หนังระดับตำนานหลายๆ เรื่อง มีชะตากรรมที่แขวนไว้กับตัวละครนักฆ่าเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นศูนย์กลางของเรื่อง เจ้าของการแสดงและความสำคัญที่อยู่เหนือตัวละครอื่นๆ แต่ The Silence of the Lambs ของโจนาธาน เด็มมี ซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันของโธมัส แฮร์ริส มีมากกว่านั้น เพราะมีตัวละครศูนย์กลางที่น้ำหนักไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันถึงสองคน หนึ่งคือคนเจ้าความคิด ฮันนิบาล เล็คเตอร์ ที่เล่นได้ชวนให้กระดูกสันหลังเย็นวาบโดยเซอร์แอนโธนี ฮ็อพคินส์ ที่ดูขัดกันแคลริซ สตาร์ลิง เอฟบีไอสาวหน้าใหม่ ท่าทางน่าสนใจ ซึ่งได้โจดี ฟอสเตอร์มารับบท
หากคิดว่านั่นคือการกล่าวเกินจริง การที่ทั้งฮ็อพคินส์และฟอสเตอร์ ต่างก็ได้รับรางวัลออสการ์ในสาขานักแสดงนำทั้งคู่ น่าจะเป็นการยืนยันที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ตัวหนังเองก็เป็นกรณีศึกษาสำหรับออสการ์ เพราะปกติแล้วยากมากที่ผู้ลงคะแนนของอะคาเดมี จะหันมาแลหนังสยองขวัญแบบนี้ แต่ The Silence of the Lambs ไม่ได้แค่เข้าชิงรางวัลใหญ่ๆ หากยังคว้ารางวัลหนังยอดเยี่ยม, ผู้กำกับ และบทดัดแปลงยอดเยี่ยม (โดยเท็ด ทัลลี) มาครองในแบบกวาดแกรนด์สแลมของงาน
ถ้ามองว่าฮันนิบาลคือความโดดเด่นของหนัง แคลริซก็คือรากฐานของภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นหัวใจให้กับเรื่องราวสุดสยอง ที่กลายมาเป็นหนึ่งในบทบาทที่น่าจดจำของโจดี ฟอสเตอร์ และเมื่อครั้งที่ The Silence of the Lambs อายุครบ 3 ทศวรรษเมื่อปี 2016 นิตยสารเอ็มไพร์ก็ได้สัมภาษณ์ทัลลี และฟอสเตอร์ ถึงเรื่องของแคลริซ สตาร์ลิง หนึ่งในตัวละครที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลในโลกภาพยนตร์
จากการจัดอันดับ 100 ฮีโรผู้ยิ่งใหญ่ของหอภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา หากไล่เรียงรายชื่อในสิบอันดับแรก ไม่แปลกที่ชื่อของ อินเดียนา โจนส์, เจมส์ บอนด์ หรือว่า วิลล์ เคน อยู่ในท็อปเทน แต่ในอันดับหกกลับเป็นชื่อที่สร้างความแตกต่าง ทั้งจากแคเร็คเตอร์ และความเป็นมา เพราะไม่ใช่พวกกล้ามอกเป็นแผง, ไม่ใช่คนที่เชี่ยวชาญเรื่องปืน และไม่ใช่คนที่จะหวดแส้ได้อย่างแม่นยำ แต่เป็นตัวละครเจ้าของเสียงพูดนุ่มนวลแบบคนมีความรู้ และดูไม่สลักสำคัญอะไร
