos_story-04

สตีเวน สปีลเบิร์ก เอา The Screening Room

สำหรับผู้บริโภค นี่คือบริการที่น่าสนใจ คนที่มีกล่อง แอปเปิล ทีวี, เอ็กซ์บ็อกซ์, โครมแคสท์ หรือกระทั่งแล็ปท็อป การจ่ายเงินให้กับกล่องอะไรอีกสักกล่องไม่ใช่เรื่องแปลก และสำหรับคนที่มีครอบครัว ค่าเช่าชมภาพยนตร์ที่บ้านในราคา 50 เหรียญ เป็นเรื่องที่ยิ่งกว่าสมเหตุสมผล และดูเข้าท่ากว่าการพาเด็กๆ ไปที่โรงหนังจ่ายค่าตั๋วคนละ 12- 15 เหรียญ บวกกับค่าโน่น-นั่น-นี่ ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร, ค่าของว่าง และค่าจอดรถ แล้วกับก๊วนเพื่อนๆ มันก็ยิ่งกว่า ยิ่งกว่าขึ้นไปอีก เพราะพวกเขาอาจจะจ่ายแค่คนละ 5-10 เหรียญ แล้วไปสุมกันอยู่ที่บ้านของใครสักคนที่มีระบบโฮมเธียเตอร์เริ่ดๆ

ในทางกลับกัน ตลอดเวลากว่าร้อยปีที่ผ่านมา การไปชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ คือการไปสัมผัสกับความยอดเยี่ยมของหนังบนจอใหญ่ๆ และให้ให้รางวัลกับคนทำงาน และยังเป็นเหมือนกับการมีประสบการณ์ร่วมทางสังคม การค่อยๆ ทำลายสิ่งต่างๆ เหล่านั้น จะมีผลกระทบกับอุตสาหกรรมในอนาคตแน่ๆ แม้ในตอนนี้อาจจะยังอาจจะบอกไม่ได้ชัดเจนว่าจะมีอะไรบ้างก็ตาม

แล้วกับการเป็นงานศิลปะ ภาพยนตร์สมควรถูกฉายในโรงภาพยนตร์ ด้วยจอที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อสัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่าประสบการณ์ในการชมภาพยนตร์

the_screening_room-sadaos_story-02

เจ.เจ. เอบรามส์ เอากับ The Screening Room

กับแผนการของเดอะ สครีนิง รูม หลายๆ คนอาจจะคิดว่า บรรดาคนทำหนังคงจะแย้งกับความคิดนี้ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป และไม่ใช่ทุกคน

มีรายงานข่าวว่า บรรดาคนดังขาใหญ่อย่าง สตีเวน สปีลเบิร์ก, ปีเตอร์ แจ็คสัน, เจเจ เอบรามส์, ไบรอัน เกรเซอร์, มาร์ติน สกอร์เซซี, รอน โฮเวิร์ด และอีกหลายๆ คน ต่างให้การสนับสนุนเดอะ สครีนีง รูม และก็มีบางคนที่ส่งเงินส่วนตัวเข้า เพื่อร่วมลงทุนแล้วด้วยซ้ำ งานนี้ถือว่าเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ ที่ได้เห็นคนทำหนังให้การสนับสนุนกับโปรเจ็คท์ที่จะทำลายประสบการณ์การชมภาพยนตร์ของผู้ชม และเปลี่ยนการไปชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ให้กลายเป็นช่วงเวลาพิเศษ แต่ก็อีกนั่นแหละ มีผู้สร้างภาพยนตร์จำนวนหนึ่งที่ไม่เคยสนเลยว่า หนังของพวกเขาจะได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์หรือเปล่า ซึ่งในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น หนังในกลุ่มนี้ก็คือ หนังเล็กๆ ที่การหาโรงฉายไม่ง่ายพอๆ กับการที่โรงภาพยนตร์พยายามดึงคนมาดูหนังเหล่านี้ และอาจจะเลือกฉายหนังใหญ่ๆ ที่ทำเงินทำทองให้ได้มากกว่าแทน

