FEATURESMusic Features

เรื่องเล่าถึงนิตยสารดนตรีที่จากไป ด้วยอายุอานาม 34 ปี นิตยสารคิว ปิดตัวลงไปแล้วเรียบร้อย

นิตยสารคิว หนึ่งในนิตยสารเล่มสำคัญของวงการเพลงร็อคของอังกฤษ ปิดตัวลงแล้ว หลังจากที่ตีพิมพ์เรื่องราวต่างๆ มากมายให้อ่านกันตลอด 34 ปี โดยมาร์ค ซาเวจ นักข่าวจากบีบีซี ได้เขียนบทความรำลึกถึงนิตยสารฉบับนี้เอาไว้ ในเว็บไซต์ www.bbc.com

“โรคระบาดทำร้ายเรา และไม่มีอะไรมากมายไปกว่านั้น” เท็ด เคสส์เลอร์ บรรณาธิการของนิตยสาร ทวีต พร้อมๆ กับการแชร์จดหมายจากบรรณาธิการสำหรับนิตยสาร ซึ่งออกวางจำหน่ายไปเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ให้อ่านกันด้วย ซึ่งข้อความหนึ่งบอกเอาไว้ว่า “ผมต้องขออภัยสำหรับความล้มเหลวของตัวเอง ที่ไม่สามารถทำให้คิวไปต่อได้”

นิตยสารฉบับแรก (ซ้าย) และฉบับสุดท้าย

ยอดวางของนิตยสารตกลงเหลือเพียง 28,000 ฉบับต่อเดือน หลังจากที่เคยทำยอดสูงสุดเอาไว้ถึง 200,000 ฉบับในปี 2001

นิตยสารคิว เริ่มตีพิมพ์ในปี 1986 โดยสองนักเขียนของนิตยสารสแมช ฮิตส์ – มาร์ค เอลเล็น และเดวิด เฮ็พเวิร์ธ ช่วงเวลาเดียวกับที่ซีดีเริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรมดนตรี ซึ่งคุณภาพเสียงที่สดใส, ความเงามันของรูปลักษณ์ และคุณสมบัติที่ดูเหนือกว่าฟอร์แม็ทอื่นๆ ของมัน ก็ทำให้เหมาะสมลงตัวกับเวลาในตอนนั้นพอดิบพอดี

และคอลัมน์วิจารณ์อัลบัมแทบทุกแนวทาง จนเรียกได้ว่าอาจจะมากเกินไปด้วยซ้ำของคิว ไม่เพียงแต่จะครอบคลุมบรรดาผลงานใหม่ที่ออกมา แต่ ยังรวมไปถึงบรรดาผลงานเก่าที่สังกัดเพลงเริ่มนำออกมาจากรุ ออกขายในฟอร์แม็ทใหม่

แต่ลักษณะของนิตยสารกลับถูกมองว่า มีความไม่เคารพในตัวของศิลปิน พอๆ กับการยอมรับ เมื่อคิวทำให้บรรดาศิลปินเกิดอาการจิตตก หากต้องไปอยู่ในคอลัมน์ของทอม ฮิบเบิร์ท ที่ชื่อว่า Who The Hell Do They Think They Are? ซึ่งเริ่มต้นในช่วงปลายยุค 1980s เพื่อ “ถากถางพวกยึดถืออัตตา และทิ่มแทงพวกหลงตัวเอง” แล้วก็เป็นแบบนี้อยู่หลายปี จนกระทั่งพวกเซียนๆ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของค่ายเพลงฉลาดมากขึ้น

ฮิบเบิร์ทเป็นคนที่มีความสามารถพิเศษในการเจาะลึกจากการสัมภาษณ์ ที่ทำให้เป้าหมายวางใจและเริ่มให้ข้อมูลใหม่ๆ รวมไปถึงตัวตนออกมา “อย่างมางี่เง่ากับฉัน… ไอ้หนู” เจอร์รี ลี ลิวอิส ตำหนิเขา หลังจากระดมคำถามเกี่ยวกับความไม่ลงรอยกันของลิวอิสกับเอลวิส เพรสลีย์เป็นชุด “นายพูดถึงเอลวิสกับฉันอีกละ นายเฝ้าขุดคุ้ยเรื่องนี้กับฉัน และฉันอยากจะฆ่านายจริงๆ พระเจ้าช่วย!”

ขณะที่ริงโก สตาร์ร์ ก็ถูกบีบให้เปรียบเทียบ Time Takes Time อัลบัมเดี่ยวของเขาเมื่อปี 1992 กับงานก่อนๆ หน้า, งานที่ดีกว่า ของตัวเอง

“ในความเป็นอัลบัม งานของผมเอาชนะ Abbey Road ได้ด้วยเหรอ?” เขาถามด้วยท่าทีไม่อยากเชื่อ “นั่นมันตั้ง 30 ปีมาแล้วนะ ทุกวันนี้ผมยังคงทำงาน และคุณก็ได้ฟัง ผมเป็นนักดนตรีที่ดีเลยนะในงานชุดใหม่

นิตยสารฉบับแรก

“ตรงหน้าคุณคือตำนานที่มีเลือดมีเนื้อ ผมไม่คิดว่าคุณจะปีนเกลียวตำนานหรอกนะ แต่ถ้าคุณพูดถึงงานชุดใหม่ และบรรดานักดนตรีชั้นเยี่ยมที่ผมทำงานด้วย ผมจะเล่นด้วย” แต่ในภาพรวมแล้ว คิวทำได้ดีกว่า ในเรื่องการจับศิลปินมาเล่น