หลัง The Silence Of The Lambs ออกฉาย ฮันนิบาล เล็คเตอร์กลายเป็นตัวละครสำหรับภาคต่อที่ปั่นเงินได้เป็นกอบเป็นกำ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ, ภาพยนตร์ และรายการโทรทัศน์ ซึ่งตอกย้ำว่านี่คือหนึ่งในการแสดงที่ยอดเยี่ยมของแอนโธนี ฮ็อพคินส์ แบบไม่มีข้อกังขา แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน และเปรียบได้กับหัวใจของเรื่อง ก็คือฮีโรในอันดับหก หญิงสาวที่ชื่อแคลริซ สตาร์ลิง
ซึ่งเกือบเป็นตัวละครที่แตกต่างจากที่เห็นโดยสิ้นเชิงอยู่แล้ว นิยายฉบับแรกๆ ก่อนตีพิมพ์ของโธมัส แฮร์ริส ตกไปอยู่ในมือของโจดี ฟอสเตอร์ และมือเขียนบทเท็ด ทัลลี แล้วก็ถูกส่งไปยังบรรดามือเขียนบทหลายๆ คนในฮอลลีวูดซึ่งต่างบอกเป็นเสียงเดียวกัน ‘ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ไม่ได้’ ถึงกระนั้นทั้งคู่รู้ดีว่าต่างอยากได้สิทธิในการสร้างภาพยนตร์จากนิยายเรื่องนี้ “ทุกคนกังวลกับความหม่นมืดของเนื้อหา จนมองไม่เห็นว่ามีอะไรกองอยู่ตรงหน้าพวกเขา” ทัลลีบอก “พวกเขาไม่เห็นกระทั่งเรื่องราวของตัวละครที่แสนมหัศจรรย์”
แต่ทั้งฟอสเตอร์และทัลลี แพ้ยีน แฮ็คแมน ที่ไม่ได้คิดแค่วางแผนเขียนบท แต่ยังจะอำนวยการสร้าง, กำกับ และแสดงนำในด้วยตัวเอง แต่พอเขาเปลี่ยนใจ โอไรออน พิกเฌอร์สก็มาคว้าสิทธิแทน และทัลลีก็พบว่า ตัวเองได้งานที่ต้องการมาไว้ในครอบครองเรียบร้อย จากนั้นโจนาธาน เด็มมีเซ็นสัญญากำกับ โดยมีแคลริซที่เฉพาะตัวและไม่มีใครคิดถึงมาก่อนอยู่ในหัว – มิเชลล์ ไฟเฟอร์ แต่ฟอสเตอร์ยังไม่ยอมยกธงขาว
“เวลาคุณโดนอะไรบางอย่าง มันเป็นเรื่องไม่รู้ตัว” เธอรำลึกถึงอดีต “คุณไม่สามารถหยุดคิดถึงมัน คุณเข้าใจแจ่มแจ้งว่า ริมฝีปากเธอขยับยังไง แล้วเธอใส่เสื้อผ้าแบบไหน”
ความลุ่มหลงที่มีต่อตัวละครรายนี้ไม่ใช่ความคิดประเดี๋ยวประด๋าว และฟอสเตอร์ก็ตัดสินใจเดินหมากก้าวสำคัญด้วยการบินไปนิว ยอร์กเพื่อทำให้เด็มมีเชื่อมั่นว่า ‘เธอ’ เป็นแคลริซได้ “ฉันบอกว่า ‘ฉันรู้ว่าคุณมีคนอื่นอยู่ในใจ และฉันก็ชอบเธอ แล้วคิดว่าเธอก็เยี่ยม เป็นนักแสดงชั้นยอด แต่ฉันอยากเป็นตัวเลือกที่สองของคุณ’”
เมื่อความหม่นมืดของเรื่องทำให้ไฟเฟอร์ต้องเดินจากไป ฟอสเตอร์ขยับเข้ามาอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ แต่ยังมีอีกคนที่อยากจะดึงฟอสเตอร์มาร่วมงานด้วย ตั้งแต่ครั้งแรกๆ ที่ได้อ่านต้นฉบับของแฮร์ริสจนทะลุปรุโปร่ง จนมาถึงการเขียนบทร่างแรก