ทางเครือข่าวโรงภาพยนตร์ ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ทางสถานีเอเอ็มซี ได้แสดงความสนใจมาแล้วด้วยการเจรจากับเดอะ สครีนิง รูม บางทีพวกเขาอาจจะเชื่อว่า คนดูยินดีที่จะจ่ายเงินก้อนหนึ่งแล้วอยู่กับบ้านเพื่อชม Batman v Superman: Dawn Of Justice มากกว่าจะไปที่โรงภาพยนตร์ และ/หรือ บางทีพวกเขาก็แค่อาจจะอยากดูหนัง ไม่ได้ต้องการประสบการณ์อะไรมากกว่านั้น และหากภาพรวมของการชมภาพยนตร์เปลี่ยนไปจริงๆ โรงหนังอาจจะต้องเจอกับภาวะซึมเซาไปอีกนานหลายปี โดยที่ไม่มีอัตราการเติบโตแสดงให้เห็น

the_screening_room-sadaos_story-06

คริสโตเฟอร์ โนแลน ไม่เอา The Screening Room

นอกจากจะไม่พยายามคงไว้ซึ่งประสบการณ์ในการชมภาพยนตร์ของผู้ชม หรือปรับปรุงให้น่าประทับใจมากขึ้นแล้ว รูปแบบธุรกิจแบบนี้ ยังทำให้หมดกำลังใจทำงานง่ายๆ และบรรดาเครือข่ายโรงภาพยนตร์ ก็น่าจะจัดโปรแกรมบางอย่างลงมาเพื่อที่จะเก็บคนดูไว้กับตัวนานๆ และห่างจากการใช้บริการแบบนี้

สำหรับสตูดิโอ ดูเหมือนว่า พวกเขาสนใจแผนการของฌอน ปาร์เกอร์ อย่างที่ ยูนิเวอร์แซล, ฟ็อกซ์ และโซนีแสดงให้เห็น ด้วยการต้อนรับความคิดนี้อย่างอบอุ่น บางทีอาจจะเป็นเพราะพวกเขาไม่สนอยู่แล้วว่า คนจะดูหนังของพวกเขาที่ไหน ตราบเท่าที่ยังจ่ายเงินชม แถมยังตัดขั้นตอนต่างๆ ที่ทางสตูดิโอจะต้องจัดการกับเครือข่ายโรงภาพยนตร์ออกไปจนหมด

แต่ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมายังไง นี่ก็คือวิวัฒนาการที่น่าสนใจ กับการได้เห็นขาใหญ่ของฮอลลีวูด และคนทำหนังที่ทรงอิทธิพล ต่างให้การสนับสนุนเดอะ สครีนิง รูม และแผนงานของบริษัทนี้ ที่จะทำให้ผู้ชมหย่อนเงิน 50 เหรียญ แล้วก็หาของว่างมานั่งกิน เพื่อชมภาพยนตร์บนจอโทรทัศน์ในบ้านผ่านกล่อง และลืมประสบการณ์ การชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ไปเลย

the_screening_room-sadaos_story-01

เจมส์ คาเมรอน (ซ้าย) ไม่เอา แต่มาร์ติน สกอร์เซซี เอา The Screening Room

จากเรื่อง เมื่อโรงหนังจะอยู่ในบ้าน ดูหนังชนโรงอย่างถูกกฎหมายในคุณภาพเดียวกัน โดย ลุงทอย คอลัมน์ สกูปพิเศษ นิตยสารเอนเตอร์เทนฉบับที่ 1205 ปักษ์แรก เมษายน 2559

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านงานวิจารณ์หนัง และเพลง แบบนี้ ได้ด้วยการกดไลค์ Like เพจสะเด่าส์กันไว้ก่อน ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.