ศิลปินดังรายแรกบนปกก็คือ พอล แม็คคาร์ทนีย์ แล้วก็ตามมาติดๆ ด้วยร็อด สจวร์ท และเอลตัน จอห์น ส่วนฉบับต่อจากนั้นและในอนาคต ก็คือศิลปินอย่าง มาดอนนา, พรินซ์, เคท บุช, Nirvana, บริทนีย์สเพียร์สที่ตั้งท้อง และเทอเรนซ์ เทรนท์ ดี’อาร์บี เปลือย ซึ่งแดนนี เคลลี อดีตบรรณาธิการพูดถึงการทำงานกับดี’อาร์บีว่า “เป็นสตาร์ที่สวยงามและมีอัตตามากพอที่จะเปลื้องเสื้อผ้าออกมา”

คิวได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคของบริท-ป็อป แต่ชื่อเสียงของหนังสือก็ตกลงในช่วงกลางยุค 2010s ด้วยคอลัมน์จัดลิสท์ต่างๆ เช่น 10 การแสดงยอดเยี่ยมตลอดกาล หรือ 120 เรื่องราวสุดยอดในโลกดนตรีร็อค ซึ่งเป็นการลดทอนความแข็งแรงในการเป็นสื่อสารมวลชนของตัวเอง

ล่าสุด นิตยสารกลับมาฟื้นเสียงของตัวเองใหม่ ภายใต้การกุมบังเหียนของเคสสเลอร์ ที่เข้ามารับตำแหน่งบรรณาธิการในปี 2017 และยกระดับการทำงานด้วยบทสัมภาษณ์ที่ลึกขึ้น กับศิลปินอย่าง ลาดา เดล เรย์, Tame Impala และ The Streets รวมไปถึงทำเรื่องเจาะลึกอัลบัมเก่าๆ ของ The Specials หรือ the Beastie Boys.

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนพฤษภาคม บาวเออร์ มีเดีย เจ้าของนิตยสารคิว ก็ต้องกลับมาคิดใหม่ เมื่อยอดขายและยอดโฆษณาหายวับระหว่างการระบาดของโคโรนาไวรัส

นิตยสารฉบับก่อนสุดท้ายเหมือนหนังสือรวมคำสรรญเสริญ ด้วยการให้นักเขียนเก่าและปัจจุบัน มารำลึกถึงบทสัมภาษณ์ในความทรงจำตลอด 34 ปีที่ผ่านมา

แอเดรียน ดีวอย มาเล่าถึงการเผชิญหน้ากับมาดอนนาในปี 1991 ซึ่งเธอเผยออกมาว่า “ทุกคนคิดว่าฉันเป็นพวกกล้าเกินหญิง แต่ความจริงก็คือ ฉันอยากอ่านหนังสือมากกว่า”

ดอเรียน ลินสคีย์ มารำลึกถึงการเดินทางไปอาร์เจนตินากับโนล กัลลาเกอร์ ที่อดีตมือกีตาร์ของ Oasis ขอให้ดีเจเล่นเพลง “Hung Up” ของมาดอนนา และเต้นรำอย่างช้าๆ กับโบโน ด้วยเพลง “Let’s Dance” ของเดวิด โบวี ขณะที่โบโนก็เป็นคนเขียนคอลัมน์หน้าสุดท้ายของหนังสือ และเล่าถึงโชคชะตาของนิตยสาร

“ผมคงคิดถึงมัน หากต้องไปจริงๆ เพราะมันมีทุกอย่างที่ผมต้องการจากนิตยสารดนตรีฉบับหนึ่ง” เขาเขียน “ทั้งทุกอย่างที่จริงจัง ทั้งทุกอย่างที่ไร้สาระ เป็นฝีมือของผู้รอบรู้ทั้งนั้น”

นิตยสารฉบับสุดท้าย

นิตยสารจะมีฉบับสุดท้ายออกมาอีกเล่ม ซึ่งเคสส์เลอร์ก็นำภาพปกโพสท์ให้ดูบนทวิตเตอร์ด้วย เผื่อจะได้คนอ่านเก่าๆ ตามมาก โดยโปรยหัวเอาไว้ว่า “การผจญภัยกับตำนาน 1986 – 2020″

ในคอลัมน์จดหมายของบรรณาธิการ เขาเขียนไว้ว่า “เราทำงานกันอย่างกระเหม็ดกระเหม่ เพื่อลดการใช้เงิน และสรรหาสารพัดวิธีการมาใช้ เพื่อให้ศรีษะของเรายังอยู่เหนือน้ำ ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างที่สุดในตลาดของนิตยสารทุกวันนี้

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นิตยสารฉบับสุดท้ายจะสร้างแรงบันดาลใจให้ใครบางคนสามารถมาเติมเต็มช่องว่างอันใหญ่โต บนแผงหนังสือที่นิตยสารคิวทิ้งเอาไว้ให้ได้”

ทิม เบอร์เจสส์ นักร้องนำของวง the Charlatans เป็นอีกคนที่ออกมากล่าวสดุดี “ข่าวร้าย… คิวเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเรามาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผมได้เรียนรู้อะไรมากมายจากหน้าหนังสือของมัน นับตั้งแต่ผมซื้อนิตยสารฉบับแรกมาอ่าน”

วงร็อค Field Music พูดถึงการปิดตัวครั้งนี้ว่า “เป็นข่าวโคตรแย่” พร้อมกับบอกว่า คิว เป็น “ส่วนเล็กๆ แต่เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ ที่ยึดอุตสาหกรรมดนตรีเข้าไว้ด้วยกัน”

Sleaford Mods เสริมด้วยว่า การได้มี “บทความในคิว” เป็นบางสิ่งที่ “นักดนตรีถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ” ก่อนจะอวยพรให้เคสส์เลอร์กับทีมงานโชคดี

โดย นายสะเด่าส์

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.