“ความเฉลียวฉลาด” ทัลลีตอบ เมื่อถูกถามว่าเขามองเห็นอะไรที่เป็นแคลริซในตัวโจดี และมีความเป็นโจดียังไงในตัวแคลริซ “มีนักแสดงที่ทั้งเซ็กซี, มีเสน่ห์ แล้วก็เป็นคนมันส์ๆ แต่พวกเขาดูไม่ฉลาดเหมือนกับตัวละครที่เล่น ผมรู้ว่าโจดีฉลาดมากๆ และรู้ว่าเธอสามารถแสดงออกได้ทั้งความปราะบาง และความแข็งแกร่ง สิ่งต่างๆ ที่เธอผ่านมาในชีวิต ทำให้เธอเข้าถึงตัวละคร และทำให้เธอเป็นแชมป์ของผู้หญิงที่กลายเป็นเหยื่อ”
การเอาชนะใจเด็มมีเป็นเรื่องยาก แต่ไม่ใช่แค่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้นที่ทำให้ได้บท ฟอสเตอร์เชื่อว่า หนังสือไม่ได้มีแค่ตัวละครเอกหญิงที่มีความสดใหม่ แต่ยังมีการเล่าเรื่องที่ใหม่หมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหนังสยองขวัญ เธอคุยกับเขาถึงเรื่องเล่าในตำนาน โดยเฉพาะเรื่องของเจ้าชายหนุ่มที่ถูกส่งไปปราบมังกร แต่เขากลับมา เมื่อพบว่าประชาชนต้องการอาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง “พอกลับมา เขาก็คิดได้” เธอเล่า “เขาค้นพบตัวเอง และข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น ระหว่างเดินทาง เขาเปลี่ยนใจและเลือกที่จะมาดูแลประชาชน แล้วไม่เป็นเหมือนที่เคยเป็นอีกต่อไป มันเป็นเรื่องเล่าโบราณ แต่มันไม่ใช่เรื่องสำหรับผู้หญิง มันเป็นเรื่องก้าวพ้นวัยสำหรับผู้ชาย”
การรับบทแคลริซของฟอสเตอร์ ไม่ใช่แค่เป็นการยกระดับตัวละคร แต่ยังยกระดับภาพยนตร์ในภาพรวม นี่ไม่ใช่เรื่องราวง่ายๆ แบบ ตำรวจตามล่าฆาตกรฆ่าต่อเนื่อง ขณะที่มีหญิงสาวต้องทนทุกข์ทรมานกับการถูกเชือดมากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือเรื่องของหญิงสาวที่พยายามช่วยผู้หญิงคนอื่นๆ ในขณะที่ค่อยๆ กลายเป็นฮีโร
สำหรับการเล่าเรื่อง มันเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะเล่าจากมุมมองของแคลริซ แล้วก็สไตล์การถ่ายทำที่เป็นลายเซ็นของเด็มมี ทั้งมุมมองและการเน้นภาพโคลส-อัพที่จริงจัง ที่สำคัญก็คือ ไม่ใช่ทัลลีที่เป็นคนเขียนขึ้นในบทแล้วก็นำเสนอออกมา ไม่ว่าจะเป็นการหลบหนีจากลูกกรงของเล็คเตอร์ หรือการจับตัวแคเธอรีน มาร์ติน ทั้งหมดถูกมองผ่านสายตาของแคลริซ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกยกมาจากหนังสือ
“นี่เป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญ ที่ผมต้องทำในขั้นตอนของการดัดแปลงเป็นบท” ทัลลีบอก “ทุกอย่างเด้งออกมาจากตรงนั้น นิยายมีมุมมองที่หลากหลาย แล้วก็ก้าวเข้าไปในความคิดของเล็คเตอร์, ความคิดของครอว์ฟอร์ด (แจ็ค – เจ้าหน้าที่เอฟบีไอ), ความคิดของเจมส์ กัมบ์ ผมคิดว่า ‘มันเป็นเรื่องของเธอ และผมก็อยากให้ผู้ชม… ถ้าเป็นไปได้ ไม่รู้อะไรที่มากกว่าที่เธอรู้ เพื่อจะได้พบสิ่งต่างๆ เช่นเดียวกับที่เธอค้นพบ’ เธอเป็นตัวแทนของคนดู เธอพาพวกเขาเดินทางไปด้วย”
ด้วยความคิดแบบนั้น ทั้งฟอสเตอร์และสตาร์ลิงก็คือผู้ชม เธอเป็นผู้นำทางศีลธรรม เป็นใบหน้าของความปกติสามัญ และความถูกต้อง ซึ่งขัดแย้งกันอย่างชัดเจนกับความมืด และความโหดร้าย ที่สำคัญที่สุด ขัดแย้งกับตัวตนของเล็คเตอร์ สำหรับฟอสเตอร์ นี่คือกุญแจสำคัญสำหรับสถานภาพของแคลริซ ในฐานะศูนย์กลางของหนัง
“ฮันนิบาลมีบาดแผล และเขาเป็นเหมือนสัตว์ประหลาด เป็นคนอันตราย เขาจะแสดงการคุกคาม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีรสชาติสำหรับเขา เขากลืนกินความเจ็บปวด เพราะนั่นคือวิธีการที่ทำให้ได้มาซึ่งอำนาจ ตัวละครรายนี้ไม่สามารถเป็นตัวละครหลักของคุณได้ คุณต้องทำความเข้าใจเขา หรือเข้าหาเขาผ่านใครบางคนที่มีความมั่นคง คนที่ต้องต่อสู้กับปัญหาแบบมนุษย์ปุถุชนทั่วไป”
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของแคลริซกับเล็คเตอร์ ไม่ใช่แค่เรื่องความดีปะทะความเลว หรือถูกกับผิด อีกเรื่องหนึ่ง เธอไม่ได้มองง่ายๆ ว่าเขาเป็นสัตว์ประหลาด แต่แยกแยะเขาออกมา แล้วให้ความเคารพในระดับหนึ่ง รวมถึงพยายามล้วงข้อมูลจากตัวเขาด้วย ยิ่งไปกว่านั้น เขาเป็นผู้ชายเพียงคนเดียวที่ปฏิบัติต่อแคลริซโดยให้ความเท่าเทียมกัน ไม่ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจ ลดตัวลงมา หรือตัดสินเธอโดยอิงพื้นฐานจากเพศ ผู้ชมสามารถเข้าใจสถานภาพที่แคลริซเป็นในโลกของเธอได้แทบจะทันที เมื่อแคลริซก้าวเข้าไปในลิฟท์ที่ควอนติโก ซึ่งเป็นหนึ่งในฉากสำคัญฉากแรกๆ ของหนัง มีผู้ชายที่ยืนเป็นหอคอยรายรอบ ขณะที่เธอยืินอย่างมั่นคงตรงกลางลิฟท์
พลังและความเข้มข้นที่เกิดขึ้นกับตัวเล็คเตอร์ มีพื้นฐานมาจากความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างฟอสเตอร์กับแอนโธนี ฮ็อพคินส์ ซึ่งไม่ยอมให้ใครมีโอกาสได้ทำความรู้จักก่อนที่การถ่ายทำจะเริ่มต้นขึ้น ยกเว้นการอ่านบทที่สำนักงานใหญ่ของโอไรออนที่นิว ยอร์ก การทำงานร่วมกันครั้งแรกของทั้งคู่ก็คือ การถ่ายทำฉากที่ทั้งคู่คุยกันผ่านกระจก
“เรารู้สึกไม่สบายใจต่อกันและกัน” ฟอสเตอร์เผย “แล้วด้วยอะไรสักอย่างในตอนท้าย ฉันกำลังนั่งกินแซนด์วิชทูนา ส่วนเขาก็นั่งตรงข้ามฉัน มันน่าจะเป็นครั้งแรกที่เราได้คุยกัน ฉันเอามือโอบไปรอบๆ ตัวเขา เขาก็เอามือโอบรอบตัวฉัน แล้วพูดว่า ‘ผมกลัวคุณนะ’ ฉันก็บอกกับเขาว่า ‘ฉันก็กลัวคุณเหมือนกัน!’”
ถึงทั้งสองคนจะมอบการแสดงในระดับออสการ์เป็นประกัน ทัลลีก็มั่นใจว่าท้ายที่สุดหนังเรื่องนี้เป็นของใคร “เวลาที่คนอยากพูดถึงฮันนิบาล ผมจะบอกว่า ‘เขาเป็นเสียงซู่ๆ แต่เธอคือสเต็ก’ จากสิ่งที่เกิดขึ้น เธอคืออะไรที่เป็นทุกอย่าง ส่วนเขาเป็นตัวละครสนับสนุน”
ที่ไม่ต้องสงสัยก็คือว่าตัวละครศูนย์กลางของเรื่อง แคลริซไม่ใช่ฮีโรที่ปราศจากความซับซ้อน เธอมีความเปราะบาง, ฉลาด และแข็งแกร่ง แต่ก็มีความเกรี้ยวกราด และความทะเยอทะยานที่แสดงออกมาอย่างเปิดเผย ซึ่งเป็นคุณภาพที่หาได้ไม่ง่ายนักจากตัวละครหญิง ที่ผู้ชมอยากจะให้ใจ ในฉากเยี่ยมเล็คเตอร์ครั้งแรกๆ แคลริซใช้ความเป็นผู้หญิงของตัวเอง ควบคุมดร. เฟรเดอริค ชิลตัน (แอนโธนี ฮีลด์) เพื่อปล่อยให้เธอได้คุยกับเล็คเตอร์ตามลำพัง เมื่อเขาตั้งคำถามว่า ทำไมเธอถึงไม่ขอเขาก่อนหน้านี้ ตอนที่ยังอยู่ด้วยกันในห้องทำงาน เธอโต้ตอบผ่านบทสนทนาว่า “ฉันกลัวจะพลาดความสุขจากเพื่อนๆ ของท่านค่ะ
ในทางคล้ายๆ กัน มันก็แสดงออกเป็นนัยๆ ว่าแคลริซ ตกเป็นเหยื่อได้ง่ายๆ สำหรับเล็คเตอร์ และหนังก็น่าจะอยู่ในการควบคุมของเขา แต่ฟอสเตอร์มองเรื่องนี้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ไตร่ตรองมาแล้วเป็นอย่างดีของเธอ “นี่คือตัวละครที่ถูกตีกรอบ, สงวนท่าที และเป็นพวกเจ้าความคิด” เธอบอก “เธอยินดีที่จะถูกใช้โดยเขา เธอมีความทะเยอทะยานอย่างมาก และยอมปล่อยให้อะไรเกิดขึ้น”
ท้ายที่สุดความทะเยอทะยานก็นำเธอไปหาบัฟฟาโล บิลล์ โดยไม่ได้ใช้ความแข็งแกร่งของร่างกายและความรุนแรง แต่เป็นการอ่านฆาตกรผ่านสายตาของเหยื่อ ด้วยความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ฟอสเตอร์และทัลลีมองความรู้สึกนี้ของแคลริซว่ามาจากความเป็นไปในอดีตของเธอ โดยใช้คำพูดของเล็คเตอร์บอกเป็นนัยๆ “ว่าไง, แคลริซ ลูกแกะหยุดกรีดร้องหรือยัง?” แม้จะเป็นความบอบช้ำทางจิตใจ แต่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นความทุกข์ในรูปแบบๆ เดิม ซึ่งนักเขียนมักมอบให้กับตัวละครหญิงส่วนใหญ่
“อดีตของเธอไม่ใช่เรื่องถูกข่มขืน หรือถูกพ่อล่วงละเมิดทางเพศ หรืออะไรก็ตามที่มันจะถูกนำมาสร้างแรงขับให้กับตัวละครหญิงในหนัง” ฟอสเตอร์ให้ความเห็น “คุณเฝ้ารอความทรงจำอันเลวร้ายที่น่าหวาดกลัวแบบนั้น ‘นั่นละสาเหตุที่ทำให้แคลริซมีความพิเศษ เพราะโดยแท้ที่จริงแล้วเธอเป็นเหยื่อคนหนึ่ง’ มันเป็นเรื่องง่ายมาก แล้วทุกๆ คนก็น่าจะเข้าใจ มันเป็นความรักที่เธอมีต่อพ่อ เป็นความละเอียดอ่อน และความสัมพันธ์ของพวกเขาก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ความสำคัญและความโดดเด่นของสิ่งที่เกิดขึ้น ก็เป็นความละเอียดอ่อน”
ย้อนกลับไปถึงบทหญิงสาวที่เป็นเหยื่อของการข่มขืน ซาราห์ โทเบียส ใน The Accused ฟอสเตอร์ตั้งใจจะทำให้แคลริซแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ไม่ใช่เป็นแค่ตัวละครที่แตกต่าง แต่ยังเป็นผู้หญิงที่แตกต่าง หลายๆ คนคิดว่า การตัดสินใจครั้งนี้ของเธอเป็นความผิดพลาด หลังจากคว้าออสการ์มาได้จาก The Accused พวกเขาประหลาดใจที่เธอไม่เลือกบทที่ “ฉูดฉาด หรือโดดเด่น” มากกว่านี้ สำหรับฟอสเตอร์ เธอเลือกบทนี้เพื่อจะพาตัวเองให้ห่างไกลจากความเป็นเหยื่อ
“มีรูปแบบอย่างหนึ่งที่ฉันเก็บไว้ใช้เวลาเล่นเป็นผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อ” เธอกล่าว “มีบางอย่างในงานนี้ ที่สำหรับผู้หญิงแล้วสามารถระบุลักษณะคนที่เป็นเหยื่อได้ แต่เป้าหมายก็คือการเป็นคนที่สามารถปกป้องผู้หญิงเหล่านั้นได้ เพราะเธอรู้จักพวกเขามากพอ แล้วด้วยอะไรบางอย่าง มันก็สะท้อนให้ฉันได้มองเห็นตัวเองว่าเป็นยังไง และฉันอยากทำอะไรกับงานของตัวเอง”
การวางเดิมพันของฟอสเตอร์ หากจะมองว่าเป็นเช่นนั้น ได้รับการจ่ายคืนแบบทบต้นทบดอก และแคลริซก็กลายเป็นตัวละครที่เหมือนเป็นการปฏิวัติในวงการภาพยนตร์ช่วงนั้น ตอนปลายยุค ‘80s ต่อต้นยุค ‘90s และฟอสเตอร์, ทัลลี แล้วก็เด็มมี ก็รู้ดีว่าพวกเขาได้สร้างสรรค์บางสิ่ง และบางคนที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อนบนจอภาพยนตร์ รวมถึงความน่าประหลาดใจที่ยิ่งกว่า เมื่อฟอสเตอร์ไม่ยอมกลับมารับบทเดิมในหนังภาคต่อ
เธออ้างว่า เสียงเชียร์ในตอนนั้นคือเหตุผลที่ทำให้แฮร์ริสเขียนนิยายภาคต่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้ทุกคน โดยนิยายเรื่อง Hannibal กว่าจะถูกตีพิมพ์ออกมาก็ปี 1999 “ฉันคิดว่าเราทุกคนคงคิดว่า พวกเราน่าจะมาร่วมงานกันอีกครั้ง” เธอพูดแกมโอดครวญ “แต่เราไม่คิดเลยว่ามันน่าจะเป็นในตอนนั้น”
แต่การได้รับรู้ว่าผลกระทบจากตัวละครตัวนี้ ยังคงเป็นสิ่งที่รับรู้ได้ ก็น่าจะเป็นการปลอบใจที่ดี สิ่งที่ได้เห็นใน The Silence Of The Lambs ไม่มีทางที่จะลดน้อยลงไป และยังคงรู้สึกได้ผ่านหนังเรื่องอื่นๆ และผ่านตัวละครหญิงทั้งหลาย ฟอสเตอร์ยังเล่าให้ฟังด้วยว่า ตอนนี้ลูกๆ ของเธอโตพอที่จะดู Silence Of The Lambs ในโรงหนังที่ลอส แองเจลีสได้แล้ว และเธอก็มีความสุขที่พวกเขาอยากคุยเกี่ยวกับหนังหลังจากนั้น มันเป็นงานที่ยืนหยัดผ่านกาลเวลา แคลริซ สตาร์ลิงก็เช่นกัน รวมไปถึงภาพสะท้อนของเธอที่ปรากฏให้เห็นเสมอๆ
อย่าลืมว่า การอยู่ในอันดับ 6 ของ 100 ฮีโรยอดเยี่ยมของหอภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่การตัดสินใจของเธอ
โดย ฉัตรเกล้า เรื่อง แคลริซ สตาร์ลิง รำลึก หนึ่งในบทอมตะของวงการภาพยนตร์จาก หนังสยองรางวัลออสการ์ คอลัมน์ Special Scoop นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1322 ปักษ์หลังกุมภาพันธ์ 2564
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่